วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วิธีนอนให้หลับ


                ในวงการแพทย์ถือว่า การพักผ่อนที่ดีที่สุด คือการนอนหลับ การนอนหลับเป็นยาขนานวิเศษ บำบัดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าของร่างกาย เมื่อเราหลับสนิท พอตื่นขึ้นมาอาการเมื่อยล้าก็หายไป ใครที่เป็นโรคนอนไม่หลับ จะรู้สึกว่ามันแสนจะทรมานจริงๆ แล้วจะทำอย่างไรจึงจะหลับ ก่อนอื่นจะต้องทราบว่า หลับเป็นอาการเกี่ยวพันระหว่างกายกับใจ เมื่อใจหลับกายหลับ คืออาการที่จิตได้พักผ่อนหรือเข้าสู่ภวังค์ เราจึงเรียกว่าหลับ
                ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ว่า จิตมีหน้าที่ ๔ อย่างคือ รับอารมณ์ที่มากระทบ จำสิ่งที่เกิดกับจิต คิดเรื่องราวต่างๆ และรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏแก่จิต สรุปลงเป็น ๔ คำ ง่ายๆ ก็คือ รับ-จำ-คิด-รู้ จะเป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาขณะที่ไม่หลับ ดังนั้น เมื่อต้องการนอนให้หลับเราจึงต้องทำให้จิตหยุดรับ หยุดจำ หยุดคิด และหยุดรู้ มีผู้รู้แนะวิธีปฏิบัติไว้ดังนี้
                ๑.อ่านหนังสือ คือขณะที่นอนก็หาหนังสือมาอ่านยิ่งเป็นเรื่องที่อ่านยากๆ มีสำนวนที่เข้าใจยากยิ่งดี ข้อความในหนังสือจะบังคับให้จิตรวมเข้าสู่จุดเดียว ตัดเรื่องยั่วยุอื่นๆ แล้วคิดแต่เรื่องในหนังสือก็จะทำให้หลับได้
                ๒.ถืออานาปานสติ คือขณะนอนให้เอาสติมาดูใจตัวเอง ใจอยากคิดอะไรก็คิดไป ปล่อยให้คิดอิสระพยายามให้สติตามกำหนดรู้ทุกขณะอย่าให้เผลอ เมื่อเผลอให้เริ่มต้นใหม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ประเดี๋ยวใจก็ไม่อยากคิดแล้ว หยุดพักและก็หลับในที่สุด
                ๓.เอาสติตามดูใจ คือขณะนอนให้เอาสติตามดูใจตัวเอง ใจอยากคิดอะไรก็คิดไป ปล่อยให้คิดอิสระพยายามให้สติตามกำหนดรู้ทุกขณะอย่าให้เผลอ เมื่อเผลอให้เริ่มต้นใหม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ประเดี๋ยวใจก็ไม่อยากคิดแล้วหยุดพักและก็หลับในที่สุด
                ๔.ใส่ใจสวดมนต์ คือขณะที่นอนให้สวดมนต์ในใจ สวดแบบที่พระสงฆ์ท่านสวด โดยใช้จังหวะสวดแบบเนิบนาบ สวดมนต์ไปเรื่อย อย่าให้หลงบทสวด กระทั่งจิตหยุดพักแล้วก็จะหลับไปเอง
                ๕.ปล่อยตนวางเฉย คือให้นอนเฉยๆ ปล่อยอารมณ์ไปเรื่อยๆ อย่าคิดอะไรมาก คิดเสียว่ามันอยากหลับก็หลับ มันไม่อยากหลับก็ช่างมัน นึกเท่านี้ก็ทำให้หลับได้เหมือนกัน
                ฉะนั้น ใครนอนไม่หลับ ลองปฏิบัติตามข้อแนะนำเหล่านี้ดู แล้วท่านจะนอนหลับง่ายอย่างน่าอัศจรรย์

.............................................

นักรบที่ฉลาด


                ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี คือวิชาว่าด้วยการรบ ซึ่งทางทหารมี่หลายวิธี แต่ละวิธีมีองค์ประกอบหลายประการจะใช้ยุทธวิธีแบบไหนเมื่อไร อย่างไร ขึ้นอยู่กับการวางแผนให้เหมาะกับกำลังพล อาวุธ ภูมิประเทศ และสถานการณ์ในขณะนั้น นักยุทธศาสตร์มักนิยมยึดปรัชญาการรบพื้นฐานตามที่ซุนหวู่ นักปราชญ์จีนกล่าวไว้ว่า “รู้เรารู้เขา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง รู้เราไม่รู้เขา รบร้อยครั้ง ชนะเพียงห้าสิบครั้ง ไม่รู้ทั้งเราและเขา รบกี่ครั้งก็แพ้ทุกครั้ง”  องค์ประกอบทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่จำเป็นต้องคำนึงถึงอย่างน้อยมี   ๔ ประการ คือ    กำลังพล กองหนุน การข่าว และอาวุธ
                การดำเนินชีวิตก็ไม่ต่างอะไรกับการรบ ทั้งนี้เพราะต้องรบหรือแก้ปัญหาสารพัด ทั้งปัญหาชีวิตส่วนตัวและของผู้ที่เกี่ยวข้อง สาเหตุของปัญหาก็ไม่พ้นสิ่งที่พระท่านเรียกว่า “กิเลส” คือ โลภ โกรธ หลง รวมเรียกว่ามูลเหตุแห่งความชั่ว กิเลสทั้งสามนี้มักจู่โจมในลักษณะแบบกองโจร ถ้าไม่ตั้งสติให้ดีก็มักพลาดท่า
                การต่อสู้กับข้าศึกคือปัญหาต่างๆ ควรมีองค์ประกอบทางยุทธวิธีอย่างน้อย ๔ ประการ คือ
                ๑. กำลังพล คือเราแต่ละคนมีจิตใจเข้มแข็ง มั่นคง อดทน มีศีล กตัญญูรู้คุณ
                ๒. กองหนุน คือเพียรทำความดี และเพียรตัดทอนกำลังข้าศึกคือความชั่วทุกชนิดโดยวิธี ลด ละ เลิก
                ๓. การข่าว คือสติระลึกรู้ในการกระทำทุกครั้ง ตระหนัก ระวัง หยั่งรู้ถึงสิ่งที่ควรและไม่ควร
                ๔. อาวุธ คือมีปัญญา รู้จักตัวเอง รู้เหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญ รู้จักพัฒนาตนให้ฉลาดรอบรู้ในหน้าที่การงานอยู่เสมอ รู้เท่าทันเหตุการณ์และความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง
                การสู้รบกับข้าศึกภายนอกไม่ได้มีทุกวัน อาจจะนานๆ ครั้ง แต่การทำศึกกับข้าศึกภายในคือ โลภ โกรธ หลง ต้องสู้ยู่ด้วยเสมอ ถ้าเผลอเป็นพลาด ประมาทเป็นเสียคน ดังนั้น นักรบที่ฉลาด จึงควรมีใจมั่นคง ตรงต่อความดี มีเมตตา ไม่ริษยาผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืนกฎสังคม ไม่นิยมทุจริต ไม่คิดนอกใจคู่ครอง ไม่ทดลองของเสพติด ไม่คิดเล่นการพนัน ทำได้ทั้งหมด เชื่อว่า ชีวิตจะสุขสันต์ไม่แพ้ใครในโลก

........................................

ศัตรูชีวิต


                คำว่า “ศัตรู” หมายถึงข้าศึก ปรปักษ์ ผู้จองเวร มีบทบาทในการทำลายล้าง รบกวนความสงบสุขของผู้อื่น เมื่อใครมีศัตรู ชีวิตจะประสบความเดือดร้อน อยู่ไม่สุข การมีศัตรูแม้เพียงคนเดียวก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะสามารถเบียดเบียนทำลายล้างจนชีวิตต้องหายนะ อุปมาเหมือนกับไฟ แม้เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำลายได้กว้างไกล มีศัตรูสองประเภทของกล่าวถึงคือ
                ๑.ศัตรูภายนอก ได้แก่ผู้ที่สร้างความเดือดร้อนซึ่งอยู่นอกตัวเราทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ เป็นศัตรูที่มาในรูปของศัตรู สามารถมองเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู มีตัวตนสัมผัสได้ จึงสามารถหาทางหลบหลีก หรือวางแผนต่อสู้ป้องกัน ทำให้ชีวิตปลอดภัย หรืออย่างน้อยก็ได้รับความเดือดร้อนน้อยลง
                ๒.ศัตรูภายใน ได้แก่กิเลสที่อยู่ในใจที่คอยชักนำให้กระทำความชั่วต่างๆ มีสามประเภท ได้แก่
                โลภะ คือความละโมบอยากได้ในทางทุจริต
                โทสะ คือความคิดประทุษร้ายอาฆาตแค้นผู้อื่น
                โมหะ คือความหลงไม่รู้จริง เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด
                ศัตรูภายในนี้เป็นศัตรูของชีวิตที่มาในรูปของมิตร น่ากลัวยิ่งกว่าศัตรูใดๆ เพราะจะหลอกล่อให้ผู้นั้นสมัครใจที่จะทำลายตัวเองจนย่อยยับไป
                คนที่เอาชนะศัตรูภายนอก แม้จะชื่อว่าเป็นคนเก่ง เป็นวีรบุรุษ แต่ทางธรรมแล้ว ยังไม่ถือว่าเป็นยอดนักรบ เพราะเป็นชัยชนะที่อาจกลับแพ้ได้ ชนะแล้วก็ยังเป็นทุกข์ ส่วนผู้ที่เอาชนะศัตรูภายใน ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูชีวิตได้ คือไม่ถูกโลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำย่ำยีนั้นแหละจึงเป็นยอดนักรบที่แท้จริง เพราะจะไม่มีโอกาสกลับไปแพ้ได้เลย เป็นชัยชนะที่กำจัดเวรภัยได้ราบคาบ พระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญไว้ว่า “อัตตา หะเว ชินตัง เสยโย” ชนะตนนั่นแลประเสริฐที่สุด

...........................................

