วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความเสื่อม


                คำว่า “เสื่อม” หมายถึง เสียไป ค่อยหมดไป หรือถอยความขลังลง หากอยู่หน้าคำใด จะทำให้คำนั้นด้อยค่าลง เช่น เสื่อมเกียรติ เสื่อมความจำ เสื่อมราคา และเสื่อมคุณภาพ เป็นต้น จึงไม่มีใครปรารถนาจะให้เกิดกับชีวิตหรือสิ่งของเครื่องใช้ของตน
                พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงประเภทของความเสื่อมไว้ ๕ ประการคือ
                ๑.ความเสื่อมญาติ (ญาติพยะสะนัง) หมายถึงบุคคลผู้ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีใครเหลียวแล หรือญาติตายหมดแล้ว ไม่มีที่พึ่ง ขาดความอบอุ่นจากหมู่ญาติ รู้สึกว้าเหว่เดียวดาย หดหู่
                ๒.ความเสื่อมสมบัติ (โภคะพยะสะนัง) หมายถึงบุคคลผู้ประสบชะตากรรมจากที่เคยมั่งมีทรัพย์สินเงินทอง มีคนให้เกียรตินับหน้าถือตาในสังคม ต้องกลับกลายมาเป็นคนอยากจนเพราะทรัพย์ถึงคราววิบัติหมดไปจะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม มีความทุกข์อย่างมหันต์ ยากที่จะทำใจ
                ๔.ความเสื่อมเพราะโรค (โรคะพยะสะนัง) หมายถึงบุคคลผู้ถูกโรคภัยเบียดเบียนรุมเร้า มีความทุกข์ทรมานจากโรคภัย จะประกอบกิจการงานอันใดหรือเคลื่อนไหวร่างกายก็ไม่เหมือนปกติ ทำให้ขาดความสุขความสำราญทางร่างกาย
                ๔.ความเสื่อมศีล (สีละพยะสะนัง) หมายถึงบุคคลผู้ไม่นำพาให้ความสำคัญหรือประพฤติตามหลักศีลธรรมโดยเห็นว่าศีลธรรมเป็นเรื่องล้าสมัย ถ่วงความเจริญก้าวหน้า จึงพากันเหยียบย่ำทำลาย ประพฤตินอกศีลนอกธรรม ก่อความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและสังคม
                ๕.ความเสื่อมทิฐิ (ทิฏฐิพยะสะนัง) หมายถึงบุคคลผู้มีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมคือผิดจากความเป็นจริง เช่น ไม่เชื่อว่า นรก สวรรค์ มีจริง ผลแห่งบาปบุญไม่มี เป็นต้น
                ความเสื่อมทั้ง ๕ นี้ ข้อ ๑ ๒ และ ๓ ไม่เป็นเหตุให้ผู้เสื่อมต้องตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ได้ เพราะเป็นความเสื่อมเฉพาะชีวิตนี้เท่านั้น ส่วนข้อ ๔ และ ๕ จัดเป็นความเสื่อมที่แท้จริง เพราะผู้ที่ไม่มีศีลธรรมหรือมีความเห็นผิดเท่านั้นที่สร้างอบายไว้สำหรับตน พึงทราบว่าหากมีคนเสื่อมศีลและเสื่อมทิฐิมากเท่าไร สังคมจะมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายมากเท่านั้น

..................................

