วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

อื่นๆ จากในเล่่ม

สิ่งที่รู้จักยากที่สุด
สิ่งรู้จักยากที่สุดกว่าสิ่งใด ไม่มีสิ่งไหนไหนได้ยากเท่า
สิ่งนั้นคือตังเองหรือตัวเรา ที่คนเขลาหลงว่ากูรู้จักดี
ที่พระดื้อเณรดื้อและเด็กดื้อ ไม่มีรื้อมีสร่างอย่างหมุนจี๋
เพราะความรู้เรื่องตัวกูมันไม่มี หรือมีอย่างไม่มีที่ถูกตรง
อันตัวกูของกูที่รู้สึก เป็นตัวลวงเหลือลึกให้คนหลง
ส่วนตัวธรรมเป็นตัวจริงที่ยิ่งยง หมดความหลงรู้ตัวธรรมล้ำเลิศตน ฯ

ตัวกู – ตัวสู
อันความจริง “ตัวกู” มีได้มี แต่พอเผลมันเป็นผีโผล่มาได้
พอหายเผลอ “ตัวกู” ก็หายไป หมด “ตัวกู” เสียได้ เป็นเรื่องดี
สหายเอ๋ยจงถอนซึ่ง “ตัวกู” และถอนทั้ง “ตัวสู” อย่างเต็มที่
มีกันแต่ปัญญาและปราณี หน้าที่ใครทำให้ดีเท่านี้เอย ฯ

เรียนธรรมะ
เรียนธรรมะอย่างตะกละให้เกินเหตุ จะเป็นเปรตหิวปราชญ์เกินคาดหวัง
อย่างเรียนอย่างปรัชญามัวบ้าดัง เรียนกระทั่งตายเปล่าไม่เข้ารอย
เรียนธรรมะต้องเรียนอย่างธรรมะ เรียนเพื่อสละทุกข์ใหญ่ไม่ท้อถอย
เรียนที่ทุกข์ที่มีจริงยิ่งเข้ารอย ไม่เลื่อนลอยมองให้เห็นตามเป็นจริง
ต้องตั้งต้นการเรียนที่หูตา ฯลฯ สัมผัสแล้วเกิดเวทนาตัณหาวิ่ง
ขึ้นมาอยากเกิดผู้อยากเป็นปากปลิง “เรียนรู้ยิง ตัณหาดับ นับว่าพอ ฯ”

แนวทางทำให้รู้แจ้งตามวิธีธรรมชาติ (ความหมายของคำจากธรรมะ)
ติและปราโมทย์ ความอิ่มใจในธรรม
ปัสสัทธิ ความรำงับ
สมาธิ จิตสงบ
ยถาภูตญาณทัสสนะ รู้ความเป็นจริงต่อโลก
นิพพิทา ความเบื่อหน่าย
วิราคะ ความคลายออก
วิมุตติ ความหลุดออก
วิสุทธิ ความบริสุทธิ์ไม่เศร้าหมอง
สันติ ความสงบเย็น
นิพพาน ภาระที่ปราศจากความทุกข์

สีลวีสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล
จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต
ทิฏฐิวิสุทธิ์ ความหมดจดแห่งความเห็น
กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้เป็นเครื่องข้ามความสงสัย
มัคคามัคคญาณทัสสนวิทสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นที่ว่าเป็นทางหรือไม่ใช่ทาง
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นทาง ทางปฏิบัติ
อุทยัพพยนุปัสสนาญาณ เห็นความเกิดและความดับสลาย
ภังคานุปัสสนาญาณ เห็นความสลายโดยส่วนเดียว
ภยตุปัฏฐานญาณ เห็นภาวะทั้งหลายเต็มไปด้วยความน่ากลัว
อาทีนวนุปัสสนาญาณ เห็นควมมเต็มไปด้วยโทษทุกข์ภัย
นิพพิทานปัสสนาญาณ เห็นความเบื่อหน่ายใสสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
มุญจิตุกัมมยตาญาณ ความรู้ซึ้งทำให้เกิดความใครอย่างแรงกล้าที่จะพ้นทุกข์
ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ความรู้ทางพ้นทุกข์นั้นๆ
สังขารุเปกขาญาณ ความรู้เป็นเครื่องปล่อยวางเฉย
สัจจานุโลมิกญาณ ความรู้ควรแก่การรู้อริยสัจจ์
ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ ความเห็นที่ถูกต้อง -อริยมรรค -อริยผล


เรียนธรรมะ กับ เรียนปรัชญา
เรียนอะไรถ้าเรียนอย่างปรัชญา ที่เทียบกับคำว่า ฟิโลโซฟี่
ยิ่งพลาดจากธรรมะที่ควรมี เพราะเหตุที่ยิ่งเรียนไปยิ่งไม่ซึม
เพราะเรียนอย่างคำนวณสิ่งไม่มีตัว สมมติฐานเอาในหัวอย่างครื้มครื่ม
อุปมานอนุมาฯสร้านทึมทึม ผลออกมางึมงึมงับเอาไป
เรียนธรรมะมีวิถีวิทยาศาสตร์ มีตัวธรรมที่สามารถเห็นชัดใส
ไม่คำนวณหาแต่มองลองด้วยใจ ส่องลงได้ตามที่อาจฉลาดมอง
จะส่วนเหตุหรือส่วนผลยลประจักษ์ เห็นตระหนักว่าอะไรอย่างไรสนอง
แก่คำถามแจ้งถนัดซัดทำนอง ตามที่ต้องปฏิบัติซัดลงไป ฯ

ยาระงับสรรพทุกข์
ต้น “ไม่รู้-ไม่ชี้” นี่เอาเปลือก ต้น “ชั่งหัวมัน” นั้นเลือกเอาแก่นแข็ง
“อย่างนั้นเอง” เอาแต่ราก ฤทธิ์มันแรง “ไม่มีกู-ของกู” แสวงเอาแต่ใบ
“ไม่น่าเอา-น่าเป็น” เฟ้นเอาดอก “ตายก่อนตาย” เลือกออกลูกใหญ่ๆ
หกอย่างนี้อย่างละชั่งตั้งเกณฑ์ไว้ “ดับไม่เหลือ” สิ่งสุดท้ายใช้เมล็ดมัน
หนักหกชั่งเท่ากับยาทั้งหลาย เคล้ากันไปเสกคาถาที่อาถรรพ์
“สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” อัน เป็นธรรมชั้นหฤทัยในพุทธนาม
จัดลงหม้อใส่น้ำพอท่วมยา เคี่ยวไฟกล้าเหลือได้หนึ่งในสาม
หนึ่งช้อนชาสามเวลาพยายาม กินเพื่อความหมดสรรพโรคเป็นโลกอุดรฯ

ผู้ดับไม่เหลือ
อย่างเข้าใจ ไปว่า ต้องเรียนมาก ต้องปฏิบัติ ลำบาก จึงพ้นได้
ถ้ารู้จริง ส่งเดียว ก็ง่ายดาย รู้ดับให้ ไม่มีเหลือ เชื่อก็ลอง
เมื่อเจ็บไข้ ความตาย จะมาถึง อย่างพรั่นพรึง หวดไหว ให้หม่นหมอง
ระวัง ดีดี นาทีทอง คอยจดจ้อง ให้ตรงจุด หลุดให้ทัน
ถึงนาที สุดท้าย อย่าให้พลาด ตั้งสติ ไม่ประมาท เพื่อดับขันธ์
ด้วยจิตว่าง ปล่อยวาง ทุกสิ่งอัน สารพัน ไม่ยึดครอง เป็นของเรา
ตกกะได พลอยโจน ให้ดีดี จะถึงที่ มุ่งหมาย ได้ง่ายเข้า
สมัครใจ ดับไม่เหลือ เมื่อไม่เอา ก็ดับ “เรา” ดับตน ดลนิพพาน

เป็นมนุษย์หรือเป็นคน
เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง เหมือนหนึ่งยูง มีดี ที่แววขน
ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แต่เพียงคน ย่อมเสียที ที่ตน ได้เกิดมา
ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ ถ้ามีครบ ควรเรียก มนุสสา
เพราะทำถูก พูดถูก ทุกเวลา เปรมปรีดา คืนวัน สุขสันติ์จริง
ใจสกปรก มืดมัว และร้อนเร่า ใครมีเข้า ควรเรียก ว่าผีสิง
เพราะพูดผิด ทำผิด จิตประวิง แต่ในสิ่ง นำตัว กลั้วอบาย
คิดดูเถิด ถ้าใคร ไม่อยากตก จงรีบยก ใจตน รีบขวนขวาย
ให้ใจสูง เสียได้ ก่อนตัวตาย ก็สมหมาย ที่เกิดมา อย่าเชือนเอย ฯ

            --------------

สรุปความ

ดังได้บรรยายหลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยลำดับๆ ว่าพุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้จักสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่า อะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวงมีสภาพตามที่เป็นจริง คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว แต่สัตว์ทั้งหลาย ยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของความยึดมั่นที่ผิด ในพุธศาสนามีวิธีปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือตัดความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย อุปาทานความยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือขันธ์ทั้งห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
๓๒๖
เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้าตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่าย คลายความอยากไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า “เป็นอยู่ชอบ” คือให้วันคืนเต็มไปด้วยความปีติปราโมทย์ อันเกิดจากกรกระทำที่ดีงาม ที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย คลายความอยาก ความหลุดพ้นและนิพพานได้ ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
๓๒๗
ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มีความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ถูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่าการบรรลุมรรคผล
๓๒๘
ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นการแสดงให้เห็นแนวสังเขปทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ต้นจนปลาย ให้เห็นว่าหลักพุทธศาสนามีอยู่อย่างไร พร้อมกับแสดงหลักปฏิบัติไปในตัว
๓๒๙
เป็นอันว่า เราได้ติดตามเรื่องมาตั้งแต่ต้นจนถึงผลสุดท้ายของพระพุทธศาสนา เรื่องทั้งหมดก็ไปจบสิ้นลงที่นิพพาน ดังหลักพุทธภาษิตที่ว่า “พระพุทธเจ้าทุกๆ องค์ย่อมถือว่านิพพานเป็นอุดมธรรม” ฉะนั้นเราจักต้องศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ และให้ลุถึงได้ตามสมควร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัท คือเห็นแจ้งหรือเข้าถึงตัวพุทธศาสนาจริงๆ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นแต่ผู้รู้ หรือผู้เข้าใจในพุทธศาสนาเท่านั้น หาได้เป็นผู้เห็นแจ้งไม่
๓๓๐
ฉะนั้น ทุกคนจะต้องไปพิจารณาดูกิเลสของตัวเองให้เข้าใจ แล้วพยายามไถ่ถอนมันออกไปเสียให้ได้ แม้ได้แต่เพียงครึ่งหนึ่งก็จะเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาบ้าง เมื่อกิเลสครึ่งหนึ่งมันหมดไปแล้วจริงๆ ผลก็คือเกิดความสะอาดปราศจากความชั่ว เกิดความสว่างจากความหลงผิด แล้วความสงบทางจิตใจก็เกิดขึ้นแทน จึงขอแนะนำพร้อมทั้งวิงวอนให้ท่านทั้งหลาย ศึกษาพระพุทธศาสนา กันในอาการเช่นนี้เพื่อจะได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาอย่างแท้จิรงไม่เสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา หรืออย่างน้อยก็ทำให้เราได้ความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์
๓๓๑
- จบ -