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

มาฆบูชา


                คำว่า “มาฆบูชา” หมายถึง การบูชาเป็นกรณีพิเศษในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ วันมาฆบูชามีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” คือวันประชุมที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ ได้แก่
                ๑.วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
                ๒.พระสงฆ์จำนวน  ๑,๒๕๐ องค์ ประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
                ๓.พระสงฆ์ที่มาประชุมกันวันนั้นล้วนได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
                ๔.พระสงฆ์เหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
                วันมาฆบูชา จัดว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์ คือคำสอนที่เป็นหลักการสำคัญ หรือหัวใจของพระพุทธศาสนา แก่พระสงฆ์ จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ในวันนั้น โอวาทปาติโมกข์ หรือหัวใจของพระพุทธศาสนามีสามประการ คือ.-
                ๑.การไม่กระทำความชั่วทั้งปวง (สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง) หมายถึง การไม่ประพฤติผิดศีลธรรม หรือสิ่งใดก็ตามเมื่อกระทำแล้วจะก่อให้เกิดความเดือดร้อน เสื่อมเสียแก่ตนเองและผู้อื่น ก็หลีกเลี่ยงไม่กระทำสิ่งนั้นดุจบุคคลหลีกเลี่ยงสิ่งสกปรกเน่าเหม็น
                ๒.การยังกุศลให้ถึงพร้อม (กุสะลัสสูปะสัมปะทา) หมายถึง การกระทำความดี เช่น การให้ทาน รักษาศีล การไหว้พระสวดมนต์ การฟังเทศน์ หรือสิ่งใดก็ตามเมื่อกระทำแล้วก่อให้เกิดเกียรติยศชื่อเสียง คุณงามความดีแก่ตนเองและผู้อื่น ก็พยายามกระทำสิ่งนั้น ดุจบุคคลอาบน้ำชำระสิ่งสกปรกออกจากร่างกายแล้ว สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงาม
                ๓.การชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ (สะจิตตะปะริโยทะปะนัง) หมายถึง การฝึกฝนอบรมจิตใจของตนให้สะอาด ผ่องแผ้วจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น ดุจบุคคลเมื่ออาบน้ำชำระสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามแล้วยังไม่พอ ต้องตกแต่งด้วยเครื่องประดับ เช่น สร้อย แหวน เป็นต้น จึงจะดูดีมีเสน่ห์
                เมื่อวันมาฆบูชาเวียนมาถึง พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ควรทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ เจริญภาวนา งดเว้นอบายมุขทุกชนิด และไปเวียนเทียนที่วัด ในตอนค่ำ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา    สังฆบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และเป็นการรักษาประเพณีอันดีงามอีกประการหนึ่ง สืบต่อไป
............................................

วันวิสาขบูชา


                วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ชาวโลกรับรู้พร้อมกันว่า เป็นวันสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก วันที่พระองค์ตรัสรู้สัจธรรม และเป็นวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันดังกล่าวนี้มาถึงพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ต่างพากันบูชาสักการะพระพุทธองค์เป็นพิเศษ และเรียกวันนี้ว่า        “วันวิสาขบูชา”
                นักปราชญ์ของโลกทั้งตะวันตกและตะวันออก ได้แสดงทัศนะต่อพระพุทธองค์ และต่อหลักธรรมของพระองค์ไว้อย่างน่าสนใจ ดังตัวอย่าง
                มหาตมะ คานธี รัฐบุรุษของอินเดียผู้มีชื่อเสียงก้องโลก กล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้านั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ...”
                รพินทรนาถ ฐากูร นักปราชญ์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบล กล่าวว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระโอรสของภารตประเทศที่รุ่งโรจน์ที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด และชาญฉลาดที่สุดในโลก...”
                ดร.เอส. ราธกฤษณัน อดีตประธานาธิบดีของอินเดีย กล่าวว่า “ไม่เคยมีเลยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอาการขุ่นเคือง ไม่เคยมีเลยที่ถ้อยคำปราศจากเมตตาหลุดจากพระโอษฐ์ของพระองค์แม้แต่ครั้งเดียว”
                ศาสตราจารย์ รีส เดวิดส์ นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบระบบศาสนาใหญ่ๆ ของโลกแล้ว ข้าพเจ้าไม่พบหลักฐานคำสอนของศาสนาใดจะเลิศล้ำกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ และ อริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าเลย...”
                เซอร์ เอดวิน อาร์โนลด์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ประทีปแห่งเอเชีย” กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอกล่าวซ้ำอีกว่าระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้น มีสายสัมพันธ์ทางสติปัญญาอยู่อย่างใกล้ชิดมาก...”
                อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ยอดนักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “ถ้าจะมีศาสนาใดๆ ที่เข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ศาสนานั้นก็คือ พุทธศาสนา”
                เป็นเวลานานมาแล้วที่นักปราชญ์และบุคคลสำคัญทั่วโลกต่างยกย่องพระพุทธศาสนา องค์การสหประชาชาติก็ได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก สำหรับประเทศไทยและคนไทยชาวพุทธ เราแล้วสมควรอย่างยิ่งที่จะน้อมรำลึกและกระทำการบูชาให้ครบทั้ง ๒ ส่วน คือบูชาด้วยวัตถุสิ่งของที่เรียกว่า “อามิสบูชา” และด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนที่เรียกว่า “ปฏิบัติบูชา” มิใช่เพียงรับรู้ว่าเรามีของดี มีคุณค่าที่โลกยกย่องนับถือแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ควรให้ได้รับรสแห่งสันติสุขอันเกิดจากของดีนั้นด้วย

............................................

วันครู


                วันที่ ๑๖ มกราคม ทางราชการกำหนดให้เป็นครู เป็นวันที่ศิษยานุศิษย์จัดงานเพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของครู ซึ่งถือว่าเป็นปูชนียบุคคลที่ควรยกย่องและเทิดทูนอย่างยิ่ง เพราะครูเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้และอบรมสั่งสอนให้ศิษย์ทุกคนเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ ครูที่มีอยู่ในโลกนี้ มีผู้แบ่งออกเป็นสามชั้นที่น่าสนใจ คือ
                ๑.ครูประจำบ้าน ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ซึ้งถือว่าเป็นบุรพาจารย์ คืออาจารย์หรือครูคนแรกของลูกที่สอนให้เราได้ พูด นั่ง ยืน เดิน นอน ฯลฯ
                ๒.ครูประจำโรงเรียน ได้แก่ ครูอาจารย์ที่สอนศิลปวิทยาให้แก่ศิษย์อย่างสิ้นเชิง โดยไม่ปิดบังอำพราง ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ทั้งฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดีและยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ ตลอดจนสร้างเครื่องคุ้มภัยในทุกสารทิศ คือฝึกสอนให้รู้จักเลี้ยงตัว รักษาตนให้ดำเนินไปด้วยดีนั่นเอง
                ๓.ครูประจำโลก ได้แก่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นครูทั้งของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นพระบรมครูที่ทรงแนะนำสัตว์โลกทั้งปวงให้พ้นจากทุกข์ และให้มีสันติสุขภายในใจ คือ สะอาด สว่าง สงบ
                ครูอาจารย์นั้นเป็นบุคคลสำคัญในชีวิตของศิษย์ทีเดียว จึงต้องเป็นได้ทั้งเยี่ยงเป็นได้ทั้งอย่าง หรือเรียกว่าเป็นแม่พิมพ์ของศิษย์ได้ ถ้าครูอาจารย์มีข้อที่น่ารังเกียจ โดยเฉพาะครูประจำโรงเรียนก็จะทำให้ศิษย์พูดถึงหรือประกาศคุณความดีของครูได้ไม่เต็มปาก ไม่เต็มคำ ก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนในจิตใจ
                พระพุทธเจ้าตรัสถึงครูที่ควรไหว้หรือควรสักการบูชาไว้เจ็ดประเภท คือ
                ๑.ครูที่ทำตัวให้ศิษย์รัก (ปิโย)                                           ๒.ครูหนักแน่นในจรรยา (คะรุ)
                ๓.ครูพัฒนาความรู้ (ภาวะนีโย)                                       ๔.ครูสู้อุตสาห์สอนศิษย์ตน (วัตตา)
                ๕.ครูอดทนต่อคำหยาบคาย (วะจะนักขะโม)               ๖.ครูขยายคำลึกซึ้ง (คัมภีรัง กะถัง กัตตา)
                ๗.ครูไม่ดึงศิษย์ไปในทางเสียหาย (โนจัฏฐาเน นิโยชะเย)
                ดังนั้นเมื่อวันครูเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง ในฐานะที่เราทั้งหลายเป็นศิษย์มีครู ก็ควรน้อมรำลึกถึงพระคุณของท่านเหล่านั้น และบูชาท่านด้วยอามิสบูชาคือวัตถุสิ่งของตามสมควร และปฏิบัติบูชาคือด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านอย่างเคร่งครัดด้วยกตัญญูกตเวที ก็จะเป็นความดีเป็นสิริมงคลแก่เราผู้เป็นศิษย์และเป็นการประกาศเกียรติคุณของครูได้อีกทางหนึ่ง

............................................

ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว


                คนที่ขัดแย้งกันมักจะคิดทำลายซึ่งกันและกันด้วยวิธีการต่างๆ เช่น นินทาว่าร้าย พูดกระทบให้เจ็บใจ ให้ร้ายป้ายสี ใส่ความ แม้กระทั่งแช่งชักหักกระดูก อยากให้คู่อริพินาศวิบัติย่อยยับไป แต่การทำลายกันใช่ว่าฝ่ายตรงข้ามนั้นที่จะถูกทำลาย แม้ตนเองก็อาจถึงความย่อยยับไปด้วย ทั้งที่ฝ่ายตรงข้ามมิได้โต้ตอบหรือทำอะไรให้เลย หากว่าคนที่ตนประทุษร้ายนั้นเป็นคนบริสุทธิ์ มิได้มีความผิดคิดร้ายอะไรอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือใส่ร้าย และเขาก็ไม่คิดร้ายตอบ ผู้ที่ประทุษร้ายเขานั้นแหละจะได้รับผลจากการกระทำของตน ฐานทำให้ผู้บริสุทธิ์หรือผู้ไม่มีความผิดได้รับความเดือดร้อนทั้งกายและใจ ท่านเปรียบเหมือนกับฝุ่นละอองที่ถูกเป่าทวนลมไป จะถูกลมพัดย้อนกลับมาหาผู้เป่า นั่นเอง
                พระพุทธศาสนาแสดงโทษที่เกิดจากการประทุษร้ายผู้ที่ไม่ประทุษร้ายตอบไว้ ๑๐ ประการ คือ
                ๑. ได้รับความเจ็บปวดร้ายแรง
                ๒. สูญเสียเงินทอง
                ๓. ความตายเข้ามาตัดรอน
                ๔. เกิดความเจ็บป่วยอย่างหนัก
                ๕. จิตฟุ้งซ่านกระวนกระวาย
                ๖. เกิดความขัดข้องในหน้าที่การงาน
                ๗. ถูกกล่าวตู่ร้ายแรง
                ๘. สูญเสียญาติมิตร
                ๙. ทรัพย์สมบัติเสียหาย
                ๑๐. ไฟไหม้บ้าน
                บาปกรรมทั้งปวงนี้ ย่อมตามผจญผู้ประทุษร้ายเขานั้นเรื่อยไป ไม่ให้มีความสุขสงบในชีวิต เช่น อยู่ๆ ก็เกิดเจ็บป่วย โดยไม่รู้สาเหตุและรักษาเท่าไรก็ไม่หาย หรือถูกใส่ความโดยเรื่องที่ไม่เป็นจริง หรือประสบอุบัติเหตุโดยไม่คาดฝัน เป็นต้น ทุกข์โทษดังกล่าวคนส่วนใหญ่มักคิดไม่ถึงและมักมองข้ามกันไปเสียหมด จึงมักโทษโน่น โทษนี่ ไปสารพัด แต่ลืมโทษตัวเอง
                ดังนั้น เมื่อไม่ต้องการได้รับทุกข์โทษต่างๆ และไม่ต้องมีเวรภัยกับผู้อื่น ก็จงอย่าทำร้ายใคร อย่าใส่ร้ายหรือพูดให้ร้ายใคร รวมทั้งอย่าไปคิดร้ายใคร เพราะถ้าคนที่ตนประทุษร้ายนั้น เป็นคนดี เป็นคนบริสุทธิ์ โทษ ๑๐ ประการ ข้างต้นจะย้อนกลับมาหาตนเองโดยไม่คาดคิด

..........................................

อานิสงส์ของการฟังธรรม


                โบราณกล่าวว่า ฟังเทศน์ฟังธรรมง่วงเหงาหาวนอน ดูหนังดูละครตาสว่าง การฟังเทศน์ฟังธรรมรู้สึกกันว่า เป็นยาขมหม้อใหญ่สำหรับคนทั่วไป มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในหน่วยราชการเมื่อมีการประกาศว่า บ่ายนี้จะมีเทศน์หรือมีบรรยายธรรม ขอเชิญทุกท่านเข้าฟังโดยพร้อมเพรียงกัน คนส่วนมากจะเกิดความรู้สึกต่อต้านในใจ ไม่อยากไปก้าวขาไม่ออก ส่วนน้อยที่ยินดีและเต็มใจไปฟังด้วยคิดว่า วันนี้จะได้ประกอบกุศลทำผลบุญคือทำบุญด้วยการฟังธรรม
                การฟังเทศน์ฟังธรรมมีมาแต่สมัยพุทธกาล มีเรื่องในชาดกเล่าว่า ครั้งหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ปรากฏว่าคนฟังมีพฤติกรรมแปลกๆ  นั่งหลับบ้าง มองท้องฟ้าหรือแหงนดูดาวบ้าง แหย่เล่นกับเพื่อนบ้าง ขีดเขียนดินเล่นบ้าง บางคนก็ฟังด้วยความเคารพ  หลังจบพระธรรมเทศนามีอุบาสกท่านหนึ่งเข้าไปทูลถามเกี่ยวกับพฤติกรรมเหล่านี้ พระองค์ทรงตรัสว่า คนที่นั่งหลับเวลาฟังธรรม ชาติก่อนเคยเกิดเป็นงูเหลือม เพราะงูเหลือมหลังจากกินอาหารเต็มอิ่มแล้วก็จะหลับ คนที่มองท้องฟ้าหรือแหงนดูดดาว ชาติก่อนเคยเกิดเป็นหมอดูหรือนักพยากรณ์ ดวงชะตาราศี คนที่ชอบแหย่เพื่อนเล่น ชาติก่อนเคยเกิดเป็นลิงจึงอยู่ไม่เป็นสุข แหย่คนโน้นทีคนนี้ทีตามสัญชาติญาณเดิมที่ติดตัวมา คนที่ขีดเขียนดินเล่น ชาติก่อนเคยเกิดเป็นไส้เดือนจึงมีอาการแสดงออกคล้ายจะหาที่อยู่เดิมของตน ส่วนคนที่ฟังธรรมด้วยความเคารพ ชาติก่อนเคยเกิดเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต จึงสนใจและเอาใจจดจ่ออยู่กับการฟังตลอดเวลามีความกระตือรือร้นในทางก้าวหน้าอยู่เสมอ จึงฟังด้วยความสุขใจ เอิบอิ่มใจ
                อานิสงส์จากการฟังธรรม มี ๕ อย่างด้วยกันคือ
                                ๑. อัสสุตัง สุณาติ ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟังและได้เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยเรียนรู้
                                ๒. สุตัง ปะระโยทะเปติ สิ่งที่เคยได้ฟังแล้วก็จะทำให้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
                                ๓. กังขัง วิหะนะติ สามารถแก้ข้อข้องใจ บรรเทาความสงสัยในเรื่องนั้นๆ ได้
                                ๔. ทิฏฐิง อุชุง กะโรติ ทำความเห็นให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
                                ๕. จิตตะมัสสะ ปะสีทะติ จิตใจย่อมผ่องใส คือสะอาด สงบ และสว่าง
                การฟังธรรมเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า ธัมมัสสวนมัย คือบุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม ขอให้ลองสำรวจดูตัวเองว่า เวลาฟังเทศน์ฟังธรรม เรามีพฤติกรรมอย่างไรในบรรดาพฤติกรรมเหล่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น อันจะเป็นเหตุให้ได้รับอานิสงส์แห่งการฟังธรรมอย่างสมบูรณ์

........................................

วิธีครองใจคน


                การครองใจคนหรือการทำให้คนอื่นรักนั้นเป็นศิลปะพิเศษอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะแก่คนที่หวังความเจริญก้าวหน้า และหวังที่จะมีชีวิตอยู่เป็นปกติในสังคม คนที่ครองใจคนอื่นได้ ย่อมได้รับการยอมรับและการช่วยเหลือสนับสนุนจากคนที่เราครองใจไว้ได้นั้นเป็นอันดี ทั้งในยามปกติและตกทุกข์ได้ยาก วิธีครองใจหรือการทำให้คนรัก มี ๒ แบบ คือ
                ๑. แบบโลกวิธี คือ วิธีที่ชาวโลกนิยมทำกัน เช่น การให้เกจิอาจารย์ ผู้มีคาถาอาคมแก่กล้า สัก เสก ลงเลขยันต์ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรืออาบน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก การใช้วัตถุมงคล ตลอดจนเครื่องรางของขลัง และว่านเสน่ห์ต่างๆ เพื่อให้ตนเองมีเสน่ห์เป็นที่รักและเป็นที่นิยมของผู้คน ทั้งนี้สุดแท้แต่ทัศนคติความคิดเห็น ความเชื่อของแต่ละบุคคล ซึ่งผลที่ได้รับยังหาความแน่นอนไม่ได้ ส่วนมากมักถูกหลอกลวง ต้มตุ๋น จากพวกมิจฉาชีพที่อาศัยเป็นช่องทางทำมาหากิน ทำให้สูญเสียเงินทองไปกับเรื่องแบบนี้ไม่น้อย ถึงกระนั้นยังได้รับความนิยมอยู่ทั่วไป
                ๒. แบบพุทธวิธี คือ วิธีที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ โดยเน้นไปที่การเริ่มต้นที่ตนเอง จัดการกับตัวเองให้เป็น คนน่ารัก ยึดหลักว่า “ถ้าเราทำตัวให้น่ารัก คนอื่นเขาก็รัก ถ้าเราทำตัวให้น่าเกลียด คนอื่นเขาก็เกลียด” โดยปฏิบัติตามหลักธรรม ดังนี้
                                ๒.๑ โอบอ้อมอารี (ทาน) คือให้เป็นคนมีน้ำใจ สมัครใจที่เป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ รู้จักเผื่อแผ่เจือจานสิ่งของเครื่องใช้แก่ผู้อื่น ในสิ่งที่เขาขาดแคลนบกพร่อง
                                ๒.๒ วจีไพเรา (ปิยวาจาก) คือ ให้เป็นคนพูดจาสุภาพนุ่มนวล ด้วยน้ำใสใจจริง ไม่เสแสร้งแกล้งทำ หลีกเลี่ยงคำพูดอันเป็นเท็จ คำพูดส่อเสียด ยุให้รำตำให้รั่ว คำพูดหยาบคาย และคำพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
                                ๒.๓ สงเคราะห์ปวงชน (อัตถจริยา) คือ ให้ทำตนเป็นคนที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ช่วยเหลือเอาใจใส่ในกิจการต่างๆ ด้วยแรงกาย แรงใจ และด้วยคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ด้วยความเต็มใจ เต็มความรู้ความสามารถ ทำอย่างไรก็ได้ที่ให้เขาเห็นว่าเราเต็มใจช่วยเขา
                                ๒.๔ วางตนเหมาะสม (สมานัตตตา) คือ ให้เป็นคนดีที่เสมอต้นเสมอปลาย ทำต่อเนื่อง ไม่เป็นคนขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย และให้เป็นคนที่รู้จักทำตัวเป็นกันเองเข้ากับผู้อื่นได้ ใครคบค้าด้วยก็สบายใจไม่เครียด ไม่ทำตัวให้สูงหรือต่ำเกินไปนัก
                วิธีครองใจคนทั้งสองแบบนี้ หากเราเคยปฏิบัติแบบโลกวิธีมาแล้ว ได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผล ขอแนะนำให้ปฏิบัติแบบพุทธวิธีดูบ้าง แล้วจะรู้สึกว่าวิธีครองใจคนไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอะไรเลย

........................................

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วิธีครองใจคน


                การครองใจคนหรือการทำให้คนอื่นรักนั้นเป็นศิลปะพิเศษอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะแก่คนที่หวังความเจริญก้าวหน้า และหวังที่จะมีชีวิตอยู่เป็นปกติในสังคม คนที่ครองใจคนอื่นได้ ย่อมได้รับการยอมรับและการช่วยเหลือสนับสนุนจากคนที่เราครองใจไว้ได้นั้นเป็นอันดี ทั้งในยามปกติและตกทุกข์ได้ยาก วิธีครองใจหรือการทำให้คนรัก มี ๒ แบบ คือ
                ๑. แบบโลกวิธี คือ วิธีที่ชาวโลกนิยมทำกัน เช่น การให้เกจิอาจารย์ ผู้มีคาถาอาคมแก่กล้า สัก เสก ลงเลขยันต์ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรืออาบน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก การใช้วัตถุมงคล ตลอดจนเครื่องรางของขลัง และว่านเสน่ห์ต่างๆ เพื่อให้ตนเองมีเสน่ห์เป็นที่รักและเป็นที่นิยมของผู้คน ทั้งนี้สุดแท้แต่ทัศนคติความคิดเห็น ความเชื่อของแต่ละบุคคล ซึ่งผลที่ได้รับยังหาความแน่นอนไม่ได้ ส่วนมากมักถูกหลอกลวง ต้มตุ๋น จากพวกมิจฉาชีพที่อาศัยเป็นช่องทางทำมาหากิน ทำให้สูญเสียเงินทองไปกับเรื่องแบบนี้ไม่น้อย ถึงกระนั้นยังได้รับความนิยมอยู่ทั่วไป
                ๒. แบบพุทธวิธี คือ วิธีที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ โดยเน้นไปที่การเริ่มต้นที่ตนเอง จัดการกับตัวเองให้เป็น คนน่ารัก ยึดหลักว่า “ถ้าเราทำตัวให้น่ารัก คนอื่นเขาก็รัก ถ้าเราทำตัวให้น่าเกลียด คนอื่นเขาก็เกลียด” โดยปฏิบัติตามหลักธรรม ดังนี้
                                ๒.๑ โอบอ้อมอารี (ทาน) คือให้เป็นคนมีน้ำใจ สมัครใจที่เป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ รู้จักเผื่อแผ่เจือจานสิ่งของเครื่องใช้แก่ผู้อื่น ในสิ่งที่เขาขาดแคลนบกพร่อง
                                ๒.๒ วจีไพเรา (ปิยวาจาก) คือ ให้เป็นคนพูดจาสุภาพนุ่มนวล ด้วยน้ำใสใจจริง ไม่เสแสร้งแกล้งทำ หลีกเลี่ยงคำพูดอันเป็นเท็จ คำพูดส่อเสียด ยุให้รำตำให้รั่ว คำพูดหยาบคาย และคำพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
                                ๒.๓ สงเคราะห์ปวงชน (อัตถจริยา) คือ ให้ทำตนเป็นคนที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ช่วยเหลือเอาใจใส่ในกิจการต่างๆ ด้วยแรงกาย แรงใจ และด้วยคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ด้วยความเต็มใจ เต็มความรู้ความสามารถ ทำอย่างไรก็ได้ที่ให้เขาเห็นว่าเราเต็มใจช่วยเขา
                                ๒.๔ วางตนเหมาะสม (สมานัตตตา) คือ ให้เป็นคนดีที่เสมอต้นเสมอปลาย ทำต่อเนื่อง ไม่เป็นคนขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย และให้เป็นคนที่รู้จักทำตัวเป็นกันเองเข้ากับผู้อื่นได้ ใครคบค้าด้วยก็สบายใจไม่เครียด ไม่ทำตัวให้สูงหรือต่ำเกินไปนัก
                วิธีครองใจคนทั้งสองแบบนี้ หากเราเคยปฏิบัติแบบโลกวิธีมาแล้ว ได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผล ขอแนะนำให้ปฏิบัติแบบพุทธวิธีดูบ้าง แล้วจะรู้สึกว่าวิธีครองใจคนไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอะไรเลย

........................................

ธาตุแท้ของคน


                นักปราชญ์ทางศาสนา ได้ให้ข้อคิดว่า คนเราย่อมมองอะไรต่างๆ ตามพื้นฐานเดิมของคนนั้นๆ เช่น เมื่อเห็นพระพุทธรูปทองคำตั้งอยู่บนแท่น นักเศรษฐกิจอาจคิดประเมินราคาของพระพุทธรูป ขณะที่นักเคมีก็อาจคิดถึงธาตุทองคำที่นำมาสร้างพระพุทธรูปว่าบริสุทธิ์หรือไม่ มีธาตุอะไรเจือปนบ้าง โจรร้ายก็อาจจะคิดในใจว่าหากขโมยนำไปขายจะได้ราคาเท่าไร ในทำนองเดียวกัน ถ้าอยากจะรู้ว่าธาตุแท้ของคนเราเป็นอย่างไรก็จงหัดสังเกตปฏิกิริยา ครั้งแรกของคนคนนั้นว่าเขามีท่าทีต่อสิ่งนั้นๆ อย่างไร
                ธาตุแท้ หรืออุปนิสัยของคน ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าจริต มี ๖ ประการ คือ
                ๑. ราคจริต คนเจ้าราคะ มีอุปนิสัยรักสวยรักงาม หรืออารมณ์ศิลปิน เจ้าชู้ มองอะไรต่างๆ ในแง่ดี
                ๒. โทสจริต คนเจ้าโทสะ มีอุปนิสัยใจร้อน โกรธ เกลียดชังง่าย มักมองอะไรในแง่ร้าย ทำอะไรก็มักจะรุนแรง ชอบทำลาย
                ๓. โมหจริต คนเจ้าโมหะ มีอุปนิสัยเซื่องซึม ไม่ชอบคิดอะไรมาก และมักง่าย
                ๔. ศรัทธาจริต คนเจ้าสัทธา มีอุปนิสัยใจอ่อน เชื่อง่าย ถูกชักจูงได้ง่าย อารมณ์อ่อนไหว
                ๕. พุทธิจริต คนเจ้าปัญญา มีอุปนิสัยหนักแน่น ชอบคิดหาเหตุผลของสิ่งต่างๆ ไม่เชื่อง่าย ชอบถกเถียงโต้แย้ง
                ๖. วิตกจริต คนเจ้าความคิด มีอุปนิสัยจับจด วอกแวก ชอบคิดฟุ้งซ่าน วิตกกังวลในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
                ในคนคนหนึ่งอาจมีหลายจริตก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีจริตอะไรเป็นตัวนำ ขอให้ลองพิจารณาดูด้วยใจเป็นธรรมว่าตัวของเราเองจัดเป็นคนมีจริตแบบไหนใน ๖ ประการข้างต้น มีลักษณะสร้างสรรค์หรือทำลาย ถ้ามีลักษณะสร้างสรรค์ก็ควรส่งเสริม แต่ถ้ามีลักษณะชอบทำลายก็จงพยายามหาทางยับยั้ง หรือเบี่ยงเบนให้แสดงตัวในทางสร้างสรรค์แล้วปัญหาต่างๆ ที่ไม่ประสงค์ก็จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

........................................

