วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ธรรมนูญชีวิต


                พระพุทธศาสนามีหลักปฏิบัติอันเป็นเสมือนธรรมนูญชีวิตของชาวพุทธ พอสรุปได้เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติได้ ดังนี้
                ๑.พระรัตนตรัย เป็นสิ่งเคารพสูงสุดลำดับที่หนึ่ง ได้แก่
                  - พระพุทธเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้ความจริงโดยชอบด้วยพระองค์เอง ทรงเผยแผ่พุทธธรรม และทรงเป็นผู้ประกาศอิสรภาพของมนุษย์แก่ชาวโลกให้หลุดพ้นจากกิเลสและจำอำนาจของเทพเจ้ามาเป็นไทแก่ตนเอง
                  - พระธรรม เป็นสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว สามารถทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติพ้นจากทุกข์ได้
                  - พระสงฆ์ เป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วสอนผู้อื่นให้รู้และปฏิบัติตาม
                ๒.พึ่งตนเอง ไม่อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยแบ่งกิจคือสิ่งที่พึงกระทำเป็นสองประเภท ได้แก่
                  - กิจภายนอก แม้พระพุทธเจ้าจะทรงสอนมนุษย์ให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น เริ่มต้นชีวิตต้องพึ่งพ่อแม่ พึ่งครูอาจารย์และพึ่งสังคม แต่ทรงสอนให้พึ่งตนเองเป็นหลัก เพราะที่พึ่งภายนอก เช่น พ่อแม่ ไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง และไม่สามารถทำกิจให้แก่เราได้ในทุกๆ อย่าง
                  - กิจภายใน คือ การทำความดีเหมือนการรับประทานอาหาร การละความชั่วและการชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสเหมือนการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ทุกคนต้องทำเอง ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ความบริสุทธิ์และความไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตัว คนอื่นหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ไม่อาจทำแทนได้”
                ๓.เก่งทำ คือทำงานอย่างมีระบบและเชื่อมั่นในผลสำเร็จที่เกิดจากการกระทำของตนเอง
                ๔.ย้ำเพียร โดยยึดหลัก อิทธิบาทสี่ คือ ๑.ฉันทะ ความรัก ๒.วิริยะ ความขยัน ๓.จิตตะ ความใฝ่ใจ และ ๔.วิมังสา ความไตร่ตรอง
                ๕. เกษียณทุกข์ คือบรรลุประโยชน์สามขั้น คือ ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า และประโยชน์สูงสุด คือ นิพพาน หมายถึงภาวะดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง
                ธรรมนูญชีวิตทั้งห้าประการนี้ เราชาวพุทธทั้งหลายควรฝึกปฏิบัติให้ได้เป็นนิจ จะถือว่าเป็นชาวพุทธอย่างแท้จริง

............................................