๙ ลำดับแห่งการหลุดพ้นจากโลก

วิปัสสนา เป็นการปฏิบัติทางจิต เพื่อยกจิตให้สูงขึ้นขนาดที่ความทุกข์ใจครอบงำไม่ได้ จึงพ้นทุกข์ด้วยอำนาจของการรู้แจ้งว่าไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ แล้วสิ่งต่างๆ ในโลกก็จะไม่มีอิทธิพลทำใจเรา ให้หลงรักหรือหลงชังอีกต่อไป เรียกว่าจิตอยู่เหนือวิสัยของชาวโลกขึ้นถึงฐานะอันใหม่ ที่ท่านเรียกว่า “โลกุตตรภูมิ” การที่จะเข้าใจโลกุตตรภูมิได้ชัดเจน เราจำเป็นต้องรู้เรื่องที่ตรงกันข้ามกล่าวคือ “โลกกิยภูมิ” ด้วยเหมือนกัน
๒๗๘
โลกิยภูมิ ก็คือระดับของจิตที่สิ่งต่างๆ ในโลกมีอิทธิพลเหนือจิต แบ่งโดยสรุปที่สุดออกเป็น ๓ พวกกล่าวคือ “กามาวจรภูมิ” หมายถึงระดับของจิตที่ยังพอใจอยู่ในกามทั้งปวง ถัดไปคือ รูปาวจรภูมิ ได้แก่ ฐานะของจิตที่ไม่ต่ำ จนถึงกับพอใจในกามคุณ แต่ว่ายังพอใจในความสุขซึ่งเกิดจากสมาบัติที่เพ่งรูปเป็นอารมณ์ อันไม่เกี่ยวกับกาม ภูมิที่ถัดไปอีกคือ รูปาวจรภูมิ นี้คือสถานะของจิตที่ยังพอใจในความสุขสงบที่สูงขึ้นไปกว่านี้อีกชั้นหนึ่ง เกิดความสงบโดยยึดสิ่งไม่มีรูปเป็นอารมณ์
๒๗๙
ถ้าจะจัดให้เป็นคู่ๆ ระหว่าง ภูมิกับภพ ก็มีทางที่จะทำได้ “ภูมิ” หมายถึงสถานะหรือระดับแห่งจิตใจของผู้นั้น ส่วน “ภพ” หมายถึงภาวะเป็นอยู่ที่เหมาะสมแก่ผู้ที่มีภูมิแห่งจิตใจเช่นนั้นๆ ฉะนั้นผู้ที่ติดอยู่ในกามาวจรภูมิ ก็คู่กับกามาวจรภพ รูปาวจรภูมิก็คู่กับรูปาวจรภพ และอรูปาวจรภูมิคู่กับอรูปาวจรภพ คำว่าภูมินั้นหมายถึงสถานะทางจิตใจ คำว่าภพหมายถึงภาวะเป็นที่อยู่ที่อาศัยของผู้ซึ่งมีจิตใจต่างๆ กัน จึงแบ่งได้เป็น ๓ ภูมิ ๓ ภพ
๒๘๐
โลกิยภูมิ คือสถานะทางใจของสัตว์สามัญทั่วๆ ไปแม้จะสมมติเรียกชื่อต่างกัน เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา พรหม สัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นสัตว์นรก ก็ตาม ก็รวมอยู่ใน ๓ ภูมินั้น คนหนึ่ง ๆ ในโลกนี้อาจจะมีจิตใจอยู่ในภูมิใดภูมิหนึ่ง ในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่เป็นการเหลือวิสัย แต่ส่วนมากจะต้องตกอยู่ในกามาวจรภูมิเป็นธรรมดา คือจิตของมนุษย์เราโดยปกตินั้น ตกอยู่ใต้อิทธิพลของความเอร็ดอร่อยทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
๒๘๑
แต่ในบางคราวบางโอกาส อาจจะพ้นออกมาได้จากอิทธิพลของสิ่งยั่วยวนเหล่านี้ได้ เพราะอาศัยจิตให้ไปจดจ่ออยู่ที่ความสงบอันเกิดจากการเพ่งที่รูปธรรมหรืออรูปธรรมเป็นอารมณ์แล้วแต่การเพ่ง ฉะนั้น ในบางคราวจิตของมนุษย์เราจึงอยู่ในลักษณะที่เป็น รูปาวจรภูมิ หรืออรูปาวจรภูมิก็มี สำหรับในอินเดีย ครั้งสมัยพุทธกาลนั้นนับว่ามีมาก เพราะว่าผู้ที่ออกแสวงหาความสงบสุขชั้นรูปาวจรภูมิ หรืออรูปาวจรภูมินั้น อาจจะกล่าวได้ว่ามีอยู่ทั่วๆ ไปในป่า สำหรับบัดนี้มีน้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็กล่าวได้ว่า เป็นฐานะที่คนทั่วๆ ไปจะเข้าถึงได้อยู่นั่นเอง
๒๘๒
ทั้งยังกล่าวได้อีกว่า เมื่อใดจิตของผู้ใดตั้งอยู่ในภูมิใด เมื่อนั้นภาวะที่เขากำลังอาศัยอยู่นั้น ก็จะกลายเป็นภพที่มีชื่อนั้นไปทันที เช่นใครคนหนึ่งในโลกนี้กำลังเป็นสุขอยู่ด้วยรูปาวจรสมาบัติโลกนี้ ก็กลายเป็นรูปาวจรภพสำหรับเขาไป เพราะเขาไม่รู้สึกในสิ่งอื่นใดนอกจากรูปาวจรภูมิ โลกนี้ขณะนั้นและสำหรับเขาผู้นั้น ก็มีค่าเท่ากับรูปาวจรภพไป จนกว่าฐานะแห่งจิตใจของเขาจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
๒๘๓
ผู้ที่อยู่ในภูมิทั้ง ๓ นี้ ถึงแม้ว่าจะได้รับความสุขความสงบชนิดที่เหมือนกับว่าเป็นก้อนหินก้อนดินหรือท่อนไม่ไปแล้ว แต่ก็ยังมีความยึดถือตัวตน ยังอาศัยตัณหาต่างๆ ชนิดตลอดถึงตัณหาชนิดที่ละเอียดที่สุด เช่นไม่ชอบภาวะที่ตนอยู่ตนเป็น จนทำให้ต้องแสวงหาภาวะใหม่ มีการประกอบกรรมต่างๆ ด้วยอำนาจของความอยากนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าอยู่เหนือวิสัยโลก ไม่ใช่โลกุตตรภูมิ จึงจัดไว้เป็นโลกิยภูมิ
๒๘๔
ส่วนโลกุตตรภูมินั้น มีจิตอยู่เหนือวิสัยชาวโลก มองเห็นสภาพของโลกเป็นของไม่มีสาระตัวตนที่เป็นแก่นสาร ใจไม่ต้องการสิ่งใดๆ ในโลก พวกที่ตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมินี้ยังแบ่งออกเป็นชั้นๆ ตามหลักพุทธศาสนา เป็นมรรค เป็นผล ๔ ชั้นด้วยกันคือ ชั้นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ความเป็นพระอริยบุคคล ๔ จำพวกนี้ หมายถึงโลกุตตรภูมิ
๒๘๕
คำว่า “โลกุตตร” แปลว่า “อยู่เหนือโลก” หรือ “ยิ่งไปกว่าโลก” หมายถึงจิตใจ มิได้หมายถึงร่างกาย ร่างกายนั้นอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอให้เป็นภาวะที่พอพักอาศัยของผู้ที่มีจิตใจอันตั้งอยู่ในโลกกุตตรภูมิได้ก็แล้วกัน ส่วนโลกที่ต่ำไปกว่านั้นเช่น นรกอบาย หรือที่ทนทุกข์ทรมาน เช่น คุกตะราง จึงไม่เป็นภพที่สมควรแก่อริยบุคคล
๒๘๖
โลกุตตรภูมิแบ่งออกเป็น ๔ ชั้น และสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างเป็น ๔ ชั้นก็คือ กิเลสต่างๆ ที่จะพึงละให้ขาดไป กิเลสในหมวดนี้ท่านจำแนกไว้เป็น ๑๐ อย่าง เรียกว่า สังโยชน์ แปลว่า เครื่องผูกพันอย่างพร้อมพรั่ง เครื่องผูกพันทั้ง ๑๐ นี้ ผูกพันคนหรือสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในโลก คนจึงตกอยู่ในวิสัยนี้ และเป็นโลกิยภูมิ ฉะนั้น ถ้าตัดเครื่องผูกพันเหล่านี้ออกเสียได้จิตก็จะค่อยๆ หลุดออกไปจากภาวะวิสัยของชาวโลกตามลำดับ เมื่อตัดได้หมดก็ถือว่าจิตหลุดออกไปสู่ความอยู่เหนือโลก เป็นโลกุตตรภูมิโดยสมบูรณ์
๒๘๗
ในกิเลสชั้นละเอียดที่ผูกพันคนเรา ๑๐ ประการแรกเรียกว่า สักกายทิฏฐิ แปลว่าความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของตน ได้แก่ความเข้าใจผิดหรือสำคัญด้วยอุปาทาน เช่น คิดว่า “ตัวเรา” มีอยู่ นั่นแหละคือความสำคัญผิดในที่นี้ โดยที่คนเราทั่วๆ ไปไม่รู้จักอะไรมากไปกว่าร่างกาย และจิตที่เนื่องอยู่กับร่างกายจึงเหมาเอาของ ๒ อย่างนี่เป็นตัวตน โดยมีความเข้าใจว่ากายพร้อมทั้งจิตนี้เป็นตัวตนเป็นข้าพเจ้า สัญชาตญาณว่ามีตัวเรานี้เอง เป็นไปหนักแน่นมากถึงกับใครๆ ก็ย่อมคิดว่ามีตัวตนของตนอยู่ทั้งนั้น เพราะเป็นมูลฐานที่ทำให้ชีวิตทรงอยู่ได้ ทำให้รู้จักป้องกันตัว ทำให้แสวงหาอาหาร หรือสืบพันธุ์ เป็นต้น แต่ที่เรียกว่าสักกายทิฏฐิในที่นี้ ประสงค์เอาเพียงชั้นหยาบๆ ที่เป็นเหตุให้ เห็นแก่ตัวจัด ถือเป็นกิเลสตัวแรกที่จะต้องละให้ได้ก่อนตัวอื่นๆ
๒๘๘
สังโยชน์ข้อที่ ๒ เรียกว่า วิจิกิจฉา หมายถึงความสงสัยเป็นเหตุให้ลังเลไม่แน่ใจ ส่วนใหญ่ที่สุดประสงค์เอาความสงสัยในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ลังเลเพราะไม่รู้จริง เช่น สงสัยว่าเรื่องนี้มันอย่างไรกันแน่ การปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ มันเป็นของที่เหมาะสมแก่ตนหรือไม่ ทำได้หรือไม่ มันดีกว่าสิ่งอื่น จริงหรือไม่ ทำได้จริงหรือเปล่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่ตรัสรู้ถูกต้องจริงหรือ เป็นบุคคลที่หลุดพ้นจากความทุกข์จริงหรือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ จะนำไปสู่ความดับทุกข์จริงหรือ พระอริยสงฆ์ปฏิบัติพ้นทุกข์ได้จริงหรือ
๒๘๙
มูลเหตุของความลังเลก็คือ ความไม่รู้อันได้แก่อวิชชาเหมือนกับปลาที่เคยอาศัยอยู่แต่ในน้ำถ้าใครเล่าให้ฟังถึงเรื่องบนบกมันคงไม่เชื่อ ถ้าเชื่อก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง คนเราที่จมอยู่ในกามารมณ์ก็เหมือนกัน เคยชินกับกามเหมือนปลาอยู่ในน้ำ เมื่อพูดถึงเรื่องอยู่เหนือกาม เหนือโลก ก็เข้าใจไม่ได้ ที่เข้าใจได้บ้างก็ยังลังเล ความรู้สึกฝ่ายต่ำมีอยู่ในสันดาน ส่วนความรู้สึกฝ่ายสูงนั้นเพิ่งจะก่อรูปขึ้นใหม่ การโต้แย้งกันระหว่างความรู้สึกฝ่ายสูงกับฝ่ายต่ำนั่นแหละ คือการลังเล ถ้ากำลังใจไม่เพียงพอ ความรู้สึกฝ่ายต่ำมักชนะ วิจิกิจฉาหรือความลังเลในความดี เป็นของมีประจำอยู่ในคนทุกคนมาตั้งแต่เกิด คนที่ได้รับการอบรมมาผิดๆ อาจจะมีมากขึ้น จะต้องพิจารณาให้เห็นโทษของความลังเลใจ ซึ่งมีอยู่ในการงาน มีอยู่ในชีวิตประจำวัน จนเป็นผู้ไม่อาจมั่นใจในความดี ความถูกต้อง หรือความพ้นทุกข์ เป็นต้น
๒๙๐
ทีนี้มาถึงสังโยชน์ข้อที่ ๓ เรียกว่า สีลัพพตปรามาส แปลว่าการจับฉวยศีลและวัตรผิดจากความมุ่งหมายที่ถูกต้อง โดยใจความก็คือ การติดแน่นยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเคยประพฤติปฏิบัติมาด้วยความเข้าใจผิด ส่วนมากเกี่ยวกับลัทธิประเพณี ตัวอย่าง เช่น การเชื่อพิธีไสยศาสตร์และการปฏิบัติทางไสยศาสตร์ต่างๆ นับเป็นสีสัพพตปรามาสโดยไม่ต้องสงสัย
๒๙๑
แม้ในเรื่องของพระพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติไปด้วยความเข้าใจผิด ว่าจะเกิดความขลังความศักดิ์สิทธิ์ เกิดฤทธิ์อำนาจมาคุ้มครองเราได้ อย่างนี้ก็เป็นการปฏิบัติโดยหวังผลผิดทางและไร้เหตุผลอยู่นั่นเอง ตัวอย่างเช่น การสมาทานศีล หรือประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งที่แท้ก็เพื่อกำจัดกิเลส แต่ถ้าไปเข้าใจว่าจะทำให้เกิดอำนาจขลังศักดิ์สิทธิ์ แล้วใช้ความขลังนั้นตัดกิเลสได้ อย่างนี้ก็เป็นความยึดถือซึ่งผิดความมุ่งหมายเดิม การปฏิบัติอย่างเดียวกันแท้ๆ แต่ถ้าเข้าใจผิด โดยยึดมั่นในทำนองไร้เหตุผล หรือเห็นเป็นของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ไปแล้วก็เป็นสีลัพพตปรามาสไปทั้งสิ้น
๒๙๒
แม้ที่สุดสมาทานศีล ปฏิบัติสิกขาบท ด้วยความคิดว่าตนจะได้ไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ อย่างนี้ก็ไม่ต้องสงสัยเลย ย่อมเป็นการจับฉวยศีลและวัตร ผิดความมุ่งหมายของพุทธศาสนาไป ทำให้การรักษาศีลและพรหมจรรย์ของตนเศร้าหมอง เพราะว่าความมุ่งหมายของพระวินัยนั้น ก็เพื่อกำจัดกิเลสในส่วนหยาบๆ ทางกายและวาจาเพื่อให้เป็นรากฐานของสมาธิและต่อไปถึงปัญญาเป็นลำดับๆ ไป หาใช่มุ่งหมายเพื่อให้ไปเกิดในสวรรค์ไม่ นี้ได้ชื่อว่า ทำศีลของตนให้สกปรกเศร้าหมองไปด้วยความยึดถือที่ผิด ด้วยอำนาจของความคิดที่ผิด เรื่องให้ทานก็ดี เรื่องรักษาศีลก็ดี เรื่องเจริญสมาธิภาวนาก็ดี ซึ่งถ้าทำไปด้วยความสำคัญผิดต่อความมุ่งหมายที่แท้จริงของการกระทำเหล่านั้นแล้ว จะต้องเป็นการกระทำนอกลู่นอกทาง ของพระพุทธศาสนาทั้งนั้น
๒๙๓
ฉะนั้น ขอให้เข้าใจว่า แม้การปฏิบัติในวงของพุทธบริษัทเรา ถ้าทำไปด้วยความสำคัญผิดจนกิเลสตัณหาเข้าครอบงำ เช่น หวังในทางขลังทางศักดิ์สิทธิ์เมื่อใดแล้ว ก็จะกลายเป็นสีลัพพตปรามาสไป แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ชาวบ้านเราชอบทำกันอยู่ทั่วๆ ไป เช่น การสวดมนต์ทำบุญบ้าน หรืออะไรก็ตาม จะต้องเอาข้าวสุกและสำรับคาวหวานชุดหนึ่ง มาตั้งไว้หน้าพระพุทธรูปเป็นทำนองเซ่นวิญาณพระพุทธเจ้า หรือเป็นการถวายข้าวพระ เชื่อกันว่าวิญญาณของพระพุทธเจ้า จะได้ฉันข้าวที่จัดทำมาถวาย ถ้าทำด้วยความรู้สึกหรือเข้าใจเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมเป็นการปฏิบัติผิดความมุ่งหมายเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องสงสัย
๒๙๔
เรื่องการประพฤติผิดต่อความประสงค์ที่ถูกต้องนั้นนับว่ามีดาษดื่นอยู่ทั่วๆ ไปในวงพุทธบริษัท เป็นการทำไปอย่างงมงายไร้เหตุผล ทำให้ข้อปฏิบัติหรือระเบียบที่ดีงามอยู่แล้ว ต้องสกปรกไปด้วยความโง่เขลาและความหลงผิดของคนเหล่านั้นเอง นี่คือความหายของคำว่า “สีลัพพตปรามาส”
๒๙๕
เราจะเห็นได้ว่ากิเลสข้อนี้มีมูลมาจากโมหะ คือความเขลาเข้าใจผิด คนเราเคยถือของขลังถือของศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิมเพราะได้รับการสอนกันมาผิดๆ อบรมกันมาผิดๆ จึงเป็นสิ่งที่มีกันอยู่เกือบทุกๆ คน อย่าต้องระบุรายละเอียดให้มากไปเลย มันจะเป็นเรื่องกระทบกระเทือนใจกันแต่ว่าขอให้ท่านทั้งหลาย จงเอาหลักเกณฑ์อันนี้ไปสอบสวนตัวเองดูก็แล้วกัน
๒๙๖
กิเลส ๓ อย่างในพวกเรา คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิฉา และ สีลัพพตปรามาสนี้ ถ้าละได้เด็ดขาดลงไปจริงๆ ก็เรียกว่าได้ตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิอันดับที่หนึ่ง คือ เป็นพระโสดาบัน ไปแล้ว
๒๙๗
การละกิเลส ๓ ประการนี้ได้เด็ดขาด ไม่ควรดูเป็นของยากเลย เพราะกิเลสทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นของป่าเถื่อนที่คนป่าเถื่อนเขาถือกัน เป็นของสำหรับคนป่าเถื่อนที่ไร้ความเจริญ คนที่เรียกว่ามีการศึกษาดีหรือเจริญแล้ว ไม่ควรจะมีของ ๓ อย่างนี้ ถ้ายังมีอยู่ก็ต้องถือว่าจิตใจของคนนั้นยังป่าเถื่อนอยู่ ผู้ใดละกิเลส ๓ ประการนี้ได้ จึงจะเป็นอริยชนได้ ถ้ายังละไม่ได้ก็ยังเป็นคนโง่เขลา เป็นคนหลงหรือที่เรียกอย่างดีที่สุดว่า ปุถุชน แปลว่าคนที่มีผ้าปิดบังลูกตาหนาทึบ ปุถุ แปลว่าหนา ปุถุชน จึงแปลว่าคนหนาคือหนาด้วยเครื่องปิดบังลูกตาแห่งปัญญา
๒๙๘
เมื่อบุคคลใดละกิเลส ๓ ประการนี้ได้ ย่อมจะมีจิตใจที่เริ่มอยู่เหนือความผูกพันของโลก เพราะกิเลสทั้ง ๓ นี้ เป็นเครื่องผูกพันจิตให้ติดอยู่กับโลก เป็นความโง่เขลาที่ปิดบังความจริง และผูกพันจิตใจให้คนติดอยู่กับโลก ครั้นเมื่อละได้ ๓ ขั้นก็เหมือนกับเพิกถอนสิ่งที่ผูกพันหรือปิดบังเสียได้ ๓ อย่าง จึงหลุดลอยขึ้นอยู่เหนือโลกในระดับที่หนึ่ง แล้วเรียกว่าพระอริยเจ้าในอันดับแรก จัดไว้เป็นโกกุตตรภูมิอันดับแรกเรียกบุคคลนั้นว่าเป็น พระโสดาบัน คือผู้แรกถึงกระแสแห่งพระนิพพาน คือจะถึงนิพพานในอนาคตแน่ๆ
๒๙๙
โลกุตตรภูมิอันดับที่ ๒ นั้น ท่านหมายถึงการละเครื่องผูกพัน ๓ อย่าง ที่กล่าวหมดสิ้นไปแล้ว และยังสมารถทำ โลภะ โทสะ โมหะบางส่วน ให้จางไปอีก จนถึงกับมีจิตใจสูงมีความผูกพันอาลัยอยู่ในกามภพแต่เพียงเล็กน้อยที่สุด ถือกันว่าจะเวียนมาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียว จึงได้ชื่อว่า พระสกิทาคามี
๓๐๐
ตอนนี้ควรทำความเข้าใจคำว่า พระโสดาบัน เสียก่อนจะช่วยให้เข้าใจคำว่า สกิทาคามี ง่ายขึ้น คำว่า “โสดาบัน” แปลว่าผู้แรกถึงกระแส ถ้าถามว่ากระแสแห่งอะไร ก็ตอบว่ากระแสแห่งนิพพานนั่นเอง พระโสดาบันเป็นผู้ถึงเพียงกระแสของนิพพานยังไม่ถึงตัวนิพพาน กระแสนี้คือเกลียวที่ไหลไปสู่นิพพาน กระแสของนิพพานย่อมมีความลาดเอียงไปทางนิพพาน เหมือนอย่างลำแม่น้ำที่มีความลาดเอียงไปสู่ทะเล ถ้าจิตตกไปในกระแสนี้แล้ว แน่นอนย่อมไปถึงนิพพาน
๓๐๑
การถึงกระแสนี้หมายถึงว่า จะต้องบรรลุนิพพานแน่ๆ ในอนาคต แต่อาจจะยังอีกหลายเวลา เอาแต่ใจความว่าจะต้องถึงนิพพานอย่างแน่นอน ส่วนพวกที่ ๒ ที่เรียกว่าสกิทาคามีนั้นใกล้ชิดนิพพานยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก จนถึงกับมีอาลัยเหลืออยู่น้อยในความเป็นอยู่ในโลกนี้ ถ้าจะกลับมาสู่อารมณ์แบบมนุษย์อีกก็เพียงหนเดียว เพราะ โลภะ โทสะ โมหะ เบาบางลงมากแต่ยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง
๓๐๒
อันดับที่ ๓ เรียกว่า พระอนาคามี พระอริยบุคคลชั้นนี้นอกจากจะละกิเลสชั้นต้นได้อย่างพระสกิทาคามีแล้ว ยังละสังโยชน์ ข้อที่ ๔ ที่ ๕ ได้อีกด้วย สังโยชน์ข้อที่ ๔ เรียกว่า กามราคะ ข้อที่ ๕ เรียกว่า ปฏิฆะ กามราคะนั้นหมายถึงของรักของใคร่ที่พระโสดาบันและพระสกิทาคามีละไม่หมด ยังมีความพอใจ ในของรักของใคร่เหลืออยู่ทั้งๆ ที่ท่านและสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถละความติดในกามราคะได้ทั้งหมด ยังเหลืออยู่เป็นบางส่วน แต่พอมาถึงดันดับที่ ๓ คือ พระอนาคามีนี้ท่านย่อมละออกได้หมดไม่มีเหลือ ส่วนกิเลสที่ เรียกว่า ปฏิฆะ (ความรู้สึกโกรธหรือความขัดเคืองใจ) พระสกิทาคามีล้างออกไปได้เป็นส่วนมาก เหลืออยู่เพียงความหงุดหงิดความขัดข้องอยู่ภายใน ส่วนพระอนาคามีนั้น เอาออกได้หมดจึงเรียกว่า ผู้ละกามราคะและปฏิฆะได้
๓๐๓
ที่เรียกว่า กามราคะ หรือการติดความพอใจในกามนั้นได้อธิบายไว้อย่างมากแล้วในเรื่องกามุปาทาน กิเลสนี้เป็นสิ่งที่เกิดประจำอยู่ในใจ อยู่อย่างเหนี่ยวแน่นราวกะว่ามันแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ยากที่จะเข้าใจได้ ยากที่จะล้างออกได้สำหรับคนธรรมดา สิ่งใดเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่ จะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ชั้นไหน ประเภทไน ลักษณะอย่างไรก็ตาม ก็เรียกว่ากามทั้งนั้น ความที่จิตยังติดอยู่ด้วยความพอใจในสิ่งที่รักใคร่เช่นนี้ เรียกว่า กามราคะ ได้ทุกกวิถีทาง
๓๐๔
