วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557

พละ


                พละ แปลว่ากำลัง เป็นพรข้อที่ ๔ และเป็นข้อสุดท้ายในจตุรพิธพร มนุษย์ทุกคนถ้ามีพละกำลังน้อยหรือหมดแรง ความเป็นอยู่ก็จะจืดชืด ไม่มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงกายมากๆ เช่น อาชีพกรรกรแบกหาม เป็นต้น ถ้าขืนไปหมดแรงขณะที่กำลังแบกหามหรือกำลังทำงานอยู่ นายจ้างคงไล่ออกแน่นอน
                พระพุทธศาสนามุ่งเน้นไปในทางปฏิบัติและฝึกฝน ดังคำพระพุทธศาสนสุภาษิตว่า “ในหมู่มนุษย์เรานี้ คนที่ฝึกแล้วเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐที่สุด” แม้แต่พระสงฆ์ท่านสวดมนต์ให้พรก็ว่า “ขอให้ท่านจงเจริญด้วยพละกำลัง” เราต้องฝึกฝนตนเองทั้งด้านกำลังทางกายและกำลังทางใจ คือ
                ด้านกำลังกาย เราต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนด้านกำลังใจ พระพุทธศาสนาได้วางหลักปฏิบัติไว้ ๕ แนวทาง คือ
         ๑. สัทธา  มีความเชื่อมั่น คือเชื่อว่าสิ่งที่เราจะทำ พูด คิด เป็นเรื่องอยู่ในวิสัยที่เราสามารถทำได้
         ๒. วิริยะ คือฝึก ทำ คิดบ่อยๆ ถ้าปฏิบัติครั้งเดียวไม่สำเร็จต้องทำหลายๆ ครั้งจนกว่าจะสำเร็จ
         ๓. สติ คือรู้สึกตัวทุกขณะจิต รู้สึกตัวขณะปฏิบัติกิจที่ทำ คำที่พูด และเรื่องที่คิด
         ๔. สมาธิ คือ มีความรอบรู้ รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรชั่ว รู้ว่าทำเหตุอย่างนี้ผลจะเป็นอย่างไร เห็นผลอย่างนี้แล้วรู้ว่ามาจากเหตุอะไร แล้วสามารถ ทำ พูด คิด ให้เกิดผลที่ถูกต้องดีงามขึ้นมาได้
                หลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดพละกำลัง ทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นสิ่งที่ผู้หวังจะมีกำลัง จำต้องฝึกฝนให้เกิดมีในตนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งต้องฝึกฝนสร้างสมให้เกิดมีขึ้นพร้อมบริบูรณ์ทั้ง ๕ มิใช่มีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง พละกำลังที่ต้องการจึงจะเกิดมีขึ้นได้อย่างสมบูรณ์
                มนุษย์ในโลกนี้ หากสมบูรณ์ทั้งกำลังกายและกำลังใจแล้ว จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นสุข แม้แต่ทำงานหนักก็ยังเป็นสุข ดังนั้น พละจึงเป็นสิ่งประเสริฐที่น่าปรารถนาโดยแท้
..........................................

