วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มงคลชีวิตเก้าประการ

1.ซื่อตรง
บุคคลใด หรือฝ่ายใดก็ตาม ถ้าขาดความซื่อตรงเสียแล้ว ก็จะเกิดความเสื่อมโทรมเสียหาย เกิดเรื่องเดือดร้อน เกิดความไม่สงบ เกิดความระแวงไม่ไว้วางใจ ขาดความเชื่อถือ ขาดความนิยม เกิดความโกรธเคือง อาฆาตแค้น เกิดความเกลียดชัง ดูถูกดูหมิ่นกัน กฎธรรมชาติมีอยู่ว่า บุคคลใด ซื่อตรงเป็นบุคคลที่น่าคบค้าสมาคมมีเสน่ห์ ใครๆ ก็ชอบ คบค้าสมาคมกับคนซื่อตรง ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน ฉะนั้น ขอให้ถือความซื่อตรงเป็นหลักปฏิบัติประจำของชีวิต
2. กตัญญู กตเวที
คนเราเกิดมาชาติหนึ่ง ผู้มีพระคุณแก่เรา สรุปโดยย่อมี 5 ประการ
- พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี และประพฤติตนเป็นตัวอย่าง
- ชาติ กษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ผู้ให้สิทธิคุ้มครองความยุติธรรม ความมีหลักฐาน ถิ่นที่อยู่อาศัย
- บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ให้กำเนิดเลี้ยงดูรักษาให้ความสุขความเจริญและหลักฐานของชีวิต
- ครูบาอาจารย์ ผู้สั่งสอนศิลปะวิทยาการทั้งหลายให้ความเจริญรุ่งเรืองและป้องกันในทิศทั้งหลาย
- ญาติ พี่น้อง มิตรสหาย เจ้านาย ผู้บังคับบัญชาเหนือตน ผู้ให้ความอุปการะหรือเลี้ยงดู สนับสนุน ส่งเสริมให้เราเจริญรุ่งเรือง
ผู้มีพระคุณทั้ง 5 ประการดังกล่าว ผู้เจริญแล้วทั้งหลายต้องรู้จักบุญคุณและหาทางสนองตอบบุญคุณจนกว่าชีวิตจะหาไม่อย่าให้ใครมาตำหนิว่าเป็นคนเนรคุณ หรือลูกทรพี ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ที่โลกต้องการบุคคลประเภทนี้นักปราชญ์ทั้งหลายท่านกล่าวสรรเสริญยกย่องว่าตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เทวดาฟ้าดินย่อมคุ้มครองรักษาเสมอ เพราะฉะนั้น ขอให้ถือเรื่องความกตัญญูเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญของชีวิต
3. ขยัน
ความขยันเป็นเครื่องผลักดันชีวิตให้เจริญก้าวหน้าไปสู่ความมั่นคั่งบรรดาบุคคลสำคัญของโลกได้ประสบความรุ่งโรจน์ เพราะอาศัยความขยันเป็นเครื่องช่วยผลักดันชีวิต คือ
ขยันศึกษา คือ ศึกษาเล่าเรียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมีโอกาสศึกษาได้ตามฐานะ ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ เราเรียกว่าศึกษาตลอดชีวิตจนถึงวาระสุดท้าย
ขยันคิด คือคิดให้ถึงที่สุด หาทางก้าวหน้าอยู่เสมอ คิดสร้างสรรค์ คิดพัฒนา พลิกแพลงให้ดีขึ้น และคิดแก้ไขปรับปรุงเองว่ามีจุดดี หรือด้อยอย่างใด คิดให้ทันกับเหตุการณ์และสถานการณ์นั้นๆ
ขยันพูด “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากจะมีสี” ข้อนี้คือพูดให้ดีที่สุด พูดให้ถูกกาลเทศะ พูดให้เป็นประโยชน์มากที่สุด คิดให้ถ้วนถี่ก่อนพูด ทางพระท่านว่า “ปิยวาจา” หรือ “มธุรสวาจา”