ที่เรียกว่า ปฏิฆะ นั้น เป็นความกระทบกระทั่งแห่งจิตที่รู้สึกไม่พอใจ ถ้าพอใจก็จัดเป็นกามราคะ ไม่พอใจจึงจะเป็นปฏิฆะ ความรู้สึกส่วนมากของคนเรามีอยู่อย่างนี้ ปฏิฆะอาจจะเกิดได้แม้ต่อสิ่งที่ไม่มีวิญญาณ และถ้ามากไปกว่านั้น ก็ไม่พอใจ แม้แต่สิ่งที่ทำเองหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเอง ส่วนที่ มีอาการโกรธ เกลียด พยาบาทคนอื่นนั้น เป็นปฏิฆะที่รุนแรงเกินไป ซึ่งพระอริยบุคคลชั้นต้นๆ กว่านี้ก็พอจะละได้ตามสมควร ที่เหลืออยู่สำหรับให้พระอริยเจ้าชั้นที่ ๓ ละ นี้หมายถึงความกระเพื่อมแห่งจิตชั้นละเอียด จนบางทีก็ไม่ปรากฏอะไรออกมา เป็นความขุ่นอยู่ข้างใน ดูสีหน้าจะไม่ทราบ ว่ามีความไม่พอใจอยู่ข้างใน เป็นต้น เช่น ความหงุดหงิด รำคาญ ขัดใจในคนหรือสิ่งต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามปรารถนา ถ้าผู้ใดละปฏิฆะทุกชนิดได้สิ้นเชิงท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า จะอยู่ในฐานะที่น่าบูชาสักเพียงไร หรือเป็นบุคคลพิเศษสักเพียงไร
๓๐๕
กิเลสทั้ง ๕ ข้อ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านจัดไว้ว่าเป็นขั้นต่ำนับตั้งแต่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ จนถึง ปฏิฆะ พระอริยบุคคลประเภทที่ ๓ ละได้หมด เพราะไม่มีกามราคะเหลืออยู่เลย พระอริยเจ้าประเภทนี้จึงไม่เวียนมาสู่กามภพอีกต่อไป เป็นเหตุให้ได้นามว่า อนาคามี แปลว่าผู้ไม่มีการกลับมาอีก มีแต่จะรุดหน้าสูงขึ้นไปเป็นพระอรหันต์และนิพพาน หรือในภาวะอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกามคือภพของรูปพรหมอันดับปลายๆ ส่วนกิเลสที่ยังเหลืออีก ๕ อย่างข้างปลายนั้นอริยบุคคลประเภทที่ ๔ คือ พระอรหันต์ จึงจะละได้ทั้งหมดทั้งสิ้น
๓๐๖
กิเลสถัดไปอีกคือ รูปราคะ อันเป็นสังโยชน์ข้อที่ ๖ นั้น หมายถึงความรักใคร่ ความพอใจในความสุขที่เกิดมาจากรูปสมาบัติ เหมือนที่เป็นแก่พวกโยคีที่เพ่งรูปเป็นอารมณ์ พระอริยเจ้า ๓ ชั้นแรก ยังไม่สามารถละความสุขความพอใจที่เกิดจากรูปฌานได้ แต่จะถอนได้ในเมื่อเลื่อนมาถึงพระอริยเจ้าชั้นสุดท้ายคือ พระอรหันต์ ทั้งนี้ก็เพราะความสงบสุขเยือกเย็น อันเกิดมาแต่รูปบริสุทธิ์ก็มีรสชาติที่จับอกจับใจ จนถึงกับพอจะเรียกได้ว่าเป็นพระนิพพาน ชิมลองดูก่อน เป็นพระนิพพานล่วงหน้าแล้วมีรสอย่างเดียวกัน หรือทำนองเดียวกับรสของพระนิพพานที่แท้จริงหากแต่เป็นเรื่องชั่วคราว เป็นเรื่องที่เป็นไปในระหว่างที่กิเลสสงบรำงับ เพราะอำนาจของฌาน ไม่ใช่กิเลสสูญหายเหือดแห้งไปจริง เมื่อหมดกำลังของฌาน กิเลสก็กลับมาปรากฏอีก ขณะที่กิเลสสงบ รำงับ อยู่ด้วยอำนาจของฌาน จิตนี้ก็ว่างโปร่งเป็นอิสระ มีรสชาติคล้ายกันกับรสของนิพพานที่แท้จริงเหมือนกัน ฉะนั้น จึงเป็นสาเหตุให้หลงติดได้เหมือนกัน บางยุคเคยบัญญัติว่าเป็นนิพพานก้นมาแล้ว
๓๐๗
กิเลสอันละเอียดข้อที่ ๗ ที่เรียกว่า อรูปราคะ นั้นหมายถึงความพอใจติดใจในความสุขที่เกิดมาแต่อรูปสมาบัติเป็นเรื่องคล้ายกับข้อที่ ๖ ผิดกันแต่ว่าชั้นนี้ละเอียดประณีตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งการเจริญฌานโดยมีสิ่งที่มีรูปเป็นอารมณ์สำหรับเพ่ง นั้นย่อมได้ความสงบที่เนื่องอยู่กับรูปนั้นๆ เพราะฉะนั้นจึงหยาบกว่าการเจริญฌานอันกำหนดเพ่งสิ่งที่ไม่มีรูป เช่น อาการหรือความว่างเปล่ามาเป็นอารมณ์ ได้ผลเป็นความสงบเงียบสุขุม ลึกซึ้งกว่าความสงบที่เป็นรูปฌาน ท่านจึงจัดไว้ในลำดับหลังจากรูปฌานและเรียกว่าอรูป ความพออกพอใจติดใจในความสุขสงบชนิดนี้เรียกว่าอรูปราคะ ฉะนั้น สำหรับผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์ จะหลงใหลในสุขเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย ไม่ว่าสุขเวทนานั้นจะเกิดมาจากอะไร
๓๐๘
เพราะตามธรรมดาของพระอรหันต์ จะมองเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของความรู้สึกทุกชนิด จึงไม่อาจจะมีความติดใจในความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงละรูปราคะและอรูปราคะได้โยคี ฤๅษี อื่นๆ ที่บำเพ็ญรูปฌานหรืออรูปฌานตามป่านั้น มองไม่เห็นความลี้ลับของสุขเวทนา จึงติดแน่นอยู่ในรสของฌานหรือสมาบัติอย่างหลงใหล เช่นเดียวกับคนหนุ่มคนสาวตามธรราดาๆ ที่มีจิตติดแน่นหลงใหลอยู่ในรสของกามคุณ ท่านจึงใช้คำว่า “ราคะ” อย่างเดียวกันหมด ถ้าท่านทั้งหลายพิจารณาให้เข้าใจในเรื่องนี้จริงๆ แล้ว ก็จะพอใจหรือจะเลื่อมใสบูชา ในบุคคลที่เรียกว่าพระอริยเจ้านั้นอย่างยิ่ง
๓๐๙
เครื่องผูกคนให้ติดอยู่ในโลกข้อที่ ๘ เรียกว่า มานะ ได้แก่ความรู้สึกสำคัญตัวว่าเป็นนั่น เป็นนี้ เป็นชั้นเป็นเชิงว่าเราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา เราดีหรือสูงกว่าเขา ถ้ารู้สึกว่าตนเลวกว่าก็น้อยใจ รู้สึกว่าตนดีกว่าก็ทะนงใจ รู้สึกว่าเสมอๆ กัน ก็นึกไปในทางที่จะแข่งขันหรือทำตนให้ก้าวหน้ากว่าเขา ทำนองนี้เป็นต้น ข้อนี้ไม่ได้หมายถึงมานะทิฏฐิด้วยความเย่อหยิ่งจองหองตามธรรมดา ย่อมเป็นการยากมากที่จะไม่ให้ใครๆ ตามปกติรู้สึกว่าตัวดีกว่าเขา เลวกว่าเขา ในทำนองนี้ กิเลสชนิดนี้มาอยู่ในอันดับที่ ๘ เกือบสุดท้ายเช่นนี้ ย่อมหมายความว่ามันละยาก จึงมาอยู่แทบจะรั้งสุดท้าย ซึ่งพระอริยเจ้าชั้นสูงสุดเท่านั้นที่จะละได้ชั้นเราๆ ตามธรรมดาจึงยังละไม่ได้
๓๑๐
ความรู้สึกว่าตนดีกว่าหรือเสมอกัน หรือตนเลวกว่าเขานี้ย่อมมาจากความยึดติดชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่ท่านไม่ใช้ชื่อว่าอุปาทาน ใช้ชื่อว่ามานะ แต่ถ้าจิตใจอยู่เหนือความดี ความชั่วเสียแล้ว ความรู้สึกต่างๆ เช่นนี้จะมีอยู่ไม่ได้ แต่เพราะจิตใจของเรายังแพ้ต่อค่าของความดีความชั่ว ฉะนั้นเราจึงมีความรู้สึกว่าใครดี ใครชั่ว หรือใครเสมอกัน เป็นเหตุให้ใจหวั่นไหวไปบ้าง เพราะเหตุที่รู้สึกเช่นนั้นอยู่ จึงยังไม่เป็นความสบสุขจริงๆ
๓๑๑
สังโยชน์ข้อที่ ๙ เรียกว่า อุทธัจจะ แปลว่า ความกระเพื่อมความฟุ้ง หรือความไม่สงบนิ่ง เช่นความรู้สึกที่กระพือขึ้นในเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่น่าสนใจผ่านมา คนเรามีความต้องการอะไรๆ ประจำอยู่ในใจ โดยเฉพาะก็คือความอยากได้อยากเป็น อยากไม่เอา อยากไม่เป็น เมื่อมีสิ่งใดผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย มาในลักษณะที่ตรงกับความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งของตนเข้าแล้ว ความกระพือขึ้นของใจย่อมจะมีได้อย่างที่เราเรียกกันว่า “ความทึ่ง” ทึ่งในแง่ดีก็ได้ ทึ่งในแง่ร้ายก็ได้ ถ้าดูแปลกประหลาดแล้วเป็นต้องเกิดความสงสัยทึ่งขึ้นมาทีเดียว เพราะเรายังมีสิ่งที่เราต้องการ ยังมีสิ่งที่เราหวดกลัววิตกกังวลระแวงอยู่ ฉะนั้น ใจจึงทนไม่ได้ต้องทึ่งต่อสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาคนธรรมดาเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกกับตัณหาแล้วก็ยากที่จะระงับได้ ย่อมสนใจจนเนื้อเต้น ดีใจจนลืมตัว ถ้าเป็นเรื่องเศร้าก็ทำให้ใจแฟบเหี่ยวแห้งจนหมดความสุข นี่คือลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า อุทธัจจะ
๓๑๒
พระอริยเจ้า ๓ ประเภทข้างต้น ก็ยังมีความทึ่งและมีความสนใจในบางสิ่งบางอย่าง แต่พระอรหันต์ไม่มีความทึ่ง ไม่มีความสนใจในสิ่งใดเลย เพราะจิตใจของท่านหมดความกระหายในสิ่งทั้งปวง หมดความกลัว หมดความเกลียด หมดความวิตกกังวล หมดความระแวงสงสัยอยากรู้อยากเห็นในสิ่งต่างๆ ท่านมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่มีอะไรมาล่อหรือยั่วให้เกิดความทึ่งหรือความสนใจ เพราะหมดความต้องการนั่นเอง จึงหมดความสนใจหรือข้อสงสัยทั้งปวง ขอให้เข้าใจไว้ด้วยว่า ความสงสัยในปัญหาต่างๆ นั้นมันมีอยู่หรือมันเกิดขึ้นก็เพราะความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง นับตั้งแต่อยากรู้ไปทีเดียว
๓๑๓
ครั้นหมดความอยากเพราะเห็นสิ่งทั้งปวงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีอะไรที่น่าเอา น่าเป็น จึงไม่มีความทึ่งในสิ่งใดๆ ฟ้าผ่าลงมาข้างๆ ท่านก็ไม่มีความทึ่ง เพราะไม่มีความรู้สึกกลัวตาย หรืออยากอยู่หรืออะไรทำนองนั้น แม้จะมีอะไรๆ ที่ร้ายแรงชนิดไหน หรือว่าเกิดมีความรู้ความคิดสิ่งใหม่ๆ ในโลก ท่านก็ไม่มีความทึ่งความสนใจ เพราะมันไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับท่าน ท่านไม่ต้องการทราบถึงสิ่งใดในลักษณะที่ว่ามันจะอำนวยอะไรให้ท่านได้บ้าง เพราะท่านไม่ต้องการอะไร ฉะนั้นจึงไม่มีความทึ่งในลักษณะใดๆ หมด จิตของท่านจึงบริสุทธิ์หรือสงบอย่างที่คนเราตามธรรมดาคาดไม่ถึงเอาทีเดียว
๓๑๔
กิเลสข้อ ๑๐ อันเป็นข้อสุดท้าย ท่านเรียกว่า อวิชชา เป็นที่รวมของบรรดากิเลสทั้งหลาย ที่ไม่ได้ระบุชื่อไว้เป็นอย่างอื่น คำว่า อวิชชา แปลว่า ภาวะที่ปราศจากความรู้ ความรู้ในที่นี้หมายถึงความรู้จริงความรู้ถูกต้อง ตามธรรมดาสัตว์ทั้งหลายจะอยู่โดยไม่มีความรู้อะไรเลยนั้น เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าความรู้นั้นเป็นความรู้ผิด ก็มีค่าเท่ากับไม่รู้ คนจึงมีอวิชชาหรือรู้ผิดอยู่เป็นประจำ จึงมืดมน ปัญหาสำคัญที่สุดของมนุษย์ก็คือ ปัญหาที่ว่า อะไรเป็นความทุกข์ที่แท้จริง อะไรเป็นต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความไม่มีทุกข์ที่แท้จริง และอะไรเป็นหนทางอันแท้จริงซึ่งจะให้ได้มาซึ่งความไม่มีทุกข์นั้นๆ ถ้าใครมีความรู้จริงๆ แล้วเรียกว่าคนนั้นไม่มีอวิชชา จัดเป็นผู้มีวิชชาในที่นี้
๓๑๕
บรรดาความรู้ทั้งหลาย มีมากมายเหลือที่จะกล่าวได้แต่พระพุทธเจ้าท่านจัดไว้ในจำพวกที่ไม่จำเป็นต้องรู้ ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเอง ก็มีขอบเขตอยู่แต่ในวงเรื่องที่ควรรู้ ในบรรดาสิ่งที่ควรรู้แล้วพระองค์ทรงรู้ทั้งหมด คำว่า “สัพพัญญู” (รู้ทั้งหมด) ก็คือการรู้แต่ในขอบเขตที่ควรรู้ ไม่ใช่ว่าจะครอบคลุมไปถึงสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรู้ สำหรับการดับทุกข์
๓๑๖
อวิชชาทำให้คนสำคัญผิด ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นความสุขจนถึงกับพอใจยอมเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ และสำคัญผิดในเหตุของความทุกข์ จนไปคว้าเอาสิ่งที่ผิดไว้ หรือเกิดความโง่เขลาใหม่ๆ ขึ้นมาเช่น การโทษผีสางเทวดา โทษอะไรต่างๆ ว่าเป็นเหตุให้เกิดเจ็บไขหรือเคราะห์ร้าย แทนที่จะรักษาหรือแก้ไขโดยวิธีที่ถูกต้อง ก็ไปนั่งบนบานผีสางเทวดาอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่าอวิชชาเป็นต้นเหตุของความทุกข์ขั้นต่ำที่สุด นี้เป็นตัวอย่าง
๓๑๗
สำหรับอวิชชาในเรื่องความดับสนิทของทุกข์นั้นคือไม่รู้เรื่องการดับกิเลสดับตัณหา ซึ่งเป็นต้นเหตุของการดับทุกข์โดยตรงไปหลงเอาความสงบสุข หรือความไม่รู้สึกตัวชนิดที่เกิดมาจากสมาธิ หรือฌานสมาบัติว่า เป็นความดับทุกข์สิ้นเชิง ซึ่งมีดกดื่นในสมัยพุธกาลและยังคงส่งเสริมทำกันจนถึงบัดนี้ บางครั้งยังอาจถึงกับยึดเอากามารมณ์เป็นเครื่องดับทุกข์ อย่างที่บางคนได้ยึดเป็นหลักไว้ว่ากามารมณ์เป็นของจำเป็นมาก หรือเป็นอาหารสำหรับชนิดหนึ่งของชีวิตแทนที่จะมีปัจจัยเพียง ๔ อย่าง คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ก็เพิ่มเอากามารมณ์เข้าไปอีกอย่างหนึ่งรวมเป็นปัจจัย ๕ อย่าง อย่างนี้ก็มี บางลัทธินิกายได้เอากามารมณ์เป็นเครื่องดับทุกข์ จึงเกิดเป็นลัทธินิกายที่มีการกระทำอันน่าบัดสีลามกอนาจารขึ้น ที่วิหารของเขานั่นเอง
๓๑๘
สำหรับอวิชชาความไม่รู้ในหนทาง ที่จะให้ได้มาซึ่งความดับทุกข์นั้น คนที่ไมรู้ก็ย่อมทำไปตามความเขลาหรืออำนาจกิเลสตัณหา ตามความต้องการของตนเอง เช่น หลงเชื่อในสิ่งภายนอกคอยแต่พึ่งผีพึ่งเทวดาไปตามประสาของคนที่ไม่มีศาสนา แม้จะเป็นพุทธบริษัทโดยกำเนิดอยู่แล้ว ก็ยังหลงไปได้ถึงขนาดนั้น เพราะอำนาจของอวิชชานั่นเอง ทำให้ไม่เข้าใจหรือยินดีในการดับทุกข์ โดยปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ไปดับทุกข์ของตนด้วยการจุดธูปเทียนนั่งบนบานสิ่งที่ตนเองเชื่อถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ตามปกติคนต้องการมีความรู้ แต่ถ้าความรู้นั้นเป็นความรู้ผิด เมื่อยิ่งรู้มากก็ยิ่งผิดมาก เลยกลายเป็นความรู้ชนิดที่บังลูกตา
๓๑๙
คำว่า แสงสว่างๆ นี้ก็จะต้องระวัง อาจจะเป็นแสงสว่างของอวิชชาก็ได้ คือแสงที่ทำให้ตามืดบอดหลงผิดและทำให้เกิดความประมาท โดยไม่อาจสำนึกว่าตนกำลังถูกแสงของอวิชชานี้บังลูกตาอยู่ จึงไม่สามารถจะเอาชนะความทุกข์ได้ มัวแต่หลงในสิ่งเล็กน้อยไม่เป็นสาระอย่างเทิดทูนบูชา หลงใหลในกามารมณ์ต่างๆ ว่าเป็นสิ่งดีที่สุดของมนุษย์ ซึ่งทุกคนควรจะได้รับเสียก่อนที่จะตาย แล้วจะแก้ตัวว่า ทำเพื่ออุดมคติอันอื่นอย่างไรได้ การหวังไปเกิดในสวรรค์ โดยหมายเอากามารมณ์เป็นที่ตั้ง อะไรๆ ก็ไปติดอยู่แค่กามารมณ์ทั้งนั้น นี้เพราะอวิชชาได้หุ้มห่อจิตใจไว้อย่างไม่ให้ใครทะลุรอดออกไปได้
๓๒๐
ในพระบาลีบางแห่ง ได้อุปมาอวิชชาว่า เหมือนกับเปลือกหนาที่หุ้มโลกทั้งหมด ไม่ให้ใครได้เห็นแสงสว่างที่แท้จริง ท่านจัดอวิชชาไว้เป็นกิเลสข้อสุดท้าย เป็นอันว่าเมื่อเป็นพระอรหันต์จึงตัดกิเลส ๕ อย่างข้างท้ายได้หมด คือ ตัดรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ซึ่งเป็นการตัดสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ อย่างแล้วก็จะกลายเป็นพระอรหันต์ คือเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา
๓๒๑
พระอริยเจ้าทั้ง ๔ ประเภท กล่าวคือ พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ นี้จัดว่าเป็นผู้ที่อยู่ใน โลกุตตรภูมิ ตัวธรรมที่ได้บรรลุเรียกว่า “โลกุตตรธรรม” แยกออกเป็น ๙ อย่าง คือ ภาวะของพระโสดาบัน ในขณะที่กำลังตัดกิเลสนั้นเรียกว่า โสดาปัตติมรรค อย่างหนึ่ง เมื่อตัดกิเลสได้แล้วเรียกว่า โสดาปัตติผล อีกอย่างหนึ่ง จึงเป็นคู่ๆ คือ โสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค-สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค-อนาคามิผล อรหัตตมรรค-อรหัตตผล เป็น ๔ คู่ เติมนิพพานเข้าอีกหนึ่งจึงเป็น ๙ เรียกว่า โลกุตตรธรรม ๙
๓๒๒
บุคคลในโลกกุตตรภูมิ เป็นผู้มีความทุกข์น้อยลงตามสัดส่วนจนกระทั่งไม่มีทุกข์เลย เมื่อมีการกระทำให้รู้แจ้งชนิดที่ถูกต้องเหมือนสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงจนระงับความอยากทั้งปวงได้จริงๆ แล้ว ก็จะเกิดผลเป็นโลกุตตรภูมิขึ้นมา ทำให้จิตใจของผู้นั้นอยู่เหนือวิสัยชาวโลก หลังจากนี้ สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของความพอใจ หรือไม่พอใจในโลก ก็ไม่สามารถจะครอบงำจิตใจหรือมีอิทธิพลเหนือจิตของท่านได้อีกต่อไป เพราะท่านละกิเลสทุกชนิดได้หมดจนสิ้นเชิง
๓๒๓
ส่วนที่เรียกว่า “นิพพาน” นั้น ถ้าเป็นเรื่องโลกกุตตรธรรมก็หมายถึง สภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกับสิ่งใดๆ หมดคือ ไม่เหมือนกับสิ่งทุกสิ่งในโลก ผิดจากทุกสิ่งในโลกเมื่อทางโลกหรือสิ่งทั้งหลายมีภาวะเป็นอย่างไร ถ้ายกเลิกภาวะและวิสัยเหล่านั้นทั้งหมดเสียได้ ก็จะเหลือสิ่งที่เรียกว่านิพพาน กล่าวคือสภาพตรงกันข้ามจากโลกโดยประการทั้งปวง เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งไม่ต้องอาศัยสิ่งใดปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่งสิ่งใด เป็นที่ดับของการปรุงแต่งทั้งปวง แต่ถ้าจะกล่าวทางผล นิพพานก็หมายถึงภาวะ ที่ปราศจากการถูกเผาลนปราศจากการถูกตบตี ทิ่มแทงร้อยรัด ครอบงำผูกพันอะไรทั้งหมดเหล่านี้ เพราะว่า กิเลสทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุทำให้ร้อนอกร้อนใจต่างๆ นานาได้ถูกทำลายให้หมดไป ก่อนถึงภาวะที่เรียกว่านิพพาน
๓๒๔
นิพพาน เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ไม่มีขอบเขต ไม่ต้องอาศัยการกินเนื้อที่ ไม่ขึ้นอยู่กับการล่วงไปของเวลาหรือไม่เกี่ยวข้องกับกาลเวลา แต่อยู่ในลักษณะเป็นตัวของตัวเองชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนอะไรๆ ในโลก แต่เป็นที่ดับของภาวะโลกๆ พูดในฐานะเป็นอุปมา ท่านให้นามว่าเป็นแดนที่ดับของสิ่งปรุงแต่งทั้งปวงจึงเป็นธรรมชาติที่อิสระปราศจากเครื่องผูกมัด ไม่มีการถูกทรมาน กระทบกระแทกทิ่มแทงโดยอะไรๆ ทั้งสิ้น นี่เป็นลักษณะของโลกุตตรธรรมข้อสุดท้าย เป็นจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องสุดท้ายของการปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนา
๓๒๕

