วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วิธีครองใจคน


                การครองใจคนหรือการทำให้คนอื่นรักนั้นเป็นศิลปะพิเศษอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะแก่คนที่หวังความเจริญก้าวหน้า และหวังที่จะมีชีวิตอยู่เป็นปกติในสังคม คนที่ครองใจคนอื่นได้ ย่อมได้รับการยอมรับและการช่วยเหลือสนับสนุนจากคนที่เราครองใจไว้ได้นั้นเป็นอันดี ทั้งในยามปกติและตกทุกข์ได้ยาก วิธีครองใจหรือการทำให้คนรัก มี ๒ แบบ คือ
                ๑. แบบโลกวิธี คือ วิธีที่ชาวโลกนิยมทำกัน เช่น การให้เกจิอาจารย์ ผู้มีคาถาอาคมแก่กล้า สัก เสก ลงเลขยันต์ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรืออาบน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก การใช้วัตถุมงคล ตลอดจนเครื่องรางของขลัง และว่านเสน่ห์ต่างๆ เพื่อให้ตนเองมีเสน่ห์เป็นที่รักและเป็นที่นิยมของผู้คน ทั้งนี้สุดแท้แต่ทัศนคติความคิดเห็น ความเชื่อของแต่ละบุคคล ซึ่งผลที่ได้รับยังหาความแน่นอนไม่ได้ ส่วนมากมักถูกหลอกลวง ต้มตุ๋น จากพวกมิจฉาชีพที่อาศัยเป็นช่องทางทำมาหากิน ทำให้สูญเสียเงินทองไปกับเรื่องแบบนี้ไม่น้อย ถึงกระนั้นยังได้รับความนิยมอยู่ทั่วไป
                ๒. แบบพุทธวิธี คือ วิธีที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ โดยเน้นไปที่การเริ่มต้นที่ตนเอง จัดการกับตัวเองให้เป็น คนน่ารัก ยึดหลักว่า “ถ้าเราทำตัวให้น่ารัก คนอื่นเขาก็รัก ถ้าเราทำตัวให้น่าเกลียด คนอื่นเขาก็เกลียด” โดยปฏิบัติตามหลักธรรม ดังนี้
                                ๒.๑ โอบอ้อมอารี (ทาน) คือให้เป็นคนมีน้ำใจ สมัครใจที่เป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ รู้จักเผื่อแผ่เจือจานสิ่งของเครื่องใช้แก่ผู้อื่น ในสิ่งที่เขาขาดแคลนบกพร่อง
                                ๒.๒ วจีไพเรา (ปิยวาจาก) คือ ให้เป็นคนพูดจาสุภาพนุ่มนวล ด้วยน้ำใสใจจริง ไม่เสแสร้งแกล้งทำ หลีกเลี่ยงคำพูดอันเป็นเท็จ คำพูดส่อเสียด ยุให้รำตำให้รั่ว คำพูดหยาบคาย และคำพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
                                ๒.๓ สงเคราะห์ปวงชน (อัตถจริยา) คือ ให้ทำตนเป็นคนที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ช่วยเหลือเอาใจใส่ในกิจการต่างๆ ด้วยแรงกาย แรงใจ และด้วยคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ด้วยความเต็มใจ เต็มความรู้ความสามารถ ทำอย่างไรก็ได้ที่ให้เขาเห็นว่าเราเต็มใจช่วยเขา
                                ๒.๔ วางตนเหมาะสม (สมานัตตตา) คือ ให้เป็นคนดีที่เสมอต้นเสมอปลาย ทำต่อเนื่อง ไม่เป็นคนขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย และให้เป็นคนที่รู้จักทำตัวเป็นกันเองเข้ากับผู้อื่นได้ ใครคบค้าด้วยก็สบายใจไม่เครียด ไม่ทำตัวให้สูงหรือต่ำเกินไปนัก
                วิธีครองใจคนทั้งสองแบบนี้ หากเราเคยปฏิบัติแบบโลกวิธีมาแล้ว ได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผล ขอแนะนำให้ปฏิบัติแบบพุทธวิธีดูบ้าง แล้วจะรู้สึกว่าวิธีครองใจคนไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอะไรเลย

........................................