ขยันทำ คือทำให้ดีที่สุดจนสุดความสามารถที่สามารถทำได้ จงทำเวลาทุกๆ นาที ให้เป็นประโยชน์ให้เกิดประโยชน์ ให้มากที่สุด
ขยันหา คือ หาความรู้ หาความชำนาญ หาความดี ความชอบ หาทางก้าวหน้า หาทรัพย์สินเงินทอง หาหลักฐาน หามิตรสหาย หาพระสงฆ์ หานักปราชญ์ผู้รู้ดี รู้ชอบ หาชื่อเสียง หาประโยชน์ทางสุจริต หาความเจริญ เป็นต้น อย่าหายใจทิ้งไปวันๆ ทางพระท่านตำหนิว่าเป็น “โมฆะบุรุษ” บางคนท่านให้ศัพท์ค่อนข้างรุนแรงว่า “เสียชาติเกิด” หรือ “รกโลก” ฉะนั้นจึงขอให้ถือความขยันเป็นหลักปฏิบัติประจำของชีวิต
4. สะอาด
ความสะอาดทำให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เชื้อโรคเกิดจากความสกปรก เมื่อเรามีความสะอาดเชื้อโรคก็เกิดขึ้นไม่ได้ เราก็มีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ บ้านเรือนที่สะอาดก็เป็นบ้านเรือนที่น่าอยู่อาศัย ใครๆ ก็ชอบบ้านเรือนที่สะอาดเสื้อผ้าที่สะอาดก็เป็นเสื้อผ้าที่น่าสวมใส่ น่าดู น่าชม ใครๆ ก็ชื่นชม ใครๆ ก็ชอบใส่เสื้อผ้าที่สะอาด
บุคคลใดเป็นคนสะอาด ก็เป็นคนที่น่าคบค้าสมาคม ยิ่งกว่านั้นความสะอาดยังส่อแสดงให้เห็นถึงชีวิตจิตใจ และบุคลิกภาพ โบราณท่านสอนว่า ดูวัดให้ดูฐาน (ส้วม) ดูบ้านให้ดูครัว วัดใดส้วมสะอาด แสดงว่าวัดนั้นพระขยัน วัดใดส้วมสกปรก แสดงว่าวัดนั้นพระขี้เกียจ บ้านใดครัวสะอาด แสดงว่าแม่ครัวหรือลูกสาวบ้านนั้นขยัน บ้านใดครัวสกปรก แสดงว่าแม่บ้านหรือลูกสาวบ้านนั้นขี้เกียจ เพราะฉะนั้น ขอให้ถือความสะอาดเป็นหลักปฏิบัติประจำของชีวิต
5. ใช้จ่ายพอสมควรแก่ฐานะ
ถ้าเราใช้จ่ายเกินฐานะเกินรายได้ก็จะมีแต่ความทรุดโทรมลงและพินาศล่มจม ในที่สุดก็ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้มีคนเป็นจำนวนมากที่ต้องลำบากยากจนและเดือดร้อน เป็นหนี้สินเขาเพราะใช้จ่ายเกินฐานะ
จงประหยัดเพื่อใช้จ่าย แล้วใช้จ่ายเพื่อประหยัด จะมั่งมีเพราะประหยัด จะอัตคัดเพราะฟุ่มเฟือย รูรั่วนิดเดียวยังทำให้เรือใหญ่จมได้ จงอดกลั้น อดทน อดออม แล้วจะไม่อดตาย คนรวยเพราะทำตัวจน คนขัดสนเพราะทำตนร่ำรวย จงกินแต่พออิ่ม ชิมแต่พอดี เป็นหนี้แต่พอประมาณ อย่าเอาโรงแรมเป็นบ้าน อย่าเอาภัตตาคารเป็นครัว อย่ากินเกิน อย่าใช้เกิน รู้จักแก้จนด้วยการทำตัวต่ำ รู้จักลดขนาดความต้องการลง เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว พลาดไปหนึ่งครั้งพังไปนาน เพราะฉะนั้น ขอให้ถือการใช้จ่ายพอสมควรแก่ฐานะเป็นหลักปฏิบัติประจำของชีวิต
6. งดเว้นสิ่งให้โทษ
งดเว้นจากสุราเมรัย เครื่องดองของเมา ดื่มได้กินได้เพื่อเป็นยา
งดจากสิ่งเสพติดทั้งหลายทั้งปวง
งดการเล่นการพนันขันต่อต่างๆ ทุกกรณี
งดเข้าในสถานเริงรมย์ แหล่งอบายมุข ทั้งปวง
หากเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งให้โทษ ก็จะพาชีวิตของเราเสื่อมโทรมเสียหายพินาศเดือดร้อน ไม่เจริญก้าวหน้า เดินไปสู่ความหายนะ สู่ประตูคุกตะราง สู่ความตาย ฉะนั้นจึงขอให้ถือการงดเว้นสิ่งให้โทษเป็นหลักปฏิบัติประจำของชีวิต

