วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การครองใจคน


                ทุกๆ คนล้วนต้องการเป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่เคารพรัก นับถือ นิยมชมชอบของบุคคลอื่นด้วยกันทั้งนั้น บางคนถึงกับไปทำเสน่ห์ด้วยวิธีการต่างๆ การทำเสน่ห์ดังกล่าวถือว่าเป็นเสน่ห์ภายนอก แต่ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงหลักการครองใจคน ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์ภายใน เป็นเสน่ห์ที่ดีแท้ ใครมีแล้วย่อมเป็นคนมีเสน่ห์เป็นที่รักของทุกๆ คน หลักการครองใจคนดังกล่าว ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สังคหวัตถุ แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว จิตใจมีสี่ประการคือ
                ๑.ทาน แปลว่า ให้ปัน หรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บุคคลผู้มีน้ำใจ ไม่ตระหนี่ รู้จักให้สิ่งของที่ควรให้ปันแก่ผู้อื่นเขาย่อมครองใจคนไว้ได้ สมดังคำพระที่ว่า “ทะทัง มิตตานิ คันถะติ  ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้”
                ๒.ปิยวาจา แปลว่า พูดถ้อยคำที่น่ารัก หรือพูดแต่คำไพเราะอ่อนหวานประสานประโยชน์และสร้างสรรค์ เขาย่อมเป็นคนมีเสน่ห์เป็นที่รักของทุกๆ คน สุนทรภู่ได้ประพันธ์ไว้ว่า
                                ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์                มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
                                แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร            จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
                ๓.อัตถจริยา แปลว่า การบำเพ็ญประโยชน์ หรือสงเคราะห์ผู้คน บุคคลผู้ที่ทำประโยชน์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น นับว่าเป็นคนมีน้ำใจ เขาย่อมเป็นคนมีคุณค่า เป็นที่รัก เป็นที่ต้องการของทุกๆ คน
                                ผู้มีใจใฝ่ช่วยอวยประโยชน์               เป็นที่โปรดปรารถนาน่ารักหนอ
                                คนรักใคร่ใจภักดีไม่รีรอ                     ทั้งชอบพอผู้ที่มีน้ำใจ
                ๔.สมานัตตตา แปลว่า ผู้มีตนเสมอต้นเสมอปลาย หรือวางตนพอดี ไม่เย่อหยิ่งถือตัว มีมนุษย์สัมพันธ์เข้ากับผู้อื่นได้ดี ผู้ปฏิบัติได้เช่นนี้ ย่อมเป็นที่รักของบุคคลรอบข้าง
                บุคคลที่ต้องการให้เป็นคนมีเสน่ห์มัดใจผู้อื่น นั่งอยู่ในหัวใจของคนรอบข้าง เป็นที่เคารพรักของผู้คนทั่วไป หรือสามารถครองใจผู้อื่นได้ จึงควรปฏิบัติตนตามหลักการครองใจคนทั้งสี่ ประการ ดังกล่าว อาจท่องจำให้ขึ้นใจว่า “เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พูดแต่คำไพเราะ สงเคราะห์ผู้คน และวางตนให้พอดี”

....................................

การครองตน


                ทุกคนล้วนต้องการให้ตนเองประสบแต่ความสุข สำเร็จ สมหวัง ในชีวิตและหน้าที่การงานด้วยกันทั้งนั้น เรือจะสามารถแล่นไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ก็เพราะมีสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือหางเสือ ชีวิตเราก็เช่นกัน จะสามารถก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางคือความสุข สำเร็จ สมหวังได้ ก็เพราะมีสิ่งที่สำคัญที่สุดดุจหางเสือคือ หลักการครองตน
                บุคคลจำนวนมากที่ประสบกับความหายนะในชีวิต ไม่อาจครองตนหรือปกครองตนเองได้ ต้องสูญเสียอนาคตหรือแม้กระทั่งชีวิต เพราะปัจจุบันนี้สังคมเต็มไปด้วยสิ่งยั่วยวนต่างๆ ที่จะทำให้เราเสียผู้เสียคน เช่น ยาเสพติด อบายมุข และสถานเริงรมย์ต่างๆ ผู้ที่สามารถครองตนเองได้เท่านั้นจึงจะเอาตัวรอดได้ ส่วนผู้ที่ครองตนเองไม่ได้อนาคตและชีวิตจะมีแต่ความมืดมน
                พระพุทธเจ้าได้ตรัสมงคลชีวิตไว้ข้อหนึ่งว่า “อัตตะสัมมาปะณิธิ” แปลว่า การตั้งตนไว้ชอบ เป็นมงคลอันสูงสุด หมายถึง บุคคลผู้ที่จะประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงานนั้น ต้องมีหลักการครองตน โดยหลักพื้นฐานของการครองตนมีด้วยกันห้าอย่างคือ
                ๑.ไม่โหดร้าย คือให้มีความเมตตากรุณา รัก สงสารผู้อื่น ไม่ก่อความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
                ๒.ไม่มือไว คือไห้มีสัมมาอาชีวะ ในทางสุจริต ไม่ลักขโมย ไม่ฉ้อโกง ไม่หลอกลวงต้มตุ๋น
                ๓.ไม่ใจเร็ว คือ ให้พอใจในคู่ครองของตน ไม่สำส่อน
                ๔.ไม่ขี้ปด คือ ให้มีสัจจะ พูดแต่คำสัตย์จริง ไม่โกหก
                ๕.ไม่หมดสติ คือ ให้มีสติสัมปชัญญะ ระลึกได้ รู้สึกสำนึกอยู่เสมอ ไม่เสพสิ่งเสพติด
                ผู้มีหลักการครองตน ชีวิตย่อมมีแต่ความสงบ ร่มเย็น เป็นสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ปลอดโปร่งอยู่เสมอ ดังนั้น ผู้หวังความสุข ความเจริญ ก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงาน จึงควรยึดหลักการครองตนในการดำเนินชีวิตโดย ไม่โหดร้าย ไม่มือไว ไม่ใจเร็ว ไม่ขี้ปด ไม่หมดสติ ตามที่กล่าว

