วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557

คนกับโลก


                คนกับโลกอยู่คู่กันมานานแสนนาน และจะเป็นอย่างนี้ตลอดไปจนกว่าโลกจะแตกสลาย แต่โลกที่จะกล่าวถึงในที่นี้หมายถึง โลกธรรม คือ ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ ไม่ว่ามนุษย์จะอยู่ที่ไหน สิ่งเหล่านี้ก็อยู่ประจำโลก และคู่โลกตลอดไป การที่คนอาศัยอยู่ในโลกจะมีความสุขมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับการเข้าใจและวางตัวอย่างไรต่อโลก ในทางโลกธรรมได้แบ่งบุคคลออกเป็น ๓ ประเภท ตามลักษณะความเข้าใจโลกตามความจริง มากบ้าง น้อยบ้าง ดังนี้
                ๑.คนพิงโลก คือพวกแล้วแต่โลกจะพาไป เห็นดีเห็นชอบไปตามโลก ถือเอาตามโลกนิยม โดยไม่พินิจพิจารณาว่าเรื่องนั้นๆ ดีหรือไม่อย่างไร อาจจะสุขบ้าง ทุกข์บ้าง หาความแน่นอนไม่ได้ เพราะอาศัยกระแสมากกว่าความจริง
                ๒.คนแบกโลก คือคนที่ไม่ยอมรับความจริงของโลก เช่น เมื่อได้ลาภ ก็มัวเมาในลาภ เมื่อเสื่อมลาภก็ไม่ยอมรับ เศร้าโศกเสียใจ เมื่อได้ยศก็มัวเมาในยศ เมื่อเสื่อมยศก็ทำใจลำบาก ว้าวุ่นใจ เมื่อได้รับคำสรรเสริญก็เคลิบเคลิ้มกับคำสรรเสริญ เมื่อถูกนินทาก็เสียอาการ ใจหวั่นไหวไปกับคำนินทา เมื่อมีสุขก็เมาสุข เมื่อมีทุกข์ก็จมกับทุกข์ไม่ยอมแก้ไข หาสาเหตุ  บุคคลเหล่านี้จะมีแต่ความหนักอึ้งอยู่ตลอดเวลา
                ๓.คนเหนือโลก คือคนที่เข้าใจความเป็นจริงของโลก จะเกิดอะไรก็ยอมรับตามความเป็นจริง เช่น เมื่อมีลาภก็ไม่ดีใจจนเกินเหตุ เมื่อเสื่อมลาภก็ไม่เสียใจเสียอาการ เมื่อได้ยศก็ไม่ใช้ยศไปในทางที่ผิด เมื่อเสื่อมยศก็ทำใจได้ เมื่อถูกนินทาก็ยอมรับและปรับปรุงแก้ไข เมื่อได้รับคำสรรเสริญก็ไม่หลงระเริง เมื่อสุขก็ไม่เมา เมื่อทุกข์ก็ไม่เศร้าและหาวิธีให้ทุกข์นั้นทุเลาเบาบางลงได้ บุคคลเหล่านี้ชีวิตจิตใจจะเบาสบายอยู่ตลอดเวลา
                จงพิจารณาดูตัวเราว่า เป็นคนประเภทไหน เป็นคนพิงโลก คนแบกโลก หรือคนเหนือโลก หากเป็นสองประเภทแรกก็ควรเร่งปรับปรุงแก้ไข หาไม่แล้วชีวิตจะมีทุกข์มากกว่าสุขหรือไม่มีสุขเลย ส่วนคนประเภทที่ ๓ นั้นนับว่าประเสริฐ ชีวิตมีสุขมากกว่าทุกข์ หรือถ้าประคองใจได้มั่นคงจริงๆ แล้วก็จะไม่มีทุกข์เลย

...................................

