วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

ความวางเฉย

ความวางเฉย
                อุเบกขา แปลว่า ความวางใจเป็นกลาง หมายถึง วางใจเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะรักหรือชัง เป็นธรรมะที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับกำกับความประพฤติเพื่อให้ชีวิตมีคุณค่าน่าเชื่อถือ อุเบกขามีความหมายคนละอย่างกับการวางเฉยที่หมายถึงการไม่รับรู้รับเห็น ไม่สนใจไยดีต่อเหตุการณ์ที่ประสบ
                อุเบกขานั้นเป็นการวางใจเป็นกลางหรือการวางเฉยด้วยเหตุผลทางปัญญา ใช้ได้ในหลายกรณี เช่น วางเฉยเพราะพิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลาย กระทำแล้วว่าควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุปัจจัยอันตนประกอบ รวมทั้งวางเฉยสงบใจดูในเมื่อไม่มีอะไรที่ต้องทำอีกแล้ว เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เป็นต้น อุเบกขาจึงมีความหมายตรงกันข้ามกับอคติ คือจิตใจที่ลำเอียง ไม่เที่ยงธรรม นั่นเอง
                ในชีวิตประจำวันของคนเรามีเหตุการณ์ที่จะต้องใช้อุเบกขาอยู่เสมอ เช่น ต้องวางใจให้เป็นกลาง ในการรับกรรมของสัตว์ทั้งหลาย เพราะทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ต้องวางใจเป็นกลางในกรณีพิจารณาความดีความชอบให้แก่บุคคลที่ทำงาน ไม่พิจารณาให้เพราะรัก เพราะชัง เพราะหลง หรือเพราะกลัว เป็นการส่วนตัว แต่พิจารณาจากผลงานอย่างแท้จริง นอกจากนั้น อุเบกขาธรรมเมื่อตั้งมั่นในใจของบุคคลสดแล้ว จะทำให้บุคคลนั้นเหตุผล มีความเที่ยงธรรม เหมาะที่จะรับผิดชอบงานสำคัญๆ สูงยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย
                ฉะนั้น การวางใจให้เป็นกลาง มีดวงจิตที่เที่ยงตรงยุติธรรม จึงเป็นคุณธรรมสำคัญของผู้นำในการสร้างขวัญและกำลังใจที่ถูกทางให้แก่น้อย ขณะเดียวกันก็เป็นคุณธรรมสำหรับผู้น้อยที่จะประคองตนให้อยู่ในคลองธรรมที่ถูกต้องไม่เสียขวัญและไม่เสียกำลังใจง่ายๆ ตรงกันข้ามกับการวางเฉยแบบไม่รับรู้รับเห็น ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องบั่นทอนขวัญและกำลังใจของกันและกันแล้ว ยังช่วยซ้ำให้สังคมทรุดโทรมไม่ก้าวหน้าอีกด้วย
                ควรเริ่มต้นตรวจสอบตัวเราได้แล้วว่า เข้าใจความหมายของอุเบกขากับความวางเฉยถูกต้องแล้วหรือยัง

............................................

