วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความเพียร


                คำว่า “ความเพียร” เป็นคำที่คุ้นหูเป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหวังที่จะให้พสกนิกรของพระองค์ ได้ใช้ความเพียรที่บริสุทธิ์อย่างเต็มที่ จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง พระมหาชนกขึ้นเผยแพร่ เพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งความพากเพียร ความเพียรมีลักษณะ ๔ ประการคือ
                ๑. เพียรระวัง คือระวังมิให้ความชั่วน้อยใหญ่เกิดขึ้นมามีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา
                ๒. เพียรละ คือเพียรลด-ละ-เลิก สิ่งที่ไม่ดีไม่งามต่างๆ อันเป็นอุปสรรคแห่งความก้าวหน้าของเรา
                ๓. เพียรเริ่ม คือเพียรบำเพ็ญความดี ความรู้ ความสามารถที่ยังไม่มี ให้เกิดมีขึ้นจงได้
                ๔. เพียรรักษ์ คือเพียรรักษาความดี ความรู้ ความสามารถที่เรามีอยู่ในตัว ให้เจริญพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป
                ความเพียรทั้ง ๔ ประการนี้ ถ้าใครมีอยู่ครบถ้วนในตัวอย่างบริบูรณ์ดีแล้ว ย่อมประสบความสำเร็จความก้าวหน้า และความสุขแน่นอน ดังคำกลอนที่ว่า
                                                สรรพกิจย่อมเสร็จด้วย        ความเพียร
                                ไป่เกลื่อนกล่นอาเกียรณ์                    ทอดไว้
                                กิจหลายไป่เสถียร                                ด้วยสัก  นึกฤๅ
                                นึกบ่ทำบ่ได้                                          เสร็จสิ้นสมประสงค์
                ดังนั้น ถ้าเราอยากได้อะไร อยากให้อะไรสำเร็จ ก็ต้องพากเพียรทำเอง มิใช่นึกหวัง นั่งหวัง หรือนอนคอยโชควาสนา ดังนิทางเล่าว่า มีเพื่อนกันสองคน ได้รับคำทำนายจากหมอดูว่า คนหนึ่งจะสบายได้นั่งกินนอนกิน อีกคนหนึ่งจะลำบาก เหน็ดเหนื่อยไม่ค่อยได้หยุด คนที่หมอดูทำนายว่าจะสบาย ก็เกิดความประมาท คิดว่าตนเองเป็นคนมีวาสนา มีโชคดีอยู่แล้ว จึงเกียจคร้าน นั่งรอ นอนรอความร่ำรวย และในที่สุดก็ได้นั่งกินนอนกินจริงๆ เพราะต้องขอทานเขากินข้างถนน ส่วนอีกคนหนึ่งกลัวว่าชีวิตตนจะลำบากตามที่หมอดูทัก ก็พยายามตั้งใจทำการงาน หนักเอาเบาสู้ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่นานนักก็ร่ำรวยขึ้น แม้จะลำบากจริง แต่ผลของความลำบากก็ทำให้มีความสุข
                จากเรื่องนี้ ลองนึกถามตัวเองดูบ้างว่า จะเลือกเอาแบบไหน จะเอาแบบสบาย นั่งกินนอนกิน หรือว่าจะเลือกเอาความลำบาก เหน็ดเหนื่อยไม่ได้หยุด

.....................................

ยอมรับผิด


                เราคงเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่า ผู้ต้องหาในคดีต่างๆ เมื่อถูกจับ มักยืนยันหนักแน่นว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ จะขอให้ปากคำในชั้นศาลเท่านั้น แต่เมื่อเรื่องไปถึงชั้นศาล ฝ่ายโจทย์ก็มีพยานหลักฐานมัดตัวแน่นหนาจนดิ้นไม่หลุด แล้วจึงยอมรับสารภาพ
                เหตุที่บุคคลไม่กล้ารับผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไปเช่นนี้ อาจเป็นเพราะความอาย กลัวเสียหน้า เสียชื่อเสียง กลัวถูกตำหนิ กลัวถูกทำร้าย หรือกลัวถูกลงโทษ ความกลัวเหล่านี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไปที่ต้องการความดี ไม่ต้องการความเสื่อมเสียให้มีในชีวิตตน
                ดังนั้น หากเราได้รับทราบว่า มีใครยอมรับผิดในสิ่งที่เขาทำ เราก็จะรู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญของเขาที่ไม่มีความกลัวเหมือนที่คนทั่วไปกลัวกัน ตัวอย่างเช่น พันท้ายนรสิงห์  ที่เป็นผู้กล้าหาญยอมรับผิดทั้งๆ ที่รู้ว่าจะต้องถูกประหารชีวิตก็ไม่เสียดายแม้ชีวิตของตน
                อันที่จริงผู้ที่รับผิดเพราะมิใช่จำนนด้วยหลักฐานนั้น หากมองในแง่ดีเขาคือผู้สอนธรรมปฏิบัติแก่เราในเรื่อง ความกล้าหาญ การเคารพความจริง การไม่มีทิฐิมานะถือตนว่าเป็นคนวิเศษทำอะไรไม่มีผิดพลาด เพราะการยอมรับผิดเป็นวิสัยของบัณฑิต มิใช่วิสัยของคนพาล คนพาลนั้นมากด้วยทิฐิมานะคือ ความถือตัวเข้มข้น ทำผิด พูดผิดแล้วไม่ยอมรับผิด
                มีคำกล่าวที่เป็นจริงและยอมรับกันว่า คนที่ทำอะไรไม่ผิดเลยก็คือคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ส่วนคนที่ยังต้องทำกิจธุระหน้าที่ตางๆ อยู่ ก็ต้องจะมีผิดบ้างถูกบ้างเป็นของธรรมดา เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ตัวว่าทำผิดจึงควรแสดงความกล้าหาญด้วยการยอมรับผิด อย่างน้อยด้วยการขอโทษ แล้วสำรวมระวังไม่ทำผิดอีกต่อไป ในทางกฎหมายมีการลดหย่อนผ่อนโทษ แก่ผู้ต้องหาที่รับสารภาพผิดจากหนักให้เป็นเบา แม้คนในสังคมก็ยังให้อภัยแก่ผู้ที่รับผิดและสำนึกได้ในภายหลัง
                ขอให้เราลองสำรวจตัวเองว่า ได้เคยทำผิดอะไรมาบ้าง และได้แสดงความกล้าหาญด้วยการยอมรับผิดบ้างแล้วหรือยัง

