วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

มาฆบูชา


                คำว่า “มาฆบูชา” หมายถึง การบูชาเป็นกรณีพิเศษในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ วันมาฆบูชามีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” คือวันประชุมที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ ได้แก่
                ๑.วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
                ๒.พระสงฆ์จำนวน  ๑,๒๕๐ องค์ ประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
                ๓.พระสงฆ์ที่มาประชุมกันวันนั้นล้วนได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
                ๔.พระสงฆ์เหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
                วันมาฆบูชา จัดว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์ คือคำสอนที่เป็นหลักการสำคัญ หรือหัวใจของพระพุทธศาสนา แก่พระสงฆ์ จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ในวันนั้น โอวาทปาติโมกข์ หรือหัวใจของพระพุทธศาสนามีสามประการ คือ.-
                ๑.การไม่กระทำความชั่วทั้งปวง (สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง) หมายถึง การไม่ประพฤติผิดศีลธรรม หรือสิ่งใดก็ตามเมื่อกระทำแล้วจะก่อให้เกิดความเดือดร้อน เสื่อมเสียแก่ตนเองและผู้อื่น ก็หลีกเลี่ยงไม่กระทำสิ่งนั้นดุจบุคคลหลีกเลี่ยงสิ่งสกปรกเน่าเหม็น
                ๒.การยังกุศลให้ถึงพร้อม (กุสะลัสสูปะสัมปะทา) หมายถึง การกระทำความดี เช่น การให้ทาน รักษาศีล การไหว้พระสวดมนต์ การฟังเทศน์ หรือสิ่งใดก็ตามเมื่อกระทำแล้วก่อให้เกิดเกียรติยศชื่อเสียง คุณงามความดีแก่ตนเองและผู้อื่น ก็พยายามกระทำสิ่งนั้น ดุจบุคคลอาบน้ำชำระสิ่งสกปรกออกจากร่างกายแล้ว สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงาม
                ๓.การชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ (สะจิตตะปะริโยทะปะนัง) หมายถึง การฝึกฝนอบรมจิตใจของตนให้สะอาด ผ่องแผ้วจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น ดุจบุคคลเมื่ออาบน้ำชำระสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามแล้วยังไม่พอ ต้องตกแต่งด้วยเครื่องประดับ เช่น สร้อย แหวน เป็นต้น จึงจะดูดีมีเสน่ห์
                เมื่อวันมาฆบูชาเวียนมาถึง พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ควรทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ เจริญภาวนา งดเว้นอบายมุขทุกชนิด และไปเวียนเทียนที่วัด ในตอนค่ำ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา    สังฆบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และเป็นการรักษาประเพณีอันดีงามอีกประการหนึ่ง สืบต่อไป
............................................

วันวิสาขบูชา


                วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ชาวโลกรับรู้พร้อมกันว่า เป็นวันสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก วันที่พระองค์ตรัสรู้สัจธรรม และเป็นวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันดังกล่าวนี้มาถึงพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ต่างพากันบูชาสักการะพระพุทธองค์เป็นพิเศษ และเรียกวันนี้ว่า        “วันวิสาขบูชา”
                นักปราชญ์ของโลกทั้งตะวันตกและตะวันออก ได้แสดงทัศนะต่อพระพุทธองค์ และต่อหลักธรรมของพระองค์ไว้อย่างน่าสนใจ ดังตัวอย่าง
                มหาตมะ คานธี รัฐบุรุษของอินเดียผู้มีชื่อเสียงก้องโลก กล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้านั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ...”
                รพินทรนาถ ฐากูร นักปราชญ์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบล กล่าวว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระโอรสของภารตประเทศที่รุ่งโรจน์ที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด และชาญฉลาดที่สุดในโลก...”
                ดร.เอส. ราธกฤษณัน อดีตประธานาธิบดีของอินเดีย กล่าวว่า “ไม่เคยมีเลยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอาการขุ่นเคือง ไม่เคยมีเลยที่ถ้อยคำปราศจากเมตตาหลุดจากพระโอษฐ์ของพระองค์แม้แต่ครั้งเดียว”
                ศาสตราจารย์ รีส เดวิดส์ นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบระบบศาสนาใหญ่ๆ ของโลกแล้ว ข้าพเจ้าไม่พบหลักฐานคำสอนของศาสนาใดจะเลิศล้ำกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ และ อริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าเลย...”
                เซอร์ เอดวิน อาร์โนลด์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ประทีปแห่งเอเชีย” กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอกล่าวซ้ำอีกว่าระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้น มีสายสัมพันธ์ทางสติปัญญาอยู่อย่างใกล้ชิดมาก...”
                อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ยอดนักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “ถ้าจะมีศาสนาใดๆ ที่เข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ศาสนานั้นก็คือ พุทธศาสนา”
                เป็นเวลานานมาแล้วที่นักปราชญ์และบุคคลสำคัญทั่วโลกต่างยกย่องพระพุทธศาสนา องค์การสหประชาชาติก็ได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก สำหรับประเทศไทยและคนไทยชาวพุทธ เราแล้วสมควรอย่างยิ่งที่จะน้อมรำลึกและกระทำการบูชาให้ครบทั้ง ๒ ส่วน คือบูชาด้วยวัตถุสิ่งของที่เรียกว่า “อามิสบูชา” และด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนที่เรียกว่า “ปฏิบัติบูชา” มิใช่เพียงรับรู้ว่าเรามีของดี มีคุณค่าที่โลกยกย่องนับถือแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ควรให้ได้รับรสแห่งสันติสุขอันเกิดจากของดีนั้นด้วย

