วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เสียศีลไม่เสียธรรม


                                ลองสังเกตดูว่าหลักปฏิบัติ กฎระเบียบ และข้อห้ามในทางโลกตามหน่วยงานทั้งทางราชการและเอกชน จะมีหลายข้อที่ตรงกันกับหลักปฏิบัติในทางธรรม โดยเฉพาะข้อที่เกี่ยวกับการดื่มของมึนเมา ซึ่งโทษจากการดื่มน้ำเมา จะทำให้เกิดความประมาทขาดสติและโทษอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น ทำให้เสียทรัพย์ ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ทำให้เกิดโรค ทำให้ถูกตำหนินินทา ทำให้กล้าทำในสิ่งน่าละอาย ทำลายสติปัญญา รวมทั้งทำให้เสียงาน ฯลฯ
                ในทางธรรมะ ได้แบ่งผู้ที่ดื่มน้ำเมาเป็น ๒ ลักษณะ คือ
                ๑. ดื่มน้ำเมาแล้ว เกิดความมึนเมาจนขาดสติสัมปชัญญะ เสียความระลึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำงานบกพร่อง พูดจาผิดพลาด ความคิดเลอะเลือนเหลวไหล กิริยาอาการผิดปกติ ดื่มลักษณะอย่างนี้ได้ชื่อว่า เสียศีลเสียธรรม
                ๒. ดื่มน้ำเมาแล้วยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่ ไม่เสียความระลึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำงานได้ ไม่บกพร่องพูดจาไม่ผิดพลาด คิดอ่านได้รอบคอบ ไม่เลอะเลือนเหลวไหล ควบคุมกิริยาอาการได้เป็นปกติ ดื่มลักษณะอย่างนี้ชื่อว่า เสียศีลแต่ไม่เสียธรรม
                เมื่อมีเจตนาดื่มน้ำเมาจนล่วงลำคอลงไป จะดื่มมากหรือน้อยก็ตาม ถือว่าเสียศีลแล้ว หากมึนเมาจนขาดสติสัมปชัญญะ ก็ถือว่าเสียธรรมเข้าไปอีก เป็นการเสียทั้งศีลเสียทั้งธรรม  ดังนั้น หากจะดื่มน้ำเมาต้องประคองรักษาสติสัมปชัญญะไว้ให้ได้ แม้จะเสียศีลแต่ก็ยังไม่เสียธรรม ข้อสำคัญที่สุดหากงดเว้นการดื่มน้ำเมาได้โดยเด็ดขาด ชื่อว่า เป็นคนมีทั้งศีล มีทั้งธรรม ย่อมได้รับการยกย่องว่าเป็นคนประเสริฐโดยแท้

.............................................