.....................................

อยู่ไหนอยู่ได้


                ในโลกที่ไร้พรมแดน หรือที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า “โลกแห่งสิทธิเสรีภาพ” มนุษย์มีสิทธิ์จะอยู่ที่ไหนหรือจะคบหาสมาคมกับใครก็ได้ทั้งนั้น ประกอบกับความจำเป็นในการดำรงชีพ ทำให้เราต้องติดต่อกับคนอื่นซึ่งมีทั้ง คนที่เรารัก คนที่เรารู้สึกเฉยๆ และแม้แต่กับคนที่เราเกลียด ดังนั้น ตราบเท่าที่เรายังเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราก็จะต้องรู้จักปรับตัวเองและแก้ไขตัวเองให้เข้ากับผู้อื่นบ้าง การที่จะทำตัวให้เป็นคนอยู่ที่ไหนอยู่ได้ และอยู่ได้อย่างมีคนรักนั้น มีตัวอย่างแนวทางการปรับตัวได้พอประมาณดังนี้
                ๑. ให้ระลึกไว้เสมอว่าในโลกนี้ไม่ได้มีแต่เราเท่านั้น แต่เรายังมีพ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงที่ต้องติดต่อกัน ฉะนั้น การที่จะพูดอะไร จะทำอะไร ก็ควรเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย
                ๒. พยายามพูดแต่สิ่งที่ดีงามของคนอื่น มองโลกในแง่ดี อย่าอิจฉาริษยา พยาบาทปองร้าย
                ๓. ทำดีต่อคนอื่นอย่างจริงใจ คือมีใจเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่นบ้าง รู้จักเสียสละเพื่อเพื่อนร่วมโลก ตามสมควรแก่กำลังของตน
                ๔. ไม่นินทาว่าร้ายใคร การนินทาว่าร้ายนั้น ย่อมก่อความเสียหาย ทั้งแก่ผู้นินทาเองและผู้ถูกนินทา อีกทั้งยังเป็นที่น่าเบื่อหน่ายของเพื่อนฝูง ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย
                ๕. หัดยอมให้คนอื่นบ้างในเรื่องที่พอจะยอมกันได้ บางคนต้องการจะให้คนอื่นตามใจตัวเองอยู่ข้างเดียว ใครจะคิดเห็นอย่างไรไม่สนใจ มีแต่ทิฐิมานะ
                ๖. ทำตัวให้เป็นบุคคลที่น่าสนใจ คือทำตัวให้มีชีวิตชีวาและร่าเริงสดชื่นอยู่เสมอ มองโลกในแง่ดีพร้อมๆ กับเข้าใจความเป็นไปของโลกอย่างถูกต้อง
                การเกิดมาเป็นมนุษย์ นับว่าเป็นโอกาสอันสุดแสนจะประเสริฐ แม้ว่าเราจะเลือกที่เกิดไม่ได้แต่เราสามารถเลือกที่อยู่ได้ และที่วิเศษที่สุดคือ เราสามารถเลือกอยู่อย่างมีความสุขได้ด้วย โดยพยายามปรับตัวดังกล่าวข้างต้น ทำได้อย่างนี้ จะอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้อย่างมีสันติสุข

....................................

วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สำคัญที่ใจ


                ในช่วงเวลาหลายปีมานี้ มีปัญหามากมายเกิดขึ้นในสังคมเรา เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม รวมไปถึงปัญหาอันเกิดจากธรรมชาติ คืออุทกภัย เป็นต้น นับว่าสร้างความทุกข์ ความลำบากให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ เวสลี มิตเชล กล่าวไว้ว่า ธุรกิจมีวงจรชีวิตดังนี้
                ๑. เศรษฐกิจเฟื่องฟู            ๒. เศรษฐกิจถดถอย           ๓. เศรษฐกิจตกต่ำ              ๔. เศรษฐกิจฟื้นตัว
                ไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง หรือจะอยู่ในช่วงใดก็ตาม สิ่งนั้นไม่ใช่เครื่องตัดสินว่าชีวิตเราจะทุกข์มาก-สุขน้อย หรือทุกข์น้อย-สุขมาก ตามการขึ้นลงของเศรษฐกิจเสมอไป ในทางพระพุทธศาสนาท่านสอนให้มองโลกตามความ เป็นจริง คือสรรพสิ่งในโลกมีลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป สิ่งทั้งหลายที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เป็นไป ย่อมไม่คงที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ชาวพุทธจึงควรจะต้องมีสติตั้งมั่น โลกจะเป็นอย่างไร ไม่สำคัญ ข้อที่สำคัญอยู่ที่ใจของเราเป็นอย่างไร ปรุงแต่งอย่างไร ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเห็นดำแล้วปรุงแต่ดำให้เห็นว่าน่ากลัว เราก็จะได้รับความรู้สึกกลัวขึ้นมา ถ้าเราเห็นสีดำแล้ว ปรุงแต่งสีดำให้น่ารัก เราจะได้รับความรู้สึกรักขึ้นมา จากสีดำเดียวกันนั้น อาจให้ทั้งความรู้สึกดีและไม่ดีได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปรุงแต่งอย่างไร
                ฉะนั้น ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ควรยึดหลักความจริงดังกล่าวไว้ให้มั่นและนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้โดยยึดหลักว่า ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด พยายามแก้ปัญหาให้เต็มความสามารถ เมื่อเราพยายามเต็มความรู้ความสามารถแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ต้องปล่อยวางบ้าง เพราะปัญหาบางอย่างเราแก้ไขไม่ได้ ต้องปล่อยไปตามกฎธรรมชาติ แต่เราสามารถแก้ไขใจเราไม่ให้เป็นทุกข์ได้ดังคำกล่าวที่ว่า “ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยึดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย”

.....................................

ชีวิตในธรรมชาติ


                หากพิจารณาดูสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ก็จะพบว่าทั้งที่มีคุณและที่มีโทษเฉพาะสิ่งที่มีโทษต่อคนก็มีมากมายนับไม่ถ้วน มีทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ซึ่งล้วนมีอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ แต่ทว่าสิ่งดังกล่าวนั้นจะให้โทษต่อเมื่อคนไปรับเข้ามา หรือสิ่งนั้นเข้ามาสู่ตัวคนทางใดทางหนึ่ง เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง
                เมื่อเราอยู่ในธรรมชาติที่มีทั้งคุณและโทษเช่นนี้ ก็ต้องระมัดระวังและใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชีวิต อันที่จริง ชีวิตคนเราก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกสลายไปตามธรรมดา แต่เป็นธรรมชาติที่มีจิตวิญญาณซึ่งอาจให้ทั้งคุณและโทษแก่ธรรมชาติอย่างอื่นได้ เช่นเดียวกับธรรมชาติภายนอก แต่ว่าคนมีความพิเศษตรงที่สามารถอบรมพัฒนาตนเอง สร้างจิตสำนึก อนุรักษ์และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามแก่สภาพแวดล้อมได้ เช่น งดเว้นการทำลายธรรมชาติทั่วไป เพราะธรรมชาติคือสิ่งที่เกิดมีขึ้นเองโดยสภาพของตน เช่น ต้นไม้ ลำธาร ภูเขา น้ำฝน ความเย็น ความร้อน รวมทั้งสิ่งมีชีวิต เป็นต้น ย่อมมีความเกี่ยวพันกัน อาศัยกัน มากบ้างน้อยบ้าง นี่คือธรรมชาติภายนอก
                แต่มีธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งอยู่ภายในตัวคน ซึ่งมีทั้งคุณและโทษเช่นเดียวกับธรรมชาติภายนอก กล่าวคือ ส่วนที่เป็นคุณ ได้แก่ คุณธรรมต่างๆ เช่น ความรัก ความเมตตา ที่ช่วยให้คนเราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่ส่วนที่ให้โทษ ได้แก่ เครื่องเศร้าหมองในจิตใจ เช่น อยากได้จนเกินขอบเขต โกรธ เกลียด อิจฉาริษยากัน และความงมงายต่างๆ ทำให้จิตวุ่นวายเป็นทุกข์ ทำลายจิตให้เสื่อมคุณภาพลง คล้ายสนิมเหล็กเกิดที่เหล็กแล้ว กัดเหล็กให้ผุกร่อนไป
                ด้วยเหตุที่ชีวิตมนุษย์เกี่ยวพันกับธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังมิให้ธรรมชาติภายในคือ กิเลสกำเริบขึ้นจนเป็นโทษ หากรู้ว่ากิเลสเกิดขึ้น ต้องชำระหรือสลัดทิ้งทันที เพราะใจที่ไร้สนิมคือกิเลส ย่อมช่วยให้ชีวิตมีความสุข อันเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา

.....................................