............................................

วันครู


                วันที่ ๑๖ มกราคม ทางราชการกำหนดให้เป็นครู เป็นวันที่ศิษยานุศิษย์จัดงานเพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของครู ซึ่งถือว่าเป็นปูชนียบุคคลที่ควรยกย่องและเทิดทูนอย่างยิ่ง เพราะครูเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้และอบรมสั่งสอนให้ศิษย์ทุกคนเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ ครูที่มีอยู่ในโลกนี้ มีผู้แบ่งออกเป็นสามชั้นที่น่าสนใจ คือ
                ๑.ครูประจำบ้าน ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ซึ้งถือว่าเป็นบุรพาจารย์ คืออาจารย์หรือครูคนแรกของลูกที่สอนให้เราได้ พูด นั่ง ยืน เดิน นอน ฯลฯ
                ๒.ครูประจำโรงเรียน ได้แก่ ครูอาจารย์ที่สอนศิลปวิทยาให้แก่ศิษย์อย่างสิ้นเชิง โดยไม่ปิดบังอำพราง ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ทั้งฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดีและยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ ตลอดจนสร้างเครื่องคุ้มภัยในทุกสารทิศ คือฝึกสอนให้รู้จักเลี้ยงตัว รักษาตนให้ดำเนินไปด้วยดีนั่นเอง
                ๓.ครูประจำโลก ได้แก่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นครูทั้งของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นพระบรมครูที่ทรงแนะนำสัตว์โลกทั้งปวงให้พ้นจากทุกข์ และให้มีสันติสุขภายในใจ คือ สะอาด สว่าง สงบ
                ครูอาจารย์นั้นเป็นบุคคลสำคัญในชีวิตของศิษย์ทีเดียว จึงต้องเป็นได้ทั้งเยี่ยงเป็นได้ทั้งอย่าง หรือเรียกว่าเป็นแม่พิมพ์ของศิษย์ได้ ถ้าครูอาจารย์มีข้อที่น่ารังเกียจ โดยเฉพาะครูประจำโรงเรียนก็จะทำให้ศิษย์พูดถึงหรือประกาศคุณความดีของครูได้ไม่เต็มปาก ไม่เต็มคำ ก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนในจิตใจ
                พระพุทธเจ้าตรัสถึงครูที่ควรไหว้หรือควรสักการบูชาไว้เจ็ดประเภท คือ
                ๑.ครูที่ทำตัวให้ศิษย์รัก (ปิโย)                                           ๒.ครูหนักแน่นในจรรยา (คะรุ)
                ๓.ครูพัฒนาความรู้ (ภาวะนีโย)                                       ๔.ครูสู้อุตสาห์สอนศิษย์ตน (วัตตา)
                ๕.ครูอดทนต่อคำหยาบคาย (วะจะนักขะโม)               ๖.ครูขยายคำลึกซึ้ง (คัมภีรัง กะถัง กัตตา)
                ๗.ครูไม่ดึงศิษย์ไปในทางเสียหาย (โนจัฏฐาเน นิโยชะเย)
                ดังนั้นเมื่อวันครูเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง ในฐานะที่เราทั้งหลายเป็นศิษย์มีครู ก็ควรน้อมรำลึกถึงพระคุณของท่านเหล่านั้น และบูชาท่านด้วยอามิสบูชาคือวัตถุสิ่งของตามสมควร และปฏิบัติบูชาคือด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านอย่างเคร่งครัดด้วยกตัญญูกตเวที ก็จะเป็นความดีเป็นสิริมงคลแก่เราผู้เป็นศิษย์และเป็นการประกาศเกียรติคุณของครูได้อีกทางหนึ่ง