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

พระคาถาชินบัญชร พร้อมแปล

พระคาถาชินบัญชร
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ตั้งนะโม 3 จบ
ปุตตะกาโมละเกปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง
อัตถิกาเยกายะญายะ เทวนังปิยะตังสุตตะวา
อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ
1. ชะยาสะนาคะตะ พุทธา เชตะวา มารัง สวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา
2. ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา
3. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร
4. หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะ ทักขิเณ
โกณฑัณโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะ วามะเก
5. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล
กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก
6. เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว
7. กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก
โส มัยหัง วะทะเนนิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร
8. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลี นันทะสีวะลี
เถรา ปัจจะ อิเม ชาตา นะลาเฏ ตีละกา มะมะ
9. เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา
เอเตสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา
ชะลันตา สีละเต เชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา
10. ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง
11. ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา
12. ชินนานา วะระสังยุตตา สัตตะปาการะลังกะตา
วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัทะวา
13. อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา
วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธปัญชะเร
14. ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะหีตะเล
สะทาปาเลน ตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา
15. อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ
สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย
สัทธัมมะนุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเรติ
**************

คำแปล
1. พระพุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลายผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์ ทรงพิชิตพระยามาราธิราช ผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว เสวยอมตรสคือ อริยะสัจจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์
2. มี 28 พระองค์ คือพระผู้ทรงพระนามว่า ตัณหังกรเป็นอาทิพระพุทธเจ้าจอมมุนีทั้งหมดนั้น
3. ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่บนศีรษะ พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณ อยู่ทีอก
4. พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจ พระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา พระโมคคลัลลาน์อยู่เบื้องซ้าย พระอัญญาโกณฑัญญะอยู่เบื้องหลัง
5. พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา พระกัสสะปะกับ พระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย
6. มุนีผู้ประเสริฐ คือ พระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริ ดังพระอาทิตย์ส่องแสงอยู่ที่ทุกเส้นขน ตลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
7. พระเถระกุมาระกัสสะปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษมีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ปากเป็นประจำ
8. พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวะลี พระเถระทั้งห้านี้ จงปรากฏเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก
9. ส่วนพระอสีติมหาเถระที่เหลือ ผู้มีชัยและเป็นพระโอรสเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าทรงชัย แต่ละองค์ล้วนรุ่งเรืองไพโรจน์ด้วยเดชแห่งศีลให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่
10. พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้า พระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคะสูตรอยู่เบื้องหลัง
11. พระขันธปริตร พระโมรปริตรและพระอาฏานาฏิยสูตร เป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ
12. อนึ่งพระชินเจ้าทั้งหลายนอกที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิดมีศีลาทิคุณอันมั่นคง คือสัตตะปราการเป็นอาภรณ์มาตั้งล้อมเป็น กำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น
13. ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้าไม่ว่าจะทำกิจการใด ๆ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชรแวดวงกรงล้อม แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอโรคอุปัทวะทุกข์ทั้งภายนอกและภายใน อันเกิดแต่โรคร้าย คือ โรคลมและโรคดีเป็นต้น เป็นสมุฏฐานจงกำจัดให้พินาศไปอย่าได้เหลือ
14. ขอพระมหาบุรุษผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้นจงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้าผู้อยู่ในภาคพื้นท่ามกลางพระชินบัญชร ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดีฉะนี้แล
15. ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับการอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม จึงชนะเสียได้ซึ่งอุปัทวะอันตรายใดๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะพุทธเจ้าชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงได้ปฏิบัติและรักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดร เทอญ.
**********************

อานิสงส์ชินบัญชร


พระคาถาชินบัญชรนี้เป็นคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนักตกทอดมาจากลังกา เจ้าประคุณสมเด็จฯ ค้นพบในคัมภีร์โบราณได้ดัดแปลงแก้ไขแต่งเติมให้ดีขึ้นเป็นเอกลักษณ์พิเศษได้เนื้อถ้อยกระทงความสมบูรณ์ แปลออกมาแล้วมีแต่สิ่งศิริมงคลแก่ผู้สวดภาวนาทุกประการ
พระคาถานี้เป็นการอัญเชิญพระพุทธานุภาพแห่งพระบรมศาสดา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าที่ได้เคยมาตรัสรู้ก่อนหน้านี้ จากนั้นเป็นการอัญเชิญพระอรหันต์ขีณาสพ อันสำเร็จคุณธรรมวิเศษแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน นอกนั้นยังอัญเชิญพระสูตรต่าง ๆ อันโบราณาจารย์เจ้าถือว่าเป็นพระพุทธมนต์อันวิเศษแต่ละสูตรมาร่วมกันสอดคล้องเป็นฯกำแพงแก้วคุ้มกัน ตั้งแต่กระหม่อมจอมขวัญของผู้ภาวนาพระคาถาลงมาจนล้อมรอบตัว จนกระทั่งหาช่องโหว่ให้อันตรายสอดแทรกเข้ามามิได้

