วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

ขยันเข้าไว้

ขยันเข้าไว้ยังไงก็ไม่ขาดทุน
                มีเรื่องเล่าว่า ที่มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงแหล่งหนึ่ง เมื่อเปิดสอนใหม่ๆ อาจารย์ที่สอนคือ อาจารย์ผู้อาวุโสสุดเท่านั้น อาจารย์อื่นๆ จะไม่ได้สอน อยู่มาวันหนึ่ง อาจารย์ผู้อาวุโสต้องการผู้ช่วยเขียนคำศัพท์บนกระดาน เพื่อเป็นการทุ่นเวลา ขณะสอนจะไม่ต้องเขียนกระดาน หน้าที่นี้ไม่มีอาจารย์คนใดอยากกระทำ เพราะรู้สึกว่าเป็นการลดเกียรติความเป็นอาจารย์ลง แต่มีอาจารย์บรรจุใหม่คนหนึ่ง รับอาสาทำให้ด้วยความเต็มใจ ทุกครั้งก่อนที่อาจารย์ผู้อาวุโสจะเข้าสอน อาจารย์ใหม่ผู้นี้ก็จะเข้าไปรับข้อความแล้วนำมาเขียนไว้บนกระดานให้แล้วเสร็จ การทำหน้าที่ช่วยเขียนคำศัพท์บนกระดานเป็นผลดีต่ออาจารย์ใหม่ คือทำให้อาจารย์ผู้อาวุโสรักและเห็นใจ จึงได้แบ่งงานสอนบางบทให้ช่วยสอนนับได้ว่าเป็นอาจารย์คนแรกที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้ทำหน้าที่สอน ทำให้เป็นที่รู้จักของนักศึกษามากกว่าอาจารย์คนอื่นๆ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา และได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานขึ้นอย่างเป็นลำดับ จนถึงได้เป็นคณบดีและอธิการบดีในที่สุด
                จากเรื่องนี้ทำให้ได้ข้อคิดที่ว่า ผู้ที่ประสบผลสำเร็จและมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานทุกวงการ ย่อมต้องผ่านพบชีวิตในแนวราบหรือระดับล่างมาก่อน ไม่มีใครที่อยู่ๆ แล้วจะประสบผลสำเร็จขึ้นมาชนิดที่เข้าทำงานวันแรกก็ได้เป็นใหญ่เป็นโตเลย แม้บางคนดูเผินๆ แล้วเหมือนจะเป็นเช่นนั้น เช่น สืบทอดตำแหน่งบรรพบุรุษ แต่พอศึกษาชีวิตของบุคคลประเภทนั้นจริงๆ แล้วจะเห็นได้ว่า กว่าที่ผู้ใหญ่หรือบิดามารดาจะให้รับตำแหน่งแทนได้นั้น ก็ต้องผ่านการฝึกฝนหรือมีประสบการณ์ในระดับล่างมาก่อนทั้งสิ้น
                ดังนั้น ผู้ที่อยากประสบผลสำเร็จและมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จะต้องเป็นคนที่มีมานะบากบั่นทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจให้กับงาน ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทใดก็ตาม เมื่อได้รับมอบหมายแล้วจะต้องลงมือทำ ไม่จับจด หรือเกี่ยงงอนว่างานนั้นเหมาะสมกับที่เราเรียนมาหรือไม่ ถ้าเป็นงานสุจริตด้วยแล้วมีโอกาสเมือไร ต้องลงมือทำในทันที เพราะงานสุจริตทุกชนิดที่ทำลงไปนั้น ถึงแม้อาจจะไม่ได้ผลเร็วทันตาหรือไม่ได้กำไรทุกครั้ง แต่รับรองได้ว่า จะไม่มีวันขาดทุนอย่างแน่นอน อย่างน้อยที่สุด คนอื่นก็ต้องเห็นว่าเราเป็นคนที่สู้งาน ไม่ได้เป็นคนที่เกี่ยงงาน เมื่อคนอื่นเห็นเราเป็นคนสู้งานแล้ว โอกาสดีๆ อันเป็นปัจจัยแห่งความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็จะเข้ามาสู่ชีวิตของเรานั่นเอง

............................................