7. ไม่ล่วงเกินผู้อื่นก่อน
เรื่องราวเดือนร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น การทะเลาะวิวาท ตีกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน เป็นต้น เนื่องมาจากการล่วงเกินกันก่อนเป็นมูลเหตุ ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ล่วงเกินกัน ยอมให้เป็น ให้อภัยเสียบ้าง คิดเสียว่าโลกทั้งผองพี่น้องกัน รู้รักสามัคคี ฯลฯ ฉะนั้นจึงขอให้ถือการไม่ล่วงเกินผู้อื่นก่อนเป็นหลักปฏิบัติประจำของชีวิต
8. งดติดต่อคบค้าสมาคมกับคนไม่ดี
การติดต่อกับคนไม่ดี เป็นบันไดแรกนำไปสู่เรื่องราวเดือดร้อนวุ่นวาย ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากการติดต่อซึ่งกันและกัน หากเราติดต่อกับคนไม่ดีก็จะมีแต่เรื่องยุ่ง ผิดหวัง เดือดร้อน เสียหาย เสื่อมโทรม พินาศ ขาดทุน หรืออาจถึงแก่ชีวิตก็เป็นได้ ข้อสังเกตว่าคนใดไม่ดีคือ
คนดี ย่อมแสดงออก ซึ่งความดี คนชั่ว ย่อมแสดงออก ซึ่งความชั่ว
คนซื่อ ย่อมแสดงออก ซึ่งความชั่ว คนคด ย่อมแสดงออก ซึ่งความคด
คนเลวทราม ย่อมแสดงออก ซึ่งความเลวทราม
นิสัยของคนไม่ดี พอยกเป็นตัวอย่างได้ ดังนี้
- ไม่ซื่อตรง (คิดคดเสมอ)
- ไม่รักษาคำพูด (คำพูดที่ตกลงกันไว้)
- โกหก (ทำให้เกิดเรื่องเสียหาย เดือดร้อน)
- ปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง ประเภท 18 มงกุฎ
- ยักยอก ฉ้อโกง เบียดบัง เอาเปรียบ
- ทรยศหักหลัง กินบนเรือน ถ่ายบนหลังคา
- ไม่ทำตามเงื่อนไขสัญญา
- ใช้เล่ห์เหลี่ยม แกล้งให้เดือดร้อนเสียหาย
- กลับกลอกหลอกลวงให้เสียหาย เดือดร้อน
- ขาดความเกรงใจ ไร้มารยาท บีบครั้นเอาเปรียบ
การดูคนดี คือ คิดดี ทำดี พูดดี คบคนดี และไปสู่ถานที่ดี
การดูคนชั่ว คือ คิดเรื่องชั่วๆ ทำเรื่องชั่วๆ พูดเรื่องชั่วๆ คบคนชั่วๆ และชอบไปสถานที่ชั่วๆ
เชื้อโรคเกิดจากความสกปรกฉันใด ความเสียหาย เดือดร้อนก็เกิดจากความไม่ดีฉันนั้น โบราณว่า หลีกสัตว์ร้ายให้พ้นวา หลีกคนชั่วช้าให้ย้ายบ้านย้ายเรือน ฉะนั้นจึงขอให้ถือการไม่คบค้ากับคนไม่ดีเป็นหลักปฏิบัติประจำของชีวิต
9. รู้จักหน้าที่ และทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
คนเรามีหน้าที่ที่แตกต่างกัน เพศ วัย และการงาน ใครจะอยู่ในหน้าที่อะไรก็ตาม ก็ต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เต็มศักยภาพความรู้ ความสามารถ โดยไม่มุ่งผลตอบแทนเกินไป ให้ทำหน้าที่ด้วยความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เป็นเกมกีฬาอย่างหนึ่ง ทีเรียกว่า งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขขณะทำงานแต่คนส่วนมากมีแต่ความอยากได้ แต่ไม่อยากทำ อยากรวย อยากสบายแต่ไม่อยากทำ อยากได้ดีแต่ไม่ยอมสะสมความดี ฯลฯ