การพึ่งพาอาศัยกัน


                                                     ป่าพึ่งเสือหมู่ไม้            มากมูน
                                                เรือพึ่งพายพายูร-                 ยาตรเต้า
                                                นายพึ่งบ่าวบริบูรณ์             ตามติด มากแฮ
                                                เจ้าพึ่งข้าค่ำเช้า                     ช่วยสิ้นเสร็จงานฯ
                เมื่อพิจารณาเนื้อความของโคลงโลกนิติข้างต้น ทำให้เห็นได้ว่า มนุษย์เราจะอยู่โดยไม่พึ่งพาอาศัยบุคคลอื่นหรือสิ่งใดเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่น และสิ่งอื่นไม่มากก็น้อย และสิ่งที่สัมพันธ์กันนี้ช่วยให้แต่ละฝ่ายได้รับประโยชน์หรือเกิดผลดีแก่กันและกัน ลองมาแยกการพึ่งพาอาศัยกันตามโคลงบทนี้ได้เป็น ๔ กลุ่ม คือ
                ๑.ป่าพึ่งเสือ ป่าไม้ที่มีเสืออาศัยอยู่ ย่อมทำให้ต้นไม้ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนกลัวเสือ จึงไม่กล้าเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า และในขณะเดียวกัน ป่านั้นก็เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่หากินและที่อยู่อาศัยให้กับเสือ
                ๒.เรือพึ่งพาย เรือที่อาศัยไม้พายย่อมแล่นไปถึงที่หมาย ไม้พายจึงมีความหมายกับเรือมาก เพราะถ้าขาดไม้พายเสียแล้ว เรือก็จะลอยเคว้งคว้างไปตามกระแสน้ำและไร้ทิศทาง ดังนั้น คุณค่าของไม้พายจึงอยู่ที่ช่วยให้เรือไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่ต้องการ ไม้พายจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเรือ
                ๓.นายพึ่งบ่าว การที่เจ้านายมีบริวารคอยปรนนิบัติรับใช้ ก็เพราะมีน้ำใจไมตรีต่อบริวาร เข้าทำนองว่า “บริวารมา เพราะน้ำใจมี บริวารหนี เพราะน้ำใจลด บริวารหมด เพราะน้ำใจแห้ง” เมื่อมีไมตรีต่อกันจึงเกิดความอบอุ่นทั้งสองฝ่าย คือเจ้านายให้ความเมตตารักใคร่ ฝ่ายบริวารก็จงรักภักดี คอยเป็นหูเป็นตา และช่วยป้องกันภัยให้เจ้านาย ในทุกสารทิศ เจ้านายดี มีลูกน้องดี ย่อมเกิดความสุข ต่างพึ่งพาอาศัยกันได้
                ๔.เจ้าพึ่งข้า การที่นายจ้างพึ่งลูกจ้างหรือเจ้านายพึ่งคนรับใช้ จะช่วยให้การงานสำเร็จลุล่วงไป โดยที่นายจ้างหรือเจ้านายให้รางวัล และคำชมเชยในการทำงาน ไม่ดูถูกผู้น้อย ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีกำลังใจขึ้น เมื่อคนเรามีกำลังใจดี สุขภาพจิตดี ก็จะตั้งใจทำงานและทุ่มเทจนสุดกำลัง ทำงานให้ลุล่วงไปด้วยความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และต่อผู้เป็นนายจ้าง หรือเจ้านายนั้น
                เห็นได้ว่า การถ้อยทีถ้อยอาศัยกันระหว่างบุคคลและสิ่งต่างๆ เมื่อต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ให้ดีย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่กันและกัน โดยเฉพาะมนุษย์ เมื่อไปสัมพันธ์กับบุคคลใดหรือสิ่งใดแล้ว ไม่ไปสร้างปัญหาหรือไม่ไปทำลายสิ่งนั้น ก็จะช่วยให้โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและน่าอยู่ยิ่งขึ้น

............................................

กล้วยไม้หรือกาฝาก


                น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักไม้ ๒ ชนิดนี้ คือ กล้วยไม้และกาฝาก ไม้ทั้ง ๒ ชนิดนี้มีลักษณะที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ กล้วยไม้บางชนิดและกาฝากเป็นไม้ที่ต้องเกาะอาศัยต้นไม้อื่น มิฉะนั้นก็อยู่ไม่ได้ แต่ที่ต่างกันคือกล้วยไม้รากไม่เป็นพิษ อาศัยอาหารจากต้นไม้ที่ตัวเองเกาะ มีดอกสวยงาม บางชนิดมาราคาแพงมาก เป็นที่ปรารถนาโดยทั่วไป นับว่าเป็นต้นไม้ที่มีเสน่ห์ น่าชื่นชม ส่วนกาฝากมีรากเป็นพิษ แย่งอาหารจากต้นไม้ที่มันไปเกาะอยู่ เป็นไม้ไร้ความสวยงาม ไม่มีอะไรน่าอภิรมย์ยินดี เป็นไม้ที่อาภัพ ไม่มีใครปรารถนา และเนื่องจากรากของกาฝากจะเจาะเข้าไปในเนื้อของต้นไม้ที่มันอาศัยแล้วแย่งอาหารจากต้นไม้นั้น ต้นไม้ที่มันเกาะอาศัยอยู่จึงมักมีอันเหี่ยวแห้งอับเฉาและตายไปในที่สุด
                หากเปรียบเทียบคนกับกล้วยไม้และกาฝากจะพบว่า คนประเภทกล้วยไม้เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นลูกเต้าเหล่าใคร พ่อแม่ก็โปรดปราน เป็นศิษย์ใคร ครูบาอาจารย์ก็รักใคร่ อยู่สังคมไหนก็ทำให้สังคมนั้นเจริญ ส่วนคนประเภทกาฝาก เป็นคนมีพิษ เป็นลูกใครพ่อแม่ก็เดือดร้อน เพราะสร้างความเสื่อมเสียให้แก่วงศ์ตระกูล เป็นศิษย์ใคร ครูบาอาจารย์ก็เอือมระอา ทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง อยู่ในสังคมไหนก็เป็นที่เอือมระอาต่อคนในสังคมนั้น ลองพิจารณาดูตัวเองว่า ตัวเราเป็นคนประเภทกล้วยไม้หรือกาฝาก

............................................