ผ้าขี้ริ้ว

ผ้าขี้ริ้ว
                ผ้าขี้ริ้ว หมายถึงผ้าเก่าที่ใช้สำหรับถูก ทำความสะอาด สามารถเห็นได้โดยทั่วไปทุกครัวเรือน บริษัทห้างร้าน หรือแม้แต่ในสถานที่ราชการ เป็นผ้าที่ไม่มีราคาค่างวดอะไร แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งในแง่การาใช้งานแล้ว จะเห็นว่าผ้าขี้ริ้วนี้ เป็นผ้าที่มีค่ายิ่งนัก ภารกิจของผ้าขี้ริ้วก้นครัวที่ดูสกปรกและขาดรุ่งริ่งนั้น ได้มีผู้รู้ได้เทียบเคียงกับคนเราไว้น่าสนใจ และให้ข้อคิดไว้หลายประการ
                -ยอมสกปรกเพื่อให้สิ่งอื่นๆ สะอาด เหมือนคนบางคนยอมลำบากเพื่อให้ผู้อื่นเป็นสุข
                -ดูดซับความสกปรกได้ แต่ก็สลัดความสกปรกออกจากตัวได้ตลอดเวลา เหมือนคนบางคนรู้ตัวว่าสกปรกทั้งกาย วาจา ใจ ก็สามารถชำระล้างจนสะอาดได้ มิใช่อมความสกปรกไว้แล้วบอกว่าตนเองนั้นสะอาด
                -แม้ดูว่าเป็นผ้าที่ไม่มีราคา แต่ก็มีคุณค่ายิ่งใหญ่ได้ เหมือนคนที่พยายามทำตนให้มีคุณค่าด้วยการทำงาน ทำตนให้เป็นประโยชน์ ไม่งอมืองอเท้า น้อยเนื้อต่ำใจในโชควาสนาชะตาชีวิต
                -ไม่เกี่ยงงอนว่าจะถูกใช้เช็ดถูอะไร เหมือนคนที่ยอมตัวอาสาทำงานที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ปริปากบ่น รู้จักอาสาคน อาสางาน ไม่ว่าจะเป็นงานใดๆ ไม่เกี่ยงงาน
                -ทนต่อการขัดถูและซักล้างไม่เปราะบาง เหมือนคนที่มีความอดทนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา แม้จะหนักเหนื่อยเพียงไรก็มีจิตใจหนักแน่นไม่เปราะบางแตกหักง่าย
                -พอใจที่จะอยู่เบื้องหลังความสะอาด เหมือนคนที่พอใจที่ได้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคนอื่น พอใจที่จะทำงานแบบปิดทองหลังพระ
                -แม้จะถูกมองว่าเป็นเพียงผ้าขี้ริ้ว แต่ก็ไม่ทำตัวให้ขี้เหล่ เหมือนคนที่รู้ตัวเองว่าคนกำลังสบประมาท จะต้องตั้งใจเอาชนะอุปสรรคให้ได้ สามารถมองเห็นคุณค่าจากสิ่งที่คนอื่นมองว่าไร้ค่า
                ผ้าขี้ริ้วมีค่าเพราะยอมสัมผัสกับสิ่งสกปรกและสามารถกำจัดสิ่งสกปรกได้ หากคนเราจะได้น้อมน้ำเอาข้อคิดจากผ้าขี้ริ้วนี้มาปรับปรุงพฤติกรรมของตน ย่อมทำให้ตนมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

....................................

ยอดงาม


                คนที่เกิดมาในโลกทุกชาติทุกภาษา ไม่ว่าจะเป็นคนชั่วหรือคนดีจะเป็นคนยากจนหรือคนมั่งมี ล้วนแต่นิยมชมชอบความงามกันทั้งนั้น ความงามของคนมี ๔ ชั้น คือ
                ๑.งามอาภรณ์ คืองามที่เครื่องประดับ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องแต่งตัวนานาชนิด เช่น เสื้อผ้า ต่างหู สร้อย แหวน นาฬิกา ฯลฯ งามอาภรณ์นี้ เป็นความงามชั้นนอกสุด ไม่ช้าก็ล้าสมัย หมดความนิยม และเป็นเพียงความงามที่หาซื้อ ขอยืม หรือแม้แต่ขโมยกันก็ได้
                ๒.งามร่างกาย คืองามที่เรือนร่าง เช่น ทรงผม ผิวกาย ฟัน รูปหน้า มืองาม นิ้วงาม ฯลฯ งามร่างกายนี้ มีค่ามากกว่างามอาภรณ์ แต่ก็เป็นความงามที่ไม่จีรังยั่งยืน และเป็นเครื่องประกันว่าผู้นั้นเป็นคนดีหรือคนชั่วไม่ได้
                ๓.งามารยาท คืองามที่กิริยาวาจา เช่น รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ พูดจาไพเราะ ยิ้มแย้มแจ่มใส ฯลฯ คนที่มีมารยาทงามเป็นคนมีเสน่ห์ ผูกมัดจิตใจคนอื่นได้แน่นแฟ้น แต่มารยาทของคนเป็นสิ่งที่สามารถเสแสร้งได้  คนโบราณมักกล่าวเตือนให้สังเกตและระวังคนลักษณะ ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ ปากหวานก้นเปรี้ยว หรือหน้าเนื้อใจเสือ ไว้ให้ดี
                ๔.งามใจ คืองามที่จิตใจ เป็นคนใจบุญสุนทาน มีเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความรักความห่วงใย ปรารถนาดีต่อผู้อื่นเสมอ
                บรรดาความงามทั้ง ๔ ชั้นนั้น งามใจ ถือว่าเป็นยอดงามของคน เพราะเป็นความงามที่ลึกซึ้ง เป็นความงามที่ไม่จืดจางและไม่ล้าสมัย คนที่งามใจเพราะใช้ธรรมาภรณ์ อาภรณ์คือธรรมะ เป็นเครื่องประดับตกแต่งใจให้งามมี ๒ ประการคือ
                ๑.ขันติ ความอดทน คืออดทนต่อความลำบากตรากตรำในภารกิจการงาน อดทนต่อทุกขเวทนายามเจ็บป่วย อดทนต่อความเจ็บใจ และอดทนต่ออำนาจกิเลสที่ครอบงำทำให้เกิดรักโลภ โกรธ หลง
                ๒.โสรัจจะ ความสงบเสงี่ยม คือเมื่ออดทนได้แล้ว ก็พยายามสงบใจทำใจให้เย็นลงด้วยอุบายอันชอบ เมื่อใจสงบแล้ว กิริยาวาจาที่แสดงออกมาจะสงบเสงี่ยม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
                ผู้ใดมีธรรมะ ๒ ประการนี้ จะเป็นเครื่องแต่งใจให้งามไว้เสมอจนได้ชื่อว่า ยอดงาม