“ผู้ใดได้สวดภาวนาพระคาถาชินบัญชรนี้เป็นประจำอยู่สม่ำเสมอจะทำให้เกิดความสิริมงคลสมบูรณ์พูนผลศัตรูหมู่พาลไม่กล้ากล้ำกราย ไปทางใดย่อมเกิดเมตตามหานิยมเกิดลาภผลพูนทวี ขจัดภัยจากภูตผีปีศาจตลอดจนคุณไสยต่าง ๆ ทำน้ำมนต์แก้สรรพโรคภัย เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตมีคุณภาพตามแต่จะปรารถนา ดังคำโบราณว่า “ฝอยท่วมหลังช้าง” จะเดินทางไปที่ใด ๆ สวด 10 จบ แล้วอธิษฐานจะสำเร็จสมดังใจ”

ถ้าใครท่องจำได้ขึ้นใจ ภาวนาทุกคืนวันมีคุณานุภาพมากมาย มีความศักดิ์สิทธิ์และทรงอานุภาพทุกบทจะทำให้เกิดโชคลาภ เป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง ใช้เสกทำน้ำมนต์รดแก้สรรพทุกข์โศกโรคภัย ไม่ว่าจะถูกกระทำคุณไสย คุณมีคุณคนทั้งปวง ใช้ปลุกเสกพระเครื่องรางของขลังจะเพิ่มอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าท่องจำไม่ได้หมด จะเลือกจำแต่ละบทก็ได้ สุดแต่เจตนาจะใช้ ดังนี้
- อาราธนาพระสมเด็จไปกับตัว ใช้บทที่ 3 ภาวนา
- สำหรับนักพูด นักแสดง ก่อนพูดก่อนแสดง ใช้บทที่ 7 ภาวน
- สำหรับเสกน้ำล้างหน้า เสกแป้งเจิม ใช้บทที่ 8 ภาวนา
- ถ้าต้องการแคล้วคลาดปลอดภัยอันตราย ใช้บทที่ 9 ภาวนา
- สำหรับป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ใช้บทที่ 13 ภาวนา
- อาราธนาขอให้คุณพระคุ้มครอง ใช้บทที่ 14 ภาวนา

***************

๘ การทำให้รู้แจ้งตามหลักวิชา

คราวนี้ จะอธิบายถึงวิธีทำความเห็นแจ้งให้เกิดขึ้นตามหลักวิชา ไม่อยู่ในรูปของพุทธภาษิต เพราะเป็นสิ่งที่อาจารย์ยุคหลังๆ จัดขึ้น เป็นวิธีเหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติที่มีอุปนิสัยอ่อน ยังมองไม่เห็นทุกข์ภัยตามธรรมชาติด้วยตาตัวเอง อย่างไรก็ตาม นี้ก็มิได้หมายความว่า วิธีที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ชนิดนี้ จะวิเศษกว่าที่จะเป็นไปตามวิธีธรรมชาติ เพราะเหตุว่าเมื่อตรวจดูพระไตรปิฎกโดยตรงจะเห็นว่ามีกล่าวแต่วิธีที่เป็นไปตามธรรมชาติทั้งนั้น
๒๓๙
แต่บางคนอาจเห็นไปว่า นั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เฉพาะบุคคลที่มีบุญบารมี หรืออุปนิสัยได้สะสมมาไว้มากจนเพียงพอที่จะรู้สิ่งเหล่านั้นได้เหมือนกับทำเล่นๆ สำหรับผู้ที่ไม่มีบารมีไม่มีอุปนิสัยจะทำอย่างไร ท่านเลยวางระเบียบปฏิบัติเร่งรัดไปตั้งแต่ต้นทีเดียว ต้องให้ทำไปตามระเบียบตามลำดับอย่างรัดกุม
๒๔๐
ระเบียบปฏิบัติ เพื่อทำให้เกิดความเห็นแจ้งนี้ เพิ่งเรียกกันในยุคอรรถกถาโดยชื่อใหม่ว่า “วิปัสสนาธุระ” ให้เป็นคู่กันกับ “คันถธุระ” ซึ่งเป็นเรื่องการเรียนตำราโดยตรง วิปัสสนาธุระเป็นการเรียนจากภายใน คืออบรมจิตโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับตำรา คำว่า “คันถธุระ” และ “วิปัสสนาธุระ” สองคำนี้ ไม่ได้มีมาในบาลี พระไตรปิฎก จะมีปรากฏก็แต่ในหนังสือชั้นหลังๆ เช่น อรรถกถาธรรมบท เป็นต้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เราก็อาจใช้เป็นหลักเกณฑ์ได้ว่า วิปัสสนาธุระนั้น เป็นการงานของพุทธบริษัทที่ตั้งอกตั้งใจจะทำความดับทุกข์ ด้วยการทำความเพียรในทางเพ่งพิจารณาโดยตรง
๒๔๑
คำว่า “วิปัสสนา” นี้ มีทางฟั่นเฝือนอยู่บางสิ่งบางอย่างคือ ในบางกรณีเกิดไปแยกทำทางจิต เป็นสองประเภทโดยเด็ดขาด คือทำเพื่อให้เกิดสมาธิประเภทหนึ่ง ทำเพื่อให้เกิดปัญญาอีกประเภทหนึ่ง แล้วเรียกการทำสมาธินั้นว่าสมถภาวนา และเรียกการทำทางปัญญาว่าวิปัสสนาภาวนา เลยทำให้วิปัสสนามีความหมายแคบเข้ามาเหลือแต่เพียงเรื่องปัญญา
๒๔๒
แต่โดยที่แท้แล้วคำว่า วิปัสสนาธุระต้องกินความรวมหมดทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา คือหมายถึงทั้งสมาธิและปัญญานั่นเอง และยิ่งไปกว่านั้นยังรวมเอาศีล ซึ่งยังไม่ใช่ตัวภาวนาอะไรเลย เข้าไปอีกด้วยในฐานะเป็นบริวารหรือเป็นบาทฐานของสมาธิ เพื่อจะให้เข้าใจการปฏิบัติวิปัสสนาได้เป็นอย่างดี อาจารย์แต่กาลก่อนนิยมตั้งหัวข้อไว้เป็นข้อๆ มาทีเดียว
หัวข้อแรกที่สุดก็ว่า อะไรเป็นฐานที่ตั้งที่อาศัยของวิปัสสนา
อะไรเป็นลักษณะเครื่องสังเกตว่าเป็นตัววิปัสสนา
อะไรเป็นกิจที่เรียกว่าวิปัสสนา
และอะไรจะเป็นผลสุดท้ายของวิปัสสนา
เมื่อตั้งปัญหาว่าอะไรเป็น ที่ตั้งที่อาศัยของวิปัสสนา ก็ตอบว่าศีลกับสมาธิเป็นที่ตั้งที่อาศัยของวิปัสสนา เพราะวิปัสสนา หมายถึงการรู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีจิตใจที่ปีติปราโมทย์ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ข้อนี้ ศีลช่วยได้ถึงที่สุด เมื่อมีศีลบริสุทธิ์ก็มีปีติปราโมทย์ ฉะนั้นจึงต้องมีศีลก่อน คำกล่าวนี้มีหลักที่อ้างอิงในพระบาลีโดยตรง ในบาลีมัชฌิมนิกายก็ได้มีการกล่าวถึงความบริสุทธิ์สะดวกของการปฏิบัติเป็นชั้นๆ ไปตามลำดับ จนครบ ๗ อย่างถึงที่สุดคือการบรรลุมรรคผล
๒๔๔
ในขั้นแห่งความบริสุทธิ์ ๗ อย่างนั้น ท่านก็ยกเอาศีลเป็นข้อแรกเรียกว่า
สีลวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งความประพฤติ สีลวิสุทธิก็ส่งให้เกิด
จิตตวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งจิต ความหมดจดแห่งจิตก็ส่งให้เกิด
ทิฏฐิวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งความเห็น ความหมดจดแห่งทิฏฐิก็ส่งให้เกิด
กังขาวิตรณวิสุทธ คือ ความหมดจดแก่งความรู้ที่จะข้ามความสงสัยเสียได้ ต่อไปความหมดจดแห่งความรู้เป็นเครื่องข้ามความสงสัย ก็ส่งให้เกิด
มัคคามัคคญาณทัสสวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งความเห็นแจ้งว่าอะไรเป็นหนทางอะไรไม่ใช่หนทาง ความหมดจดในความรู้ว่าอะไรเป็นทาง อะไรไม่ใช่ทางนี้ก็ส่งให้เกิด
ปฏิปทาญาณทัสสวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นในตัวการปฏิบัตินั้นๆ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธนี้ก็ส่งให้เกิด
ญาณทัสสวิสุทธ อันเป็นขั้นสุดท้ายคืออริยมรรค ซึ่งเป็นคู่กันกับอริยผล ผลเป็นสิ่งที่เกิดจากมรรคเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้เพียงแค่ อริยมรรค ในฐานะเป็นขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติ
๒๔๕
ศีล หมายถึงการประพฤติที่ปราศจากโทษทางกายและวาจา ถ้ายังมีความไม่ปกติทางกายทางวาจาอยู่แล้ว ยังเรียกว่าไม่มีศีล ที่ถูกต้องสมบูรณ์ ตามความหมายของศีล เมื่อมีความปกติ คือความสงบทางกายวาจา ก็ย่อมจะเกิดความสงบในทางจิตใจ เหมาะที่จะปฏิบัติงานทางด้านจิตต่อไป คือทิฏฐิวิสุทธ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคาคัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิและญาณทัสสนวิสุทธินั้นเป็นตัววิปัสสนาแท้ สีลวิสุทธิกับจิตตวิสุทธิ จัดเป็นปากทางของ วิปัสสนา
๒๔๖
วิปัสสนาตัวที่ ๑ ความหมดจดของทิฏฐิหมายถึง การหมดความเห็นผิดที่เห็นกันมาแต่เดิม หรือตามสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่ความเชื่องมงายไร้เหตุผลในเรื่องของไสยศาสตร์ ขึ้นมาถึงเรื่องความเข้าใจผิดในธรรมชาติ เช่นเห็นว่าร่างกายและจิตใจเหล่านี้เป็นของเที่ยงเป็นสุขหรือเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นผี เป็นอะไรๆ ในทางขลังทางศักดิ์สิทธิ์ไปทั้งนั้น ไม่สามารถจะเห็นว่ามันเป็นแต่เพียงธาตุสี่หรือเป็นเพียงนามและรูป กายกับใจ แต่ไปเห็นเป็นตัวเป็นตน มีเจตภูตหรือวิญญาณที่เข้าๆ ออกๆ อยู่กับร่างกาย มองไม่เห็นว่าเป็นขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เห็นว่าเป็นเพียงการสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านี้เป็นต้น ความคิดผิดจึงโน้มเอียงไปในทางยึดถือความขลัง ยึดถือความศักดิ์สิทธิ์จนทำให้เกิดความหวดกลัว เลยต้องทำพิธีรีตองต่างๆ ตามความเชื่อความเห็นผิดเหล่านั้น นี่เราเรียกว่าความเห็นยังไม่สะอาดหมดจด จะต้องเริ่มละความเห็นที่เหลวไหลอย่างผิดๆ ในขั้นหยาบๆ ทำนองนั้นให้หมดเสียก่อน จึงจะเป็นวิปัสสนาตัวที่ ๑ เรียกว่าทิฏฐิวิสุทธิ
๒๔๗
วิปัสสนาตัวที่ ๒ กังขาวิตรณวิสุทธิ ก็คือการพิจารณาลงไปถึงเหตุดั้งเดิม ทิฏฐิวิสุทธิทำให้เห็นคนๆ หนึ่งเป็นเพียงกายกับใจ กังขาวิตรณวิสุทธินี้ มีหน้าที่แยกดูว่ากายกับใจแต่ละอย่างๆ นี้ มีมูลเหตุสร้างสรรค์ร่วมกันมาอย่างไร ฉะนั้น จึงมองลึกลงไปอีกว่า ความรู้ความอยาก ความยึดติด กรรม อาหาร ฯลฯ มันสร้างสรรค์ปรุงแต่งกันมาอย่างละเอียดประณีตจนกระทั่งเกิดสิ่งที่เรียกว่า กายกับใจ กังขาวิตรณวิสุทธิกล่าวคือ ความหมดจดแห่งความรู้ที่จะให้ข้ามความสงสัยเสียได้ นี้จึงหมายถึงความเห็นแจ้งในพวกเหตุพวกปัจจัยของสิ่งทั้งปวงนั่นเอง
๒๔๘
ในระเบียบของวิปัสสนานั้น ท่านจำแนกความสงสัยเหล่านี้ออกไปราว ๒๙-๓๐ อย่าง แต่สรุปแล้วก็คือ เป็นความสงสัยเกี่ยวกับตัวเรามีอยู่หรือไม่ ตัวเรามีแล้วหรือไม่ ตัวเราจะมีต่อไปหรือไม่ ในลักษณะอย่างไร เป็นต้น การจะข้ามความสงสัยได้นั้น ก็ต้องอาศัยเหตุที่ได้ทราบว่ามันไม่มีตัวเรา มีแต่ธาตุขันธ์อายตนะ พร้อมทั้งเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร ฯลฯ ซึ่งปรุงแต่งสิ่งเหล่านี้ โดยมันไม่มีตัวเราจริงๆ แล้วเริ่มเลิกความเข้าใจเขลาๆ ว่าเรามีอยู่ เรามีมาแล้ว เราจะมีต่อไปนั้นเสีย
๒๔๙
เมื่อความสงสัยชนิดนี้ระงับไปแล้ว ก็เรียกว่าเป็นวิปัสสนาตัวที่ ๒ แต่มิได้หมายความว่าเป็นการถอนอุปาทานว่ามีตัวเราได้โดยสิ้นเชิง เพราะส่วนที่ละเอียดกว่านั้นยังมีอยู่อีก ความสงสัยเหล่านี้ได้ระงับไป เพราะเรามีความรู้เรื่องการปรุงแต่งของเหตุปัจจัยต่างๆ จนเพิกถอนความเชื่อว่ามี “ตัวเรา” ชั้นหยาบๆ นี้เสียได้
๒๕๐
วิปัสสนาตัวที่ ๓ เมื่อข้ามความสงสัยเช่นนี้ได้แล้ว ก็สามารถทำให้เกิด มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ์ คือความรู้อันสะอาดหมดจดเห็นว่าอะไรเป็นทางที่ก้าวต่อไปอย่างถูกต้องและอะไรไม่เป็นทางที่จะก้าวต่อไปได้ อุปสรรคที่ทำให้ก้าวต่อไปไม่ได้ อันนี้ก็มีหลายอย่าง ที่มักเกิดในขณะที่ทำวิปัสสนาก็คือ ในตอนที่จิตเป็นสมาธินั้น มักจะเกิดสิ่งต่างๆ ชนิดแปลกประหลาด และจับอกจับใจ แก่ผู้ทำมากเหลือเกิน เช่น เห็นแสงสว่างรุ่งเรืองน่าอัศจรรย์ ปรากฏอยู่ที่ตาในโดยไม่ต้องลืมตา ถ้ายิ่งไปโน้มจิต เพื่อให้เห็นนั่นเห็นนี่เข้าด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่
๒๕๑
ถ้าใครเข้าใจผิดว่า “นี่แล้วเป็นผลของวิปัสสนา” หรือยินดีว่า “นี่เป็นของวิเศษพอแล้วสำหรับเรา” ดังนี้ก็ตามมันย่อมกั้นหนทางแห่งความเห็นแจ้งในมรรคผล ท่านจึงถือว่าเป็นเรื่องผิดทางตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งเช่นเกิดปีติอิ่มอกอิ่มใจขึ้นมาท่วมท้นจิตใจเสียเรื่อยตลอดเวลา จนไม่อาจพิจารณาอะไรได้อีกต่อไป หรือเกิดเข้าใจว่า นี่แล้วเป็นนิพพานในปัจจุบันทันตาเห็นดังนี้เป็นต้น ก็ติดตันไม่ก้าวหน้าไปได้ นี่ก็เป็นอุปสรรคของวิปัสสนา ท่านยังกล่าวว่า แม้ความเห็นแจ้งในรูปในนาม บางขณะบางครู่ก็ได้ทำความพอใจให้หลงคิดไปว่า ตนเป็นผู้เห็นธรรมอย่างวิเศษ แล้วทะนงตัวฟุ้งซ่านอยู่ด้วยความเห็นผิดต่างๆ ในเรื่องเหล่านั้นนี่ก็นับว่าเป็นอุปสรรคของวิปัสสนา
๒๕๒
ในบางกรณีผู้ทำสมาธิใช้อำนาจจิตตนเอง บังคับให้ร่างกายรำงับจนแข็งทื่อ ไม่มีสติที่จะพิจารณาธรรมะหรือจะน้อมไปเพื่อความเพียรอันสูงขึ้นไป นี่ก็นับว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการที่จะก้าวหน้าต่อไป แล้วคนก็นิยมชมชอบถือว่าเป็นคุณวิเศษเป็นมรรคผล ผู้ที่พอใจหลงใหลแต่ในทางสมาบัตินั่งตัวแข็งทื่อไม่รู้สึกตัว จึงไม่อาจก้าวไปในทางปัญญาได้เลย เป็นที่น่าสงสารอย่างยิ่ง
๒๕๓
ยังมีอีกซึ่งอาจเกิดขึ้นได้มากที่สุด เช่น เกิดความรู้สึกปีติเป็นสุขใจชนิดที่ไม่เคยพบมาแต่ก่อนเลย แล้วก็ประหลาดใจเหลือที่จะอธิบายได้ ทำคนๆ นั้นให้เกิดความพอใจเหลือที่จะประมาณเพราะว่าในขณะนั้นใจกับกายเป็นสุขแสนที่จะสุข ปัญหาต่างๆ หมดเกลี้ยงไปจากใจ ระลึกถึงเรื่องที่เคยรักก็ไม่รัก ระลึกถึงเรื่องที่เคยเกลียด ระลึกนึกถึงเรื่องที่เคยกลัว เคยหวาดเสียวเคยวิตกกังวลห่วงใยต่างๆ ก็ไม่เกิดความรู้สึกทำนองนั้นอีก เขาจึงหลงเข้าใจผิดไปว่า บัดนี้ตนเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง เพราะจิตใจของเขามีลักษณะ หรืออาการราวกับบุคคลผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสจริงๆ ตลอดเวลาที่เขาเป็นอย่างนั้นอยู่ ถ้าเขาเกิดความพอใจ ในความเป็นอย่างนั้นอยู่ เพียงแค่นี้แล้วก็เป็นการตัดหนทางก้าวหน้าของวิปัสสนา และไม่เท่าไรอาการ เช่น นั้นก็ค่อยๆ เสื่อมหายไป สิ่งที่เคยกลัว ก็จะกลับกลัวอย่างเดิม สิ่งที่ตนเคยรัก ก็จะกลับรักอย่างเดิม อะไรๆ ก็จะกลับสู่สภาพเดิม หรืออาจมากเกินไปกว่าเดิมๆ
๒๕๔
อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ ความเชื่อที่ไม่เคยแน่นแฟ้น มาแต่ก่อน ก็จะปรากฏว่าแน่นแฟ้น เช่น เชื่อในพระรัตนตรัยหรือในสิ่งที่ตัวนึกจะเชื่อ แม้ที่สุด เช่น ความพอใจในธรรมะก็จะมีอาการรุนแรง ลักษณะของความเฉยต่อสิ่งทั้งปวง มีอาการชัดแจ้ง ล้วนแต่เป็นอาการจูงจิตให้หลงผิด คิดว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว
๒๕๕
เป็นการยากมากที่คนแรกพบสิ่งเหล่านี้ จะเข้าใจได้ว่า มันเป็นอุปสรรค และเป็นเครื่องกีดขวางทางของวิปัสสนา มีแต่จะกลับเห็นไปเสียว่า นี้เป็นยอดสุดของวิปัสสนาทีเดียว ต่อเมื่อใดเกิดความรู้แจ้งจริงๆ ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งกีดขวางทางของวิปัสสนา ขั้นที่จะทำการตัดกิเลสละเอียดเสียได้ เมื่อนั้นจึงจะถือได้ว่า เป็นวิปัสสนาตัวที่ ๓ คือความบริสุทธิ์หมดจดของความรู้ความเห็นที่ว่า อะไรเป็นทางถูก อะไรเป็นทางผิด เขาจะต้องศึกษาอบรมตน ดำรงตนให้เดินไปในทางที่ถูกไว้เรื่อยๆ ไปจนเกิดความรู้แจ้งชัด ในหนทางของวิปัสสนาที่ถูกที่แท้โดยประการทั้งปวง
๒๕๖