....................................

ฝึกฝนเป็นคนขยัน


                โบราณ กล่าววา “จงเอาเยี่ยงกา แต่อย่าเอาอย่างกา” หมายความว่า กามีความขยัน ตื่นแต่เช้าเพื่อบินไปหาอาหารเป็นคุณลักษณะที่มนุษย์ควรถือเป็นแบบอย่าง แต่ในทางที่ไม่ดีของกาที่ไม่ควรเอาแบบอย่างคือ นิสัยขี้ลักขโมย ในทางพุทธศาสนา ท่านสรรเสริญความขยันว่าเป็นคุณธรรมสำคัญที่จะนำพาให้ประสบความสำเร็จ หากอยากมีทรัพย์สมบัติ ท่านสอนว่าต้องขยันจึงจะหาทรัพย์ได้ หากอยากมียศตำแหน่งหน้าที่ ท่านสอนว่าต้องอาศัยนความขยันหมั่นเพียร หรือในที่สุด แม้แต่การหลุดพ้นสิ้นกิเลสตัณหา ท่านก็สอนว่าบุคคลย่อมล่วงพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร
                ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นคนขยัน ในทางพุทธศาสนาแนะนำวิธีฝึกง่ายๆ ดังนี้
                ๑.หัดเป็นคนตื่นเช้า และอาบน้ำหลังตื่นเช้าจะช่วยขับไล่ความง่วงเหงาให้หายไป แต่ถ้าสุขภาพไม่อำนวยก็ให้ถูตัวให้ทั่วอย่างแรงๆ เพื่อปลุกเส้นประสาทให้ตื่นตัว
                ๒.อย่าคิดแสวงหาความสุขสบายในการนอนอย่างเดียว ให้พยายามหาธุระทำอยู่เสมอ แม้ในเวลาที่ต้องการพักผ่อนร่างกาย หรือพักสมอง ก็ควรทำอะไรสักอย่างหนึ่ง
                ๓.อย่าทำแต่สิ่งง่ายๆ เพราะตามปกติกิจการที่ทำได้ง่าย มักจะมีผลน้อยตรงกันข้ามสิ่งที่ทำได้ยากมักจะมีผลมาก การทำในสิ่งที่ยากก็ต้องเพิ่มความขยัน ความเพียรและความตั้งใจมากขึ้นตามไปด้วย
                ๔.ต้องหัดเป็นคนตรงเวลา เพราะการเป็นคนตรงเวลานั่นหมายถึงการมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง เมื่อมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองแล้วก็ย่อมต้องมีความสัตย์กับผู้อื่นได้เช่นกัน
                ๕.จงคิดถึงความก้าวหน้าไว้เสมอ ก่อนนอนควรกำหนดไว้ให้แน่นอนว่าพรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง อาจกำหนดเป็นขั้นเป็นตอน หรือถ้าเขียนได้ยิ่งเป็นการกระตุ้นการทำงานให้อยู่ในใจเสมอ
                ๖.ต้องหัดคิดพึ่งตนเองอยู่เสมอไม่ว่าจะทำอะไรหรือจะหวังผลอะไรต้องพึ่งตัวเองให้สุดความสามารถเสียก่อน และต้องไม่คอยหวังผลอะไรจากผู้อื่น ตลอดจนแน่ใจถึงขนาดที่ว่าต้องสามารถอยู่ได้คนเดียวในโลกนี้
                ความขยันเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเราทุกคน ไม่ต้องเสียเวลาเสาะหาจากที่ใดๆ เป็นคุณธรรมขั้นสูงที่ทุกคนสามรารถฝึกหัดให้เกิดมีขึ้นได้ในทุกคน  หากความขยันเป็นคุณสมบัติประจำตัวแล้ว ชีวิตทั้งชีวิตก็จะก้าวหน้าไปกว่าครึ่งแล้ว ลองฝึกดูตามวิธีข้างต้น ต้องประสบความสำเร็จ ก้าวหน้าในชีวิต อย่างแน่นอน

............................................