คนที่เสียชื่อเสียง เสียผู้เสียคน เสียอนาคต ถูกลงโทษ ลงทัณฑ์ ถูกปลด ถูกไล่ออก ถูกย้าย ถูกถอดยศถอดตำแหน่งหน้าที่การงาน ติดคุก ติดตะราง ตัวเองและครอบครัวเดือนร้อน ก็เพราะไม่รู้จักหน้าที่ ไม่ทำตามหน้าที่ ดูถูกหน้าที่ของตนเอง ละทิ้งหน้าที่ของตนเอง เพราะฉะนั้น ขอให้ถือการรู้จักหน้าที่และทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเป็นหลักในการปฏิบัติประจำวันของชีวิตอีกข้อหนึ่ง
หากท่านผู้ใดสามารถปฏิบัติได้ครบทั้งเก้า ประการี้ รับรองได้ว่าชีวิตก็มีแต่ความสุข ความเจริญ อยู่ที่ไหนใครก็รัก จากไปก็เสียดาย ตายไปก็มีคนร้องไห้คิดถึง

วิธีอยู่กับโลก

มีสิ่งแวดล้อมอยู่ชนิดหนึ่งที่วนเวียนอยู่กับโลกนี้ และส่งผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรงยาก ที่ใครจะหลีกเลี่ยงได้ สิ่งแวดล้อมชนิดนี้ท่านเรียกว่า โลกธรรม แปลว่า สิ่งที่มีอยู่ประจำโลก ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๘ อย่าง คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ สำหรับ มนุษย์เรานั้น เมื่อกระทบกับโลกธรรมแล้วก็มักจะตั้งรับด้วย อาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ใน ๓ อย่างนี้ คือ
๑.ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือ เมื่อได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ และได้สุข ก็ปล่อยใจ ให้เพลิดเพลินกับสิ่งที่ได้รับ และเมื่อประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และได้รับ ความทุกข์ ก็ปล่อยให้จิตใจห่อเหี่ยวเศร้าสร้อย ไม่ได้คิดที่จะทำจิตให้เข้มแข็งแต่อย่างใด การตั้งรับ แบบนี้ จะต้องตกอยู่ในวงเวียนแห่งความดีใจและเสียใจตลอดเวลา และถ้าผู้ประสบกับโลกธรรมนั้นเป็น หัวหน้าคนอื่นด้วยแล้ว ก็ย่อมจะพลอยทำให้คนอื่นวุ่นวายไปด้วย
๒. ปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่ตีกรอบเฉพาะที่จิตใจตนเอง การตั้งรับโลกธรรมวิธีนี้ยอมให้ โลกธรรมครอบงำใจได้ คือ ยังดีใจเสียใจอยู่ เพียงแต่ไม่แสดงความรู้สึกออกมา คงรักษา อากัปกิริยาไว้ด้วยท่าทีหนักแน่นสงบนิ่ง ผู้ตั้งรับโลกธรรมด้วยวิธีนี้อาจจะวุ่นวายไปกับโลกบ้าง แต่ไม่มากนัก ซึ่งก็น่าชมเชยกว่าบุคคลในข้อแรก
๓. ปรับจิตใจให้ยอมรับความจริง การตั้งรับโลกธรรมโดยวิธีนี้สอดคล้องกับหลักธรรม ที่ว่า โลกธรรมนั้นเมื่อเกิดขื้นแล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเอง ไม่จีรังยั่งยืน ไม่ใช่ของที่ควร ยึดมั่นถือมั่น เมื่อปรับจิตใจได้เช่นนี้โลกธรรมก็ไม่สามารถครอบงำได้อีกต่อไป เขาจึง สามารถ ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในทุกสถานการณ์ และพลอยทำให้คนอื่นได้ปกติสุขนั้นไป ด้วย บุคคลในประเภทหลังนี้ย่อมมี คุณค่าน่าชมเชยมากกว่าบุคคล ๒ ข้อที่กล่าวแล้วคนที่ ปรับจิตใจให้ยอมรับความจริงได้เช่นนี้ จะพบแต่ความปลอดโปร่ง ความเป็นอิสระทางจิตใจ อันเป็นมงคลของชีวิตประการหนึ่ง ดังคำพระที่ว่าจิตของผู้ใด กระทบโลกธรรมแล้ว ไม่เศร้า โศก ไม่เศร้าหมอง มีความปลอดโปร่ง นั่นแหละคืออุดมมงคล