คบเด็กสร้างบ้าน


                หากจะตั้งคำถามว่า ระหว่างการละเว้นความชั่วกับการทำความดีของเด็กกับผู้ใหญ่ มีความแตกต่างกันตรงไหน คำตอบที่ได้ก็น่าจะอยู่ที่เหตุผลของการกระทำ สำหรับเด็ก เหตุผลอาจตื้นๆ หรือบางทีก็ไม่ตรงจุดหมายที่แท้จริง ส่วนผู้ใหญ่เหตุผลจะแยบคายและลึกซึ้งกว่า เช่น การไม่เล่นฟืนไฟ เหตุผลของเด็กก็อาจเป็นกลัวผู้ใหญ่ลงโทษ แต่เหตุผลของผู้ใหญ่คือ กลัวเกิดไฟไหม้ การไม่ขาดเรียน เพราะเด็กกลัวพ่อแม่หรือครูทำโทษ ส่วนผู้ใหญ่กลัวว่าจะไม่ได้วิชาความรู้ การไหว้พระ เด็กไหว้พระเพราะผู้ใหญ่บอกให้ไหว้ ส่วนผู้ใหญ่ไหว้เพราะต้องการทำจิตใจให้สงบ ในการทำความดี ละเว้นความชั่วของเด็ก จึงเข้าลักษณะที่ว่าสามวันดีสี่วันร้าย แล้วแต่เหตุปัจจัยพาไป โดยไม่ทราบถึงผลที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ซึ่งต่างจากการกระทำของผู้ใหญ่โดยสิ้นเชิง
                โบราณกล่าวว่า คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง ทุกท่านล้วนแต่ผ่านวัยเด็กมาแล้ว คงจะเคยเล่นสร้างบ้านย้ายบ้านมาแล้ว หรือบางทีข้าวของในบ้านที่ผู้ใหญ่จัดไว้ดีแล้ว ก็ขนออกมาเล่นกระจัดกระจายเต็มบ้าน โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ผู้ใหญ่เพียงไร การคบเด็กสร้างบ้าน ท่านจึงหมายรวมถึงการคบกับคนพาล คบคนโง่เขลาเบาปัญญา ทำอะไรโดยปราศจากเหตุผล และไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดตามมา ซึ่งอาจเป็นบ่อเกิดแห่งความหายนะก็ได้ ส่วนคำว่าคบหัวล้านสร้างเมืองนั้น หมายถึงคนที่เกิดมานาน มีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตมากกว่าเด็ก อย่างที่พูดกันว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนนั่นเอง คนที่มีประสบการณ์ย่อมรู้จักแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่ขาดตกบกพร่องให้ดีกว่าเดิม การเลือกคบคนประเภทหลังนี้ จึงมีผลดีต่อตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ
                ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า คบเด็กสร้างบ้าน หมายถึง การคบคนพาล ผู้ปราศจากปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงผลดีผลเสียอันเกิดจากการกระทำของตนเอง ส่วนคบหัวล้านสร้างเมือง หมายถึง การคบบัณฑิต ผู้ซึ่งคอยชี้แนะแนวทางที่ดีในการดำเนินชีวิตให้ เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว จะคบเด็กสร้างบ้าน หรือคบหัวล้านสร้างเมือง ก็จงพิจารณาดูเถิด
........................................

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ปัจจัย ๕


                คำว่า “ปัจจัย” มีความหมายหลายอย่าง เช่น หนทาง หรือเหตุให้เกิดผลก็ได้ เช่น การศึกษา เป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความสามารถ หมายถึงเครื่องอาศัยยังชีพที่จำเป็นก็ได้ เช่น ปัจจัยสี่ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค หรือโดยปริยาย หมายถึงเงินตรา
                คำว่า “ปัจจัย” ที่หมายถึงเครื่องอาศัยยังชีพนั้น แต่เดิมคำสอนที่มุ่งประสงค์สำหรับผู้บวชในพระพุทธศาสนา ได้ถือเป็นหลักปฏิบัติโดยตรง เพื่อตัดภาระในการดำรงชีพให้มีน้อยที่สุด มิได้สอนสำหรับคฤหัสถ์หรือชาวบ้านซึ่งต้องครองเรือน มีครอบครัว ทำธุรกิจการงานต่างๆ แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน จึงสามารถมีเครื่องอาศัยยังชีพที่สำคัญซึ่งเป็นปัจจัยที่ ๕ ของชีวิตได้
                ปัจจุบันมีเครื่องอุปโภคบริโภคนานาชนิด ที่ผู้ขายพยายามโฆษณาให้เห็นสรรพคุณว่าเป็นสิ่งจำเป็น สมควรยอมรับว่าเป็นปัจจัยที่ ๕ ของชีวิต เช่น รถยนต์ โทรศัพท์ โทรทัศน์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่าเครื่องอุปโภคบริโภคประเภทใดสมควรได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยที่ ๕ ของชีวิตอย่างแท้จริง
                แม้ในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาจะไม่ได้ระบุว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ ๕ สำหรับชีวิตคฤหัสถ์ หรือชาวบ้านแต่ท่านพุทธทาสภิกขุ พระนักคิด นักเขียน นักปรัชญา และเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาได้ให้ข้อคิดว่า “ธรรมะ” ถือเป็นปัจจัยที่ ๕ ของชีวิตทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ เพราะธรรมะทำให้คนไม่เบียดเบียนกัน ธรรมะทำให้คนสงเคราะห์เกื้อกูลกันในทางที่ถูก ธรรมะทำให้คนดำรงตนอยู่ในแนวทางที่ไม่ผิดพลาด กล่าวโดยรวบยอด ธรรมะทำให้คนประเสริฐกว่าสัตว์เดรัจฉาน ธรรมะจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นแก่ทุกคนทุกครอบครัว ทุกสังคม ทุกชาติภาษา และทุกยุคทุกสมัย ทั้งในการดำรงชีวิต การดำเนินธุรกิจการงาน และการใช้สอยเครื่องอุปโภคบริโภคประจำวัน หากขาด “ธรรมะ” เสียแล้ว ย่อมส่งผลให้เป็นทุกข์ วุ่นวาย และเดือดร้อนทั่วไป อย่างปฏิเสธไม่ได้
                แม้เราจะมีปัจจัย ๔ อย่างสมบูรณ์เหลือเฟือ แต่ถ้าไม่มีธรรมะเป็นปัจจัยที่ ๕ เสียแล้ว ปัจจัย ๔ หรือปัจจัยอีกกี่ร้อยกี่พันก็ไร้ค่า เพราะเราจะหาความสุขจากปัจจัยเหล่านั้นไม่ได้เลย

.............................................

แรงดึงดูด


                เมื่อเอ่ยคำว่า โลกนี้มีแรงดึงดูด ทุกคนคงมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า การที่โลกหมุนรอบตัวเองอยู่ในชั้นบรรยากาศ โดยที่สรรพสิ่งที่อาศัยอยู่บนโลกไม่หลุดลอยไปในห้วงอวกาศนั้น เป็นเพราะโลกมีแรงดึงดูดอยู่ในตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติ ไม่มีใครสรรค์สร้าง ถึงแม้สิ่งที่โลกดึงดูดเอาไว้นั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือเป็นอัปมงคลก็ตาม จัดเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กันไปตลอดชั่วฟ้าดินสลาย ไม่สามารถที่จะสลัดทิ้งได้
                ชีวิตคนเราก็เช่นเดียวกัน ย่อมจะมีแรงดึงดูดในตัวเองมากน้อยแตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ใครจะเลือกดึงดูดเอาความดีหรือความชั่วเข้ามาสู่ชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพจิตของแต่ละคนซึ่งได้รับการฝึกฝนมากน้อยเพียรไร สิ่งที่เป็นเหมือนแรงดึงดูดในทางพระพุทธศาสนา คือ ความดี ๔ ประการ ได้แก่
                ๑. ความรู้ดี คือ รอบรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์โดยการศึกษาจากแหล่งความรู้ต่างๆ
                ๒. ความสามารถดี คือ สามารถนำความรู้ที่มีอยู่มาแก้ปัญหาในชีวิตได้จนเป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไป
                ๓. ความประพฤติดี คือ ควบคุมพฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย วาจา ใจ ไม่ให้เป็นไปในทางก่อความเสียหายแก่ผู้อื่น รวมทั้งมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เข้ากับคนอื่นได้ง่าย
                ๔. บุญวาสนาดี คือ ได้เคยสั่งสมความดีไว้ในอดีตและทำต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย
                ความดีทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเหมือนแรงดึงดูด หากมีพร้อมอยู่ในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้น สามารถดึงดูดผูกมัดและเหนี่ยวรั้งจิตใจผู้อื่นได้ ในทางตรงข้าม หากปราศจากความดีข้างต้น แรงดึงดูดในตัวเองก็จะลดลงและไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้อื่น ในสังคมปัจจุบันยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่พยายามดึงดูดสิ่งที่เป็นโทษแก่ชีวิตไว้โดยไม่รู้ตัว เช่น ยาเสพติดและอบายมุขต่างๆ ทั้งๆ ที่สามารถสลัดทิ้งสิ่งที่เป็นโทษเหล่านั้นได้
                ลองถามตัวเองสักนิดว่า แรงดึงดูดคือความดีในตัวเองมีมากแค่ไหน และกำลังดึงดูดสิ่งที่เป็นโทษหรือเป็นประโยชน์แก่ชีวิต

.........................................