............................................

ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว


                คนที่ขัดแย้งกันมักจะคิดทำลายซึ่งกันและกันด้วยวิธีการต่างๆ เช่น นินทาว่าร้าย พูดกระทบให้เจ็บใจ ให้ร้ายป้ายสี ใส่ความ แม้กระทั่งแช่งชักหักกระดูก อยากให้คู่อริพินาศวิบัติย่อยยับไป แต่การทำลายกันใช่ว่าฝ่ายตรงข้ามนั้นที่จะถูกทำลาย แม้ตนเองก็อาจถึงความย่อยยับไปด้วย ทั้งที่ฝ่ายตรงข้ามมิได้โต้ตอบหรือทำอะไรให้เลย หากว่าคนที่ตนประทุษร้ายนั้นเป็นคนบริสุทธิ์ มิได้มีความผิดคิดร้ายอะไรอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือใส่ร้าย และเขาก็ไม่คิดร้ายตอบ ผู้ที่ประทุษร้ายเขานั้นแหละจะได้รับผลจากการกระทำของตน ฐานทำให้ผู้บริสุทธิ์หรือผู้ไม่มีความผิดได้รับความเดือดร้อนทั้งกายและใจ ท่านเปรียบเหมือนกับฝุ่นละอองที่ถูกเป่าทวนลมไป จะถูกลมพัดย้อนกลับมาหาผู้เป่า นั่นเอง
                พระพุทธศาสนาแสดงโทษที่เกิดจากการประทุษร้ายผู้ที่ไม่ประทุษร้ายตอบไว้ ๑๐ ประการ คือ
                ๑. ได้รับความเจ็บปวดร้ายแรง
                ๒. สูญเสียเงินทอง
                ๓. ความตายเข้ามาตัดรอน
                ๔. เกิดความเจ็บป่วยอย่างหนัก
                ๕. จิตฟุ้งซ่านกระวนกระวาย
                ๖. เกิดความขัดข้องในหน้าที่การงาน
                ๗. ถูกกล่าวตู่ร้ายแรง
                ๘. สูญเสียญาติมิตร
                ๙. ทรัพย์สมบัติเสียหาย
                ๑๐. ไฟไหม้บ้าน
                บาปกรรมทั้งปวงนี้ ย่อมตามผจญผู้ประทุษร้ายเขานั้นเรื่อยไป ไม่ให้มีความสุขสงบในชีวิต เช่น อยู่ๆ ก็เกิดเจ็บป่วย โดยไม่รู้สาเหตุและรักษาเท่าไรก็ไม่หาย หรือถูกใส่ความโดยเรื่องที่ไม่เป็นจริง หรือประสบอุบัติเหตุโดยไม่คาดฝัน เป็นต้น ทุกข์โทษดังกล่าวคนส่วนใหญ่มักคิดไม่ถึงและมักมองข้ามกันไปเสียหมด จึงมักโทษโน่น โทษนี่ ไปสารพัด แต่ลืมโทษตัวเอง
                ดังนั้น เมื่อไม่ต้องการได้รับทุกข์โทษต่างๆ และไม่ต้องมีเวรภัยกับผู้อื่น ก็จงอย่าทำร้ายใคร อย่าใส่ร้ายหรือพูดให้ร้ายใคร รวมทั้งอย่าไปคิดร้ายใคร เพราะถ้าคนที่ตนประทุษร้ายนั้น เป็นคนดี เป็นคนบริสุทธิ์ โทษ ๑๐ ประการ ข้างต้นจะย้อนกลับมาหาตนเองโดยไม่คาดคิด

..........................................