ธาตุแท้ของคน


                นักปราชญ์ทางศาสนา ได้ให้ข้อคิดว่า คนเราย่อมมองอะไรต่างๆ ตามพื้นฐานเดิมของคนนั้นๆ เช่น เมื่อเห็นพระพุทธรูปทองคำตั้งอยู่บนแท่น นักเศรษฐกิจอาจคิดประเมินราคาของพระพุทธรูป ขณะที่นักเคมีก็อาจคิดถึงธาตุทองคำที่นำมาสร้างพระพุทธรูปว่าบริสุทธิ์หรือไม่ มีธาตุอะไรเจือปนบ้าง โจรร้ายก็อาจจะคิดในใจว่าหากขโมยนำไปขายจะได้ราคาเท่าไร ในทำนองเดียวกัน ถ้าอยากจะรู้ว่าธาตุแท้ของคนเราเป็นอย่างไรก็จงหัดสังเกตปฏิกิริยา ครั้งแรกของคนคนนั้นว่าเขามีท่าทีต่อสิ่งนั้นๆ อย่างไร
                ธาตุแท้ หรืออุปนิสัยของคน ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าจริต มี ๖ ประการ คือ
                ๑. ราคจริต คนเจ้าราคะ มีอุปนิสัยรักสวยรักงาม หรืออารมณ์ศิลปิน เจ้าชู้ มองอะไรต่างๆ ในแง่ดี
                ๒. โทสจริต คนเจ้าโทสะ มีอุปนิสัยใจร้อน โกรธ เกลียดชังง่าย มักมองอะไรในแง่ร้าย ทำอะไรก็มักจะรุนแรง ชอบทำลาย
                ๓. โมหจริต คนเจ้าโมหะ มีอุปนิสัยเซื่องซึม ไม่ชอบคิดอะไรมาก และมักง่าย
                ๔. ศรัทธาจริต คนเจ้าสัทธา มีอุปนิสัยใจอ่อน เชื่อง่าย ถูกชักจูงได้ง่าย อารมณ์อ่อนไหว
                ๕. พุทธิจริต คนเจ้าปัญญา มีอุปนิสัยหนักแน่น ชอบคิดหาเหตุผลของสิ่งต่างๆ ไม่เชื่อง่าย ชอบถกเถียงโต้แย้ง
                ๖. วิตกจริต คนเจ้าความคิด มีอุปนิสัยจับจด วอกแวก ชอบคิดฟุ้งซ่าน วิตกกังวลในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
                ในคนคนหนึ่งอาจมีหลายจริตก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีจริตอะไรเป็นตัวนำ ขอให้ลองพิจารณาดูด้วยใจเป็นธรรมว่าตัวของเราเองจัดเป็นคนมีจริตแบบไหนใน ๖ ประการข้างต้น มีลักษณะสร้างสรรค์หรือทำลาย ถ้ามีลักษณะสร้างสรรค์ก็ควรส่งเสริม แต่ถ้ามีลักษณะชอบทำลายก็จงพยายามหาทางยับยั้ง หรือเบี่ยงเบนให้แสดงตัวในทางสร้างสรรค์แล้วปัญหาต่างๆ ที่ไม่ประสงค์ก็จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

........................................

คบเด็กสร้างบ้าน


                หากจะตั้งคำถามว่า ระหว่างการละเว้นความชั่วกับการทำความดีของเด็กกับผู้ใหญ่ มีความแตกต่างกันตรงไหน คำตอบที่ได้ก็น่าจะอยู่ที่เหตุผลของการกระทำ สำหรับเด็ก เหตุผลอาจตื้นๆ หรือบางทีก็ไม่ตรงจุดหมายที่แท้จริง ส่วนผู้ใหญ่เหตุผลจะแยบคายและลึกซึ้งกว่า เช่น การไม่เล่นฟืนไฟ เหตุผลของเด็กก็อาจเป็นกลัวผู้ใหญ่ลงโทษ แต่เหตุผลของผู้ใหญ่คือ กลัวเกิดไฟไหม้ การไม่ขาดเรียน เพราะเด็กกลัวพ่อแม่หรือครูทำโทษ ส่วนผู้ใหญ่กลัวว่าจะไม่ได้วิชาความรู้ การไหว้พระ เด็กไหว้พระเพราะผู้ใหญ่บอกให้ไหว้ ส่วนผู้ใหญ่ไหว้เพราะต้องการทำจิตใจให้สงบ ในการทำความดี ละเว้นความชั่วของเด็ก จึงเข้าลักษณะที่ว่าสามวันดีสี่วันร้าย แล้วแต่เหตุปัจจัยพาไป โดยไม่ทราบถึงผลที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ซึ่งต่างจากการกระทำของผู้ใหญ่โดยสิ้นเชิง
                โบราณกล่าวว่า คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง ทุกท่านล้วนแต่ผ่านวัยเด็กมาแล้ว คงจะเคยเล่นสร้างบ้านย้ายบ้านมาแล้ว หรือบางทีข้าวของในบ้านที่ผู้ใหญ่จัดไว้ดีแล้ว ก็ขนออกมาเล่นกระจัดกระจายเต็มบ้าน โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ผู้ใหญ่เพียงไร การคบเด็กสร้างบ้าน ท่านจึงหมายรวมถึงการคบกับคนพาล คบคนโง่เขลาเบาปัญญา ทำอะไรโดยปราศจากเหตุผล และไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดตามมา ซึ่งอาจเป็นบ่อเกิดแห่งความหายนะก็ได้ ส่วนคำว่าคบหัวล้านสร้างเมืองนั้น หมายถึงคนที่เกิดมานาน มีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตมากกว่าเด็ก อย่างที่พูดกันว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนนั่นเอง คนที่มีประสบการณ์ย่อมรู้จักแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่ขาดตกบกพร่องให้ดีกว่าเดิม การเลือกคบคนประเภทหลังนี้ จึงมีผลดีต่อตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ
                ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า คบเด็กสร้างบ้าน หมายถึง การคบคนพาล ผู้ปราศจากปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงผลดีผลเสียอันเกิดจากการกระทำของตนเอง ส่วนคบหัวล้านสร้างเมือง หมายถึง การคบบัณฑิต ผู้ซึ่งคอยชี้แนะแนวทางที่ดีในการดำเนินชีวิตให้ เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว จะคบเด็กสร้างบ้าน หรือคบหัวล้านสร้างเมือง ก็จงพิจารณาดูเถิด
........................................