วิปัสสนาตัวที่ ๔ เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องทางผิดทางถูกโดยสมบูรณ์เช่นนี้แล้ว ความรู้ในอันดับต่อไปก็จะต้องดำเนินถูกทางเป็นธรรมดา และจะก้าวหน้าไปตามลำดับนับตั้งแต่เห็นความจริง ในสังขารทั้งปวงชัดแจ้งถึงที่สุด จนกระทั่งวางใจเฉยในสิ่งทั้งปวง มีจิตพร้อมที่จะบรรลุถึงการรู้อริยสัจจ์ ที่เป็นคุณธรรมชั้นวิเศษสืบไป เรียกว่าปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งแปลว่าความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นในตัวทางแห่งการปฏิบัติ นับเป็นวิปัสสนาตัวที่ ๔ หรือนับเป็นวิสุทธิอันดับที่ ๖
๒๕๗
เนื่องจากไม่มีคำอธิบายอันละเอียด ของญาณนี้ในพระไตรปิฎกโดยตรง อาจารย์ในชั้นหลังๆ จึงจำแนกลำดับความรู้ ในตัวทางแห่งการปฏิบัติเป็น ๙ ลำดับด้วยกันและเรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๙ คือ
๒๕๘
๑. เมื่อวิปัสสนาดำเนินไปถูกทาง และการเพ่งพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสังขาร ถึงที่สุดแล้วก็เพิ่งพิจารณา ให้แน่วแน่ในภาวะความเกิดขึ้น และความเสื่อมสลายไปของสังขาร เหล่านั้นจนแจ่มแจ้งถึงที่สุด คือมองเห็นภาวะทั้งหลาย เต็มไปด้วยการเกิดและการดับเหมือนท้องทะเลระยิบระยับ เต็มไปด้วยการเกิดและการดับของฟองน้ำที่เกิดจากลูกคลื่นฉันใดก็ฉันนั้น ความรู้ที่ได้ในขณะนี้เรียกว่า อุทยัพพยนุปัสสนาญาณ และว่าความรู้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมสลายไปหรือมักเรียกสั้นๆ ว่าอุทยัพพยญาณ การเห็นเหล่านี้เกิดจากการเพ่งพิจารณาให้เห็นชัดและนานพอ จนกว่าความรู้นั้นจะแน่นแฟ้นเหมือนกับย้อมติดอยู่ในใจ เพื่อให้มีกำลังแรงมากพอที่จะเบื่อหน่ายไถ่ถอนความยึดติดในสิ่งต่างๆ เสียได้ นี้เป็นวิปัสสนาญาณ อันดับที่ ๑
๒๕๙
๒. การเพ่งพิจารณาความเกิดขึ้น และความเสื่อมสลายไปถึงสองประการในความเดียวกันนั้น ยังหยาบอยู่ ยังพร่ากว่าที่จะเพ่งเพียงอย่างเดียว ในขั้นนี้ท่านจึงให้ทิ้งเสียอย่างหนึ่ง คือไม่เพ่งดูฝ่ายเกิด เพ่งดูแต่ฝ่ายความดับเพื่อให้เห็นความสลายหรือความดับลึกซึ้งรุนแรงถึงที่สุด จนกระทั้งรู้สึกว่า ในโลกทั้งปวงไม่มีอะไรนอกจากความพังทลาย หรือความแตกดับทั่วไปหมดเหมือนกับห่าฝนตกลงมาทั่วไปทุกหนทุกแห่ง จิตที่อยู่ในความรู้สึกเช่นนี้ เรียกว่าประกอบอยู่ด้วย ภังคานุปัสสนาญาณ แปลว่าความรู้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นความพังทลายหรือความดับ เรียกสั้นๆ ว่า ภังคญาณ นี้เป็นวิปัสสนาญาณอันดับที่ ๒
๒๖๐
๓. เมื่อความเห็นแจ้งในความแตกเสื่อมสบลาย มีมากเพียงพอแล้ว ก็จะทำให้เกิดความรู้แจ้งต่อไปเป็นอันดับที่ ๓ ว่า ภาวะคือความมี ความเป็น ทั้งหลายนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวความน่ากลัวปรากฏเต็มไปในภพทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นกามภพ รูปภพหรืออรูปภพก็ตาม ภพทั้งปวงเต็มไปด้วยภาวะที่น่ากลัว เพราะมีความแตกทำลายของสังขารทั้งปวงอยู่ทุกขณะจิต จึงเกิดเป็นความหวาดกลัวสะดุ้งถึงที่สุดจริงๆ ขึ้นในใจของผู้เห็นแจ้ง และความกลัวอันถูกต้องนั้น จะประจำอยู่ในใจ เป็นความเห็นแจ้งชนิดหนึ่งว่ามีแต่ความน่ากลัวเปรียบประดุจยาพิษ อาวุธหรือโจรอันโหดร้ายทั้งนั้น ที่บรรจุอยู่ในภพทั้ง ๓ เต็มไปหมด ไม่มีอะไรนอกไปจากนั้น ความรู้สึกเช่นนี้ท่านเรียกว่า ภยตุปัฏฐาญาณ แปลว่าความรู้แจ้งเห็นภาวะทั้งหลายว่าเป็นไปด้วยความน่ากลัว เรียกสั้นๆ ว่า ภยญาณ จัดเป็นวิปัสสนาญาณอันดับที่ ๓
๒๖๑
๔. เมื่อรู้สึกว่าในภาวะทั้งปวงเต็มไปด้วยความน่ากลัวมากพอต่อไปก็จะเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาว่า สภาพของสิ่งทั้งปวงประกอบด้วยโทษอันร้ายกาจโดยส่วนเดียว ไม่มีความปลอดภัยในการที่จะไปหลงเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น เปรียบเหมือนป่าที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้าย ไม่เป็นที่น่าอภิรมย์แก่ผู้ต้องการความเพลิดเพลินจากป่าฉันใดก็ฉันนั้น ความรู้สึกเห็นสภาพทั้งปวง เต็มไปด้วยโทษต่างๆ เช่นนี้เรียกว่า อาทีนวนุปัสสนาญาณ แปลว่าความรู้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นโทษของสังขารทั้งปวง เรียกสั้นๆ ว่า อาทีนวญาณ จัดเป็นวิปัสสนาญาณอันดับที่ ๔
๒๖๒
๕. เมื่อพิจารณามองเห็นว่า สิ่งทั้งหลายย่อมเต็มไปด้วยโทษทุกๆ กระเบียดนิ้วเช่นนี้แล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่ายในภาวะทั้งปวง เห็นเป็นเหมือนกับบ้านเรือนที่ถูกไฟไหม้เหลือแต่ดุ้นถ่าน ดูเป็นรูปโครงของบ้านเรือนที่ถูกไฟไหม้ ไม่น่าเสน่หาแต่ประการใด ความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการที่จะต้องระคนอยู่กับสิ่งปรุงแต่งทั้งปวงนี้เรียกว่า นิพพิทานุปัสสนาญาณ แปลว่าความรู้ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เรียกสั้นๆ ว่า นิพพิทาญาณ นับเป็นวิปัสสนาญาณอันดับที่ ๕
๒๖๓
๖. เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายที่แท้จริงเช่นนี้ ก็เกิดความรู้สึกที่อยากจะพ้นจากสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจริงๆ ซึ่งไม่เหมือนกับความรู้สึกอยากพ้นตามธรรมดาของพวกเรา ซึ่งไม่มีกำลังของสมาธิ หรือกำลังของความเห็นแจ้งช่วยอยู่ มันจึงไม่อยากพ้นจริงเหมือนอย่างความเห็นที่เกิดตามลำดับแห่งวิปัสสนาญาณ เพราะความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นโดยอำนาจวิปัสสนาญาณนั้น จิตใจมันเป็นไปด้วยทั้งหมด รู้สึกกลัวเท่าไรก็รู้สึกอยากพ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นการอยากพ้นจริงๆ ท่านอุปมาว่า มีความอยากพ้นมากขนาดเท่าๆ กับความอยากพ้นของสัตว์ เช่นเขียดซึ่งกำลังดิ้นอยู่ในปากงูมันอยากพ้นเท่าไรก็ลองคิดดูเอาเถิด เดี๋ยวนี้คนที่มีนิพพทาญาณแล้วก็อยากพ้นจากภาวะทั้งปวงมากเท่านั้น หรือเปรียบอย่างเนื้อหรือนกที่ติดบ่วงดิ้นเร่าๆ อยู่มันอยากพ้นจากบ่วงนั้นเท่าไร เขาก็อยากพ้นจากสังขารทุกข์มากเท่านั้น ความรู้สึกอยากจะพ้นจริงๆ ทำนองนี้เรียกว่า มุญจิตุกัมมยตาญาณ ซึ่งแปลว่าความรู้เป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ นับเป็นวิปัสสนาญาณ อันดับที่ ๖
๒๖๔
๗. ทีนี้ เมื่อความอยากพ้นอย่างรุนแรงมีมากพอจึงเกิดความรู้สึกดิ้นรนหาหนทางอย่างรุนแรงเช่นกัน ท่านเรียกชื่อของความรู้สึกนี้เป็นภาษาบาลีว่า ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ แปลว่าความรู้เพื่อกำหนดพิจารณาหาทางหลุดรอด กล่าวง่ายๆ ก็คือ การมองสอดส่องไปเรื่อยๆ ว่าเมื่อภาวะทั้งหลายเป็นอย่างนี้ทั้งเราก็อยากจะพ้นจากมัน พิจารณาไปก็มองเห็นอุปาทาน มองเห็นกิเลสซึ่งเป็นเหตุผูกพันจิตให้ติดอยู่กับภาวะนั้นๆ ว่ามันมีอยู่อย่างเหนียวแน่น จึงหาหนทางต่อไป ในอันที่จะทำให้กิเลสนั้นอ่อนกำลังเสียก่อน เมื่อเห็นความอ่อนกำลังลงของกิเลสนั้นแล้ว จึงทำลายมันเสีย
๒๖๕
ท่านอุปมาการทำกิเลสให้อ่อนกำลังนี้ไว้ว่า เหมือนกับคนคนหนึ่งไปสุ่มหาปลา ได้งูคิดว่าเป็นปลา ก็เอามาถือไว้ใครบอกว่างูก็ไม่เชื่อ จนกระทั่งได้อาจารย์ซึ่งมีสติปัญญาเมตตากรุณามาก มาพร่ำชี้แจงจนรู้ว่ามันเป็นงูไม่ใช่ปลา จึงเกิดกลัวขึ้นมา อยากจะพ้นจากงูด้วยการหาวิธีฆ่างูนั่นเสีย เขาได้จับคองูชูขึ้นเหนือศีรษะ แล้วแกว่งเป็นวงกลมจนกระทั่งงูเพลีย แล้วปล่อยให้งูกระเด็นไปตกนอนตาย ถ้าไม่ตายก็ตามไปฆ่าเสียให้ตาย อุปมานี้ท่านหมายถึงความเห็นแจ้ง ว่าสิ่งที่ผูกพันคนให้ติดอยู่กับภาวะต่างๆ อย่างน่ากลัวน่าสังเวชที่สุดนั้น คือกิเลส ถ้าไม่มีอุบายทำให้กิเลสถอยกำลังลงทุกๆ วันแล้ว การฆ่ากิเลสย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะกิเลสมีกำลังมากเหลือเกิน เหลือกำลังของปัญญาที่ยังน้อยจะไปฆ่ามันได้ จึงต้องบ่มปัญญาให้เกิดมากขึ้นและพร้อมกันนั้นก็ทรมานกิเลสให้มันถอยกำลังลง
๒๖๖
การพิจารณาให้เห็นสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็นอยู่เสมอและยิ่งขึ้นๆ นั่นแหละเป็นกาตัดอาหารของกิเลส ทำให้กิเลสถอยกำลังอยู่เป็นประจำวันเสมอไป และเราจะต้องทำเพิ่มให้มากขึ้นให้แยบคายยิ่งขึ้นๆ ไปอีก นี่เป็นช่องทางที่เราจะเอาชนะกิเลสซึ่งใหญ่เท่าภูเขา ด้วยตัวเราเล็กนิดเดียวนี้ได้ ท่านเปรียบว่าต้องมีความกล้าให้มากพอ เท่ากับว่าตัวเราเป็นหนูตัวนิดเดียวก็กลัวฆ่าเสือโคร่ง ๒-๓ ตัว เป็นต้น เราต้องมีความตั้งใจจริง สอดส่องหาหนทางตามประสาหนูตัวเล็กๆ ถ้าสู้ซึ่งหน้าไม่ได้ ก็ต้องใช้อุบายวิธีต่างๆ ทำให้มันอ่อนกำลังลงทุกๆ วันแล้วก็ไม่ลดละติดตามฆ่าอยู่เสมอๆ อุบายอย่างนี้ท่านเรียกว่าปฏิสังขานุปัสสนาญาณ จัดเป็นวิปัสสนาญาณอันดับที่ ๗
๒๖๘
๘. การทำให้กิเลสอ่อนกำลังลงนั้น เป็นเหตุทำให้เราวางเฉยในสิ่งทั้งปวงได้ยิ่งขึ้นทุกที ฉะนั้น โอกาสต่อไปนี้จึงเป็นลำดับแห่ง สังขารุเปกขาญาณ ซึ่งแปลว่าความรู้อันเป็นเหตุให้วางเฉยในสังขารทั้งปวง ญาณนี้อาศัยการพิจารณาเห็นความว่างแห่งสังขารทั้งหลายว่า ว่างจากแก่นสาร ว่างจากความเป็นสัตว์เป็นบุคคล ว่างจากสาระคือความเที่ยงแท้ถาวร ว่างจากความสุขเพราะเต็มไปด้วยทุกข์ ว่างจากความงดงามเพราะดูแล้วล้วนแต่น่าระอา ดังนี้เป็นต้น ในที่สุดก็เกิดความวางเฉยในสิ่งทั้งปวงในทุกๆ ภาวะ เห็นสิ่งที่เคยรักใคร่หลงใหลเป็นก้อนอิฐก้อนดินไป
๒๖๘
ท่านเปรียบความข้อนี้ว่า เหมือนกับคนที่เคยรักกันมาแต่ก่อนบัดนี้ปรากฏว่าเป็นกบฎก็หมดรัก เช่นในกรณีที่เมียมีชู้เลยหมดรัก ครั้นหย่าขาดจากกันแล้วเขาจะไปทำอะไรต่อไปก็ได้ ใจเราเฉยได้ ภาวะต่างๆ ที่แต่ก่อนนี้เคยเป็นที่เอร็ดอร่อยนานาประการของตน เมื่อจิตสูงขึ้นมาถึงญาณอับดับที่ ๘ นี้แล้ว ก็ทราบว่ามันว่างจากสาระใดๆ จึงวางเฉยในภาวะทั้งปวงเสียได้ เหมือนบุรุษที่วางเฉยกับภรรยามี่หย่าขาดกันแล้วเป็นต้น สังขารุเปกขาญาณนี้ จัดเป็นวิปัสสนาญาณอันดับที่ ๘ เรียกสั้นๆ ว่า อุเบกขาญาณ
๒๖๙
๙. เมื่อวางเฉยในภาวะทั้งปวงได้อย่างนี้ ใจก็พร้อมที่จะรู้อริยสัจจ์ ๔ ชนิดที่จะทำให้บรรลุถึงทางที่นำไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า จิตที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ท่านเรียกว่า สุจจานุโลมิกญาณ แปลว่า ความเห็นที่พร้อมที่สุดที่จะรู้อริยสัจจ์ชนิดที่เป็นขั้นทำลายกิเลสเครื่องผูกพันคนให้ติดโลกให้หมดไปได้ เป็นพระอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่ง นับเป็นวิปัสสนาญาณอับดับที่ ๙ เรียกสั้นๆ ว่าอนุโลมิกญาณ
๒๗๐
วิปัสสนา ๙ ลำดับนับตั้งแต่อุทยัพพยนุปัสสนาญาณ ไปจนถึงสัจจานุดลมิกญาณเป็นที่สุดนี้ เมื่อเป็นไปอย่างสมบูรณ์เต็มที่แล้วเรียกว่าปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นวิปัสสนาญาณตัวที่ ๔ หรือนับเป็นวิสุทธิอันดับ ๖ กล่าวคือ ความบริสุทธิ์สะอาดหมดจดแห่งปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องมือทำให้เห็นทางดำเนินไปของการพิจารณาจนเกิดปัญญาที่รู้แจ้งและตัดกิเลสได้
๒๗๑
วิปัสสนาตัวที่ ๕ ต่อจากนั้น ก็ถึงวิสุทธิอันดับ ๗ ที่เรียกว่าญาณทัสสนวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งได้แก่อริยมรรคญาณนั่นเอง นี้เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาหรือผลของวิปัสสนา ได้แก่ อริยมรรคญาณทั้ง๔ นับเป็นวิปัสสนาตัวที่ ๕
๒๗๒
ในลำดับระหว่างสัจจานุโลมิกญาณ กับ ญาณทัสสนวิสุทธินี้ มีโคตรภูญาณแทรกอยู่ ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายคั่นระหว่าง คนธรรมดาที่มีกิเลส กับพระอริยบุคคล แต่โดยที่โคตรภูญาณมีขณะแวบเดียวแล้วก็ดับไป จึงควรสงเคราะห์เข้าไว้เสียในฝ่ายปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะยังอยู่ในฐานที่เป็นฝ่ายบุญกุศล ซึ่งยังข้องแวะอยู่กับราคะหรือเรื่องน่ายึดถือ
๒๗๓
โดยสรุป เราจะเห็นได้ว่าหลักแห่งการศึกษาวิปัสสนานั้น มีรากฐานที่ตั้ง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พิจาณาอะไร ขอตอบว่าพิจารณาสิ่งทั้งปวง จะเรียกว่าโลกหรือภาวะหรือสังขารหรือขันธ์ห้าก็ได้ เพราะว่าในภาวะทั้งหลายก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าขันธ์ห้า พิจาณาให้เห็นอะไร ตอบว่าให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีเต็มไปในภาวะทั้งหลายในโลก เช่นเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ จนเห็นว่าเต็มไปด้วยความน่ากลัว น่าเบื่อหน่าย ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น อาการเหล่านี้ คือลักษณะที่จะต้องปรากฏในวิปัสสนา
๒๗๔
อะไรเป็นกิจของวิปัสสนา กิจโดยตรงของวิปัสสนาก็คือการกำจัดความโง่ เพราะวิปัสสนาแปลว่า ความเห็นแจ้ง ผลของวิปัสสนาคืออะไร ผลก็คือเกิดความเห็นแจ่มแจ้งเกิดความรู้แจ้งแทงตลอดในสิ่งทั้งปวง กำจัดกิเลสให้สูญสิ้นไปเห็นความสะอาดสว่างสงบ ไม่มีอะไรผูกพันจิตนี้ให้ติดอยู่กับภาวะทั้งหลายในโลกจึงเกิดลักษณะที่เรียกว่าหลุดพ้นออกจากโลก อันเป็นที่อยู่ของหมู่คนผู้ติดกาม จิตไม่มีความทุกข์เพราะไม่มีตัณหา หรือความอยากแต่ประการใดอีกต่อไป ท่านเรียกอาการเช่นนี้ว่า ถึงที่สุดแห่งกิจที่จะต้องกระทำในพระพุทธศาสนา ได้ด้วยการกระทำอย่างนี้
๒๗๕
ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า แนวแห่งปัญญาของเราจะเดินไปอย่างนี้ คือมีลำดับแห่งความบริสุทธิ์สะอาด ๗ ลำดับ ซึ่งจะต้องสัมพันธ์กันอย่างนี้ และลักษณะการดำเนินของปัญญาที่จะเจาะแทงโลกทั้งหลายอีก ๙ ลำดับ รวมเรียกว่าเรื่องวิปัสสนา ท่านจัดไว้ในลักษณะเป็นระเบียบหรือหลักวิชา
๒๗๖
ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ นั้น อาจหาได้จากหนังสือของครูบาอาจารย์สืบไป แต่โดยแนวใหญ่ แล้ว ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้ สำหรับป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิด ในการปฏิบัติธรรมอันเป็นชั้นยอดที่สูงสุดของพระพุทธศาสนา ปรากฏว่าในขณะนี้ ยังมีคนที่หลงผิดอยู่เป็นจำนวนมาก ที่เข้าไปยึดเอาสิ่งที่ไม่ใช่วิปัสสนามาเป็นวิปัสสนา เลยทำให้เกิดเป็นวิปัสสนาการค้าหาเงิน วิปัสสนาชวนเชื่อเพื่อให้ได้พรรคพวกแล้วแต่งตั้งให้เป็นพระอริยเจ้าแบบใหม่ๆ อันอยู่ในสภาพที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง
๒๗๗