อานิสงส์ของการฟังธรรม


                โบราณกล่าวว่า ฟังเทศน์ฟังธรรมง่วงเหงาหาวนอน ดูหนังดูละครตาสว่าง การฟังเทศน์ฟังธรรมรู้สึกกันว่า เป็นยาขมหม้อใหญ่สำหรับคนทั่วไป มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในหน่วยราชการเมื่อมีการประกาศว่า บ่ายนี้จะมีเทศน์หรือมีบรรยายธรรม ขอเชิญทุกท่านเข้าฟังโดยพร้อมเพรียงกัน คนส่วนมากจะเกิดความรู้สึกต่อต้านในใจ ไม่อยากไปก้าวขาไม่ออก ส่วนน้อยที่ยินดีและเต็มใจไปฟังด้วยคิดว่า วันนี้จะได้ประกอบกุศลทำผลบุญคือทำบุญด้วยการฟังธรรม
                การฟังเทศน์ฟังธรรมมีมาแต่สมัยพุทธกาล มีเรื่องในชาดกเล่าว่า ครั้งหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ปรากฏว่าคนฟังมีพฤติกรรมแปลกๆ  นั่งหลับบ้าง มองท้องฟ้าหรือแหงนดูดาวบ้าง แหย่เล่นกับเพื่อนบ้าง ขีดเขียนดินเล่นบ้าง บางคนก็ฟังด้วยความเคารพ  หลังจบพระธรรมเทศนามีอุบาสกท่านหนึ่งเข้าไปทูลถามเกี่ยวกับพฤติกรรมเหล่านี้ พระองค์ทรงตรัสว่า คนที่นั่งหลับเวลาฟังธรรม ชาติก่อนเคยเกิดเป็นงูเหลือม เพราะงูเหลือมหลังจากกินอาหารเต็มอิ่มแล้วก็จะหลับ คนที่มองท้องฟ้าหรือแหงนดูดดาว ชาติก่อนเคยเกิดเป็นหมอดูหรือนักพยากรณ์ ดวงชะตาราศี คนที่ชอบแหย่เพื่อนเล่น ชาติก่อนเคยเกิดเป็นลิงจึงอยู่ไม่เป็นสุข แหย่คนโน้นทีคนนี้ทีตามสัญชาติญาณเดิมที่ติดตัวมา คนที่ขีดเขียนดินเล่น ชาติก่อนเคยเกิดเป็นไส้เดือนจึงมีอาการแสดงออกคล้ายจะหาที่อยู่เดิมของตน ส่วนคนที่ฟังธรรมด้วยความเคารพ ชาติก่อนเคยเกิดเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต จึงสนใจและเอาใจจดจ่ออยู่กับการฟังตลอดเวลามีความกระตือรือร้นในทางก้าวหน้าอยู่เสมอ จึงฟังด้วยความสุขใจ เอิบอิ่มใจ
                อานิสงส์จากการฟังธรรม มี ๕ อย่างด้วยกันคือ
                                ๑. อัสสุตัง สุณาติ ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟังและได้เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยเรียนรู้
                                ๒. สุตัง ปะระโยทะเปติ สิ่งที่เคยได้ฟังแล้วก็จะทำให้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
                                ๓. กังขัง วิหะนะติ สามารถแก้ข้อข้องใจ บรรเทาความสงสัยในเรื่องนั้นๆ ได้
                                ๔. ทิฏฐิง อุชุง กะโรติ ทำความเห็นให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
                                ๕. จิตตะมัสสะ ปะสีทะติ จิตใจย่อมผ่องใส คือสะอาด สงบ และสว่าง
                การฟังธรรมเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า ธัมมัสสวนมัย คือบุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม ขอให้ลองสำรวจดูตัวเองว่า เวลาฟังเทศน์ฟังธรรม เรามีพฤติกรรมอย่างไรในบรรดาพฤติกรรมเหล่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น อันจะเป็นเหตุให้ได้รับอานิสงส์แห่งการฟังธรรมอย่างสมบูรณ์

........................................