ตักบาตร


                การตักบาตร คือการเอาข้าวและกับข้าวใส่ลงไปในบาตรของพระภิกษุสามเณร เราจะตักบาตรเป็นประจำทุกวันหรือเฉพาะวันพระหรือวันคล้ายวันเกิดของตนก็แล้วแต่ศรัทธา กำลังทรัพย์และความสะดวกของตน
                การทำบุญตักบาตร เป็นกิจที่ชาวพุทธนิยมทำกัน เป็นการช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะพระภิกษุสามเณรเป็นผู้สละโลก ไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อขัดเกลาตนเองและนำความรู้ไปแนะนำสั่งสอนพุทธศาสนิกชนให้ประพฤติดีละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้สะอาดผ่องใส
                การทำบุญตักบาตรที่ถือว่าได้บุญมากนั้นจะต้องมีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ
                ๑. วัตถุสิ่งของสำหรับทำบุญต้องบริสุทธิ์ หมายความว่า เงินทองที่นำมาจับจ่ายซื้อสิ่งของมาทำบุญต้องได้มาด้วยความสุจริต ไม่คดโกงหรือขโมยใครมา เป็นของบริสุทธิ์ ไม่ได้เบียดเบียนชีวิตสัตว์ คือไม่ได้ฆ่าสัตว์มาทำบุญ และวัตถุที่นำมาทำบุญนิยมคัดเลือกของที่มีคุณภาพดี อย่างน้อยก็ไม่เลวกว่าที่เรากินเราใช้อยู่เป็นปกติ ชาวพุทธเมื่อจะใส่บาตรจึงนิยมตักบาตรด้วยข้าวปากหม้อ ถ้าเป็นแกงก็แกงถ้วยแรกที่ตักจากหม้อ
                ๒. เจตนาของผู้ถวายต้องบริสุทธิ์ หมายความว่า เจตนาต้องบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ขณะ คือ ก่อนให้ก็ต้องมีจิตศรัทธา เลื่อมใส กำลังให้ก็มีจิตใจผ่องใส ให้ด้วยความเคารพ และหลังจากให้แล้วก็มีจิตใจแช่มชื่น ไม่นึกเสียดาย
                ๓. ผู้รับเป็นผู้มีศีล หมายความว่า บริจาคให้แก่ผู้มีศีลมีคุณธรรม เรานิยมถวายอาหารและสิ่งของแก่พระภิกษุสามเณร เพราะท่านเป็นผู้ทรงศีล พระพุทธเจ้าทรงเปรียบพระภิกษุสามเณรผู้มีศีลว่า เป็นบุญเขต แปลว่า นาบุญ ดังบทสรรเสริญพระสังฆคุณว่า อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของชาวโลก
                การทำบุญด้วยการตักบาตรหรือบริจาคทานในโอกาสใดๆ ก็ตาม ถ้าบริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการ ดังกล่าวมานี้ ก็จะได้บุญเต็มเปี่ยม คือผู้ให้ก็สบายใจ ชื่นใจ นอกจากจะได้สงเคราะห์ผู้รับให้มีกำลังทำความดีต่อไปแล้ว ยังเป็นการขัดเกลาขจัดความตระหนี่ของตนเองด้วย ฝ่ายผู้รับเมื่อได้รับการสนับสนุนเช่นนี้ ก็จะมีกำลังในการทำความดีได้โดยสะดวก เป็นอันว่าได้ช่วยกันสร้างสรรค์ความดีงามให้เกิดขึ้นและแผ่ขยายในวงกว้างต่อๆ ไปด้วย

........................................

พระคุณแม่


                คำว่า “แม่” มีความหมายสำหรับลูกๆ ทุกๆ คน แต่น้อยคนนักที่จะซาบซึ้งในความหมายนี้อย่างแท้จริง เพราะได้ยินคำนี้มาจนชินชาและดูเป็นธรรมดาไปเสียแล้ว จึงขอนำพระคุณแม่มาเสนอ ดังนี้
ลักษณะของแม่
                ๑. เมื่อแม่ต้องการมีลูก ก็ได้อ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่แม่นับถือ เพื่อให้ได้ลูกอย่างที่ปรารถนา
                ๒. เมื่อแม่ตั้งครรภ์แล้วได้พยายามรักษาครรภ์อย่างดีที่สุด
                ๓. เมื่อคลอดลูกแล้วได้ปลอบโยนเลี้ยงดูลูกอย่างดีตามความสามารถ
                ๔. แม่พยายามรักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้เพื่อลูกๆ
พระคุณของแม่เปรียบกับใครได้บ้าง
                ๑. เปรียบได้ดังพระพรหม เพราะมีความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาต่อลูกๆ
                ๒. เปรียบได้ดังบุรพเทพ เพราะลูกๆ ได้รู้จักเทพเหล่าอื่นที่หลัง แต่ได้รู้จักแม่ก่อนเทพเหล่านั้น ฉะนั้นแม่จึงเป็นดั่งบุรพเทพ
                ๓. เปรียบได้ดังบุรพาจารย์ของลูกๆ เพราะได้สอนลูกๆ ก่อนอาจารย์อื่นๆ
                ๔. เปรียบเป็นอาหุไนยบุคคลของลูกๆ เพราะเป็นผู้ที่เหมาะสมแก่การรับข้าว น้ำ เป็นต้นของลูกๆ
พระคุณของแม่
                ๑. เลี้ยงดูท่านทั้งทางกายและจิตใจ
                ๒. ช่วยเหลือแบ่งเบาภารกิจของท่าน
                ๓. ดำรงวงศ์ตระกูลของท่าน
                ๔. ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมที่เป็นทายาทขอท่าน
                ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปทำบุญอุทิศให้ท่าน
                ๖. แม่ไม่มีศรัทธาในพระศาสนา พยายามโน้มน้าวให้มีศรัทธา
                ๗. ไม่มีศีล พยายามชักชวนให้มีศีล
                ๘. ไม่เสียสละ พยายามยามชักชวนให้เสียสละ
                ๙. ไม่ค่อยรอบรู้ พยายามชักชวนให้ท่านมีความรอบรู้
                เมื่อลูกๆ ได้ทำการตอบสนองคุณของแม่แล้ว ลูกและแม่ก็จะมีความสุขใจสบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

.........................................

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สุขทำให้หลง

สุข ทำให้หลง
ในลาบ ในตำแหน่ง ในยศ ในสรรเสริญ ในความเก่ง ในความรู้ ในความสามารถ ในความร่ำรวย ในปริญญา ตรี โท เอก ในความสวย หล่อ กว่า ในความมานะทิฐถิ สูงกว่า ในอำนาจ ในกิเลสตัณหาทั้งปวง ที่เป็นฝ่ายกุศล
 นั่นคือหลงและยิ่งห่างไกลพระธรรม เพราะได้หลงบุญอยู่ บุญที่เสวยสุขในโลกธรรมอยู่ หารู้ไม่บุญตัวนี้ ก็คือกิเลสฝ่ายดีตัวหนึ่ง ไม่พ้นทุกข์แท้จริง เมื่อหมดบุญ เสื่อมบุญ เช่น ความตายมาเยือน เรียกว่าหมดบุญของโลกธรรมอย่างหนึ่ง หรือปลดเกษียณ ก็หมออำนาจ ก็หมดบุญอย่างหนึ่ง นี่คือตัวอย่างกิเลสฝ่ายดี ฝ่ายกุศล ที่มนุษย์หลงกันนักหนา ว่าสุขที่สุดในโลกธรรม แต่เป็น เปลือกสุข ของโลกโลกุตระธรรม
 สุขที่สุดของโลกโลกุตระธรรม คือความว่าง ความไม่มีอะไรเลย ทั้งกิเลสฝ่ายดี(กุศล) และกิเลสฝ่ายชั่ว(อกุศล) คือ จิตที่ว่าง จิตที่หมดจด จากกิเลสทั้งสองฝ่าย คือจิตที่เป็นกลาง เรียกว่า จิตเข้าถึงปรมัทถธรรม คือจิตที่เข้าสู่กระแสมรรค จิตที่เข้าสู่กระผล และสุดท้ายจิตที่เข้าสู่กระแสพระนิพพาน นี่คือ จิตที่ไม่หลงแล้วในกิเลส พ้นทุกข์แท้จริง เป็นจิตที่สะอาด บริสุทธิ ด้วยอรยะมรรค อริยะผล จิตที่ไม่มีมลทิล แห่งอาสวะกิเลสน้อยใหญ่ ทั้งฝ่ายดี และฝ่ายชั่วปนเปลื้อน อยู่เลย นี่คือ แก่นธรรม นี่คือธรรมะแท้ ไม่ใช่เปลือก ไม่ใช่ของปลอม จริงล้วนๆ
..........

โลกียะสุข

โลกียะสุขคือสุขที่เป็นม่านปิดบังทุกข์ ส่วนโลกกุตระสุข คือสุขทีเปิดม่าน มาดับเย็นภายในจิต ที่เกิดทุกข์ เมื่อโลกียะสุขหมดไป เปรียบดัง กิน กาม เกียรติ หมดลง เสื่อมลง ทุกข์ก็ยังตั้งรออยู่ ไม่ได้ถูกทำลายไปไหน เหลือแต่กองเพลิงในดวงจิต เพราะโลกียะสุขที่เป็นม่านหมอกจางลง เบาบางลง ไม่มีอะไรมาบังกองเพลิงจิต ได้เห็นจิต ภายในจิตที่ซ่อนกองเพลิงอยู่ เหลือแต่เศษขยะโลกียะสุข ได้ขยะกองทุกข์เท่ากองภูเขารออยู่ในจิตภายในจิตที่ร้อนรนยิ่งกว่าเปลวเพลิงที่เป็นกองไฟนรกเสียอีก ส่วนกองสุข ที่ดับเย็น จิตภายในจิต มองหาไม่เจอเลย เพราะจิต ยังไม่รู้ว่าดับเย็นของจิตภายในจิต เป็นอย่างไร คือผู้ไม่มีปัญญาญาณ ถูกแต่ปัญญาไอคิว๑๘๐ครอบงำ มีแต่ปัญญาทางโลกธรรมครอบงำจิตอยู่ แต่ไม่มีปัญญทางโลกุตระ ทีเป็นปัญญาญาณในการ ดับเย็นของจิตภายในจิต โดยปฎิบัติเจร็ญภาวนาบ้าง ไม่ใช่มีแตปัญญาทางโลก หาเงิน ทำงาน หาทอง หาโลกียะสุข แสวงกิน แสวงกาม แสวงเกียรติ์ แสวงลาบ แสวงตำแหน่ง แสวงความเป็นมหาเศรษฐี แสวงการได้เมีย แสวงการอยากได้ลูก แสวงหาการอยากได้สิ่งต่าง ของโลกียะสุขที่ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ้งเป็น ปัญญาทางไอคิว๑๘๐ ล้วนๆ เป็นปัญญาที่เพิ่มกองเพลิง จิตภายในจิต แต่ปัญญาญาณ เป็นปัญญาทางโลกุตระจิต เป็นปัญญาที่ สามารถดับกองเพลิงจิตภายในจิตที่ร้อนรน ให้เป็น ให้เกิด จิตภายในจิตที่ดับเย็นได้คิอปัญญาวิปัสนาญาณ เป็นปัญญาวิมุติ เป็นปัญญาญาณทางโลกุตระที่ดับเย็นกิเลสที่ร้อนรุ่มภายในจิตโดยแท้ และเป็นปัญาญาณทางโลกุตระ ปัญญาเดียวเท่านั้น 