สูตรสร้างความสงบสุข


                คนเราทุกคนย่อมมีความอยากและความต้องการในชีวิตเป็นธรรมดา บางครั้งอาจจะสมหวังหรือผิดหวัง อาจจะพอใจหรือไม่พอใจบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลกธรรม คือความจริงประจำโลก การแก้ไขความอยากและความต้องการที่เกิดขึ้นกับชีวิต จึงจะต้องเริ่มต้นที่ใจ โดยการปรับสภาพจิตใจให้กล้าแกร่ง ด้วยการส่งเสริมสุขภาพใจของตนให้เข้มแข็ง ไม่ให้อ่อนแอ ด้วยวิธีการดังนี้
                ๑.ควบคุมอารมณ์ คือไม่ด่วนดีใจ เสียใจ หรือขาดสติ เมื่อมีเหตุใดๆ มากระทบอารมณ์ ให้หมั่นเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าคนที่กลัวเสียศักดิ์ศรีคือคนมีปมด้อย คนขาดเหตุผลคือคนโง่ และคนที่ไม่รู้จักให้อภัยคือคนเห็นแก่ตัว
                ๒.สะสมไมตรี คือฝึกมองผู้อื่นในแง่ดีไว้ จะทำให้สร้างมิตรได้ง่าย ควรจำไว้ว่าคนเราย่อมมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ไม่มีใครสมบูรณ์ไปในทุกด้าน
                ๓.ไม่หนีอุปสรรค การดำเนินชีวิตย่อมมีอุปสรรคบ้างเป็นธรรมดา คือจะต้องพบปัญหา พบความขลุกขลักขัดข้อง จึงไม่ควรยอมแพ้หรือหนีอุปสรรคง่ายๆ แต่ควรจะพยายามอดทน ใช้เหตุผลแก้ไข และผ่อนปรนไปตามสถานการณ์
                ๔.รู้จักฝึกใจ ต้องหมั่นฝึกจิตใจให้มีความมั่นคงเที่ยงธรรม ด้วยการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นพยายามเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ไม่ถือความคิดของตนว่าถูกต้องเสมอไป พร้อมกันนั้นไม่ดูถูกเหยียบย่ำความคิดของผู้อื่น
                ๕.ใฝ่เสริมคุณค่า คือการสร้างคุณค่าให้ตนเอง โดยการทำตนให้เป็นประโยชน์ หาโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นหรือส่วนรวมด้วยความจริงใจไม่หวังผลตอบแทน
                ๖.หาความสงบสุข ชีวิตจะมีความสุขได้ ถ้าเรารู้จักลดความตึงเครียด หมั่นออกกำลังกายและแสวงหาความสงบด้วยการฝึกจิตใจให้เบาสบายด้วยการปฏิบัติสมาธิเสมอๆ
                เมื่อดำเนินการตามวิธีการดังกล่าว คือ ควบคุมอารมณ์ สะสมไมตรี ไม่หนีอุปสรรค รู้จักฝึกใจ ใฝ่เสริมคุณค่าและหาความสงบสุข ชีวิตก็จะมีแต่ความสงบและความสุขอย่างแท้จริง

..................................