ข้อคิดจากการไปงานศพ


                                เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ เมื่อบุคคลที่รู้จักคุ้นเคยกันเสียชีวิตลง ก็จะมีผู้ไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลศพ ท่านเคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ได้อะไรบ้างจากการไม่ร่วมงาน ถ้ามองกันอย่างผิวเผิน คือมองด้วยตาเนื้อ ที่เรียกว่า มังสะจักษุแล้ว สิ่งที่เราได้จากผู้ล่วงลับดับชีพก็คือ กฎหมายไม่แตะต้อง ญาติพี่น้องไม่รบกวน คดีทั้งมวลเป็นอันระงับ หนี้สินพร้อมสรรพยกให้เด็ดขาด ศัตรูคู่อาฆาตก็เลิกแล้วต่อกัน สิ่งเหล่านี้เมื่อตายแล้วก็เป็นอันสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ตายได้รับ แต่สิ่งที่คนมีชีวิตจะได้นั้น ถ้ามองให้ลึกซึ้งให้ชัดเจนลงไปด้วยดวงตาพิเศษที่เรียกว่า ปัญญาจักษุแล้ว จะได้พบสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ
                ๑. ได้เห็นความดี คือเห็นว่า มนุษย์เรานั้น ในขณะที่ยังมีชีวิตแม้จะสร้างคุณงามความดีอย่างไรก็ตาม แต่เรามองเห็นความดีนั้นแบบผ่านไป ไม่ได้เกิดคุณค่าประโยชน์อย่างแท้จริง แต่ถ้าวันใดวันหนึ่ง คนนั้นเสียชีวิตลง เราก็รู้สึกโศกเศร้าเสียดายอาลัยอาวรณ์ พรรณนาความดีของเขาต่างๆ นานาว่า ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้
                ๒. ไม่หลีกหนีสัจธรรม คือความจริงแท้ของชีวิตมนุษย์นั้น เมื่อเราเกิดมาแล้วในเบื้องต้น ก็มีความแปรปรวนในท่ามกลาง แล้วเสื่อมสลายไปในที่สุด เข้าลักษณะของกฎไตรลักษณ์ที่ว่า อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และอนัตตา ความไม่มีตัวตน นี่คือสัจธรรมที่แท้จริง
                ๓. ได้รีบทำที่พึ่ง คือที่พึ่งของคนเรามีอยู่หลายอย่าง เช่น สิ่งอำนวยประโยชน์ต่างๆ รวมถึงปัจจัยสี่ สิ่งเหล่านี้เป็นที่พึ่งเฉพาะในยามที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ไม่สามารถนำติดตัวไปในยามที่เราจากโลกนี้ได้ จึงจำเป็นที่เราต้องรีบทำที่พึ่งซึ่งสามารถนำติดตัวไปได้ นั่นก็คือ คุณงามความดี หรือบุญซึ่งมีอยู่ ๒ ทาง คือความดีทางโลก ได้แก่ การประกอบอาชีพในทางสุจริต และความดีทางธรรม คือ การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา เมื่อเราได้สร้างความดีไว้ทั้งสองทาง ครั้นเมื่อเสียชีวิตลงไป ความดีส่วนนี้นอกจากจะจารึกเป็นเป็นอนุสาวรีย์แห่งชีวิตแล้ว ยังติดตามเราไปในโลกหน้าอีกด้วย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “...บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในยามที่ถึงแก่ความตายหรือล่วงลับดับชีพไปแล้ว...” เมื่อเราท่านได้มีโอกาสไปร่วมงานศพแล้ว ลองมองถึงประโยชน์ทั้ง ๓ ประการ ดังกล่าวให้เข้าใจ

.............................................

ปัจฉิมพุทธพจน์


                ในสมัยก่อนเมืองไทยถือได้ว่าเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ดังคำกล่าวที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่ปัจจุบันจะต้องเปลี่ยนคำพูดนั้นใหม่ว่า “ในน้ำไม่มีปลา ในนามีแต่หนี้” เพราะนำไปจำนองกับนายทุนหมด สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นคล้ายๆ กันไปทั่วทั้งโลก
                หากจะถามว่า ความอุดมสมบูรณ์ที่โลกเคยมี ใครเป็นผู้ทำให้สูญเสียไป ก็คงต้องตอบว่ามนุษย์เรานั่นเอง และถ้าจะถามต่อไปอีกว่า ปัญหาต่างๆ ใครทำให้เกิด ก็มนุษย์เรานั่นแหละเป็นผู้ทำ
                เมื่อทราบว่าใครเป็นผู้ทำหรือสร้างปัญหาต่างๆ ขึ้นมาเช่นนี้แล้ว ก็ขอให้นึกถึงคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบทหนึ่งที่ว่า “อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ” แปลว่า ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด หมายความว่า คนเราเมื่อมีดี ต้องรักษาไว้ให้ได้ เมื่อมีชั่ว ต้องกำจัดชั่วออกไป คือต้องดำรงชีพอยู่โดยไม่ประมาท และไม่ขาดหลักธรรม เพราะคนประมาทขาดหลักธรรมในการดำเนินชีวิตจะสูญเสียโอกาสในการักษาดีที่ตัวเองมีอยู่ และโอกาสที่จะสร้างสิ่งอันเป็นประโยชน์ทั้งหลายให้แก่ตนเองและสังคม ตลอดจนประเทศชาติ คนไม่ประมาทจะมีลักษณะดังนี้คือ
                ๑.ไม่ละเลย คือ พอใจ ตั้งใจ ใส่ใจ และสนใจ ที่จะทำหน้าที่ของตัวให้ดีให้ถูกต้อง
                ๒.ไม่เหลาะแหละ คือ คิดจริง พูดจริง ทำได้จริง
                ๓.แยกแยะออก คือ รู้ดีทำดี รู้ชั่วเว้นชั่ว
                ๔.บอกตัวได้ คือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาลไหนควรไม่ควร รู้คนชั่วคนดี ควรคบไม่ควรคบ และรู้ชุมชนว่าหมู่ไหนพวกไหน ควรสัมพันธ์ด้วยแค่ไหนเพียงไรอย่างไร
                ๕.ใช้ตัวเป็น คือ ขยันหา รักษาให้ได้ มีมิตรที่ไว้ใจ ใช้จ่ายให้เหมาะสม
                ๖.เห็นช้างขี้ ไม่ขี้ตามช้าง คือ ยินดีสิ่งที่ตนได้ พอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่วิ่งตามสังคมอย่างไร้สติ
                ดังนั้น หากเราน้อมรำลึกถึงและยึดถือพระปัจฉิมพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานที่ว่า “ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถือพร้อมเถิด” ความอุดมสมบูรณ์ที่โลกเคยมีก็จะกลับคืนมาและคงอยู่ยั่งยืนไปนานเท่านาน