เสียเพื่อได้


                เมื่อคนหลายคนขับรถหลายคันมาเผชิญกันที่สี่แยก แต่ละคนคิดแต่จะเอาประโยชน์ตน รีบชิงกันเพื่อจะไปก่อนให้ได้ ผลก็คือต้องติดนิ่งอยู่กับที่ ไม่มีใครไปได้สักคน กลายเป็นเสียประโยชน์ถ้วนหน้า แต่ถ้าทุกคนปฏิบัติตามระเบียบ และสัญญาณจราจรอย่างเคร่งครัด ก็จะสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้
                ระเบียบวินัย มีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของคน เพราะคนสำเร็จหรือผลประโยชน์ใดๆ ก็ตามจะเกิดได้ง่ายก็ต่อเมื่อมีการจัดระเบียบไว้อย่างดีเสียก่อน เหมือนการทำงานที่จะได้รับผลสมบูรณ์ ก็จะต้องจัดลำดับการทำก่อนหลังให้เหมาะ จัดเครื่องไม้เครื่องมือที่จะต้องใช้ไว้ให้เป็นระเบียบ
                อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่มีต่อระเบียบวินัยย่อมต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับว่า มองด้วยความรู้สึกหรือมองด้วยปัญญา
                มองด้วยความรู้สึก ระเบียบวินัย เป็นเครื่องกำจัดเสรีภาพของคน เพราะเต็มไปด้วยข้อห้าม ทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ ทำอย่างนี้ก็ไม่ได้ จนสิทธิเสรีภาพแทบไม่มีเหลือ แต่มองด้วยปัญญา ระเบียบวินัยเป็นเครื่องประกันเสรีภาพของคนว่า คนจำเป็นต้องมีเสรีภาพ จึงกำหนดขอบเขตเสรีภาพเอาไว้ การที่คนหนึ่งต้องสูญเสียเสรีภาพ  ส่วนใหญ่ก็เพราะถูกเสรีภาพของอีกคนหนึ่งทำลาย
                มองด้วยความรู้สึก ระเบียบวินัยทำให้หมดความสุข ไม่สดชื่นเฮฮา ชีวิตขาดรสชาติจะรักษาวินัยได้ต้องคอยระมัดระวัง ทำให้อึดอัดและเครียด แต่มองด้วยปัญญา ระเบียบวินัยมีไว้เพื่อป้องกันทุกข์ยังรักษาวินัยได้ตราบใดก็ปลอดภัยตราบนั้นถึงจะหมดสนุกไปบ้าง แต่ความสนุกหลายอย่างสร้างความทุกข์ที่สาหัสกว่า โดยเฉพาะความสนุกแบบละเมิดวินัย
                เมื่อจะรักษาวินัย ก็ต้องยอมเสียบางอย่างไปบ้าง เช่นความสะดวกสบาย หรือผลประโยชน์เฉพาะหน้า เหมือนขับรถมาถึงสี่แยก น่าจะไปต่อได้แต่ก็ถูกห้ามไว้ ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยและผลประโยชน์ด้านจราจรนั่นเอง ดังนั้น แม้จะเสียโอกาสในการเดินทางไปชั่วขณะ แต่ก็เป็นการเสียเพื่อได้ การรักษากติกาของสังคมจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากไม่นำพาระเบียบวินัยของหมู่คณะ มุ่งแต่ผลประโยชน์ นิดหน่อยก็จะเอา ก็จะได้เฉพาะประโยชน์เล็กน้อย แต่มีผลเสียภายหลังเรียกว่า “ได้นิดเพื่อเสียมหาศาล” โดยแท้

.....................................

วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ครูชีวิต


                ความหมายของ “ครู” ที่เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “แม่พิมพ์” หมายถึงคนที่เป็นแบบอย่างหรือสิ่งที่เป็นต้นแบบ ความหมายที่สอดรับกับภาษิตจีนที่ว่า “ครึ่งชีวิตแรกเรียนรู้จากโรงเรียน ครึ่งชีวิตหลังเรียนรู้จากชีวิตจริง” และจากภาษิตดังกล่าวนี้สามารถแบ่ง “ครู” ได้ ๒ ประเภท
                ๑. ครูโรงเรียน หมายถึง ครูผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ และสอนวิทยาการด้านต่างๆ ในห้องเรียน ครูประเภทนี้นับเป็นปูชนียบุคคลรองจากบิดามารดา เพราะเป็นผู้จุดประทีปทางปัญญา
                ๒. ครูชีวิต หมายถึง ครูผู้ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง มีความหมายครอบคลุมถึงคน สัตว์ และเหตุการณ์ทุกอย่างที่เป็นแม่พิมพ์ให้ประพฤติปฏิบัติตามในทางที่ดี และละเว้นในทางที่ไม่ดีได้ ครูประเภทนี้นับว่ามีอิทธิพลสำคัญอย่างยิ่งต่อการกเปลี่ยนแปลงและแสดงพฤติกรรของคนเรา
                ทุกวันนี้ถ้าเราสังเกตสักให้ดี ก็จะได้พบได้เห็นหรือรับรู้พฤติกรรมที่มีผู้กระทำให้ดูเป็นแบบอย่างในฐานะ “ครูชีวิต” อยู่เสมอ เช่น
                อาจารย์หนึ่งอ้างตัวเป็นคนวิเศษ สร้างเรื่องเปรตปลอมขึ้นมาหลอกลวงผู้คน จนในที่สุดก็ถูกจับได้และต้องไปนอนชดใช้กรรมชั่วที่ตัวกระทำในคุก ก็ถือเป็นครูชีวิตคนหนึ่ง
                อดีตนักการเมืองผู้หนึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด ได้ฝากข้อคิดคำเตือนคนที่สูบบุหรี่ว่า “...อย่ารอให้เป็นโรคร้ายเสียก่อนจึงจะคิดเลิก ละ เพราะอาจจะสายเกินแก้...” นี่ก็ถือเป็นครูชีวิตอีกคนหนึ่ง
                นักศึกษาจากสถานศึกษาแห่งหนึ่งหลงผิดติดการพนันฟุตบอลจนเป็นหนี้สิน ต้องแก้ปัญหาให้กับชีวิตด้วยการฆ่าชิงทรัพย์ แล้วก็ถูกจับได้ในที่สุด การเรียนก็สะดุด ยุติอนาคตอันสดใสไว้แต่เพียงนั้น นี่ก็เป็นครูชีวิตเช่นกัน
                การศึกษาหาความรู้จากครูโรงเรียนนั้น เราแต่ละคนอาจจะทำได้ไม่เท่ากัน เพราะความไม่เท่าเทียมกันโดยฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับสติปัญญาตลอดจนจังหวะเวลาและโอกาส แต่การศึกษาหาประสบการณ์จากครูชีวิตนั้น เราทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันเสมอ เพราะสิ่งที่อยู่รอบตัวเราก็ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เราได้รู้ได้เห็นทุกเมื่อเชื่อวันก็ดี ล้วนเป็นครูชีวิตของเราได้ทั้งสิ้น สำคัญอยู่ที่ว่าเราจะฉวยประโยชน์จากครูชีวิตได้เพียงไร และจะเลือกเดินทางในทางไหน ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราก็เท่านั้น

...................................

