วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2557

หลักธรรมสำหรับผู้นำ


                การปกครองโดยทั่วไป จำเป็นต้องมีผู้นำเสมอ เพราะว่าผู้นำเป็นสัญลักษณ์แห่งความอยู่รอดของผู้ตาม รับภาระหน้าที่นำคนในสังคมของตนให้รอดพ้นอุปสรรคและอันตรายทั้งปวง เพื่อให้บรรลุถึงซึ่งฝั่ง คือความเจริญรุ่งเรืองและความร่มเย็นเป็นสุข ในทางพระพุทธศาสนาได้กำหนดหลักธรรมของผู้นำไว้ ๖ ประการคือ
                ๑.ขะมา มีความอดทน อดกลั้นไม่หวั่นไหว ผู้นำต้องใช้ความอดทนโดยยึดหลักที่ว่า อด คืออดต่อการว่ากล่าวถากถาง และความลำบากตากตำ และทน คือทนด้วยความไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ
                ๒.ชาคะริยะ มีความระมัดระวัง ผู้นำต้องปกป้องผองภัยให้แก่บริษัท บริวารของตน ต้องเป็นผู้มีสายตากว้างไกล มองรอบด้าน เห็นการณ์ไกล รู้เหตุเภทภัยที่จะเกิดหรือเกิดขึ้นแล้ว เพื่อหาทางป้องกันหรือกำจัดเสีย
                ๓.อุฏฐานะ มีความขยันหมั่นเพียร ผู้นำต้องขยันขันแข็ง ไม่กลัวความลำบาก มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่ในการทำงาน ไม่ท้อถอย ยิ่งยากยิ่งอยากทำ ยิ่งลำบากยิ่งมุมานะ ยิ่งมีสิ่งยั่วยิ่งเข้มแข็งอดทน
                ๔.สังวิภาคะ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ผู้นำต้องเป็นคนมีน้ำใจ พร้อมที่จะให้ ไม่ใช่มุ่งแต่จะเอา
                ๕.ทะยะ มีความเอ็นดู ผู้นำต้องเป็นคนมีใจการุณ สร้างความอบอุ่นให้เกิดแก่ผู้ที่อยู่ในปกครองของตน
                ๖.อิกขะนา หมั่นตรวจตรา ผู้นำต้องพาตนเข้าไปใกล้ชิดกับงานที่รับผิดชอบ หากมีข้อเสียหาย ขาดตกบกพร่องจะได้รู้ทัน และสามารถหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที
                ทั้งหมดคือความประเสริฐของผู้นำที่ยึดหลักธรรมดังกล่าวได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด หรือมีคำกลอนดังว่า
                                                     ความมีใจไมตรีอารีเอื้อ                นั้นช่วยเหลือให้มีมิตรสหาย
                                                กิริยาพาทีไม่หยาบคาย                       คนทั้งหลายชอบชิด สนิทตน
                                                อีกมีใจเมตตาการุณยภาพ                  จะเอิบอาบไปทั่วทุกแห่งหน
                                                ถ้ามีความชอบธรรมจำนำตน            ไปสู่ผลความดีเป็นศรีเอย

..................................

ผู้นำ


                ผู้นำในทุกระดับ มักจะมีคนอยู่เบื้องหลัง หรือคนใกล้ชิดในตำแหน่งเลขานุการ หรือที่ปรึกษา งานของผู้นำโดยส่วนใหญ่จะเจริญก้าวหน้าหรือถอยหลัง บางครั้งขึ้นอยู่กับบุคคลใกล้ชิดเหล่านี้ เรื่องบางเรื่องที่ผู้นำไม่สามารถแก้ไขหรือตัดสินใจได้ บ่อยครั้งที่การแก้ไขหรือการตัดสินใจเกิดจากคำแนะนำและการตัดสินใจของบุคคลใกล้ชิดเหล่านี้ หากผู้นำมีคนใกล้ชิดที่มีความรู้ดี ความสามารถดี และมีคุณธรรม ก็ถือว่าโชคดี ถ้าได้คนใกล้ชิดที่มีลักษณะในทางตรงกันข้าม ผลงานก็ออกมาในทางไม่ดีและไม่สามารถไปตลอดรอดฝั่งได้ ดังนั้นผู้นำจึงควรมีกุศโลบายหรือหลักในการดำรงตน โดยขอแนะนำไว้ ๔ วิธี คือ
                ๑.ปากจู๋ คือพูดน้อย
                ๒.หูกว้าง คือฟังมาก
                ๓.ตาโต คือดูให้ถ้วนถี่
                ๔.โง่เป็น คือ รู้แต่เป็นทำไม่รู้เสียบ้าง
                นี่เป็นกุศโลบายที่สามารถทำให้ผู้นำมีความรู้ มีสติ มีปัญญา มีหูตากว้างไกล และสามารถแสวงหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมไว้เป็นคนใกล้ชิดได้ในระดับที่ต้องการได้ ดังนั้นความสามารถของผู้นำประการแรกสุดและสำคัญสุด จึงอยู่ที่การรู้จักเลือกคนและใช้คนให้เหมาะสมนั่นเอง โดยมีหลักพอแนะนำในการเลือกได้ดังนี้
                                คนดี คือคนที่ไม่นำไปสู่ส่วนเกิน
                                คนเก่ง คือคนที่ไม่เพลิดเพลินกับความเก่งของตนเอง และอบายมุข
                                คนกล้า คือคนที่ไม่ซุกตัวอยู่กับการกระทำที่ชั่วร้าย
                                คนมีค่ามีประโยชน์ คือคนที่รักและพร้อมให้อภัยแก่ทุกคน

..................................