มือ


                มือ คืออวัยวะที่ต่อจากแขน มือมีความสำคัญต่อชีวิตคนเราเป็นอย่างยิ่ง เป็นอวัยวะที่ช่วยในกิจการแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เราใช้มือล้างหน้า อาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร ช่วยทำงานต่างๆ หยิบหนังสืออ่าน เขียนหนังสือ ขับรถ เราใช้มือทำงานทั้งงานหนักงานเบาแทบจะไม่มีเวลาหยุดพัก แม้เวลาพักผ่อนนอนหลับบางครั้งมือก็ยังต้องทำงานตามคำสั่งจิตไร้สำนึก เช่น ช่วยเกาตรงที่คัน เรียกว่างานในการดำเนินชีวิตของคนเราจะหนักหนาสาหัสเพียรไร มือทั้งสองก็ไม่เคยเกี่ยงหรือหลบเลี่ยงงานแต่ประการใด
                ในสังคมของคนเรา โดยเฉพาะสังคมครอบครัว ผู้ที่เป็นหลักของครอบครัวคือสามีภรรยา ท่านเปรียบหญิงเหมือนมือซ้าย ชายเหมือนมือขวา ต่างช่วยกันสร้างสรรค์ความสุขความเจริญให้แก่ครอบครัว ให้เกียรติกัน เคารพนับถือกัน ช่วยกันทำงานหรือรับผิดชอบในหน้าที่การงานของตนให้เรียบร้อย ในลักษณะ “ผัวหาบเมียคอน ผัวนอนเมียหนุน” ปากกัดตีนถีบไปด้วยกัน ไม่นานทรัพย์สินพูนทวี ครอบครัวมีความสุข หากฝ่ายหนึ่งทำงาน อีกฝ่ายหนึ่งสุรุ่ยสุร่ายไม่รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ คบคนชั่วเป็นมิตร ติดอบายมุข จะเกิดการขัดแย้ง ทะเลาะวิวาทกัน แทนที่จะเป็น “ผัวหาบเมียคอน ผัวนอนเมียหนุน” ก็จะกลายเป็น “ผัวเตะเมียด่า ผัวบ้าเมียบอ” แล้วครอบครัวจะอยู่สุขได้อย่างไร สามีภรรยาที่ดีจึงควรถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน เมื่อยามสุขสุขด้วยกัน เมื่อยามทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน ดังพระนางมัทรีในเรื่องพระเวสสันดรที่ว่า “ยามสมบูรณ์ก็ร่วมยศ คราอัปยศก็ไม่ขอย้าย ไม่เป็นฉาบหลายฉิ่ง ไม่เป็นหญิงหลายชาย” ต่างรักใคร่ปองดองกันดังคติที่ว่า
                                                น้ำภักดิ์   จงรัก  สัตย์ซื่อ
                                                น้ำมือ ร่วมแรง  ทำกิจ
                                                น้ำคำ  ฉ่ำหวาน  สมานมิตร
                                                น้ำจิต  เมตตา  อารี
                เมื่อทำได้อย่างนี้ สามีภรรยาก็คือมือที่สร้างครอบครัวให้เป็นสวรรค์บนดิน และที่สำคัญ โปรดระวัง...! ท่านอย่าได้เป็นมือมารผลาญทรัพย์ หรือมือพิฆาตฆ่าความสุขในครอบครัวเสียเองก็แล้วกัน

..................................