............................................

ชีวิตคือการต่อสู้

ชีวิตคือการต่อสู้
                เราคงเคยได้ยินเสียงเด็กทารกแรกกันมาแล้ว เสียงแรกที่เราได้ยินคือเสียงร้องไห้ ทารกแรกเกิดไม่เคยส่งเสียงหัวเราะให้เราได้ยิน นั่นอาจแสดงให้รู้ว่าชีวิตที่ออกมาสู่โลกนี้จะต้องต่อสู้ สิ่งแรกที่ต้องต่อสู้คือ ดินฟ้าอากาศ สภาพแวดล้อมรอบกาย เช่น ร้อน หนาว หากร่างกายแข็งแรงต่อสู้กับธรรมชาติได้ ก็มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ธรรมชาติย่อมแฝงไว้ทั้งคุณและโทษ มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้ต้องอาศัยธรรมชาติ  อากาศใช้หายใจ ความร้อนให้ความอบอุ่น มีน้ำให้ดื่มกินใช้ มีอาหารให้บริโภค ในขณะเดียวกัน ภัยอันตรายที่แฝงมากับธรรมชาติก็มีอยู่มากมาย เช่น ฝนตกมากจนน้ำหลากท่วมบ้านเรือน ที่ทำกิน เป็นอันตรายต่อชีวิต ทำให้พืชพันธุ์อาหารเสียหาย พายุพัดแรงทำให้อาคารบ้านเรือนพัง  ฯลฯ
                ชีวิตจะขาดธรรมชาติไม่ได้เลย แต่ชีวิตที่จะอยู่กับธรรมชาติได้จะต้องเป็นชีวิตที่ต่อสู้ คือ จะต้องมีความคงทนแข็งแรง และมีความระมัดระวังให้พ้นจากภัยธรรมชาติ นอกจากจะต่อสู้กับภัยธรรมชาติแล้ว ยังจะต้องต่อสู้เพื่อความอยู่ดีกินดี เนื่องจากจำนวนประชากรในโลกเพิ่มขึ้นทุกวินาที การทำมาหากินต้องแข่งกัน ขึ้นรถลงเรือจะต้องเบียดเสียดขึ้นลง คนที่เกรงใจให้โอกาสคนอื่นกลับเป็นคนโง่ เป็นฝ่ายเสียเปรียบ คนที่หน้าด้านฉวยโอกาสกลับเป็นคนฉลาดเป็นฝ่ายได้เปรียบ จะเข้าโรงเรียนจะต้องสอบแข่งขันแสดงความดีเด่น เรียนสำเร็จแล้วจะเข้าทำงานก็ต้องแข่งขันกันอีก ได้ทำงานแล้วก็ต้องแข่งขันกันเพื่อเกียรติยศชื่อเสียง ถ้ามิฉะนั้นจะเป็นคนล้าหลัง เข้ากับสังคมไม่ได้ จะยกเท้าก้าวย่างไปทางไหน จะมองไปทางทิศใดจะพบแต่เรื่องที่จะต้องต่อสู้ทั้งนั้น
                การต่อสู้ที่หนักยิ่งของชีวิต คือการต่อสู้เพื่อความดี พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า จะชนะความชั่วด้วยความดี การทำความดีเป็นการทวนกิเลส เหมือนพายเรือทวนน้ำ จะต้องออกกำลังมากกว่าปกติ จะต้องมีความรอบคอบ ดังนั้น คนที่จะทำความดีจะต้องมีชีวิตอยู่ด้วยการต่อสู้ ต่อสู้กับสังคมที่มีความเป็นอยู่เหลื่อมล้ำสูง ต่อสู้กับอารมณ์ฝ่ายต่ำที่ทำให้จิตใจตกไปในฝ่ายชั่ว การต่อสู้กับอารมณ์ฝ่ายต่ำนี้แหละ เป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะเมื่อชนะอารมณ์ฝ่ายต่ำได้แล้ว ชื่อว่าชนะได้ทุกอย่าง และนั่นคือ ชีวิตต้องสู้อย่างแท้จริง