สุขะ


       อันตัวเรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น และด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงจัด “ความสุข” ว่าเป็นสิ่งประเสริฐที่บุคคลทุกหมู่เหล่าปรารถนา และถ้าการแสวงหาความสุขเช่นนั้น เป็นไปอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรมด้วยแล้ว ก็ยิ่ง จะเป็นความสุขที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ เหมาะสมที่จะเป็นพรข้อที่ ๓ ในบรรดาพร ๔ ประการ
               ตามหลักพระพุทธศาสนา ความสุขของสามัญชนผู้ครองเรือน มี ๔ ประการ คือ
          ๑. อัตถิสุข ความสุขที่เกิดจากการมีทรัพย์สินเงินทอง จะเห็นได้ว่า ความมั่งมีก็ช่วยให้เกิดความสุขได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการมีทรัพย์ ซึ่งก่อให้เกิดความปลื้มใจ ความอิ่มใจ
         ๒. โภคสุข ความสุขที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค เมื่อมีความสุขจากการมีทรัพย์แล้ว ก็ควรจะหาความสุขจากการใช้จ่ายทรัพย์นั้นบ้าง เพราะถ้ามีไว้โดยไม่ได้ใช้จ่ายเลย ก็ไม่เกิดประโยชน์และไม่เกิดความสุขจากการใช้จ่ายทรัพย์
          ๓. อรณสุข ความสุขเกิดจากการไม่ต้องเป็นหนี้ การใช้จ่ายทรัพย์ที่จะก่อให้เกิดสุขนั้น จะต้องระวังไม่ให้เกินตัว จนเกิดปัญหาพาก่อหนี้ จึงจะมีความสุข ไม่ต้องลำบากรับบทเป็นมิตรเมื่อกู้ เป็นศัตรูเมื่อถูกทวง
         ๔. อนวัชชสุข ความสุขที่เกิดจากการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ การงานที่สุจริตถือว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีโทษ คือไม่ผิดกฎหมายและไม่ผิดหลักศีลธรรม เป็นฐานให้ความสุขอื่นๆ เกิดตามมา
          คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนคนใดมีทรัพย์สิน ใช้จ่ายทรัพย์สินนั้นเพื่อการบริโภค ไม่มีหนี้สิน และประกอบอาชีพสุจริต คฤหัสถ์ผู้นั้นจัดเป็นบุคคลที่มีพรข้อที่ ๓ คือ สุขะ ดังกล่าว นั่นเอง
         สุขตามที่กล่าวมานี้เป็นสุขที่ยังต้องมีเครื่องล่อให้เกิด เช่น ต้องมีทรัพย์ ต้องใช้จ่ายทรัพย์ เป็นต้น ยังเสี่ยงต่อการที่จะเกิดทุกข์ได้ง่าย เช่น มีทรัพย์ก็ต้องมีภาระในการบริหารดูแลทรัพย์ ถ้าทรัพย์สูญเสียไปก็เกิดทุกข์ หรืออาจใช้ทรัพย์ไปในทางที่ก่อให้เกิดโทษ ก็เป็นทุกข์ได้อีก ท่านจึงสอนให้รู้จักสร้างสุข ที่ไม่ต้องมีวัตถุเป็นเครื่องล่อ คือสุขที่เกิดจากการทำความดี มีศีลธรรม บรรเทาความโลภ โกรธ หลง ให้น้อยลง บำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้น เป็นต้น ทำได้เช่นนี้ ความสุข สงบ เย็น อันเป็นความสุขที่บริสุทธิ์สะอาด ก็จะเกิดขึ้น เป็นพรอันประเสริฐ แก่ชีวิตของเรา

..........................................