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

มนุษย์


                คำว่า “มนุษย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ให้ความหมายว่า สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล สัตว์ที่มีจิตใจสูง คน
                นักปราชญ์ทางศาสนาได้เสนอทัศนะ ความเหมือนและความต่างกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ไว้ว่า การกินอาหาร การพักผ่อนหลับนอน การหลบหลีกภัยอันตราย การประกอบกามกิจระหว่างเพศ ๔ อย่างนี้ มีเหมือนกันทั้งคนสัตว์ ธรรมะเท่านั้นที่ทำให้คนกับสัตว์แตกต่างกัน ถ้าปราศจากธรรมะเสียแล้ว คนกับสัตว์ก็เสมอกัน มนุษย์จะเป็นผู้มีเหตุผล หรือจะมีจิตใจสูงได้ ควรจะมีธรรมะอย่างน้อย ๒ ประการคือ
                ๑. สติ แปลกันว่าความรู้สึกตัว คือกิริยาที่จิตจดจ่ออยู่กับการกระทำ หรือพฤตกรรมทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ ทั้งในส่วนที่ผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งส่วนที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งส่วนที่จะเป็นไปในอนาคต โดยรู้เท่าทันพฤติกรรมนั้น ตามที่เป็นจริง สติทำให้จิตแนบอยู่กับพฤติกรรมตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้อารมณ์ร้ายเข้ามาคอบงำ
                ๒.ปัญญา แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ
                                ประเภทที่หนึ่ง เกิดจากการศึกษา การอ่าน การฟัง การดูตัวอย่างเรียกว่า สุตมยปัญญา
                                ประเภทที่สอง เกิดจากการใช้เหตุผล การคำนึงคำนวณ การนำเหตุนำผลมาปรับให้เข้ากัน เรียกว่า จินตามยปัญญา
                                ประเภทที่สาม เกิดจากเจนจัดต่อเหตุการณ์ที่พบผ่าน หรือที่เรียกว่าประสบการณ์ โดยเฉพาะทางศีลธรรม ทำให้เกิดปัญญาชนิดนี้ เช่น ความทุกข์เกิดอย่างไร เป็นต้น เราไม่ต้องอ่านจากใคร เราอ่าน ความรู้สึกได้จากใจ พิจารณาลงไปในความจริงที่กำลังเป็นอยู่ หรือที่ผ่านมาแล้ว เป็นปัญญาอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากอบรมจิตใจ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา
                เมื่อประกอบด้วยธรรมะ คือ สติและปัญญาดังกล่าว คนก็จะแตกต่างจากสัตว์ คือมีจิตใจที่พัฒนาสูงกว่าสัตว์ สมควรเรียกได้ว่ามนุษย์ ซึ่งแปลว่า ผู้มีใจสูง เพื่อความไม่ประมาท เราท่านจึงควรสำรวจตัวเองไว้เสมอๆ ว่า ยังมีสติและปัญญาบริบูรณ์ดียู่ หรือเปล่า ทั้งนี้ เพื่อรักษาสถานภาพความเป็นมนุษย์ไว้ ให้ได้ตลอดไป

.......................................

สามดี


                ในนาทีสุดท้ายก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำนักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตไปสู่แดนประหารนั้น เจ้าหน้าที่จะถามคำถามสุดท้ายกับนักโทษจนเป็นกลายเป็นธรรมเนียมว่า “จะสั่งความไปบอกลูกเมียอย่างไรบ้าง” และเขาจะถือว่าคำสั่งสุดท้ายก่อนตายนั้นมีความสำคัญที่สุด เจ้าหน้าที่จะต้องพยายามทำตามที่เขาสั่ง ผลปรากฏว่า นักโทษทุกคนเมื่อสั่งความไปบอกลูกนั้น มักกล่าวเป็นแนวทางเดียวกันว่า “ขอให้ลูกประพฤติตนเป็นคนดี อย่างเอาอย่างพ่อเป็นอันขาด” จะเห็นได้ว่าความดีนั้นเป็นยอดปารถนาของนักโทษประหารทุกๆ คน ถึงแม้จะเคยทำความผิด ความชั่วถึงขนาดต้องโทษประหาร แต่จริงๆ ในส่วนลึกของหัวใจของเขาเหล่านั้นก็ยังต้องการความดี อยากเห็นความดี  ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงความดีไว้ ๓ ประการ ที่ผู้ต้องการดีจะต้องปลูกฝังอบรมให้มีในตน คือ
                ๑. รู้ดี โดยวิธีสากลที่ทำกันอยู่เป็นพื้นคือ การศึกษาจากแหล่งต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดสติปัญญาเข้าใจรู้จักสิ่งต่างๆ ในโลกได้ดียิ่งขึ้น ช่วยส่องเหตุส่องผล ส่องผิดส่องถูก คอยกำจัดความมืดมนให้แก่ชีวิต จึงถือได้ว่า รู้ดี เป็นแสงสว่างคอยอำนวยช่วยประคองตนให้ดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาด ดังพุทธภาษิตที่ว่า สุวิชาโน ภะวัง โหติ มีความหมายว่า ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ
                ๒. สามารถดี ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงสมรรถภาพที่มีอยู่ในตน ในเรื่องการดำเนินชีวิตและการทำงานทั้งงานที่สร้างสรรค์ คือ งานที่ต้องทำให้เกิดใหม่ ใช้ประโยชน์ได้มีคุณภาพสูง และงานที่ซ่อมแซม คือสิ่งที่เสื่อมโทรม ต้องแก้ไขปรับปรุงให้มีคุณภาพดี นำไปใช้ประโยชน์ได้อีก คนที่มีความสามารถจึงเป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไป
                ๓. ประพฤติดี หมายถึง พฤติกรรมที่แสดงออกทาง กาย วาจา ใจ คอยประคองควบคุมให้เป็นไปอย่างมีกฎเกณฑ์ ตามกฎหมายบ้านเมืองและกฎแห่งศีลธรรม ไม่ให้เป็นไปในทางก่อความเสียหายแก่ใครๆ  
                ความดีทั้ง ๓ ประการนี้ รู้ดี จะเกิดมีเพราะการศึกษา สามารถดี เกิดจากการฝึกฝน ส่วนประพฤติดี เกิดจากการสำรวม ดังนั้นเมื่อทุกคนต้องการความดี อยากจะเป็นคนดี ก็ขอให้ช่วยกันปลูกฝังเหตุปัจจัยของความดี ด้วยการศึกษา ฝึกฝน สำรวมตนกันเสียในอันดับแรก