หลักชีวิต


                ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ให้ความหมายคำว่า “หลัก” ไว้ว่า เสาที่ปักไว้ผูก ที่มั่น เครื่องอาศัย เครื่องยึดเหนี่ยวจับถือ ส่วนคำว่า “ชีวิต” แปลว่า ความเป็นอยู่ เมื่อรวมสองคำนี้เข้าด้วยกันเป็น “หลักชีวิต” จึงแปลได้ว่า หลักสำหรับดำเนินชีวิต
                พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า การใช้ชีวิตของคน ถ้าขาดหลักเสียแล้วก็เป็นเรื่องอันตราย การดำเนินชีวิตก็จะไร้ทิศทาง เหมือนกระบือที่หลุดจากหลักผูก ย่อมเที่ยวกินพืชสวนของผู้อื่นและทำให้เจ้าของถูกปรับสินไหมได้ฉันใดก็ฉันนั้น  และทรงได้ตรัสถึงหลักการดำเนินชีวิต ไว้สองหลักใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
                หลักที่หนึ่ง หลักโลก หมายความว่า ในการดำเนินชีวิตจำต้องเกี่ยวเนื่องอยู่กับโลก จำเป็นต้องจัดตัวเองให้เหมาะกับเรื่องของโลก เรื่องของความรู้สำหรับใช้เลี้ยงชีวิตให้เป็นอยู่ได้อย่างไม่ฝืดเคืองแร้นแค้นเกินไป แต่เรื่องของโลกเป็นเรื่องไม่คงที่ไม่แน่นอน แปรปรวนอยู่เสมอ ขึ้นๆ ลง เพราะขึ้นอยู่กับอารมณ์และสิ่งแวดล้อมไม่คงที่ จึงต้องระมัดระวังให้ดีและคอยปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ
                หลักที่สอง หลักธรรม หมายความว่า ธรรมเป็นสิ่งที่คงตัวอยู่เสมอ ไม่ขึ้นกับกาลเวลา แก่คร่ำคร่าไม่เป็นมีความเย็นและทรงคุณค่าต่อชีวิตเสมอ เช่น ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์ ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเสียสละ เป็นต้น ซึ่งถ้าใครประพฤติก็ย่อมได้รับรสแห่งความเย็นและทำให้ชีวิตมีคุณค่า หลักธรรมนี้ เมื่อหลายพันปีมาแล้วทรงคุณค่าอย่างไร ปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิม นับเป็นหลักความดีที่ทุกคนต้องเติมให้กับชีวิต
                ดังนั้นหากทุกๆ คนดำเนินชีวิตให้ได้ครบทั้งสองหลัก คือต้องปรับปรุงตัวให้ทันโลก ทันเหตุการณ์ซึ่งจะทำให้เป็นคนหูยาว ดวงตาสว่างไสวอยู่เสมอ ส่วนหลักธรรมก็ต้องยืนที่ไว้ อันจะทำให้ไม่เป็นคนตื่นโลกจนลืมธรรม ผู้ที่สามารถดำเนินชีวิตตามหลักทั้งสองนี้ได้อย่าครบถ้วนจะเป็นผู้ที่ถูกเรียกว่า “ผู้มีชีวิตอยู่โดยโลกไม่ช้ำและธรรมไม่เสีย”  ลองสำรวจดูตัวเองว่า มีหลักดำเนินชีวิตทั้งสองนี้ครบถ้วนหรือยัง

............................................

ตุ๊กแกกินหัวตัวเอง


                เมื่อเรื่องเล่าว่า ตุ๊กแกตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่ต้นไม่ต้นหนึ่ง มันเป็นสัตว์ที่เกียจคร้านอย่างมาก แต่ละวันไม่ยอมออกไปหากินอาศัยแมลงต่างๆ ที่อยู่ตามต้นไม้นั้นเป็นอาหาร เมื่อแมลงหมดและหิวหนักเข้าก็กัดกินขาตัวเองเพราะความหิวจัด เมื่อขาหมดแล้วก็กัดกินตัวเองจนเหลือแต่หัว ต่อมาเมื่อหิวสุดขีดจึงได้กินหัวตัวเองจนหมด
                ฟังดูแล้วก็รู้ทันทีว่าเป็นเรื่องโกหกและตลกอย่างเหลือเชื่อ แต่ในการดำเนินชีวิตของคนเราในปัจจุบันก็มีคนที่ประพฤติตัวแบบเหลือเชื่อทำนองเดียวกันนี้ คือมีคนจำนวนไม่น้อยบอกว่ารักชีวิตและครอบครัวตัวเองแต่การกระทำกลับตรงกันข้าม แต่ละวันหมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับอบายมุข อันเป็นทางแห่งความหายนะมีด้วยกันหกประเภท ๑.เมาลูกเดียว ๒.เที่ยวราตรี ๓.มโหรีไม่เว้น ๔.เล่นการพนัน ๕.ติดพันมิตรชั่ว และ ๖.ประพฤติเกียจคร้าน
                อบายมุขไม่ว่าประเภทไหนๆ หากตกอยู่ในอำนาจของมันจะให้ประสบกับความพินาศ เช่น การพนัน เพียงไปนั่งดูเขาเล่นก็ทำให้เสีย อย่างน้อยคือเสียเวลา ขั้นต่อมาคือมีความผิดในฐานะผู้ร่วมเหตุการณ์ และผู้สนับสนุนอยู่ในที ยิ่งถ้าลงมือเล่นด้วยก็ยิ่งเสียใหญ่ดังมีคำประพันธ์ที่ว่า
                                ถูกโจรปล้น สิบครั้ง ยังทนได้
                                เพราะโจรไม่ ถอนเสา เอาเรือนหนี
                                ถูกไฟไหม้ วิบัติ เหลือปัถพี
                                แต่หมดตัว ทั้งชีวี เพราะผีพนัน
                หยุดคิดสักนิด ไม่มีคำว่าสายเสียแล้วสำหรับการกลับตัวและเปลี่ยนใจเสียใหม่ จงพยายามรวมพลังกายพลังใจ สลัดอบายมุขทุกชนิดให้ห่างไกล แล้วจะพบกับความสุขสดใสในชีวิตและครอบครัวอย่างลึกล้ำ ตุ๊กแกในเรื่องนี้เพียงมันติดอบายมุขคือเกียจคร้านอย่างเดียวเท่านั้น ถึงกับกินหัวตัวเองได้ คนเราก็เช่นเดียวกัน แม้ติดอบายมุขเพียงประเภทเดียว ก็เหมือนกับกินชีวิตของตัวเองเข้าไปแล้ว ถ้าติดอบายมุขหลายประเภทเท่ากับว่ามิเพียงกินหัวตัวเองเท่านั้น แต่กำลังทำลายครอบครัว ทำลายเกียรติยศชื่อเสียงและวงศ์ตระกูลไปด้วย แล้วชีวิตจะเป็นเรื่องตลกร้ายน่ากลัวยิ่งกว่าตุ๊กแกกินหัวตัวเองอีกเป็นร้อยเท่า
                รักชีวิต รักครอบครัว โปรดอย่าทำตัวเป็นตุ๊กแกกินหัวตัวเอง