ตาย


                ท่านที่ไปร่วมฟังสวดพระอภิธรรม คงเคยเห็นตาลปัตร ๔ ด้าม ที่พระสงฆ์ใช้ขณะสวด ปักเป็นข้อความด้ามละวรรคเรียงกันไปว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” ทั้งหมดจะเกี่ยวกับความตายทั้งนั้น ความตายเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตต้องประสบ หลบไม่ได้ เลี่ยงไม่พ้น แม้ว่าจะไม่มีใครปรารถนาแต่ก็ต้องพบ
                เมื่อเรารู้ว่าถึงอย่างไรก็ต้องตาย แล้วจะทำอย่างไร ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวสอนไว้ว่าการตาย เป็นหน้าที่ของสังขารอย่างไม่มีทางเปลี่ยนแปลง แก้ไข นอกจากต้อนรับให้ถูกวิธี มีคติอุทาหรณ์ที่ดีและการมีชีวิตอยู่อย่างมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เป็นหน้าที่ของผู้ที่ยังไม่ตายและรู้หน้าที่ของตน...
                การคิดถึงความตายหรือการไปร่วมงานศพ อาจจะทำให้จิตใจเศร้าสลดหดหู่ แต่หากมองในแง่ของธรรมะ ก็มีสาระให้ความคำนึงได้ ดังนี้
                ๑.ได้เห็นความดี เห็นคุณค่าแห่งชีวิตปรากฏชัดขึ้น อันก่อให้เกิดความอาลัยรัก เสียดายเมื่อตายจาก
                ๒ได้ความสามัคคีปรองดอง เกิดความเห็นใจ เข้าใจ ไม่ทอดทิ้งหรือนิ่งดูดาย
                ๓.มองเห็นสัจธรรม ว่าทุกอย่างต่างมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และช่วยให้มีสติ ได้ความสำนึกที่ดี
                ๔.รีบทำที่พึ่งแก่ตน โดยยึดเอาคนตายเป็นเครื่องเตือนตนให้เร่งละชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ ไม่ประมาทเมามัว คิดว่าตัวยังไม่ตาย ตรงตามพุทธภาษิตว่า “เพียรทำความดีเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าพรุ่งนี้จะตายหรือยังอยู่” คิดในแง่นี้ ความตายก็มีประโยชน์ คือเป็นตัวเร่งให้เราขยันทำความดี ทำหน้าที่ให้หมดจดเรียบร้อย  ดังนั้น เราท่านทั้งหลายจงรีบขวนขวายหาที่พึ่ง และเตือนตนไว้เสมอว่า
เกิดมาจงสร้าง แต่ความดี

..................................