ความเห็นแก่ตัวต้องห้าม


                หลายท่านคงเคยเห็นอักษรประดิษฐ์ว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิที่มีลักษณะงดงามน่าเลื่อมใส นอกจากจะใช้เป็นสื่อให้เกิดศรัทธา น้อมนำพุทธานุสติมาให้ใจยึดมั่น อันเป็น วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการสร้างพระพุทธรูปแล้ว ยังเป็นสื่อให้เกิดปัญญาอีกด้วย
                ความเห็นแก่ตัว มีบ่อเกิดมาจาก ความรักตัวเอง เพราะโดยธรรมชาติคนเรารักตัวกลัวตายด้วยกันทุกคน และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมคนเราต้องทำงานหาเงินและทำมาหากิน แม้จะอ้างว่าเป็นการรับผิดชอบทำมาหาเลี้ยงครอบครัว แต่เมื่อสาวลึกลงไปก็จะพบว่า มีสาเหตุมาจากความรักตัว กลัวตายอยู่คนเดียว ไม่มีใครคอยเลี้ยงดูเมื่อยามแก่เฒ่า นั่นเอง ความรักตัวนี้มีพุทธศาสนสุภาษิตยืนยันไว้ว่า “นัตถิ อัตตะสะมัง เปมัง” แปลว่า ความรักอื่นเสมอด้วยรักตัวเองไม่มี จากความเห็นแก่ตัวดังกล่าว คนเราจึงแสดงพฤติกรรมเพื่อการอยู่รอดในรูปแบบต่างๆ คือ กิน นอน กลัว และสืบพันธุ์ พฤติกรรมเหล่านี้มองในแง่ธรรมชาติก็เป็นทั้ง “สิทธิ” และ “หน้าที่” ของสัตว์โลก มิใช่เรื่องเลวร้ายแต่อย่างใด
                ส่วนความเห็นแก่ตัว ชนิดที่ต้องเตือนกันว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” นั้น เป็นความเห็นแก่ตัวต้องห้ามทั้งโดยหลักกฎหมายและหลักศีลธรรม ตัวอย่างเช่น อย่าเห็นแก่ตัวเพราะการกิน เช่น อย่าโกงกิน อย่าลักขโมย อย่าเห็นแก่ตัวเพราะการนอน เช่น อย่านอนตื่นสาย อย่าเกียจคร้าน อย่าเห็นแก่ตัวเพราะความกลัว เช่น อย่ามีอคติ อย่ากลัวคนอื่นได้ดีกว่าตน อย่าเห็นแก่ตัวเพราะการสืบพันธุ์ เช่น สำส่อนทางเพศ  อย่าผิดผัวผิดเมียกัน
                ในฐานะมนุษย์ปุถุชนย่อมไม่มีใครที่ไม่เห็นแก่ตัว หลักพิจารณาในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ความเห็นแก่ตัวใดที่ไม่เป็นไปเพื่อการเอาเปรียบและผู้อื่นไม่เดือดร้อน ความเห็นแก่ตัวนั้นถูกต้องชอบธรรมตามวิสัยโลก แต่ความเห็นแก่ตัวใดเป็นไปเพื่อการเอารัดเอาเปรียบและทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ความเห็นแก่ตัวนั้นต้องห้าม ดังที่มีการประดิษฐ์อักษรเป็นรูปพระพุทธรูปเตือนใจกันว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” ที่หาดูได้ทั่วไป นั่นเอง

...................................

จริต


                ว่ากันว่า เวลาฝนตั้งท่าจะตกใหญ่ ลิงจะหักกิ่งไม้ที่มีใบสดๆ มาทำซุ้ม และจาเอาใจใส่ส่วนที่เป็นหลังคาเป็นพิเศษ มันจะส่องดูใต้หลังคาอย่างระมัดระวัง ถ้าพบช่องพบรูแม้นิดเดียว มันจะหักกิ่งไม้มาแซมเสริมเป็นอย่างดี แต่เมื่อฝนตกลงมาจริงๆ แทนที่ลิงจะหลบอยู่ใต้หลังคา กลับขึ้นไปนั่งตากฝนอยู่บนหลังคา ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง ก็หมายความว่ามันเป็นอุปนิสัยของมันเอง ซึ่งบางทีมนุษย์เราอาจไม่เข้าใจ
                มนุษย์ก็มีอุปนิสัยแตกต่างกัน หากอยากทราบว่า ตนเองมีอุปนิสัยอย่างไรแล้ว ท่านให้สังเกตปฏิกิริยาครั้งแรกที่เรามีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะนั่นคือ ภาพสะท้อนอุปนิสัยของคนเรา ทางพระพุทธศาสนา เรียกอุปนิสัยนี้ว่า “จริต” มี ๖ ประการด้วยกัน
                ๑. คนราคจริต – มีอุปนิสัยรักสวยรักงาม มีอารมณ์ศิลปิน มองอะไรต่างๆ ในแง่ดี
                ๒. คนโทสจริต – มีอุปนิสัยใจร้อน โกรธง่าย มองอะไรในแง่ร้าย ชอบความรุนแรง
                ๓. คนโมหจริต – มีอุปนิสัยเซื่องซึม ทำ พูด หรือคิดอะไร มักขาดเหตุผล  หลงติดสิ่งใดสิ่งหนึ่งง่ายๆ
                ๔. คนสันธาจริต – มีอุปนิสัยใจอ่อน เชื่อง่าย ถูกชักจูงง่าย อารมณ์อ่อนไหวง่าย
                ๕. คนพุทธิจริต – มีอุปนิสัยหนักแน่น ชอบคิด ค้นหาเหตุผลของสิ่งต่างๆ ไม่เชื่อใครง่ายๆ ชอบถูกโต้เถียงโต้แย้ง
                ๖.คนวิตกจริต – มีอุปนิสัยจับจด วอกแวก ชอบคิดฟุ้งซ่าน วิตกกังวล
                อุปนิสัยหรือจริตของคนทั้ง ๖ มีลักษณะทั้งสร้างสรรค์และทำลาย ทั้งบวกทั้งลบ คนๆ หนึ่งอาจมีหลายจริตได้ แต่จะมีจริตชนิดหนึ่งเป็นตัวนำเสมอ ดังนั้น ควรพิจารณาด้วยใจเป็นกลางว่า เราเป็นคนประเภทไหน มีจริตชนิดไหนนำหน้า แล้วหาทางส่งเสริมจริตที่เป็นฝ่ายสร้างสรรค์ และพยายามระวังยับยั้งจริตที่เป็นฝ่ายทำลายไม่ให้เกิดขึ้น ก็จะสามารถประครองตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยและเจริญก้าวหน้าไปได้ด้วยดี