.......................................

สุขกับงาน


                วันหนึ่งๆ แต่ละคนมีหน้าที่การงานที่จะต้องทำมากมาย ถ้าทำงานแล้วไม่มีความสุข ความเบื่อหน่าย ความเซ็ง ก็จะเกิดขึ้น และจะเป็นผลเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่การงานนั้นๆ
                ถ้าเรามีวิธีคิด มีวิธีทำใจ ถึงงานจะหนัก อุปสรรคจะมี ก็สามารถทำงานให้สนุก มีความสุขในการทำงานได้ ด้วยอุบาย หรือวิธีดังต่อไปนี้
                ๑. อย่าทำงานด้วยความจำใจ ทำสักแต่ว่าทำ ทำเพราะถูกสั่งให้ทำให้เสร็จไป โดยไม่มีความรัก ความพอใจและตั้งใจที่จะทำด้วยความจริงใจ
                ๒. เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงาน อย่าอ้างว่าไม่ถนัด ไม่มีพรสวรรค์ในงานนั้น ไม่เคยทำ จงใช้พรแสวงด้วย ฉันทะ-ความพอใจในงาน วิรยะ-ความตั้งใจทำงาน จิตตะ-ความเต็มใจในการทำงาน วิมังสา-ความเข้าใจในการทำงาน
                ๓. อย่าทำงานด้วยความหวัง ยากได้สิ่งแลกเปลี่ยน เช่น ทำงานเพราะหวังจะได้รับคำชม หวังได้รับบำเหน็จ๒ ขั้น  จงทำเพื่อให้งานสำเร็จตามความตั้งใจ ด้วยความสามารถอย่างเต็มที่
                ๔.เมื่อทำดีแล้วยังไม่มีใครเห็นความดี ให้คิดเสียว่า “นานดีนะมันดี เพราะถ้าดีแล้วนาน” ให้ยึดมั่นยืนหยัดทำความดีต่อไป อย่าหวั่นไหว
                ๕. เมื่อมีปัญหาหรืออุปสรรค ไม่ควรท้อถอยหรือยอมแพ้ ให้เผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคด้วยความกล้าหาญ ให้คิดว่า “ปัญหาทำให้ก้าวหน้า มารไม่มี บารมีไม่แก่กล้า”
                ๖. หัดเป็นคนได้เป็น-เสียเป็น เพราะในชีวิตเรามีได้-มีเสีย มีเจริญ-มีเสื่อม มีรุ่งเรือง-มีตกต่ำ ไม่แสดงอาการดีใจจนเกินไปเมื่อได้ และไม่แสดงอาการเสียใจจนเกินไปเมื่อเสีย
                ๗. มองทางโลกให้มองต่ำ มองทางธรรมให้มองสูง มองทางโลก คือมองเรื่องภายนอกทั่วๆ ไป เช่น รูปร่าง หน้าตา การศึกษา ฐานะ คนที่ด้วยกว่าเรา ลำบากกว่าเรา ยังมีอยู่ อย่าได้ท้อแท้ มองทางธรรม คือมองเรื่องจิตใจ คุณความดี คนที่ปฏิบัติดีกว่าเรายังมีอีกมาก เรายังต้องพัฒนาปรับปรุงตนให้ดียิ่งขึ้นอีก
                ทุกคนเมื่อออกไปยืนกลางแดด ก็ต้องร้อน ไปยืนกลางฝน ก็ต้องเปียก แต่ยังมีคนที่ไม่เป็นทุกข์กับการที่ต้องตากแดดตากฝน เพราะเขามีวิธีคิด วิธีทำใจ การทำงาน ก็เช่นกัน ถ้าเรามีวิธีคิด วิธีทำใจ ก็สามารถทำงานให้สนุก มีความสุขในการทำงานได้ ไม่มีอะไรน่าเบื่อน่าเซ็ง ถ้าเราไม่เบื่อหน่าย ไม่เซ็งงานเสียเอง
...................................