.............................................

ข้อคิดจากต้นไม้ในกระถาง


                 ธรรมดาต้นไม้ในกระถาง เช่น บอนสี ว่าน หรือไม้ประดับอื่นๆ ในระยะแรก เจ้าของมักจะเอาใจใส่ดูแลอย่างดี ต่อมา ต้นไม้ใดให้กิ่งใบที่สวยงามเจริญเติบโตจนคับกระถาง เจ้าของก็จะโยกย้ายต้นไม้นั้นไปใส่กระถางใบใหม่ที่ใหญ่กว่าและบำรุงรักษาเป็นพิเศษ ส่วนต้นไม้ที่ไม่เจริญเติบโตหรือเติบโตช้า ทั้งกิ่งดอกใบก็ไม่เป็นไปตามต้องการ เจ้าของก็จะบำรุงรักษาอย่างธรรมดา ไม่มีความคิดที่จะย้ายไปกระถางใบใหม่ที่ใหญ่กว่า บางทีก็อาจจะปล่อยให้เหี่ยวแห้งร่วงโรยตายไปเสียก็มี
                เมื่อเปรียบกับชีวิตคน ส่วนมากเมื่อเห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน เช่น ควรจะได้รับหรือได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ แต่กลับไม่ได้ ควรจะได้เลื่อนชั้นเลื่อนขั้นแต่ไม่ได้ ก็มักจะโทษคนหรือสิ่งอื่น บางคนโทษ เจ้านายลำเอียง รักลูกน้องไม่เท่ากัน บางคนโทษระบบงานว่าใช้ไม่ได้ บางคนก็โทษดวงดาว เข้าทำนองว่าพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก เป็นต้น ส่วนผู้ที่โทษตัวเองว่าตนเป็นเหตุดูจะมีน้อย
                ลองใช้วิจารณญาณค้นหาสาเหตุต่างๆ ของปัญหาที่เกิด โดยเริ่มจากตัวเองก่อน หากพบข้อผิดพลาดแล้วลองโทษตัวเองดูบ้าง ว่าเป็นเช่นนั้น เพราะตัวเรานี่แหละเป็นสาเหตุ เป็นผู้บกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง หากยอมรับความจริงข้อนี้แล้วปรับปรุงตังเองเสียใหม่ให้ดีขึ้น เราก็จะประสบความสำเร็จในการทำงานเป็นแน่แท้ เพราะมีหลักอยู่ว่า “นักทำงานที่ดีนั้น ต้องปรับตัวและความคิดของตัวให้เข้ากับงานและสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ใช่เอาแต่ปรับสิ่งแวดล้อมและงานให้เข้ากับตัวและความคิดของตัว”
                เมื่อเราคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในหน้าที่การงานหรือในการดำเนินชีวิต ก็ลองหันมาปรับปรุงตัวเองตามแบบ “ต้นไม้ในกระถาง” ดูบ้างเป็นไร บางทีอาจได้พบสิ่งที่ดีก้าวหน้าใหม่ๆ ได้เร็วกว่าการมัวแต่นั่งโทษคนอื่นสิ่งอื่นอยู่ข้างเดียว

.............................................