๗ การทำให้รู้แจ้งตามวิธีธรรมชาติ

ในบทนี้ จะบอกให้ทราบต่อไปว่า สมาธิอาจจะมีได้โดยทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง และจากการปฏิบัติตามหลักวิชา โดยเฉพาะอีกอย่างหนึ่ง มีผลอย่างเดียวกันคือเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็นำไปเพ่งพิจารณา (วิปัสสนา)
๑๙๗
แต่มีข้อควรสังเกตอย่างหนึ่งว่า สมาธิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้น มันมักจะพอเหมะพอสมแก่กำลังของปัญญาที่จะให้ทำการพิจารณา ส่วนสมาธิที่เกิดจากการฝึกตามหลักวิชาการนั้น มันมักจะเป็นสมาธิที่มากเกินไป หรือเหลือใช้และยังเป็นเหตุให้คนหลงผิดพอใจเพียงแค่สมาธินั้นก็ได้ เพราะว่าในขณะที่จิตเป็นสมาธิเต็มที่นั้น ย่อมเป็นความสุข ความสบายชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความพอใจจนถึงกับหลงติดหรือหลงคิดว่าเป็นมรรคเป็นผล โดยเหตุนี้ สมาธิที่เป็นไปตามทางธรรมชาติที่พอเหมะพอสมกับการใช้พิจาณานั้นจึงไม่เสียหลายไม่เสียเปรียบสมาธิตามแบบที่ฝึกตามแนววิธีเทคนิคนัก ขอแต่เพียงให้รู้จักประคับประคองทำให้สมาธิเกิดและให้เป็นไปด้วยดีก็แล้วกัน
๑๙๘
ข้อความต่างๆ ในพระไตรปิฎก ก็มีเล่าถึงแต่เรื่องการบรรลุมรรคผลทุกชั้นตามวิธีธรรมชาติ ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเอง หรือต่อหน้าท่านที่สั่งสอนคนอื่นๆ โดยไม่ได้ไปสู่ป่านั่งทำความเพียรอย่างมีพิธีรีตองกำหนดเพ่งอะไรต่างๆ ตามอย่างในคัมภีร์ต่างกันใหม่ในชั้นหลังๆ โดยเฉพาะในกรณีแห่งการบรรลุอรหัตตผลของภิกษุปัญจวัคคีย์ หรือฤๅษี ๑,๐๐๐ รูป ด้วยการนั่งฟังอนัตตลักขณสูตร และอทิตตปริยายสูตรด้วยแล้ว จะยิ่งเห็นว่าไม่มีการพยายามตามหลักวิชาใดๆ เลย แต่เป็นการเห็นแจ้งแทงตลอดตามวิธีของธรรมชาติแท้ๆ
๑๙๙
นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจได้ดีว่า สมาธิตามธรรมชาตินั่น ย่อมเกิดขึ้นเอง ในระหว่างที่ทำความพยายามเพื่อจะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ให้แจ่มแจ้ง และต้องมีอยู่มากในขณะที่มีความเห็นอันแจ่มแจ้งติดแนบแน่นอยู่ในตัวอย่างไม่แยกจากกันได้ ทั้งยังเป็นไปได้ตามธรรมชาติ ในทำนองเดียวกันกับตัวอย่างที่ว่า พอเราตั้งใจคิดเลขลงไปเท่านั้น จิตก็เป็นสมาธิขึ้นมาเอง พอเราจะยิงปืน จิตก็เป็นสมาธิบังคับให้แน่วแน่ขึ้นมาเองในเวลาเล็ง
๒๐๐
นี่แหละเป็นลักษณะของสมาธิ ที่เป็นไปเองตามธรรมชาติซึ่งตามปกติถูกมองข้ามไปเสีย เพราะมีลักษณะดูมันไม่ค่อยจะขลังจะศักดิ์สิทธิ์ ไม่ค่อยจะเป็นปาฏิหาริย์เป็นที่น่าอัศจรรย์ แต่โดยที่แท้แล้ว คนเรารอดตัวมาได้เป็นส่วนใหญ่ ก็โดยอำนาจของสมาธิตามธรรมชาตินี้เอง แม้การบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ ก็อาศัยสมาธิตามธรรมชาติ ทำนองนี้เป็นส่วนมาก
๒๐๑
ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าได้มองข้ามเรื่องของสมาธิที่เป็นไปตามธรรมชาติ มันเป็นเรื่องที่เราอาจทำได้ก่อนหรือทำได้อยู่แล้วเป็นส่วนมาก ควรจะประคับประคองมันให้ถูกวิธีให้มันเป็นไปด้วยดีถึงที่สุด ก็จะมีผลเท่ากัน เหมือนกับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ไปแล้วเป็นส่วนมาก ซึ่งไม่เคยรู้จักนั่งทำสมาธิแบบใหม่ๆ อย่างที่กำลังตื่นๆ กันอยู่ในขณะนี้เลย
๒๐๒
ทีนี้เราก็มาถึง ความลับของธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับลำดับแห่งความรู้สึกต่างๆ ภายในใจ จนกระทั่งเกิดการเห็นแจ่มแจ้ง ตามที่เป็นจริงต่อโลก หรือต่อขันธ์ห้า ลำดับแรกได้แก่ปีติและปราโมทย์หมายถึงความชุ่มชื่นใจหรือความอิ่มเอมใจในทางธรรม การที่เราทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้การให้ทาน ซึ่งถือกันว่าเป็นบุญชั้นต้นๆ ก็เป็นการทำให้เกิดปีติปราโมทย์ได้ ถ้าเป็นถึงขั้นศีล คือมีความประพฤติทางกายวาจา ไม่ด่างพร้อยจนถึงกับเคารพนับถือตัวเองได้ ปีติปราโมทย์ก็มากขึ้น ถ้าหากไปถึงขั้นสมาธิจะเห็นได้ว่าในองค์ของสมาธิ อันดับแรกที่เรียกว่าปฐมฌานนั้น ก็มีปีติอยู่องค์หนึ่งด้วยโดยไม่ต้องสงสัย
๒๐๓
ปีติปราโมทย์ นี้ มีอำนาจอยู่ในตัวมันเองอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความรำงับ (ปัสสัทธิ) ตามปกติจิตของคนเราไม่ค่อยจะรำงับ เพราะว่าจิตตกเป็นทาสของความคิดความนึกจากสิ่งยั่วยวนภายนอก หรือจากความรู้สึกในอะไรต่างๆ อยู่ตลอดเวลาเป็นความฟุ้งอยู่ภายในไม่เป็นความสงบ แต่ถ้าหากมีปีติปราโมทย์ในทางธรรมมาประจำใจอยู่และมากพอสมควรแล้ว ความสงบรำงับนั้นจะต้องมีขึ้น จะมีมากหรือน้อย ตามอำนาจของปีติปราโมทย์ที่มีมากหรือน้อย
๒๐๔
เมื่อมีความรำงับแล้ ว ก็ย่อมเกิดอาการที่เรียกว่า “สมาธิ” คือใจสงบนิ่ง และอยู่ในสภาพที่คล่องสะดวกเบาสบายพร้อมที่จะไหวไปตามความต้องการ โดยเฉพาะก็เพื่อตัดกิเลส ไม่ใช่ทำจิตใจให้นิ่งเงียบ ตัวแข็งทื่อเป็นก้อนหินอะไรทำนองนี้ก็หาไม่ ร่างกายจะต้องให้มีความรู้สึกอยู่อย่างปกติ แต่ว่าจิตสงบเป็นพิเศษเหมาะสมที่จะใช้นึกคิดพิจารณา มีความผ่องใสที่สุดเยือกเย็นที่สุด สงบรำงับที่สุด เรียกว่า “กมุมนีโย” คือพร้อมที่จะรู้ นี่คือลักษณะของสมาธิที่เราต้องการ ไม่ใช่อยู่ในฌานสมาบัติตัวแข็งทื่อ เหมือนตุ๊กตาหินไม่รู้สึกตัวเลย
๒๐๕
การอยู่ในฌานทำนองนั้น จะพิจารณาอะไรไม่ได้เลย จิตที่ติดฌานจะพิจารณาธรรมไม่ได้ มีแต่จะตกลงสูภวังค์เสียเรื่อยไปไม่สามารถนำมาใช้ในการพิจารณา จัดว่าเป็นอุปสรรคของการทำวิปัสสนาโดยตรงทีเดียว ผู้จะพิจารณาธรรมได้จะต้องออกจากฌานแล้วจึงพิจารณาโดยใช้อำนาจของการที่จิตมีสมาธิ ขนาดได้ฌานมาแล้วนั่นเองเป็นเครื่องมือ
๒๐๖
ในการทำให้รู้แจ้งตามวิธีธรรมชาตินี้ เราไม่ต้องเข้าฌานชนิดที่ทำตัวเองให้แข็งทื่อ แต่ว่าต้องการจิตที่สงบ เป็นสมาธิ ที่มีคุณสมบัติ “กมุมนีโย” ครบถ้วนพร้อมที่จะรู้แจ้งจนเกิดความรู้ตามที่เป็นจริงต่อโลกทั้งหมด (ยถาภูตญาณทัสสนะ) โดยอาการตามธรรมชาติ ทำนองเดียวกันกับผู้รู้แจ้งขณะที่นั่งฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงธรรม หรือนำไปคิดพิจารณา ในที่เหมาะสมจนรู้แจ้ง ไม่มีพิธีรีตองหรือปาฏิหาริย์อันเป็นเรื่องความเห็นผิดเป็นชอบ หรือหลงใหลต่างๆ แต่อย่างใด
๒๐๗
แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะเกิดการเห็นแจ้งอย่างถูกต้องรวดเร็ว เป็นพระอรหันต์ไปทันทีก็หามิได้ ในบางกรณีอาจจะเกิดความรู้ขั้นต้นๆ ก็ได้ แล้วแต่กำลังของสมาธิอีกเหมือนกัน ในบางกรณีอาจจะไม่เกิดเป็นความรู้ความเห็นตรงตามที่เป็นจริงก็ได้ เพราะว่าตนได้ศึกษามาอย่างผิดๆ หรือถูกแวดล้อมอยู่ด้วยความเห็นที่ผิดๆ มากเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ความแจ่มแจ้งที่เกิดนั้นจะต้องพิเศษกว่าธรรมดา เช่นว่าใสแจ๋วลึกซึ้งหากความรู้นั้น เป็นไปถูกต้องตามความเป็นจริง คือเป็นไปตามทางของธรรมะแล้ว ก็ย่อมจะก้าวหน้าไปจนกระทั่งเป็นความรู้ ความเห็นในสังขารทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง ถ้าเกิดขึ้นเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้เป็นอริยบุคคลชั้นต้นได้ หรือถ้าน้อยลงไปอีกก็เพียงแต่เป็นกัลยาณชน คือคนธรรมดาที่เป็นชั้นดีคนหนึ่ง
๒๐๘
ถ้าหากว่ามีสิ่งแวดล้อมเหมาะสมและมีความดีต่างๆ ที่ได้เคยสร้างสมมาเต็มที่ อาจเป็นพระอรหันต์เลยก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่เหตุการณ์ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในขณะที่จิตเป็นสมาธิตามธรรมชาติ สิ่งที่เรียกว่า “ญาณทัสนะ” จะต้องเกิดและจะต้องตรงตามที่เป็นจริงไม่มากก็น้อย เพราะเหตุว่าพุทธบริษัทเรา ย่อมเคยได้ยินได้ฟัง ได้เคยศึกษาเรื่อง โลกขันธ์ สังขารทั้งหลายด้วยความอยากจะเข้าใจตามที่เป็นจริงมาแล้ว เพราะฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นในขณะที่จิตสงบเป็นสมาธินั้น จึงไม่มีทางเสียหลายเลย ย่อมจะได้ประโยชน์เสมอโดยแน่นอน
๒๐๙
คำว่า “ยถาภูตญาณทัสสนะ” ในที่นี้ หมายถึงการรู้การเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น” ไม่ว่าอะไรๆ ไม่ควรเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน ว่าของตัวของตน ว่าดี ว่าชั่ว น่ารักหรือน่าชังอย่างนี้เป็นต้น ถ้ามีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในทางพอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตามแม้เพียงแต่รู้สึกนึกคิดหรือระลึกถึงเท่านั้น ก็ยังถือว่าเป็นความยึดถือในที่นี้ ที่ว่าไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น ก็มาจากหลักที่ว่า ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือนั่นเอง
๒๑๐
ตัวอย่างในเรื่อง “เอา” ก็คือการปักใจในทรัพย์สมบัติเงินทองสัตว์สิ่งของ อันเป็นที่พอใจต่างๆ การ “เป็น” ก็คือการถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นสามีภรรยา เป็นคนมั่งมี คนเข็ญใจ เป็นคนแพ้ คนชนะ กระทั้งเป็นมนุษย์ หรือเป็นตัวเอง ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้ง แม้ความเป็นคนนี้ก็ไม่น่าสนุกน่าเอือมระอา เพราะเป็นที่ตั้งของความทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือว่าเป็นคนเสียได้ ก็จะไม่เป็นทุกข์ นี้เรียกว่าเป็นความไม่น่าเป็น ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ตรงมี่ว่าไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ต้องมีความทุกข์ ตามแบบของความเป็นชนิดนั้นๆ เพราะว่าความเป็นอะไรๆ นี้ มันต้องทนเป็น ทนดำรงอยู่ ต้องมีการต่อสู้เพื่อให้ได้เป็นหรือเป็นอยู่ต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็คือการต่อสู้ทางใจ ในการที่ยึดถือเอาความเป็นอะไรๆ ของตนไว้ให้ได้
๒๑๑
เมื่อมีตน ก็จะต้องมีอะไรเป็นของๆ ตน ภายนอกตนออกไปอีกทอดหนึ่ง ฉะนั้นจึงมีลูกของตน เมียของตน อะไรๆ ของตนอีกหลายอย่าง กระทั่งมีหน้าที่แห่งความเป็นผัวเป็นเมีย ความเป็นนายเป็นบ่าว ความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ของตนขึ้นมา ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นความจริงในข้อที่ว่า ไม่มีความเป็นชนิดไหน ที่จะไม่ต้องอาศัยความดิ้นรนต่อสู้เพื่อดำรงความเป็นนั้นๆ ไว้ ความลำบากดิ้นรนต่อสู้นั้น ก็คือผลของการหลงใหลยึดถือสิ่งต่างๆ ด้วยความไม่รู้นั่นเอง
๒๑๒
ถ้าไม่ให้เอา ไม่ให้เป็นกันแล้ว จะอยู่กันได้อย่าง นี่คงจะเป็นที่สงสัยอย่างใหญ่หลวง ของผู้ที่ไม่เคยคิดไม่เคยนึกในเรื่องนี้ คำว่า “เอา” คำว่า “เป็น” ในที่นี้หมายถึงการเอาหรือการเป็นด้วยกิเลส ด้วยตัณหา ด้วยอุปาทาน ด้วยความยึดมั่นว่าน่าเอา น่าเป็น และใจก็เอาจริงเอาจังเป็นจริงเป็นจัง เพราะฉะนั้นมันก็ต้องหนักใจ ร้อนใจ เจ็บใจ ช้ำใจ หรืออย่างน้อยก็เป็นภาวะหนักทางใจ นับตั้งแต่แรกไปและตลอดเวลาทีเดียว เมื่อเรารู้ความจริงข้อนี้แล้ว ก็จะมีสติสัมปชัญญะคุ้มครองจิต ไม่ให้ตกไปเป็นทาสของความมีความเป็น ด้วยอำนาจความยึดติด มีสติปัญญาอยู่เหนือสิ่งต่างๆ
๒๑๓
เมื่อเรารู้สึกอยู่ว่าโดยที่แท้ มันเป็นสิ่งที่ไม่น่าเอาน่าเป็น หากแต่เรายังไม่สามารถถอนตัว ออกไปเสียจากความมีความเป็นนั้นได้เราก็จำต้องมีสติรู้ตัวให้พอเหมาะสม ถ้าจะต้องเข้าไปเอา ไปเป็น เราก็จะไม่เดือดร้อนเหมือนคนที่หลับหูหลับตาเข้าไปเอาหรือเข้าไปเป็น อย่างโง่เขลางมงาย ซึ่งผลสุดท้ายก็ตกหลุมตกบ่อ ความโง่เขลาและอุปาทานของตัวเอง จนถึงกับต้องฆ่าตัวตาย สมมติตัวอย่าว่า เสือหรืองูร้ายเป็นสิ่งที่ขายได้แพง ในเมื่อเราไม่มีทางอื่นจะประกอบอาชีพ เราจะต้องเข้าไปจับเสือมาขายอย่างนี้ มันก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่เราจะต้องเข้าไปจับเสือให้ถูกวิธี เราจึงจะได้เสือมาขายและได้เงินมาเลี้ยงชีวิต ถ้าผิดวิธีเราก็จะต้องตายเพราะเสือ
๒๑๔
โลกหรือสิ่งทั้งปวงมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์และไม่เป็นตัวตนของใคร มันจะเล่นงานบุคคลผู้ที่เข้าไปยึดถือด้วยตัณหา อุปาทานนับแต่วาระแรก คือตั้งแต่เมื่ออยากได้ อยากเป็น กำลังได้ กำลังเป็น และได้แล้ว เป็นแล้ว ตลอดเวลาแห่งกาลทั้งสาม ใครเข้าไปยึดถืออย่างหลับหูหลับตาแล้วก็จะมีความทุกข์อย่างเต็มที่ เหมือนอย่างที่เราเห็นปุถุชนคนเขลาทั้งหลาย เป็นๆ กันอยู่โดยทั่วไปในโลก
๒๑๕
แม้ที่สุด “ความดี” ที่ใครๆ บูชากัน ถ้าหากว่าใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับความดีในอาการที่ผิดทางและยึดถือมากเกินไป ก็จะได้รับความทุกข์จากความดีนั้นๆ เช่นเดียวกัน เว้นไว้แต่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน โดยรู้ว่าธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้นเอง
๒๑๖
อาจจะมีผู้สงสัย ต่อไปว่า “ถ้าไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นแล้วก็จะไม่มีใครประกอบการงานอะไรๆ หรือไม่สามารถรักษาทรัพย์สมบัติสิ่งของที่ตนมีอยู่ได้” ข้อนี้ถ้ามีความเข้าใจแล้ว ก็จะรู้ว่าเราควรมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงทำสิ่งต่างๆ ดีกว่าที่จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยความมักมากอยากใหญ่ โง่เขลางมงายไม่เข้าใจอะไรเลย ใจความสั้นๆ ก็คือ ให้เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ด้วยสติปัญญาอย่างเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกิเลสตัณหาอุปาทาน มันจะมีผลมันเป็นคนละอย่าง
๒๑๗
พระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานไม่มีกิเลสตัณหาอุปาทานเลย ท่านก็ยังทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ได้มากกว่าพวกเราเสียอีก ดูจากพุทธประวัติว่าวันหนึ่งคืนหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงทำอะไรบ้าง ก็จะพบว่าท่านมีเวลานอนพักผ่อนเพียง ๔ ชั่วโมง นอกนั้นทำงานตลอดหมด พวกเรานั่งพักเล่นเสียก็มากกว่า ๔ ชั่วโมงแล้ว นี่ท่านทรงทำไปเพราะ อำนาจของอะไรในเมื่อกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้อยากเป็น อยากเอาสิ่งต่างๆ ก็หมดไปแล้ว นั่นท่านทำไปด้วยอำนาจของสติปัญญาบวกกับเมตตา
๒๑๘
แม้สิ่งที่เป็นไปตามความต้องการของร่างกายตามธรรมชาติ เช่นท่านจะต้องไปบิณฑบาต อาหารเหล่านี้ท่านก็ยังคงทำไปด้วยอำนาจของปัญญา ไม่มีกิเลสไม่มีตัณหาว่าจะมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นอย่างนั้น เพื่อเอาอย่างนี้ แต่มีปัญญา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เป็นกำลังส่งร่ายกายให้ออกไปแสวงหาอาหาร หาได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
๒๑๙
ในกรณีเจ็บไข้ ก็มีปัญญารู้ว่า ควรจะแก้ไขอย่างไรท่านก็แก้ไขเท่าที่ปัญญามี ถ้าเป็นมากเกินไป ก็จำต้องตายเป็นธรรมดา เพราะว่าท่านมีความขวนขวายน้อย ความอยู่หรือความตายไม่มีความหมายสำหรับท่านเลย หรือมันมีค่าเท่ากัน นับว่าเป็นความคิดเห็นอันถูกต้องที่สุด สำหรับจะไม่ให้มีความทุกข์เลย ไม่ต้องมีตัวตนเป็นเจ้าของ มีแต่ สติปัญญา นำร่างกายให้เป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติ
๒๒๐
นี่เราจะเห็นได้ว่า เพียงอำนาจของปัญญาบริสุทธิ์เมตตา บริสุทธิ์เท่านั้น ก็ทำให้พระอรหันต์ทั้งปลายมีชีวิตอยู่ในโลกได้ และทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ได้มากกว่าคนที่ยังมีกิเลสตัณหาเสียอีก คนที่มีกิเลส ย่อมทำแต่สิ่งที่จะได้อะไรแก่ตัว เพราะความเห็นแก่ตัว ส่วนท่านทำไปด้วยความไม่เห็นแก่ตัวเลย ฉะนั้นมันจึงมีผลมากกว่ากัน บริสุทธิ์กว่ากันทำนองนี้
๒๒๑
ความอยากเอา อยากเป็นนี้ เป็นความโง่อย่างยิ่งชนิดหนึ่ง เป็นความหลงผิด ไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่า อะไรเป็นอะไรจนกระทั่งไปคว้าเอากงจักรมาเป็นดอกบัว เพราะฉะนั้นขอให้เราทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยสติปัญญา ที่รู้ตัวอยู่เสมอว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นหรือน่าหลงใหลยึดถือดังกล่าวแล้ว จงทำไปให้พอเหมะพอสมกับที่รู้ว่า สิ่งเหล่านั้น มีความไม่น่าเอาหรือไม่น่าเป็นอยู่ตามธรรมชาติ เราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องให้ถูกวิธี และให้พอเหมาะพอสมในเมื่อเรายังต้องเกี่ยวข้องอยู่ ข้อนี้เป็นการทำใจของเราให้สะอาด สว่างไสว แจ่มแจ้ง สงบเย็นอยู่เสมอ แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลก หรือสิ่งทั้งปวงด้วยอาการที่จะไม่เป็นพิษเป็นโทษแก่ตัวเรา
๒๒๒
ความไม่น่าเอาไม่น่าเป็นนี้ ชาวโลกธรรมดาผังดูแล้วชวนให้ไม่น่าเชื่อไม่น่าเลื่อมใส แต่ถ้าใครเข้าใจความหมายที่แท้จริงของมันแล้ว กลับจะทำให้เกิดความกล้าหาญร่าเริง คือมีจิตเป็นนาย เป็นอิสระต่อสิ่งทั้งปวง ทำให้สามารถเข้าไปหาสิ่งต่างๆ ด้วยความมั่นใจว่า จะไม่ตกเป็นทาสมัน คือไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอำนาจของกิเลสตัณหาหน้ามืดจนกลายเป็นทาสของมัน
๒๒๓
คนเรากำลังเอาอะไรอยู่ก็ตาม กำลังเป็นอะไรอยู่ก็ตามขอให้รู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เรากำลังเอาหรือเป็น ในสิ่งซึ่งที่แท้แล้วเอาไม่ได้ เป็นไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรที่เอาได้จริงเป็นได้จริง ตามต้องการของเรา เพราะมันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราของเราอยู่ตลอดเวลา เราเองเข้าไปยึดมั่นด้วยกิเลสตัณหาบ้าๆ บอๆ ของเราเองต่างหาก ฉะนั้นเราจึงทำกับสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกตรงกับที่มันเป็นจริง นี่เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความไม่รู้ตามที่เป็นจริงนั่นเอง จึงต้องเกิดความทุกข์ยุ่งยากขึ้นทุกอย่างทุกประการ
๒๒๔
คนแต่ละคน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ก็เพราะมันอยากเอาอะไร อยากเป็นอะไรเกินขอบเขตเพราะอำนาจของกิเลสตัณหาของตนเองเสียเรื่อยจึงไม่สามารถดำรงตน ให้อยู่ในสภาพที่เป็นความดี ความงาม ความถูกต้องและความยุติธรรม มูลเหตุแห่งความหายนะของทุกคน มันอยู่ที่การตกเป็นทาสของตัณหาเพราะฉะนั้น การรู้จักสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องตามที่มันเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ) จึงเป็นใจความสำคัญที่สุด ของพระพุทธศาสนา นี้เป็นทางให้เราเอาตัวรอดกันได้โดยมากไม่ว่าในเรื่องผลประโยชน์ทางโลกๆ ซึ่งหวังผลเป็นทรัพย์สมบัติชื่อเสียง หรือว่าเพื่อหวังประโยชน์ในโลกหน้า เช่น สวรรค์ หรือเรื่องที่พ้นจากโลกขึ้นไป คือเรื่องมรรคผล นิพพานก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ต้องอาศัยความรู้ความเห็นอันถูกต้องทำนองนี้ทั้งนั้น
๒๒๕
เราทุกคนจะรุ่งเรืองได้ด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าได้ตรัสอยู่บ่อยๆ ว่า คนเราบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่บริสุทธิ์ด้วยอย่างอื่น ทางรอดของเราอยู่ที่ปัญญา เห็นแจ่มแจ้งในสิ่งทั้งปวงว่า ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ คือน่าเอาน่าเป็นด้วยการมอบกายถวายชีวิตเลย ที่มีอยู่แล้วที่เป็นอยู่แล้ว ก็ขอให้เป็นไปตามสมมติของทางโลกๆ ที่สมมติว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่กัน ก็เพื่อจะให้รู้จักชื่อรู้จักเสียง รู้จักแบ่งหน้าที่การงานกัน เพื่อความสะดวกในสังคม
๒๒๖
เราอย่าไปหลงยึดถือว่า ตัวเราเป็นนั่นเป็นนี่ไปตามที่เขาสมมติให้เลย มันจะมีลักษณะเหมือนกับการถูกมอมดังสัตว์เล็กๆ เช่น จิ้งหรีด เป็นต้น ซึ่งเมื่อถูกมอมหน้า ถูกทำให้มึนงงแล้ว มันก็จะกัดกันเองจนตาย คนเรานี่แหละถ้าถูกมอมหรือถูกหลอกมากๆ ก็จะมึนเมาจนทำสิ่งที่ตามปกติมนุษย์ธรรมดาสามัญทำไม่ได้ เช่น ฆ่ากัน เป็นต้น ฉะนั้นเราอย่าไปหลงติดสมมติแต่พึงรู้สึกตัวว่านั่นเป็นเรื่องสมมติ ซึ่งเป็นของต้องมีในสังคม เราจะต้องรู้สึกโดยแท้จริงว่า กายกับใจนี่คืออะไร ธรรมชาติที่แท้จริงของมันเป็นอย่างไร โดยเฉพาะก็คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง ส่วนเรานั้นจะต้องดำรงตนอยู่ในลักษณะที่เป็นอิสระอยู่เสมอ
๒๒๗
สำหรับทรัพย์สมบัติหรืออะไรๆ ที่เราจำเป็นจะต้องมี ก็ขอให้เห็นว่าเป็นของสมมติอีกเหมือนกัน จะปล่อยไว้ตามประเพณีที่มีอยู่ว่า นี่เป็นของคนนี้ นี่บ้านคนนี้ นี่นาคนนั้น เป็นต้น กฎหมายคุ้มครองกรรมสิทธิ์ไว้ให้ ไม่ใช่เพื่อมาเป็นนายอยู่เหนือใจเรา เมื่อเรามีความรู้แจ้งอย่างนี้ สิ่งต่างๆ ก็จะลงไอยู่เป็นบ่าวเป็นทาสเราและเราก็อยู่เหนือมัน
๒๒๘
ถ้าเรารู้สึกไปในทางมีตัณหาอุปาทาน จะมีอะไร เป็นอะไรด้วยจิตใจที่ยึดถือเหนี่ยวแน่นแล้ว มันจะขึ้นมาอยู่เหนือศีรษะเรา แล้วเราก็จะกลับลงไปเป็นบ่าวเป็นทาสอยู่ใต้มัน มันกลับกันนอยู่อย่างนี้จึงเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง ให้เป็นไปในลักษณะที่เรายังคงเป็นอิสระ อยู่เหนือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มิฉะนั้นแล้ว เราเองจะต้องตกอยู่ในสถานะที่น่าสงสารที่สุด เราควรสมเพชตัวของเราเองกันไว้บ้าง
๒๒๙
เมื่อเห็นจริงว่า ไม่มีอะไรที่น่าเอา น่าเป็นอย่างนี้แล้ว ความเบื่อหน่าย (นิพพิทา) ก็เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นติดตามมา ตามส่วนสัดของการเห็นแจ้ง นี่หมายความว่ามีการคลอนแคลนสั่นสะเทือนเกิดขึ้นแล้ว ในการเข้าไปหลงยึดถือ หรือเปรียบเหมือนเมื่อเราต้องตกเป็นทาสเขามานานจนมีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น ก็มี การเคลื่อนไหวไปในทางที่จะต้องเปลื้องตนออกจากความเป็นทาส นี่เป็นลักษณะของนิพพิทา คือเบื่อหน่าย เกลียดความเป็นทาสขึ้นมาแล้ว หน่ายต่อความที่ตนหลงเข้าไปยึดเอาสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจว่า น่าเอา น่าเป็นนั่นเอง
๒๓๐
ครั้งพอมีความเบื่อหน่ายแล้ว โดยอัตโนมัติตามธรรมชาตินั่นเอง ย่อมจะมี ความจางหรือคลายออก (วิราคะ) เหมือนกับเชือกที่ผูกมัดไว้แน่น ถูกแก้ออกหรือเหมือนสีน้ำย้อมผ้าที่ติดแน่น เอาแช่น้ำยาบางอย่างทำให้มันหลุดออก ความยึดถือที่คลายออก จางออกจากโลกหรือจากสิ่งทั้งปวงที่เคยยึดถือนี้ ท่านเรียกว่า “วิราคะ” ระยะนี้ถือว่าสำคัญที่สุด แม้จะไม่ใช่ระยะสุดท้าย แต่ก็เป็นระยะที่สำคัญที่สุดของความหลุดพ้น เพราะว่าเมื่อมี่การคลายออก จางออกดังนี้แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย สิ่งที่เรียกว่าความหลุดออกจากทุกข์ (วิมุตติ) จะต้องมีโดยแน่นอน
๒๓๑
เมื่อหลุดออกมาได้จากความเป็นทาส ไม่ต้องเป็นทาสของโลกอีกต่อไปก็จะมีอาการบริสุทธิ์ (วิสุทธิ) ในที่นี้หมายความว่า ไม่เศร้าหมอง ก่อนนี้เศร้าหมองทุกทางเพราะการเข้าไปจมเป็นทาสของสิ่งทั้งหลาย เป็นความเศร้าหมองที่กายวาจาใจ หรือจะมองดูกันในแง่ไหนๆ ก็เป็นเรื่องความเศร้าหมองทั้งนั้น ต่อเมื่อหลุดพ้นออกมาจากความเป็นทาส ในรสอร่อยๆ ของโลกแล้ว จึงจะอยู่ในลักษณะที่บริสุทธิ์ คือไม่เศร้าหมองอีกต่อไป
๒๑๒
เมื่อมี ความบริสุทธิ์แท้จริง อย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดความสงบสันติอันแท้จริงสืบไป เป็นความสงบเย็นจากความวุ่นวาย จากการรบกวนหรือจากการต่อสู้ดิ้นรนทนทรมานต่างๆ เมื่อปราศจากการเบียดเบียนวุ่นวายเหล่านี้แล้ว ท่านสรุปเรียกความเป็นอย่างนี้ว่า “สันติ” คือความสงบรำงับดับเย็นของสิ่งทั้งปวง มันแทบจะเรียกได้ว่าถึงขั้นสูงสุดหรือขั้นเดียวกันกับนิพพาน แท้ที่จริงสันติกับนิพพานนั้น เกือบจะไม่ต้องแยกกัน ที่แยกกันก็เพื่อจะให้เห็นว่าเมื่อสงบแล้ว ก็นิพพาน
๒๓๓
นิพพาน แปลว่าไม่มีเครื่องทิ่มแทง อีกอย่างหนึ่งแปลว่าความดับสนิทไม่มีเหลือ ฉะนั้น คำว่านิพพานจึงมีความหมายใหม่ๆ เป็น ๒ ประการ คือดับไม่มีเชื้อเหลือสำหรับจะเกิดมาเป็นความทุกข์อีกต่อไป นี่อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือปราศจากความทิ่มแทง ความเผาลนปราศจากความผูกพัน ร้อยรัดต่างๆ ทุกอย่างทุกประการรวมความแล้ว ก็แสดงถึงภาวะที่ปราศจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง นิพพานยังมีความหมายที่มุ่งใช้ต่างๆ กันอีกหลายอย่าง เช่นหมายถึง การดับของความทุกข์ก็มี หมายถึงการดับของกิเลสอย่างหมดสิ้นก็มี หมายถึงธรรมหรือเครื่องมือหรือเขตแดน หรือสภาพอันใดอันหนึ่งที่ทุกข์ทั้งปวง กิเลสทั้งปวงสังขารทั้งปวง ดับไปหมดสิ้นก็มี
๒๓๔
แม้จะมีคำว่า “นิพพาน” ใช้กันอยู่ในลัทธิศาสนาหลายๆ ลักทธิก็ตาม แต่ความหมายไม่เหมือนกันเลย เช่น ลัทธิหนึ่งก็ถือเอาความสงบเย็น เพราะการที่ได้ฌาน ได้สมาบัติว่าเป็นนิพพาน บางลัทธิถือความมัวเมาอยู่ในกามารมณ์กันอย่างเพียบพร้อมว่าเป็นนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธนิพพานในความหายเช่นนี้ ทรงระบุความหมายของพระนิพพาน เพียงในลักษณะที่เป็นภาวะอันปราศจาก ความทิ่มแทงร้อยรัดแผดเผาของกิเลสและความทุกข์เพราะการได้เห็นสภาวะโลก เห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงจนหยุดความอยาก ความยึดติดในสิ่งต่างๆ เสียได้ ดังนี้
๒๓๕
เพราะฉะนั้น เราจึงควรเห็นคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของการที่เห็นสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามเป็นจริง และควรพยายามให้เกิดมีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กล่าวคือทางที่จะเป็นไปเองตามธรรมชาติโดยการประคับประคองให้ดี ทำจิตใจให้มีปีติปราโมทย์ มีการเป็นอยู่ที่บริสุทธิ์ทุกลมหายใจเข้าออกทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่เสมอ จนกระทั่งเกิดคุณธรรมต่างๆ ตามลำดับที่กล่าวแล้วนี้วิธีหนึ่ง ส่วนอีกวิธีหนึ่งนั้นเป็นการเร่งรัดด้วยอำนาจจิตบังคับ คือ ไปศึกษาและปฏิบัติตามหลักวิธีของการทำสมาธิ หรือการเจริญวิปัสสนาโดยเฉพาะ สำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยเหมาะสม ก็อาจก้าวหน้าไปได้เร็ว ในเมื่อทำถูกวิธีและถูกกับสิ่งแวดล้อม
๒๓๖
แต่วิปัสสนาตามธรรมชาตินั้น เราทำได้ทุกโอกาสทุกขณะเพียงระวังให้การเป็นอยู่ประจำวันของเรา บริสุทธิ์ผุดผ่องจนเกิดความอิ่มใจในทางธรรมะ มีความสงบรำงับแห่งจิต มีความรู้ตามที่เป็นจริงต่อสิ่งทั้งหลาย เกิดความเบื่อหน่ายความคลายออกความหลุดออกมีความบริสุทธิ์ ไม่เศร้าหมอง ความสงบเย็น ถึงภาวะที่ปราศจากความทุกข์อย่างชิมลองน้อยๆ เรื่อยๆ ไปตามธรรมชาติ ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ก็จะใกล้ชิดนิพพานอย่างแท้จริงได้มากขึ้นๆ
๒๓๗
สรุปความว่า สมาธิและวิปัสสนาตามธรรมชาติ ที่ทำให้บุคคลบรรลุมรรคผลนั้น ต้องอาศัยการพิจารณาความจริงในข้อที่ว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น” อยู่เป็นประจำวันทุกวัน ผู้หวังจะได้ผลอันนี้ จะต้องพยายามทำตนให้เป็นคนสะอาดมีอะไรเป็นที่พอใจตัว จนยกมือไว้ตัวเองได้ มีปีติปราโมทย์ตามทางธรรมอยู่เสมอ ไม่ว่าในเวลาปฏิบัติหน้าที่หรือเวลาพักผ่อนปีติปราโมทย์นั่นเองจะทำให้เกิดความแจ่มใส สดชื่น มีใจสงบ รำงับ เป็นเหตุให้จิตมีสมรรถภาพ ในการคิดค้นตามธรรมชาติ อยู่อย่างอันดนมัติเกิดความเห็นจริงว่า ม่ามีอะไรที่น่าเอา น่าเป็นอยู่เสมอ ขณะใดเป็นอย่างแรงกล้า จิตก็หน่ายคลายความอยากไปเอง ไม่มีความหลง อยากในสิ่งใดด้วยกิเลสตัณหาอีกต่อไป ความทุกข์ซึ่งไม่มีที่ตั้งอาศัยก็สิ้นสุดลง ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงที่สุด แงการปฏิบัติ้เพื่อความพ้นทุกข์แล้ว นับว่าเป็ฯของวัญที่ธรรมชาติมีไว้หใ สำหรับคนทุกคนโดยกแท้จริง
๒๓๘

วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

๖ คนเราคิดอะไร (เบญจขันธ์)

อะไรเป็นที่ตั้งที่ยึด ที่เกาะเกี่ยวของอุปาทาน ที่ตั้งของอุปาทานก็คือโลกนี้เอง คำว่า “โลก” ในทางพระพุทธศาสนา มีความหมายกว้างกว่าความหมายตามธรรมดา คือหมายถึงสิ่งทั้งปวงทั้งสิ้นกันทีเดียว ไม่ว่าจะเกี่ยวกับมนุษย์ เทวดา พรหม สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก ปีศาจ เปรต อสุรกาย อะไรก็สุดแท้ที่จะมี รวมแล้ว ก็เรียกว่าโลก
๑๖๒
การรู้จักโลก มีความหมายอยู่ตรงที่ว่ามันมีความลึกลับเป็นชั้นๆ เรารู้จักกันแต่ชั้นนอกๆ ที่เรียกว่า “ชั้นสมมติ” นี้ หมายถึงตามสติปัญญาของคนทั่วๆ ไป พระพุทธศาสนาจึงมีการสอนให้ดูกันหลายๆ ชั้น ท่านมีวิธีแนะให้ดูการจำแนกโลกออกเป็นฝ่ายวัตถุ ซึ่งเรียกกันว่า รูปธรรมอย่างหนึ่ง ฝ่ายจิตใจเรียกว่านามธรรม อีกฝ่ายหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นท่านได้แบ่งส่วนที่เป็นนามธรรมหรือจิตใจนี้ออกเป็น ๔ ส่วน เมื่อเอารูปธรรม ๑ ส่วนมารวมกันเข้ากับนามธรรมก็ได้เป็น ๕ ส่วน ท่านเลยเรียกว่า เบญจขันธ์หรือขันธ์ห้า แปลว่าส่วน ๕ ส่วน ประกอบกันขึ้นเป็นโลก คือเป็นสัตว์เป็นคนนี่เอง
๑๖๓
การดูโลก ก็หมายถึงกาดูสัตว์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคน เพราะปัญหาอยู่ที่เรื่องของคน ร่างกายเป็นวัตถุที่เรียกว่ารูปหรือรูปขันธ์ (ส่วนที่เป็นรูป) ส่วนที่เป็นจิตใจอีก ๔ ส่วน นั้นจำแนกไปได้คือ
๑๖๔
ส่วนที่ ๑ เรียกว่า “เวทนา” หมายถึงความรู้สึก ๓ ประการ คือสุขหรือพอใจอย่างหนึ่ง ทุกข์หรือไม่พอใจอย่างหนึ่ง อีกแบบหนึ่งอยู่ในลักษณะที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าสุขหรือทุกข์ คือเป็นเรื่องที่ยังเฉยๆ อยู่ แต่ก็เป็นความรู้สึกเหมือนกัน ความรู้สึกนี้มีประจำอยู่ในคนเราเป็นปกติ วันหนึ่งๆ ย่อมเต็มไปด้วยความรู้สึก ท่านจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบกันเป็นคน และเรียกส่วนนี้ว่า เวทนา หรือเวทนาขันธ์
๑๖๕
ส่วนที่ ๒ เรียกว่า “สัญญา” แปลว่ารู้ตัว เป็นความรู้สึกตัวอยู่เหมือนอย่างว่าเรากำลังตื่นอยู่ คือไม่หลับ ไม่สลบ ไม่ตาย หรือเรียกว่ามีสติสมปฤดี โดยทั่วๆ ไป มักจะอธิบายกันว่าเป็นความจำได้หมายรู้ ก็ถูกเหมือนกัน เพราะว่ายังไม่เมา ไม่สลบ ไม่หลับ ไม่ตาย ดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อกระทบอะไร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็รู้สึกหรือจำได้ว่าเป็นอะไร เช่น รู้ว่า เขียว แดง สั้น ยาว คน สัตว์ ฯลฯ ตามแต่จะจำได้ นั่นแหละ เป็นความรู้สึกของสมปฤดี หรือ “สัญญา” ในที่นี้
๑๖๖
ส่วนที่ ๓ เรียกว่า “สังขาร” มีความหมายมาก จนมันปนกันยุ่งไปหมด เราพูดถึงสังขารที่เป็นส่วนของนามธรรมนี้กันก่อนแปลว่า “ปรุง” คือกิริยาอาการของสิ่งที่เป็นอยู่ในคนหนึ่งๆ ได้แก่ การคิดหรือความคิดเช่น คิดจะทำ คิดจะพูด คิดอย่างนั้นอย่างนี้ คิดดี คิดเลว คิดในทางไหนก็จัดเป็นความคิดทั้งนั้น ความรู้สึกที่เป็นความคิดพลุ่งขึ้นมาจากการปรุงแต่งภายในใจนั้นเรียกว่าสังขาร คำว่า สังขาร ในที่อื่นนั้น หมายถึงบุญกุศลที่ปรุงแต่งคนให้เกิดขึ้นก็มี หมายถึงร่างกายหรือโครงร่างที่มีจิตใจครองดังนี้ก็มี มีความหลายทาง แต่ตรงกันโดยเหตุที่มันมีความหมายไปในทางมีการปรุงแต่ประกอบกันขึ้นมา
๑๖๗
ส่วนที่ ๔ เรียกว่า “วิญญาณ” หมายถึงจิตที่ทำหน้าที่รู้สึกที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น และที่กายทั่วๆ ไปตลอดถึงที่ใจของตนเองด้วย (ไม่ใช่เจตภูตอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจกัน)
๑๖๘
ขันธ์ห้านี่แหละเป็นที่เกาะยึดของอุปาทานทั้ง ๔ ที่ได้อธิบายแล้ว ขอให้ย้อนไปอ่านแล้วนำมาพิจารณาให้เข้าใจกันให้ดี ให้รู้ว่าความยึดนั้นมันเกาะจับอยู่กับส่วน ๕ ส่วนนี้อาจยึดเอาแต่ละส่วนว่าเป็นตัวตนก็ได้ แล้วแต่ความโง่ของคน เหมือนอย่างเด็กเล็กๆ ที่เดินเซไปโดนประตู เจ็บ ต้องตีประตูเสียทีหนึ่งจึงจะหายโกรธและหายเจ็บ อย่างนี้หมายความว่ายึดเอารูปล้วนๆ คือประตูซึ่งเป็นไม่แท้ๆ ว่าเป็นตัวตน นั้นเป็นอุปาทานในขั้นต่ำที่สุด
๑๖๙
สำหรับคนโตๆ ก็โกรธร่างกายถึงกับทุบตีร่างกายหรือโขกศีรษะตัวเอง ก็ยึดถืออย่างเดียวกันกับเด็ก คือไปยึดถึงเอาร่างกายเป็นตัวตน ถ้าหากว่าฉลาดขึ้นไปกว่านั้น ก็จะถือเอาเวทนาหรือสัญญาหรือสังขารหรือวิญญาณส่วนใดส่วนหนึ่งว่าเป็นตัวตน ถ้าหากไม่อาจจะแยกออกได้ก็ยึดทั้งกลุ่มว่าเป็นตัวตน คือเอาทั้ง ๕ ส่วนรวมกลุ่มกันเป็นตัวตนอย่างนี้ก็ได้
๑๗๐
ถัดมาจากรูปก็คือ เวทนา กล่าวคือความรู้สึกว่าสุข ทุกข์หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ มีทางที่จะยึดเป็นตัวตนได้มากที่สุด เราจะมองดูตัวอย่างในเรื่องเราหลงใหล ในกามสุขโดยเฉพาะก็คือความเอร็ดอร่อย ความถูกอกถูกใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ต่างๆ ที่ได้รับอยู่ ตัวเวทนาในที่นี้ก็คือความรู้สึกเอร็ดอร่อยซึ่งเป็นความสุข แล้วก็ไปติดความสุขนั้นหรือความอร่อยนั่นเอง คนยึดถือเวทนาเป็นตัวเป็นตนกันอยู่มาก หรือว่าแทบทั้งหมดเพราะว่าไม่มีใครที่จะไม่ชอบความเอร็ดอร่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็การสัมผัสทางผิวหนัง ความไม่รู้หรือความหลงผิดทำให้มองไม่เห็นสิ่งอื่นใด มองเห็นแต่ความเอร็ดอร่อย แล้วยึดถือเป็นตัวเป็นตนและจะยึดเอาสิ่งนั้นมาเป็นของตน
๑๗๑
ความรู้สึกทางพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม ย่อมจะเรียกได้ว่าเป็นที่ตั้งของความทุกข์ได้ทั้งนั้น ความรูสึกชอบกับชังนี้ ตามความหายทางธรรมะแล้วย่อมถือว่าเป็นความทุกข์เท่ากัน เพราะมันทำให้เกิดความทรมานใจเท่ากัน ความชอบทำให้ใจฟู ความไม่ชอบทำให้ใจแฟบ การดีใจและเสียใจ ก็เป็นการทำให้จิตเหน็ดเหนื่อยเท่ากัน ทำให้เกิดหวั่นไหวทางจิตได้เท่ากัน ทั้งหมดนั้นเรียกว่ายึดเวทนาเป็นตัวตน
๑๗๒
ขอให้ทุกคนพิจารณาความยึดถือเวทนาว่าเป็นตัวตนของตนในตนเอง ให้เข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ จะเป็นหนทางทำให้เป็นอิสระจากเวทนา เวทนาเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือจิตใจ แล้วดึงเราไปสู่สภาพที่จะต้องเสียใจในภายหลัง ในทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านสอนให้พิจารณาเรื่องเวทนาโดยเฉพาะก็มาก มีผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์เพราะกำหนดเวลา เป็นวัตถุสำหรับการพิจารณาเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ อย่างนี้ก็มีมาก
๑๗๓
เวทนานี้เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้ง่ายกว่าสิ่งใดๆ ทั้งหมดเพราะมันเป็นที่มุ่งหมายสูงสุดของสิ่งที่เราพากเพียรทำกัน เราอุตสาห์ศึกษาเล่าเรียนอุตส่าห์ประกอบการงานอาชีพต่างๆ ก็เพื่อให้ได้เงินแล้วก็ไปซื้อหาสิ่งต่างๆ เช่น ของใช้ ของกิน เครื่องบำรุงบำเรอ ตลอดจนถึงรสพิเศษจากเพศตรงกันข้าม แล้วก็บริโภคของเหล่านั้นเพื่อหวังอย่างเดียวคือสุขเวทนา กล่าวคือความเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น และทางกาย
๑๗๔
เราลงทุนด้วยกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังใจ ทั้งหมดก็เพื่อหวังสุขเวทนาอันเดียวนี้เท่านั้น ก็รู้อยู่แก่ใจกันดีทุกคน ถ้าไม่เพราะอำนาจของสุขเวทนานี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็คงจะไม่ลงทุนเรียน ลงทุนทำการงาน ลงเรี่ยวลงแรงหาเงิน ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องสุขเวทนานี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเสียแล้ว ถ้ามีความรู้ความเข้าใจ ก็จะสามารถควบคุมมันได้ จนทำให้เรามีจิตใจสูงอยู่เหนือความรู้สึกชนิดนั้น จะให้เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่าที่เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมดา แม้ความยุ่งยากต่างๆ ในสังคม ก็มีมูลมาจากสุขเวทนานี้เหมือนกัน
๑๗๕
การกระทบกระทั่งระหว่างประเทศ หรือระหว่างครึ่งโลกกับครึ่งโลกที่จะต้องรบกัน เมื่อไล่เบี้ยไปถึงที่สุดแล้วจะไปพบความจริงที่ว่า ทุกฝ่ายตกเป็นทาสของสุขเวทนาดังที่กล่าวมาแล้ว การทำสงครามกันนั้น ไม่ใช่เพราะมีมูลมาจากความยึดถือเกี่ยวกับลัทธิ หรือเกี่ยวกับอุดมคติอะไรก็หามิได้ ที่แท้แล้วมันก็เนื่องมาจากประโยชน์สุข ต่างฝ่ายจะมุ่งแต่ให้ได้ประโยชน์มาก จะกอบโกยเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว ลักทธินั้นเป็นเครื่องบังหน้าหรือเหตุประกอบรองๆ ลงไปเท่านั้นเอง ส่วนลึกที่สุดอยู่ที่การตกเป็นทาสของสุขเวทนา ฉะนั้น การรู้จักเวทนาก็หมายถึงการู้จักมูลเหตุอันสำคัญ ที่ทำให้เราตกเป็นทาสของกิเลสหรือความชั่วจนได้รับความทุกข์ในทุกระดับ
๑๗๖
เมื่อมนุษย์เป็นอย่างไร เทวดาก็เป็นอย่างนั้น คือตกอยู่ภายใต้อำนาจสุขเวทนาอย่างเดียวกับมนุษย์และยิ่งกว่ามนุษย์เพียงแต่เขาสมมติให้เป็นเรื่องที่ดีกว่าประณีตกว่าได้อย่างอกอย่างใจกว่าเท่านั้น แต่ก็ยังไม่พ้นไปจากกเรื่องตัณหาอุปาทาน หลงติดอยู่ในรสอร่อยทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ นั่นเอง
๑๗๗
ถ้าสูงขึ้นไปถึงขั้นพรหม ก็ต้องยกความอร่อยในทางกามารมณ์ออกเสีย แต่ไม่พ้นจากความอร่อยทางจิตอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าฌานหรืออยู่ในสมาธิ เกิดความสุขใจเป็นรสอร่อยขึ้นมา ก็ติดใจในรสอร่อยนั้นเหมือนกัน แม้ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ก็เป็นสุขเวทนานั่นเอง
๑๗๘
ยิ่งสัตว์ที่ต่ำลงไปกว่ามนุษย์ด้วยแล้ว มันย่อมตกอยู่ภายใต้อำนาจของสุขเวทนาอย่างไม่เป็นระเบียบ ยิ่งกว่ามนุษย์เรามากมายนัก ฉะนั้นการรู้เรื่องของเวทนาว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะรู้เรื่องเวทนาว่า ไม่ใช่เป็นตัวเราของเราเลย ไม่ควรจะยึดถือ จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ชีวิตของคนเราจริงๆ
๑๗๙
ถัดไปก็คือเรื่อง สัญญา หรือที่เรียกว่า สมปฤดี นั่นเอง นี้มีทางที่จะยึดถือว่า เป็นตัวเป็นตนของเราได้ง่ายเหมือนกันอย่างที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปมักชอบพูดกันว่า ถ้านอนหลับจะมีอะไรบางอย่างออกไปจากตัวเราที่เรียกว่า เจตภูต หรือจะเรียกว่าอะไรสุดแท้ ในขณะนั้นเราก็เหมือนท่อนไม้ ไม่มีความรู้สึกทาง ตา หู จมูก ลิ้นและกาย พอสิ่งนั้นกลับสู่ร่างกายอีก จึงจะรู้สึกสมปฤดีตามเดิม มีสติสตังขึ้นมาตามเดิม คนเขาหลงเชื่อกันอย่างนั้นมาก เลยยิ่งมีทางที่จะยึดเอาสัญญาหรือสมปฤดีนี้ว่าเป็นตัวตนมากขึ้น
๑๘๐
แต่ถ้าว่ากันตามทางพุทธศาสนาแล้ว สัญญาไม่ใช่เป็นตัวตน สัญญาเป็นเพียงความรู้สึกจำได้หมายรู้ที่ยังคงดีอยู่ พอเกิดการไม่เป็นระเบียบในการปรุงแต่งเท่านั้น สิ่งที่เราเรียกว่า สัญญา หรือสมปฤดี ก็จะกลายเป็นใช้ไม่ได้ไปทันที พุทธศาสนาไม่ยอมรับว่าสัญญาเป็นตัวตนก็เพราะเหตุนี้ แต่คนทั่วไปก็ชอบเดา หรือสันนิษฐานไปในทางที่จะยึดถือว่าเป็นตัวตนการศึกษาพุทธศาสนากลับได้ความรู้ที่ตรงกันข้าม ว่านั่นไม่ใช่ตัวตนของใคร นั่นเป็นเพียงผลของการปรุงแต่งตามธรรมชาติในคนๆ หนึ่ง เท่านั้นเอง
๑๘๑
ขันธ์ถัดไปคือ สังขาร ได้แก่ความ นึกคิด ความรู้สึก จะทำนั่น ทำนี่ จะได้นั่น ได้นี่ เป็นความคิดดีก็ตาม ชั่วก็ตาม แสดงความเป็นตัวเป็นตนหนักขึ้นไปอีก ใครๆ ก็จะรู้สึกว่า ถ้าจะเป็นตัวตนกันบ้างละก็ ตัวผู้นึกคิดนี่แหละ น่าจะเป็นตัวตนมากกว่าอย่างอื่น อย่างนักปรัชญาคนหนึ่งของยุคปัจจุบัน เขามีปรัชญาของเขาง่ายๆ ว่า “ข้าพเจ้าคิดได้ ข้าพเจ้าจึงมีอยู่” แม้นักปรัชญาในสมัยวิทยาศาสตร์อย่างนี้ ก็ยังยึดถือตัวตนอย่างเดียวกับ ในสมัยเมื่อสองสามพันปีมาแล้ว โดยถือเอาตัวความคิดนั้นว่าเป็นตัวตน
๑๘๒
พุทธศาสนาได้ปฏิเสธเวทนา และสัญญา ว่าไม่ใช่ตัวตนมาแล้ว ยังปฏิเสธความคิด หรือตัวจิตที่คิด ว่าไม่ใช่ตัวตนเหมือนกัน เพราะอาการที่คิดขึ้นมาได้นั้น มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นผลของการปรุงของสิ่งหลายๆ สิ่งสำเร็จรูปเป็นความคิดขึ้นมาได้ อยู่ในกลุ่มของส่วนประกอบต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นคน โดยไม่ต้องมีตัว “ข้าพเจ้า” ที่เป็นตัวตนอย่างว่า สังขารหรือความคิดนี้ จึงถูกยืนยันว่าเป็นอนัตตา กล่าวคือ ไม่มีตัวไม่มีตนอย่างเดียวกันกับขันธ์อื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว
๑๘๓
คำในพระพุทธศาสนาก็ระบุชัดอยู่แล้วว่า “สังขาร” ซึ่งแปลว่าของปรุงแต่ง คือของหลายๆ อย่างมาปรุงกันเข้าจึงยิ่งไม่ใช่ตัวตน ความลำบากเข้าใจยากอยู่ตรงที่ว่า พวกเราไม่มีความเข้าใจในเรื่องของนามธรรม หรือจิตใจอย่างเพียงพอ เรารู้จักกันแต่เรื่องรูปธาตุที่เป็นวัตถุ แต่ธาตุอีกประเภทหนึ่งที่เป็นนามธรรมไม่ใช่วัตถุ เราแทบจะไม่เข้าใจกันเสียเลย เราจึงเข้าใจยากในเรื่องของการปรุงทางนามธาตุ
๑๘๔
ในที่นี้บอกได้แต่เพียงตามหลักพุทธศาสนาว่า เป็นการปรุงของธาตุหลายๆ ธาตุ รวมทั้งวัตถุธาตุและนามธาตุ สิ่งที่เรียกว่าความคิด หรือ “สังขาร” จึงเกิดขึ้นในใจของตัวเราเองและทำให้เข้าใจไปว่า มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้คิดเชื่อไปในทำนองว่าเป็นเจตภูต เป็นวิญญาณ เป็นตัวเจ้าของร่างหรืออะไรทำนองนี้พุทธศาสนาปฏิเสธสิ่งเหล่านี้อย่างสิ้นเชิงเมื่อได้แยกออกเป็นส่วนๆ ไม่มีอะไรเหลือ แล้วก็พิสูจน์แต่ละส่วนๆ ว่าไม่มีส่วนไหนเป็นตัวเป็นตน ตลอดถึงส่วนที่เป็นความคิด ก็ไม่ใช่ตัวตนอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกันเลย
๑๘๕
ถัดไปเป็นส่วนสุดท้ายเรียกว่า “วิญญาณ” ทำหน้าที่รู้แจ้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนของเราเหมือนกัน เพราะเหตุว่าอวัยวะนั้นๆ ล้วนมีความสามารถรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อยู่ตลอดเวลา เมื่อตากับรูปถึงกันเข้า วิญญาณก็เกิดขึ้นเป็น ๓ ฝ่ายด้วยกัน เช่น ตาก็มีความรู้แจ้งเกิดขึ้นว่ารูปนั้นมีสัณฐานอย่างไร เป็นรูปคนหรือสัตว์ สั้นหรือยาว ขาวหรือดำ อย่างนี้เป็นต้น
๑๘๖
ความรู้แจ้งที่เกิดขึ้นทำนองนี้เหมือนกับกลไกอันหนึ่ง ซึ่งเป็นไปเองตามธรรมชาติ อย่างอัตโนมัติ แต่มีคนบางพวกถือกันว่านั่นแหละเป็นเจตภูต หรือเป็นตัววิญญาณที่แล่นเข้าแล่นออกจากใจมารับความสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่างนี้ก็มี แล้วยึดถือเอาเป็นตัวตน ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า มันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น ถ้ารูปและตาพร้อมทั้งประสาทตา ได้มีการกระทบกันก็จะมีการเห็นเกิดขึ้นสำเร็จเป็นการรู้แจ้งทางตาเรียก จักษุวิญญาณ ตามชื่อของประสาทอันเป็นที่ตั้งแห่งการสัมผัส โดยไม่ต้องมีตัวตนอะไรที่ไหนอีก วิญญาณในศาสนาพุทธจึงไม่เหมือนวิญญาณในศาสนาอื่นๆ
๑๘๗
เมื่อได้แยกดูทีละส่วนๆ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เห็นมีส่วนไหนที่เป็นตัวตนของตนดังนี้แล้ว ก็จะถอนความเข้าใจผิดเรื่องตัวตนเสียได้ ว่าไม่ใช่เป็นตัวตนของใครเลย ถ้าไม่เกิดความอยาก ก็ไม่เกิดความรักหรือเกลียดในสิ่งทั้งหลาย จึงจะเรียกว่าเห็นแจ้งในสิ่งทั้งปวงว่าไม่ใช่ตัวตน การนึกคิดตามเหตุผลก็พอจะทำให้เชื่อว่าไม่ใช่ตัวตนได้ แต่มันก็เป็นเพียงความเชื่อ ไม่เป็นการรู้แจ้งชนิดที่จะตัดความยึดถือว่า เป็นตัวเป็นตนได้อย่างเด็ดขาด เหตุนี้เองจึงต้องศึกษาพิจารณากันตามหลักแห่งสิกขา ๓ ประการ จึงจะถึงขนาดที่ถอนความยึดถือเรื่องนี้ได้
๑๘๘
หน้าที่อันจะพึงปฏิบัติในเรื่องเบญจขันธ์ นี้คือต้องทำให้ความรู้แจ้งเกิดขึ้น เพื่อขจัดความโง่เสีย และก็จะเห็นเองว่า ไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวเป็นตนอันน่ายึดถือ เมื่อนั้นการยึดถือก็แตกสลายลง แม้ยึดมาแต่กำเนิดก็ตาม มันต้องหมดไปด้วย ฉะนั้นเราจำเป็นต้องศึกษาเรื่องเบญจขันธ์ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ว่าเป็นตัวตนนี้ให้ละเอียด พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้มากกว่าเรื่องทั้งหลาย มีใจความสรุปสั้นๆ ว่า “เบญจขันธ์เป็นอนัตตา” สำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งจะมองกันในแง่ปรัชญา หรือวิทยาศาสตร์ หรือในฐานะเป็นศาสนาก็ตาม ถ้าเรารู้ตามที่เป็นจริง ความยึดถือด้วยการเข้าใจผิดก็หายไป ความอยากทุกชนิดจะไม่มีทางเกิด และความทุกข์ก็จะไม่มี
๑๘๙
ทำไม คนเราตามปกติจึงมองส่วน ๕ ส่วนนี้ไม่ออกตามที่เป็นจริง เมื่อเกิดมาจากท้องมารดา เราไม่มีปัญญาของเราเอง เราได้รับความรู้มาตามที่เขาสอนให้ เขาสอนเราไปในทางที่เข้าใจว่า ทุกสิ่งเป็นตัวตนไปทั้งนั้น อำนาจสัญชาตญาณดั้งเดิม เกี่ยวกับการยึดถือว่าเป็นตัวตน (อัตตวาทุปาทาน) ซึ่งมีติดมาตั้งแต่เราเกิด ก็พอกพูนหนาแน่นยิ่งขึ้นทุกวัน ในการพูดจาก็ใช้คำว่า ฉัน ท่าน ผู้นั้น ผู้นี้ ซึ่งล้วนแต่ย้ำการมีตัวตนให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น คนนั้นชื่อนั้น คนนี้ชื่อนี้ เป็นลูกคนนั้น เป็นหลานคนนี้ เป็นสามีคนนั้น เป็นภรรยาคนนี้ ล้วนแต่ระบุไปในทางเป็นตัวตนทั้งนั้น เราจึงพากันไม่รู้สึกตัว ในการที่ไปยึดถือความเป็นตัวเป็นตนเพิ่มขึ้นทุกวัน
๑๙๐
เมื่อยึดว่าเป็นตัวเป็นตน ก็เกิดความเห็นแก่ตัว แล้วก็ประกอบการงานไปตามความเห็นแก่ตัวหรือพวกของตัวจนได้ประโยชน์มาบำรุงความใคร่ของตัวและพวกของตัว แต่ถ้าหากว่าเราเกิดความฉลาดจนมองเห็นว่านี้เป็นของหลอกๆ เราก็จะหมดความยึดถือว่านั่นเป็น นาย ก. นาย ข. เป็นขุน หลวง พระ พระยา เป็นสัตว์ หรือมนุษย์ โดยเห็นว่าเป็นเพียงเรื่องที่คนเขาสมมติขึ้นพูดกันในทางสังคมเท่านั้นเอง ถ้าเขาเข้าใจได้อย่างนี้แล้ว ก็นับว่าเป็นการเพิกถอนสิ่งที่หลอกลวงของสังคมได้ชั้นหนึ่ง
๑๙๑
เมื่อพิจารณาดูร่างกายทั้งหมดของ นาย ก. ก็จะพบว่า นาย ก.นั้น เท่ากับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัมพันธ์กัน การเห็นอย่านี้ก็ฉลาดขึ้นมาอีกหน่อย เรียกได้ว่าไม่หลงติดในการสมมติทางโลก
๑๙๒
จะแยกให้ละเอียดออกไปอีก ก็มีทางทำได้ เช่น รูป ร่างกาย นี้ แยกเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือไม่แยกอย่างทางวัดๆ เขาแยกกัน จะแยกอย่างวิทยาศาสตร์ เป็นคาร์บอน ออกซิเจน ไฮโดรเจน ฯลฯ ก็ได้เหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่า เห็นลึกเข้าไปอีก คือ มันหลอกลวงเราได้น้อยเข้าไปอีกชั้นหนึ่งกลายเป็นเห็นว่าคนไม่มี มีอยู่แต่ธาตุต่างๆ ร่างกายเป็นรูปธาตุ จึงเป็นนามธาตุ แยกออกเป็นส่วนย่อยๆ ทำหน้าที่ต่างๆ กัน เช่น รู้สึกนึกคิด และรู้ทางประสาท ทั้งหลาย เมื่อเป็นดังนี้ ความรู้สึกว่านาย ก. นาย ข. ขุน หลวง พระ พระยา ก็หายไป ความรู้สึกว่าลูกของเรา ผัวของเรา เมียของเรานี้ก็พลอยหายไป
๑๙๓
แต่เมื่อ ดูกันในแง่ปรมัตถ์ จะปรากฏว่า แม้ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุออกซิเจน ไฮโดรเจน หรืออะไรก็ตาม จะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตาม ดูให้ลึกซึ้งแล้ว ก็จะพบลักษณะอันหนึ่ง ซึ่งเหมือนกันหมดคือ “ความว่าง” จากสิ่งที่เรียกว่าตัวตนของมันเอง ดิน น้ำ ลม ไฟ ดูตรงไหนๆ มันก็ไม่มีตัวตนซึ่งภาษาพุทธศาสนาเรียกว่า “สุญญตา”
๑๙๔
ท่านผู้ใดเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของว่างได้ดังนี้แล้ว ความยึดถือหรืออุปาทาน ย่อมไม่มีทางที่จะเกิดได้ ที่เกิดแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะเหลืออยู่ได้ มันจะสูญหายละลายไปหมด จนปราศจากความยึดติดโดยสิ้นเชิง มันจึงไม่มีสัตว์ไม่มีคน ไม่มีธาตุ ไม่มีขันธ์ ไม่มีอะไรทั้งหมด เป็น “ความว่าง” จากการมีตัวมีตนของมันเอง เมื่อไม่ยึดติด ความทุกข์ก็ไม่มีทางเกิดขึ้น ใครจะเรียกเขาว่าคนดี คนชั่ว คนสุข คนทุกข์ หรืออะไรก็ตาม ไม่เป็นของแปลกสำหรับเขา ทั้งหมดนี้เป็นผลเกิดมาจากการมีความรู้ความเข้าใจ และมีความเห็นแจ้งในความจริงของเรื่องเบญจขันธ์ จนถอนความยึดติดที่ผิดๆ ทั้ง ๔ ประการนั้นเสียได้
๑๙๕
สรุปความว่า สิ่งทั้งปวงในโลกนี้รวมอยู่ในคำว่า “เบญจขันธ์” คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละส่วนเป็นมายาไร้ตัวตน แต่ก็มีอำนาจของเวทนาล่อให้เกิดการยึดถือ จนคนทั่วไป อยากมี อยากเป็น อยากไม่ให้เป็น ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดทุกข์ ไม่อย่างเปิดเผยก็อย่างเร้นลับ ทุกคนจะต้องอาศัยข้อปฏิบัติที่เรียกว่าไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ถอนความหลงติดในเบญจขันธ์เสียให้สิ้นเชิง จึงจะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของขันธ์ทั้งห้าและก็จะไม่มีความทุกข์ โลกจะอยู่ในลักษณะที่อำนายความผาสุขใจให้แก่ผู้นั้นไม่ต้องร้อนใจเพราะสิ่งใดๆ เป็นผู้มีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงตลอดชีวิต นี้เป็นผลของการรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องเบญจขันธ์ตามคำสอนของพระพุทะเจ้า
๑๙๖