มนุษย์-ภูเขาไฟ


                ภูเขาไฟ เมื่อสังเกตจากรูปลักษณ์ภายนอก ก็ดูเหมือนจะไม่แตกต่างจากภูเขาธรรมดาทั่วไป แต่ในความเป็นจริง ภูเขาไฟต่างจากภูเขาประเภทอื่นเป็นอย่างยิ่งตรงที่มีไฟ หรือลาวา ที่ร้อนแรงอยู่ภายใน ขณะที่ภูเขาอื่นไม่มี เมื่อใดที่ภูเขาไฟยังไม่ระเบิด หรือไม่มีอาการส่อว่าจะระเบิด ก็มองไม่ออก มีต้นไม้ นานาพันธุ์ขึ้นอยู่เขียวขจีหรือไม่ก็มีหิมะปกคลุมในหน้าหนาวขาวโพลนไปทั่ว แต่เมื่อใดเกิดการระเบิด เมื่อนั้นจึงจะรู้ได้โดยประจักษ์ชัดว่าเป็นภูเขาไฟ ความร้อนและลาวาที่ถูกพ่นออกมา นอกจากจะทำให้ภูเขาต้องระเบิดทำลายตัวเองแล้ว ยังเผาไหม้หลอมละลายสร้างความเสียหายให้แก่ต้นไม้ สัตว์ป่า สิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ก็ประสบภัย ทำให้เดือดร้อนไปตามๆ กันอีกด้วย
                ผู้คนที่เราพบเห็นอยู่ในสังคมก็เช่นกัน ดูจากภายนอกหรือสัมผัสเพียงผิวเผินก็เห็นเป็นบุคคลปกติธรรมดาไม่ต่างจากใครอื่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภายในร่างกายของคนที่มีความละม้ายคล้ายกันในทางรูปธรรมนั้น ย่อมมีสิ่งหนึ่งที่ต่างกันมาก และไม่สามารถสังเกตจากรูปร่างภายนอกได้ สิ่งนั้นคือจิตใจ คนบางคนมีรูปร่างหน้าตาบุคลิกดีมีฐานะดี แต่งตัวดี ตำแหน่งหน้าที่การงานดี มียศมีศักดิ์ในสังคม ดูแล้วชีวิตน่าจะสมบูรณ์พูนสุข แต่ในความเป็นจริงยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ดูปกติดีแต่ภายนอก ส่วนภายในจิตใจเร่าร้อนระอุคุกรุ่น ไม่ต่างจากภูเขาไฟพร้อมที่จะระเบิดอยู่ตลอดเวลา อันเนื่องมาจากไฟคือกิเลส ได้แก่ความละโลภมาก ความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท และความลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งที่ผิด ตลอดจนการปล่อยตัวปล่อยใจให้จมอยู่กับสิ่งที่พระท่านเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ กล่าวคือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และความทุกข์ร้อนต่างๆ สภาพเหล่านี้เป็นเสมือนไฟสุมอก เร่าร้อนรุนแรงกว่าความร้อนของภูเขาไฟหลายเท่านัก
                ใครที่ตกอยู่ในลักษณะเย็นนอกร้อนในเช่นนี้ พึงทราบว่า ท่านกำลังมีสภาพไม่ผิดอะไรกับภูเขาไฟ ลูกหนึ่งถ้าควบคุมไม่ได้ ก็อาจจะระเบิดออกมาได้ทุกขณะ จึงควรรีบแก้ไขดับร้อนนั้นเสียโดยเร็ว คือให้ดับไฟโลภด้วยการให้ ดับไฟโกรธด้วยการแผ่เมตตา ดับไฟหลงด้วยปัญญา และดับความหมองไหม้กระวนกระวายด้วยสมาธิโดยสรุปก็คือ ใช้เย็นดับร้อน ใช้ธรรมดับทุกข์ เหมือนใช้น้ำดับไฟ ก่อนที่จะระเบิดพินาศย่อยยับ เหมือนการระเบิดของภูเขาไฟฉันนั้น

..................................

บารมีสิบ

               พระพุทธศาสนามีหลักธรรมหมวดหนึ่งเรียกว่า บารมีหรือบารมีธรรม คือคุณความดีที่ควรบำเพ็ญเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ดีงาม บารมีนี้เป็นคู่ปรับอธรรม ท่านจัดเป็นคู่ๆ ไว้ ๑๐ คู่ คือ
                ๑.ทานบารมี การเสียสละ การบริจาค คู่ปรับของความตระหนี่
                ๒.ศีลบารมี การมีศีล คู่ปรับของการไม่มีศีล
                ๓.เนกขัมมบารมี ความสงบระงับจากการถูกกามารมณ์เบียดเบียนแม้ชั่วขณะจิต คู่ปรับของความฟุ้งซ่านตามกระแสของกามารมณ์
                ๔.ปัญญาบารมี การรู้เห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ คู่ปรับของอวิชชาคือความรู้เห็นที่ผิดพลาดจากความเป็นจริง
                ๕.วิริยบารมี ความพากเพียรพยายามในทางที่ถูกต้อง คู่ปรับของความเกียจคร้านในการงานที่ถูกต้อง
                ๖.ขันติบารมี ความอดทน อดกลั้น ต่อสิ่งที่ไม่พอใจ คู่ปรับของความโกรธ
                ๗.สัจจบารมี รักษาความจริง ความถูกต้อง ตามครรลองคลองธรรม คู่ปรับของคำพูดจามดเท็จ
                ๘.อธิษฐานบารมี การตั้งใจแน่วแน่ในหน้าที่การงานที่กระทำ คู่ปรับของความโลเล ความไม่ตั้งใจจริงในหน้าที่การงานที่กระทำ
                ๙.เมตตาบารมี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอื้ออาทรต่อผู้อื่น คู่ปรับของความอาฆาตมาดร้ายต่อผู้อื่น
                ๑๐.อุเบกขาบารมี ความวางใจเป็นกลาง ไม่โอนเอียงไปเข้าข้างใดข้างหนึ่ง คู่ปรับของอคติ ความลำเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
                คราวใดอธรรมเกิดขึ้นในใจ ต้องพยายามใช้บารมีข้อใดข้อหนึ่งเป็นคู่ปรับกันให้ทันกาลเวลา ถ้าปฏิบัติได้แล้ว จะมีชัยชนะทุกคราวที่บารมีเกิดขึ้น เมื่อฝึกบ่อยๆ ก็จะสามารถชนะอธรรมได้มากขึ้น ซึ่งก็คือประสบความสำเร็จได้มากขึ้นนั่นเอง

...................................