............................................

บันได


                ในการปลูกอาคารบ้านเรือน หรือตึกชั้นสูงๆ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ บันไดขึ้น-ลง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าไปมาก การก่อสร้างอาคารหรือตึกชั้นสูงๆ มักจะติดลิฟต์เพื่อความสะดวกรวดเร็วและประหยัดเวลาในการขึ้น-ลงก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยอันตราย เช่น ถ้าไฟดับลิฟต์ค้างต้องติดอยู่ข้างใน ดีไม่ดีอาจถึงตายได้ เมื่อบันไดมีไว้สำหรับขึ้น-ลง ผู้ใช้บันไดก็ต้องมีความระมัดระวังในการใช้ คือถ้าเดินไม่ระมัดระวังมัวแต่ไปมองทางอื่นก็อาจจะสะดุดบันได้ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือตกบันได บางคนเกิดคึกคะนองแทนที่จะขึ้น-ลงทีละขั้น แต่กลับก้าวกระโดดข้ามขั้น จึงมีโอกาสถึงที่หมายได้เร็วเท่าๆ กับมีโอกาสตกบันไดได้ง่ายด้วย
                ในการดำเนินชีวิตของคนเราก็เหมือนกันการก้าวขึ้นสู่บันได พระพุทธศาสนาได้แบ่งชีวิตของคนออกเป็นสามขั้น สามวัยด้วยกันคือ
                ๑.ปฐมวัย กำหนดช่วงอายุตั้งแต่ ๑-๒๕ ปี เป็นวัยที่เน้นหนักไปในการแสวงหาวิชาความรู้ เพื่อเป็นหลักประกันในการประกอบอาชีพ ทำงานเลี้ยงชีวิต
                ๒. มัชฌิมวัย กำหนดช่วงอายุตั้งแต่ ๒๖-๕๐ ปี เป็นวัยที่เน้นหนักไปในการทำงานตั้งเนื้อตั้งตัวสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ชีวิต เพื่อเป็นหลักประกันในยามชรา
                ๓.ปัจฉิมวัย กำหนดช่วงอายุตั้งแต่ ๕๑-๑๐๐ ปี เป็นวัยที่เน้นหนักไปในการทำบุญทำกุศล สร้างคุณงามความดี เพื่อเป็นหลักประกันในสัมปรายภพ
                ถ้าเราปฏิบัติหน้าที่ของชีวิตแต่ละวัยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนในทางพระพุทธศาสนา ไปข้ามขั้นหรือผิดขั้น เช่น ปฐมวัยไปเน้นหนักการทำงานแทนที่จะตั้งหน้าเรียนรู้ หาวิชา หรือปัจฉิมวัยร่างกายและสมองอ่อนล้าแล้ว แต่กลับไปมุ่งเรียนวิชาแทนที่จะตั้งใจสร้างบุญสร้างกุศล โอกาสที่จะพลัดตกบันไดชีวิตก็มีมาก แต่ทั้งหมดก็มิได้หมายความว่าห้ามทำหน้าที่ผิดวัยไปเสียทั้งหมด กล่าวคือ ปฐมวัยจะทำบุญกุศลก็ได้ แต่การแสวงหาวิชาความรู้ต้องเป็นหลัก มัชฌิมวัยจะเรียนวิชาก็ได้แต่การทำงานตั้งตัวต้องเป็นหลัก
                ถ้าเราดำเนินชีวิตถูกต้องตามขั้นตอนดังกล่าว ก็มั่นใจได้ว่า ชีวิตแต่ละวัยจะมีหลักประกันที่มั่นคง เหมือนการเดินขึ้นบันได้ด้วยความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา

............................................