...................................

อีคิว


                เราเคยได้ยินคำว่า ไอคิว (Intelligence Quotient) หมายถึงความฉลาดทางเชาว์ปัญญา การคิด การใช้เหตุผล การคำนวณ ตลอดจนการเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ ได้ เดี๋ยวนี้เราได้ยินคำว่า อีคิว ขึ้นมาอีกคำหนึ่ง (Emotional Quotient) หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ ความสามารถทางอารมณ์ ที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข
                อีคิว เป็นเรื่องที่แพร่หลายมามากกว่า ๑๐ ปี แต่ก่อนเชื่อกันว่า ไอคิวคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีและมีความสุข ต่อมานักจิตวิทยาชื่อ แดเนียล โกลด์แมน จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้เขียนหนังสือเรื่อง ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ออกสู่สาธารณชน ผู้คนให้ความสนใจอย่างมากและมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันถึงความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ จนเป็นที่ยอมรับว่า มีความสำคัญต่อความสำเร็จและความสุขในชีวิตของมนุษย์จนสำคัญนำหน้า ไอคิว   ในปัจจุบันผลการวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย  ลอสแองเจลิส (UCLA) แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จของผู้นำนั้น มีเพียง ๗ เปอร์เซนต์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความฉลาดหรือไอคิว ในขณะที่ ๙๓ เปอร์เซนต์ เป็นผลจากคุณสมบัติอื่น เช่น ความไว้วางใจ ความสมดุล การรับรู้ความเป็นจริง และความซื่อสัตย์ เหล่านี้อันเป็นความหมายของความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว นั่นเอง
                อารมณ์มีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของเรา มีผลต่อร่างกายและสัมพันธภาพของเรากับบุคคลอื่น อารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่ควรปฏิเสธหรือเก็บกดไว้ แต่ถ้ารับรู้อย่างเข้าใจและมีเป้าหมาย ก็จะเป็นผู้ช่วยที่ดีหรือเป็นเครื่องมือป้องกันในทางดี ความสามารถจัดการกับอารมณ์ในทางบวก จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของสุขภาพที่ดี เป็นพื้นฐานของความสุข ความกระตือรือร้นในชีวิต และความสามารถในการอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วยความรัก ผลของการวิจัยเป็นอันมากยืนยันว่า อีคิว มีส่วนผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลผลิต มีการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้น คนมีอีคิว สูงจะเพิ่มโอกาสและความสามารถในการใช้พลังเพื่อให้ได้ผลที่ดีกว่า
                อีคิวเริ่มแพร่หลายและเป็นที่นิยมมาเมื่อ ๑๐ กว่าปี ที่ผ่านมา แต่ในทางพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่อีคิวมานับพันปีแล้ว ซึ่งเรียกว่า จิตภาวนา คือการฝึกอบรมจิตใจให้สะอาด สงบ และสว่าง จะเกิดผลคือความฉลาดทางอารมณ์ ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างสร้างสรรค์และมีความสุขได้อย่างแท้จริง

.....................................