วรรณะ


                                เมื่อกล่าวถึง สีทุกสี ย่อมเป็นที่สะดุดตาของมนุษย์ และหากนำเอาสีเหล่านั้นเข้ามามีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน เช่น วันอาทิตย์สีแดง วันจันทร์สีเหลือง เป็นต้น ก็จะเพิ่มความสำคัญให้กับสีเหล่านั้นมากยิ่งขึ้นสีของ ไฟสัญญาณจราจรก็มีความสำคัญ เช่น คนที่กำลังขับรถมาต้องชะลอรถลง เมื่อถึงที่ที่มีไฟสัญญาณ และเตรียมหยุดเมื่อเห็นไฟสีเหลือง หยุดรถทันทีที่เห็นไฟสีแดง จะออกรถอีกครั้งเมื่อไฟสีเขียวปรากฏ สีเหล่านี้จะมีอิทธิพลมากต่อมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสังคมเมือง
                สีตรงกับคำบาลีว่า วัณณะ และเป็นพรข้อที่ ๒ ในพรสี่ประการ เวลาที่พระสงฆ์สวดมนต์ให้พรข้อนี้ ท่านจะกล่าวว่า ขอให้เจริญด้วยวรรณะ หมายถึงให้มีสีผิวดีนั่นเอง ท่านกล่าวว่า คนที่มีสีผิวดีนั้น ถ้าเป็นคนผิวขาวจะต้องขาวหมดจด ไม่มีจุดดำๆ ด่างๆ และถ้าเป็นคนมีสีผิวดำก็ต้องดำสนิท ดำสะอาด คนที่มีผิวดีเช่นนี้เป็นเรื่องของบุญของกรรมแต่ง หรือเผ่าพันธุ์ ติดตัวมาแต่เกิด เราไม่สามารถไปเปลี่ยนได้ สิ่งที่พอจะทำได้ในปัจจุบัน เพื่อให้สีผิวดูดีมีคุณค่าน่ามอง จะต้องปฏิบัติตามบันได ๓ ขั้น คือ
                ๑. ใส่เสื้อผ้าถูกสี เช่น การพิจารณาคัดเลือกสีผ้าให้เหมาะกับสีผิว การแต่งกายด้วยผ้าที่มีสีเหมือนกันทั้งสีผ้าและเครื่องแต่งกายจะช่วยเสริมสีผิวให้เด่นขึ้น เข้าทำนองว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง”
                ๒. ทำดีต่อร่างกาย เช่น การรักษาร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ การบริโภคแต่อาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนตามความเหมาะสม สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้สีผิวมีความสดชื่นเปล่งปลั่งขึ้น
                ๓. ฝึกใจให้รื่นเริง เช่น ฝึกมองโลกในแง่ดี ฝึกบรรเทาความโลภ โกรธ หลง ใจก็จะโปร่งใสเบาสบาย ส่งผลให้สีผิวผ่องใสตามไปด้วย
                คนที่มีสีผิว ตามบทพระบาลีว่า “วัณณะวัฑฒะโก” แปลว่า ผู้เจริญด้วยวรรณะ ซึ่งอาจมีติดตัวมาแต่กำเนิด หรือทำให้มีขึ้นในภายหลังด้วยการปฏิบัติตามบันได ๓ ขั้น ดังกล่าวแล้ว จะช่วยให้เป็นคนที่มีบุคลิกภาพดี สง่างาม ก่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็นมิรู้ลืม และยังเป็นฐานหมุนให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรลืมว่า แม้ผิดพรรณจะดี แต่ถ้าไม่ แต่ถ้าจิตใจเศร้าหมองก็ไม่ผ่องใส แต่ถ้าจิตใจมีคุณธรรมแม้ผิวพรรณจะไม่ผุดผ่อง แต่ก็งามได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “ดำแต่นอกในแผ้ว ผ่องเนื้อนพคุณ

...............................

อายุ


                                อายุ แปลว่าเวลาที่ดำรงชีวิตอยู่ เป็นพรข้อที่หนึ่ง ในพร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ และพละ การมีชีวิตอยู่นานๆ นับเป็นสุดยอดความปรารถนาของสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่า ถึงกับยอมสละทรัพย์สละอวัยวะและแม้แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง บุคคลที่ต้องการจะมีอายุยืนจึงมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งพอจะแบ่งได้ ๓ พวก คือ
                ๑. พวกบริโภคนิยม คือกลุ่มคนที่เชื่อว่า การกินดี คือการเลือกกินอาหารดีที่ทำให้มีอายุวัฒนะ เช่น อุ้งตีนหมี ดีงู หูฉลาม เป็นต้น และการอยู่ดี เช่น อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ให้สดชื่นอยู่เสมอ เป็นต้น
                ๒. พวกอนุมานนิยม คือกลุ่มคนเชื่อว่า การได้ช่วยเหลือชีวิตสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่า ให้รอดพ้นจากความตาย จะส่งผลทำให้ตนมีอายุยืน กลุ่มชนที่มีความเชื่อเช่นนี้ จึงทำพิธีปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่าบ้าง ไถ่ชีวิตโคกระบือบ้าง
                ๓. พวกพุทธนิยม คือกลุ่มคนที่เชื่อว่า พระพุทธศาสนาสอนว่า ผู้ที่ต้องการจะมีอายุยืน จะต้องไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียนชีวิตของผู้อื่น เพราะถ้ามนุษย์ยังฆ่า ยังเบียดเบียนชีวิตของผู้อื่นอยู่แล้ว เขาก็จะได้รับผลแห่งการกระทำเช่นนั้นเป็นเครื่องตอบแทน ตามนัยพุทธภาษิตว่า ยาทิสัง วะปะเต พีชัง ตาทิสัง ละภะเต ผะลัง แปลว่า หว่านพืชเช่นใดไว้ ย่อมได้รับผลเช่นนั้น
                พวกที่ต้องการจะมีอายุยืนทั้ง ๓ กลุ่มตามที่กล่าวมา ย่อมปรากฏให้เห็นในสังคมไทยทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องที่ศาลตัดสินประหารชีวิตนักโทษค้ายาเสพติดรายใหญ่ๆ หลายรายก็พอเป็นเครื่องสนับสนุนให้เห็นแนวคิดของกลุ่มพุทธนิยมชัดเจนขึ้นมา เพราะการค้าขายยาเสพติดเป็นการล้างผลาญอายุผู้อื่นให้สั้นลง เมื่อกรรมตามทัน ผู้ค้าขายยาเสพติดเหล่านั้น จึงหมดโอกาสหายใจ
                อย่างไรก็ตาม การมีอายุยืนก็ยังไม่ใช่ผลสูงสุดที่พึงปรารถนา หากไม่มีเป้าหมายว่าจะมีอายุยืนไปเพื่ออะไร พระพุทธศาสนาสอนด้วยว่า อายุยืนนับร้อยปี แต่ถ้าไม่ทำความดีก็ไร้ค่า อายุน้อยเพียงไม่กี่วัน ทำความดีอเนกอนันต์ ก็นับว่าคุ้มค่าที่ได้เกิดมา