ปัญญาทางโลก ให้เรียนวิชาในโลกใบนี้ 
เก่งขนาด ผู้คิดค้นระเบิดปรมณูได้ แต่ยังไม่มีปัญญาญาณ ที่ดับเย็น จิตภายในจิตได้เลย หรือ ผู้เรียนจบ ดอกเตอร์ มาในวิชา ที่มีอยูในมหาลัย ทั้งโลกใบนี้ ก็ยังไม่มีปัญญาญาณดับเย็น จิตภายในจิตได้เลย นอกจากปัญญาญาณ ของโลกุตระ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชี้ทางไว้ให้เดินตามนี้ เป็นปัญญาญาณ ที่ดับเย็น เป็นปัญญาที่นำพาจิต ละออกจากกิเลส ตัณหา ตัวอวิชา ที่เป็นกิเลสหรอกจิต เห็น ตัววิชา คือธรรมะแท้ มาทำลายกิเลส ที่มาบดบังจิต ให้มืดมน มานับภพ มานับชาติไม่ถ้วน เปรียบดังน้ำฝน(พระธรรม) โปรยตกลงมา ทำให้ตัวอวิชา(กิเลสปลอม)ที่มนุษย์โดนหลอก ถูกหลงทางมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ให้เหลือตัว วิชา คือธรรมะแท้ ที่มีสภาพความเป็นจริง นั้นเป็นอย่างไรเรียกว่า เป็นผู้เริ่มมี ปัญญาญาณ คือปัญญาทางโลกุตระธรรมแล้ว

ผู้ห่างธรรม เป็นผู้เสื่อม(จิตเสื่อมจากโลกุตระ จิตร้อนรน) 
ผู้ใกล้ธรรมเป็นผู้เจริญ(จิต มีความดับเย็น จิตภายในจิต จิตไม่ร้อนรน ทุรนทุราย จิตรู้ได้ ด้วยจิตเอง มีปัญญาญาณ ที่รู้แจ้งด้วยจิตเอง ในทางโลกธรรมเช่นกัน จิตร้อนรนภายในจิต ในจิตเอง มีปัญญาทางโลกที่มืดบอด หลงผิดว่า สุขแล้ว ในโลกียะสุข กิน กาม เกียรติ ลาบ ยศ สรรเสริญ ทรัพย์ สมบัติ รถ บ้าน โฉนดที่ดิน เมียสวยๆ ผัวรวยๆ ลูกน่ารัก ตระกูลเจริญแต่ทางวัตุกาม และ สมหวังในวัตถุกามที่มีวิญญาณ หารู้ไม่ แท้จริง เป็นสมบัติแห่งกิเลส ที่ซ่อนด้วยเปลวเพลิงร้อน เห็นแต่ปัญญาทางโลกอย่างเดียว แต่ขาดปัญญาทางธรรม.

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คุณสมบัติของพ่อค้า


                ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการดำรงชีวิตมากบ้าง น้อยบ้างเนื่องจากเครื่องอุปโภคและบริโภคมีราคาสูงขึ้น เป็นเหตุให้ต้องจ่ายเงินมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ทุกคนจึงมีความจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
                พระพุทธศาสนาสอนเรื่องเศรษฐกิจ โดยให้คนขยันทำมาหากินในทางสุจริต ให้รู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้รู้จักคบคนดีเป็นมิตร และมีความเป็นอยู่อย่างเหมาะสม รู้จักกำหนดรายได้รายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี โดยแสดงถึงคุณสมบัติของพ่อค้าไว้ ๓ อย่างคือ
                ๑. มีตาดี หมายถึง รอบรู้ในเรื่องหลักการค้าขาย รู้จักสินค้า รู้ต้นทุน รู้กำไร
                ๒. มีความเพียร หมายถึง พยายามพิจารณาถึงกาลเทศะและสถานที่ รู้ว่าจะซื้อที่ไหนจะได้ของถูก ขายที่ไหนจะได้ราคาดี รู้จังหวะเวลาตอนไหนควรซื้ออะไร ตอนไหนควรขายอะไร แล้วทำอย่างต่อเนื่อง
                ๓. รู้จักชอบพอกับคนรอบข้าง หมายถึง มีมิตรสหายมาก รู้จักทำตนให้น่าเชื่อถือ เป็นที่นิยมและไว้วางใจของผู้อื่น มีน้ำจิตน้ำใจต่อลูกค้าและพ่อค้าด้วยกัน
                คุณสมบัติของพ่อค้า ๓ ประการนี้ จะช่วยให้การค้าขายประสบผลสำเร็จ มีผลกำไร เข้าทำนองว่า     “ซื้อง่ายขายคล่อง” อาชีพค้าขายถ้าจะให้มั่นคงถาวร ต้องค้าขายโดยสุจริต งดเว้นค้าขายสิ่งที่อุบาสกไม่ควรทำ ๕ ประการ ตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้คือ ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้าเนื้อสัตว์หมายถึงสัตว์ที่มีชีวิต ค้าน้ำเมารวมถึงสิ่งเสพติด และค้ายาพิษ เพราะการค้าขายสิ่งเหล่านี้จะเกิดภัยอันตรายต่อตนเองและส่วนรวม แม้บางครั้งจะทำให้ได้รับผลกำไรมากมาย เช่น การค้ายาเสพติด ถือว่าเป็นภัยต่อชาติ ต่อแผ่นดิน เป็นการทำลายมนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุด
                ฉะนั้น พ่อค้าผู้หวังผลกำไรเพื่อสร้างฐานะและอนาคตของตนเอง และครอบครัวจะต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการ และเว้นการค้าขายที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม จึงจะประสบความสำเร็จตามความประสงค์ทุกประการ

.........................................

การขอที่ไม่น่าละอาย


                ธรรมชาติของคนที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ไม่ชอบให้ใครมาขอและตนเองก็ไม่ชอบขอใคร คนเราส่วนใหญ่ต้องการรับ ไม่ต้องการให้ หากมีใครมาขอจะหงุดหงิดรำคาญใจ รู้สึกว่านั่นหมายถึงการสูญเสีย หรือบางคราวก็ให้ด้วยความจำใจแบบเสียไม่ได้ โดยปกติคนเราหากไม่เหลือบ่ากว่าแรงหรือจำเป็นจริงๆ ก็จะไม่ขอใคร นั่นเป็นเพราะความละอาย กลัวผู้ถูกขอจะนึกตำหนิต่างๆ นานา อาจถูกว่ายากจนบ้างล่ะ ยากจนมากหรือ ไม่มีปัญญาหาเลี้ยงชีพแล้วหรือ อะไรประมาณนี้ จึงมีคำสอนเตือนใจเกี่ยวกับการขอไว้ว่า “จะยากจนเพียงใดก็ไม่ขอใครกิน หรืออดอย่าเสือดีกว่าอิ่มอย่างสุนัข ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่พอใจของผู้ถูกขอ”
                แต่มีการขอชนิดหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้าม ไม่ใช่สิ่งที่น่าละอาย และไม่เป็นเครื่องหมายของความยากจน คือการขออภัย การให้ที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองสิ่งใด ก็คือการให้อภัย
                การขออภัย เป็นการสำนึกในความผิดพลาดของตนที่ได้พลาดพลั้งไปแล้ว การให้อภัย เป็นการรับรู้ความผิดของผู้อื่นแล้วไม่ถือโทษ ผู้ที่อยู่ร่วมกันก็ต้องมีความพลาดพลั้งล่วงเกินกันบ้างเป็นธรรมดา แต่เมื่อพลาดพลั้งไปแล้วก็ไม่ควรจะละเลยหรือถือเป็นเรื่องเล็กน้อย ควรรีบขออภัยหรือขอโทษทันที ส่วนผู้ถูกล่วงเกินก็เช่นเดียวกัน เมื่อรับการขออภัยหรือขอโทษแล้ว ก็ไม่ควรจะผูกโกรธ การให้อภัยในความผิดพลาดของกันและกันแสดงถึงความเป็นผู้มีจิตใจสูง ประกอบด้วยเมตตา เป็นสุภาพชน
                นอกจากนี้ การให้อภัยนั้น ยังถือเป็นการให้ทานอย่างหนึ่ง เรียกว่า อภัยทาน พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่า เป็นทานอย่างสูง เพราะเป็นการให้ที่ชำระใจให้บริสุทธิ์ ปราศจากความพยาบาทจองเวร เป็นอโหสิกรรม คือไม่มีเวรภัยต่อกันและกัน ให้ยุติลงแค่นั้น ฉะนั้นการขออภัยและการให้อภัยนี้จึงเป็นคุณธรรมที่ควรปฏิบัติสำหรับทุกๆ คน

........................................