เคล็ดลับอายุยืน


                มีข้าราชการจำนวนไม่น้อย ขณะที่ยังรับราชการอยู่มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง แต่พอปลดเกษียณได้ไม่นานกลับหมดเรี่ยวแรง ป่วยกระเสาะกระแสะ บางรายถึงกับเสียชีวิตไปในเวลาอันสั้น ทั้งๆ ที่น่าจะมีชีวิตอยู่ทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัว สังคมและประเทศชาติได้อีกหลายปี ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่มีอายุยืนยาวอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน น่าคิดว่าอะไรเป็นกลไกสำคัญในเรื่องนี้ มีผู้รู้กล่าวว่า ผู้สูงอายุหรือผู้ที่เกษียณแล้ว มีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากความวิตกกังวลไปต่างๆ นานา รวมถึงความรู้สึกเหงาหงอยว้าเหว่ คิดไปว่าหมดความหมายแล้ว มีแต่ความว่างเปล่าไร้ค่า ส่วนผู้ที่มีชีวิตอยู่ยาวนานกว่า มักจะเป็นผู้ที่มีความคิดที่ตรงกันข้าม ตามหลักการแพทย์กล่าวว่า หากประสงค์จะมีสุขภาพที่ดีและมีอายุยืนยาว จะต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ที่อยู่อาศัยต้องสะอาดมีอากาศบริสุทธิ์ถ่ายเทได้สะดวก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมาะสมตามเพศและวัย ขับถ่ายให้เป็นเวลา และควบคุมอารมณ์ให้สงบเยือกเย็นอยู่เสมอ ส่วนในทางพระพุทธศาสนานอกจากจะสนับสนุนความเชื่อในทางโลกแล้ว ยังสอนเกี่ยวกับเคล็ดลับที่ทำให้อายุยืนยาวไปอีก โดยให้ยึดหลักอิทธิบาท ๔ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์เถระว่า ถ้าพระองค์ปรารถนาจะอยู่ตลอดกัปก็อยู่ได้โดยการเจริญอิทธิบาท (กัป หมายถึงกำหนดอายุของมนุษย์ในสมัยพุทธกาล เท่ากับ ๑๒๐ ปี ) การเจริญอิทธิบาท ๔ ได้แก่
                 ฉันทะ-ความพอใจหรือรักที่จะอยู่ต่อไปเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ตลอดจนมีงานหรือกิจกรรมที่ดีงาม ที่ใจใฝ่รักต้องการจะทำไว้สักอย่างหนึ่ง เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมการกุศล การเจริญสมาธิภาวนา
                วิริยะ-ความพากเพียรพยายามในการทำงานนั้นอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย กล้าสู้ไม่ท้อแท้หรือกลัวความลำบาก
                จิตตะ-ให้มุ่งหมายไม่วอกแวก หรือกังวลใดๆ มีความตั้งใจจริงที่จะประคองให้ชีวิตดำเนินไปอย่างมีความสุข
                วิมังสา-ความเข้าใจในการดำเนินชีวิต มีจิตใช้ความคิดพิจารณาตรวจสอบ ทดลอง ที่สำคัญให้สนุกกับงาน หรือสิ่งที่เรารัก มีความเพลิดเพลินเบิกบานร่างเริงแจ่มใส โดยไม่เปิดช่องให้แก่ความคิดวิตกกังวลใดๆ ที่เกิดขึ้นในใจ
                ถ้าไม่มีวิบากกรรมหนักในอดีต หรือในปัจจุบันมาตัดรอน ผู้เจริญอิทธิบาท ๔ อย่างสมบูรณ์ก็จะมีอายุยืนยาวแน่นอน