.............................................

ไม่คุ้ม


                มีเรื่องเล่าว่า นักโทษคนหนึ่งต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา เมื่อสอบถามว่าเหตุใดจึงต้องฆ่าคน ได้รับคำตอบว่า เพราะความโมโหควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ เมื่อถามต่อไปว่า อะไรที่ทำให้โมโหจนควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ก็ได้รับคำตอบว่า เพราะถูกผู้ร่วมงานสบประมาทอย่างรุนแรง
                เรื่องดังกล่าวทำให้ได้ข้อคิดว่า บุคคลที่ต้องได้รับโทษทัณฑ์เพราะลุแก่อำนาจโทสะนี้มีมาก สาเหตุสำคัญก็เพราะขาดความยับยั้งชั่งใจไม่สามารถอดกลั้นต่อความเจ็บใจได้ ถ้าจะคิดโดยเหตุผลแล้ว การอดกลั้นต่อคำว่ากล่าวเสียดสีให้เจ็บใจหรือเสียหายนั้นอาจจะต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมากเป็นพิเศษ จึงจะทำให้หายโกรธได้  แต่ถ้าเราสนองความโกรธโดยกระทำการรุนแรงผิดกฎหมายจนต้องถูกจำคุก ดูจะไม่คุ้มกันเลย ดังคำที่ว่า “อดทนต่อความเจ็บใจเพียง ๕ นาที น่าจะดีกว่าต้องไปอดทนในคุกตลอดชีวิต”
                วิธีควบคุมจิตใจเมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา นั้น มี ๓ วิธี คือ
                ๑.นิ่ง คือเมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องที่ไม่น่าชอบใจ ให้นิ่งไว้ ไม่พูดและไม่ตอบโต้ ทำเหมือนกับไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไร การนิ่งเป็นการตั้งหลักเพื่อให้เกิดสติ เป็นการชะลอไม่ให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่จะทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก และเรื่องเล็กกลายเป็นไม่เกิดเรื่อง
                ๒.นอน พยายามนอนให้หลับ เพราะเมื่อนอนหลับเสียแล้ว จิตก็จะไม่รับรู้เรื่องใดๆ ใจก็จะเป็นปกติสุข ซึ่งเป็นวิธียุติปัญหาได้
                ๓.หนี คือหลีกเลี่ยงออกไปจากบุคคลหรือสถานที่ที่จะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสักระยะหนึ่ง เป็นการเปิดโอกาสให้ได้ใช้ปัญญาพิจารณาถึงเหตุผล ทำให้เห็นทางออกที่ถูกต้องดีงาม ปัญหาดังกล่าวก็จะยุติไป
                ดังนั้น หากเราสามารถยับยั้งใจตนเองต่ออารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น เราเองก็จะไม่ต้องมานั่งเสียใจว่า ความสะใจที่ได้ทำลงไปนั้นไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องสูญเสียไปเลย

.............................................