วิธีครองใจคน


                การครองใจคนหรือการทำให้คนอื่นรักนั้นเป็นศิลปะพิเศษอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะแก่คนที่หวังความเจริญก้าวหน้า และหวังที่จะมีชีวิตอยู่เป็นปกติในสังคม คนที่ครองใจคนอื่นได้ ย่อมได้รับการยอมรับและการช่วยเหลือสนับสนุนจากคนที่เราครองใจไว้ได้นั้นเป็นอันดี ทั้งในยามปกติและตกทุกข์ได้ยาก วิธีครองใจหรือการทำให้คนรัก มี ๒ แบบ คือ
                ๑. แบบโลกวิธี คือ วิธีที่ชาวโลกนิยมทำกัน เช่น การให้เกจิอาจารย์ ผู้มีคาถาอาคมแก่กล้า สัก เสก ลงเลขยันต์ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรืออาบน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก การใช้วัตถุมงคล ตลอดจนเครื่องรางของขลัง และว่านเสน่ห์ต่างๆ เพื่อให้ตนเองมีเสน่ห์เป็นที่รักและเป็นที่นิยมของผู้คน ทั้งนี้สุดแท้แต่ทัศนคติความคิดเห็น ความเชื่อของแต่ละบุคคล ซึ่งผลที่ได้รับยังหาความแน่นอนไม่ได้ ส่วนมากมักถูกหลอกลวง ต้มตุ๋น จากพวกมิจฉาชีพที่อาศัยเป็นช่องทางทำมาหากิน ทำให้สูญเสียเงินทองไปกับเรื่องแบบนี้ไม่น้อย ถึงกระนั้นยังได้รับความนิยมอยู่ทั่วไป
                ๒. แบบพุทธวิธี คือ วิธีที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ โดยเน้นไปที่การเริ่มต้นที่ตนเอง จัดการกับตัวเองให้เป็น คนน่ารัก ยึดหลักว่า “ถ้าเราทำตัวให้น่ารัก คนอื่นเขาก็รัก ถ้าเราทำตัวให้น่าเกลียด คนอื่นเขาก็เกลียด” โดยปฏิบัติตามหลักธรรม ดังนี้
                                ๒.๑ โอบอ้อมอารี (ทาน) คือให้เป็นคนมีน้ำใจ สมัครใจที่เป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ รู้จักเผื่อแผ่เจือจานสิ่งของเครื่องใช้แก่ผู้อื่น ในสิ่งที่เขาขาดแคลนบกพร่อง
                                ๒.๒ วจีไพเรา (ปิยวาจาก) คือ ให้เป็นคนพูดจาสุภาพนุ่มนวล ด้วยน้ำใสใจจริง ไม่เสแสร้งแกล้งทำ หลีกเลี่ยงคำพูดอันเป็นเท็จ คำพูดส่อเสียด ยุให้รำตำให้รั่ว คำพูดหยาบคาย และคำพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
                                ๒.๓ สงเคราะห์ปวงชน (อัตถจริยา) คือ ให้ทำตนเป็นคนที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ช่วยเหลือเอาใจใส่ในกิจการต่างๆ ด้วยแรงกาย แรงใจ และด้วยคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ด้วยความเต็มใจ เต็มความรู้ความสามารถ ทำอย่างไรก็ได้ที่ให้เขาเห็นว่าเราเต็มใจช่วยเขา
                                ๒.๔ วางตนเหมาะสม (สมานัตตตา) คือ ให้เป็นคนดีที่เสมอต้นเสมอปลาย ทำต่อเนื่อง ไม่เป็นคนขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย และให้เป็นคนที่รู้จักทำตัวเป็นกันเองเข้ากับผู้อื่นได้ ใครคบค้าด้วยก็สบายใจไม่เครียด ไม่ทำตัวให้สูงหรือต่ำเกินไปนัก
                วิธีครองใจคนทั้งสองแบบนี้ หากเราเคยปฏิบัติแบบโลกวิธีมาแล้ว ได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผล ขอแนะนำให้ปฏิบัติแบบพุทธวิธีดูบ้าง แล้วจะรู้สึกว่าวิธีครองใจคนไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอะไรเลย

........................................