สมานรัก


                กล่าวกันว่า พึ่งเห็นพึ่งรัก น้ำต้มผักยังว่าหวาน ครั้นนานนานน้ำอ้อยก็ค่อยขม คิดว่าเรื่องทำนองนี้ ท่านคงเคยประสบมาด้วยตัวเองบ้างแล้ว เรื่องของความรักความใคร่นั้น เป็นไปได้ทั้งในทางบวกและทางลบ โดยเฉพาะรักต่างเพศหรือเพศเดียวกัน ส่วนมากจะเริ่มต้นด้วยความหวานชื่น แต่พอครั้นนานเข้าก็จืดชืด และเปลี่ยนเป็นขม สุดท้ายลงเอยด้วยทุกข์และน้ำตา ความรักของคนทั่วไปก็มักเป็นเช่นนี้ ด้วยเพราะรักนั้นไม่บริสุทธิ์ มีความชัง ความริษยา อาฆาต ปะปนมาด้วย เหมือนน้ำผึ้งเจือยาพิษ เริ่มต้นด้วยรสหวานแล้วก็จบลงด้วยความตาย
                ในทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงความรักไว้ ๒ ประเภท คือ
                ๑. รักแท้ ได้แก่ ความรักบริสุทธิ์ใจ รักที่มีแต่ให้ เสียสละ ไม่หวังผลตอบแทน ยอมทุกข์แทนคนรักได้ เช่น ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก รักนี้คือ เมตตาและกรุณา อยากให้เป็นสุขและคิดช่วยให้พ้นทุกข์
                ๒. รักไม่แท้ ได้แก่ ความรักไม่บริสุทธิ์ใจ รักประเภทนี้เจือปนด้วยกิเลส ตัณหา มีกามคุณห้า คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เป็นที่เกิด มีเสน่หาเป็นเยื่อใย ครั้นสิ่งที่น่ารักเปลี่ยนแปลงกลับกลายเป็นน่าชังไป เสน่ห์ก็หมดความรักก็จืดจาง สิ่งร้ายๆ ที่ปะปนแฝงอยู่ก็แสดงออก จากรักจึงกลับมาร้าย สุดท้ายก็ต้องเลิกร้างหมางเมินกันไปเหลือไว้แต่ความทุกข์โศกเสียใจ
                รักไม่แท้ คือต้นตอแห่งปัญหาครอบครัว ถึงขั้นบ้านแตก ครั้นจะหารักแท้ในทางโลกีย์ก็ยากนักมีทางเดียวที่จะประคับประคองชีวิตคู่ให้คงเส้น คงวาไปได้ตลอดรอดฝั่ง คือต้องผสมผสานรักแท้เข้าไว้ด้วย อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของรักไม่แท้ที่เป็นอยู่ ก็พอจะทุกข์ๆ สุขๆ อยู่ต่อไปได้
                เมตตาและกรุณา เป็นตัวประสานหรือสมานรักไว้ เหมือนกอบัวในสระน้ำ ลำพังโคลนตมเพียงอย่างเดียวยังไม่พอต้องอาศัยน้ำด้วย บัวจึงจะงอกงามออกดอกอยู่ได้ ฉันใด ความรักของมนุษย์ แม้จะเจือด้วยทุกข์ แต่ถ้ามีรักแท้ คือเมตตาและกรุณา ผสมผสานอยู่ด้วยแล้ว ก็จะงอกงามอยู่ได้ ฉันนั้น

........................................

คนงาม


                งาม หมายถึง ลักษณะที่เห็นแล้วชวนยินดี ชวนพึงใจ มองตามลักษณะแล้วสามารถมองได้ ๔ ลักษณะดังนี้
                ๑. งามอาภรณ์ คือมีเครื่องประดับตกแต่งกายที่สวยงาม สะอาดเรียบร้อย เหมาะสมกับฐานะ แต่งแล้วดูงาม ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความนิยมชมชอบ
                ๒. งามเรือนร่าง ได้แก่ การมีร่างกายสมส่วน แข็งแรงเหมาะสมกับวัย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป ตลอดจนรักษาความสะอาดของร่างกายได้เป็นอย่างดี
                ๓. งามมารยาท คือ มีกิริยาวาจาที่เรียบร้อย มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสกว่าตน เป็นคนอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ มารยาทที่งามเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากการฝึกหัดตามระเบียบวินัยและศีลธรรม
                ๔. งามจิตใจ ได้แก่ การมีจิตใจเยือกเย็น ไม่อิจฉาริษยาผู้อื่น มีความรักต่อผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ใจ ทั้งมีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวต่อเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้น
                ความงาม ๒ อย่างแรก คือ งามอาภรณ์และงามเรือนร่าง เป็นความงามภายนอก ระดับเปลือกและกระพี้ของความงามเท่านั้น ส่วนความงาม ๒ อย่างหลังคือ งามมารยาทและงามจิตใจ เป็นความงามภายใน ระดับเนื้อและแก่นของความงามทีเดียว
                เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยจะช่วยให้คนเป็นคนงามแล้ว ความงามภายนอกต้องตกแต่งด้วยเครื่องเสริมความงาม ต้องอาศัยวัตถุอุปกรณ์ต่างๆ ความงามประเภทนี้จึงไม่เป็นอิสระและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยตามวัยของคน ส่วนความงามภายใน เป็นความงามที่เกิดขึ้นจากระเบียบวินัยและศีลธรรม จึงเป็นความงามอิสระ เพราะใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของได้
                ฉะนั้น เรามาเสริมสวยมารยาทและจิตใจของเราให้สวยงาม ควบคู่กับอาภรณ์และเรือนร่างกันดีกว่า เพื่อจะได้เป็นคนงามที่สมบูรณ์แบบ

........................................

ทุนชีวิต


                การที่คนเราจะมีชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด จะต้องมีทุนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนพอสมควร ทั้งทุนภายในและทุนภายนอก หากไม่มีทุนอะไรเลย ชีวิตคงดำเนินไปได้ยาก และคนที่เกี่ยวข้องก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ทุนจึงนับว่ามีความสำคัญต่อชีวิตอย่างยิ่ง
                ทุนนั้น ได้แก่สิ่งที่นำมาเป็นเครื่องใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามที่ประสงค์ เพื่ออธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นขอแบ่งทุนออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
                ๑. ทุนภายใน หมายถึง บุญกุศล ที่บุคคลกระทำไว้ซึ่งแบ่งเป็นทุนเดิม คือบุญกุศลในอดีต และทุนใหม่ คือบุญกุศลปัจจุบัน
                ๒. ทุนภายนอก คือ ข้าวของเงินทอง หรือปัจจัยเกื้อหนุนในการเลี้ยงชีพ ซึ่งอาจแบ่งเป็นทุนที่ใช้เฉพาะหน้าในแต่ละวัน และทุนสำรอง ซึ่งอาจเป็นทุนประเภทฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือทุนประกันชีวิต
                เมื่อบุคคลใช้ทุนไปเรื่อยๆ หากประมาทมัวเมา ไม่พยายามเพิ่มทุนขึ้นเลย ทั้งทุนภายในและภายนอก ก็จะหมดไปในที่สุด มีคำกล่าวว่า “ถ้าหมดทุนภายใน ชีวิตก็ดับสิ้น แต่ถ้าหมดทรัพย์สินอันเป็นทุนภายนอก ชีวิตก็ฝืดเคือง” ด้วยเหตุนี้ ผู้ฉลาดจึงรีบขวนขวายเพิ่มทุนภายใน ด้วยการทำบุญคือสร้างความดีไว้เสมอ ในขณะเดียวกันก็แสวงหาทุนภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทอง ของจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของตนเองและครอบครัว ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง เมื่อหาทรัพย์สินได้มาก็รู้จักใช้จ่าย อีกทั้งแบ่งเก็บไว้เมื่อคราวจำเป็น หลีกเว้นอบายมุขทุกชนิด คบหากับบัณฑิตเป็นประจำ ย่อมนำพาชีวิตไปสู่ความก้าวหน้า แต่ทว่าบางคนกลับเกียจคร้านไม่แสวงหาทรัพย์สิน หรือพอมีทรัพย์สินศฤงคาร ก็เผาผลาญจนหมดสิ้นกับสิ่งเหลวไหล กลายเป็นคนล้มละลาย เมื่อเสียชีวิตลงส่งผลให้ครอบครัวเดือดร้อนเกิดความทุกข์ เพราะหนี้สินของผู้ตายที่สร้างไว้
                บัณฑิต ผู้มองการไกลจะไม่ประมาท พยายามตั้งทุนให้กับชีวิตตนเอง ทั้งทุนภายในและทุนภายนอก ทุนภายในจะส่งผลดีแก่ตนและสังคม ส่วนทุนภายนอกจะอำนวยประโยชน์แก่ตนและครอบครัวทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้ที่พยายามทำชีวิตให้มีคุณค่า นับว่าเป็นผู้มีปัญญา น่าสรรเสริญ สมดังคติพจน์
                                เกิดเป็นคน            อย่าให้จนความดี
                                เกิดมาทั้งที            ต้องทำดีให้ได้
                                จะตายทั้งที            ต้องฝากดีเอาไว้

........................................