.....................................

ศีลห้ากับการพัฒนาสังคม


                ปัจจุบันชีวิตความเป็นอยู่ของคนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของโลก ดูเหมือนว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะไม่หยุดยั้ง แต่ทว่าในขณะที่วัตถุเจริญขึ้น แต่คนกลับมีจิตใจเสื่อมลงและสังคมก็มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาขึ้นเรื่อยๆ
                พระพุทธศาสนาได้วางหลักการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมไว้ ๕ อย่าง เรียกว่า ศีล ๕ ได้แก่
                ๑. งดเว้นจากการฆ่า  ความปลอดภัยในชีวิตเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ ที่มนุษย์ต้องการ ศีลข้อนี้มุ่งเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่เบียดเบียนชีวิตของกันและกัน
                ๒. งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่คนอื่นมิได้ให้  ความรักความหวงแหนในทรัพย์สินเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน ศีลข้อนี้มุ่งให้คนเลี้ยงชีพโดยสุจริต ให้ขยันทำงาน ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินของกันและกัน
                ๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม  ปัจจุบันปัญหาครอบครัวมีมากมาย เช่นปัญหาหย่าร้าง ชู้สาว โสเภณีเด็ก ล้วนมีสาเหตุมาจากความไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอในทางกามและล้วนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนในครอบครัว นำไปสู่ปัญหาระดับชาติ ศีลข้อนี้มุ่งส่งเสริมให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัว และนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศชาติต่อไป
                ๔. งดเว้นจากการพูดเท็จ  ปัจจุบันสังคมอยู่กันด้วยความหวาดระแวง ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันเพราะการกล่าวเท็จต่อกัน หลอกลวงกันด้วยเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ ศีลข้อนี้มุ่งให้เกิดการคบค้าสมาคมที่ดีโดยเน้นให้เป็นสังคมที่มีความจริงใจต่อกันและกัน
                ๕. งดเว้นจากการเสพของมึนเมา  แม้มนุษย์จะอยู่เป็นปกติสุขไม่มีปัญหาทางด้านสวัสดิภาพในชีวิตทรัพย์สิน ครอบครัว และสังคมแล้วก็จริง แต่สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะขาดไม่ได้คือการพัฒนาปัญญา การจะพัฒนาปัญญาให้เกิดได้ดี จะต้องดำรงชีวิตให้ปกติ มีสติคุ้มครองตน เว้นสิ่งเสพติดอันเป็นเหตุทำลายปัญญา และเป็นเหตุสร้างปัญหา ศีลข้อนี้มุ่งเสริมสร้างปัญญาและขจัดปัญหาให้หมดสิ้นไป
                เพียงศีล ๕ ข้อเท่านี้ ถ้าแต่ละคนปฏิบัติให้ได้จริง ก็จะช่วยพัฒนาสังคมได้จริงๆ

.....................................