............................................

บวชไม่ศึกษ์


                มีข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้ให้ข้อคิดเชิงเปรียบเทียบไว้เกี่ยวกับคำว่า “บวชไม่ศึกษ์” คือบวชแล้วไม่ศึกษาเล่าเรียนหลักคำสอนและไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เมื่อเป็นเช่นนี้เขาย่อมไม่ได้ความรู้ในเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ไม่เข้าใจหลักคำสอน ไม่รู้ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ตลอดทั้งไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานอันเป็นเป้าหมาย สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา คนที่บวชแล้วไม่ศึกเล่าเรียนและไม่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ท่านเรียกว่า โมฆบุรุษ แปลว่าคนว่างเปล่า คือไม่ได้รับอะไรเลย ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดๆ เช่นคนที่จะเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เตรียมข้าวของใส่กระเป๋าเรียบร้อยแล้ว ไปที่สถานีขนส่งแต่ไม่ยอมขึ้นรถ ได้แต่เดินวนเวียนไปมาอยู่ในบริเวณสถานี เมื่อเป็นเช่นนี้เขาก็ไม่มีวันจะไปถึงเชียงใหม่ได้อย่างแน่นอน

                เรื่องเปรียบเทียบเชิงคำสอนนี้ทำให้ได้ข้อคิดว่า การตั้งเป้าหมายอะไรไว้จะไม่สำเร็จด้วยการคิดเพียงอย่างเดียวต้องลงมือกระทำทั้ง ๓ ทาง คือ ทางกายเรียกว่า กายกรรม ทางวาจาเรียกว่าวจีกรรม และทางใจเรียกว่า มโนกรรม ดังคำสอนที่เรียกว่าโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้สมบูรณ์ และทำจิตใจให้ผ่องใส จากคำสอนที่เป็นหลักการสำคัญนี้ทำให้เราทราบว่า การตั้งเป้าหมายหรือจุดประสงค์อะไรไว้ จะต้องลงมือทำให้ครบถ้วนกระบวนการ จึงจะสำเร็จ ในการทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน โดยเนื้อแท้แล้วเราทุกคนล้วนมีเป้าหมายอยู่ในใจแล้วว่าจะทำงานตามที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จตามนโยบาย ตลอดทั้งรักษาระเบียบวินัยข้อบังคับต่างๆ ให้ดีที่สุด แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ตั้งเป้าหมายไว้เหมือนกัน แต่ไม่ตั้งใจทำ ถ้าจะเรียกล้อตามคำที่พูดกันว่า “คิดใหม่ ทำใหม่” ก็ล้อเป็นคนประเภท “คิดใหม่ แต่ทำเก่า” ได้แก่ คิดได้แต่ไม่คิด คือไม่ใส่ใจงาน คิดได้แต่ไม่บอก คือไม่ประสานติดต่อ และคิดได้แต่ไม่ทำ คือไม่พอใจที่จะลงมือทำ คนประเภทนี้ก็เหมือนคนที่ไปถึงสถานีต้นทางแต่ไปไม่ถึงปลายทาง หรือจะเรียกว่าเป็นพวกบวชไม่ศึกษ์ก็คงไม่ต่างกันเลยแม้แต่น้อย