วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความรู้คู่คุณธรรม

ความรู้คู่คุณธรรม
                บุคคลผู้มีความรู้คู่กับคุณธรรมนั้น นับเป็นผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม เป็นที่น่าปรารถนาของทุกคนใครๆ ก็ต้องการมีไว้ เพราะเมื่อมีบุคคลเช่นนี้มาร่วมงานด้วยแล้ว มักจะนำชื่อเสียงและเกียรติคุณมาให้ทั้งเป็นมันสมอง เป็นสติปัญญาของหน่วยงาน ทำให้หน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่มีความแข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับของสังคมได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
                องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชี้หลักในการพิจารณาบุคคลผู้ที่จะทำให้หมู่คณะเจริญงอกงามและรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปว่า จะต้องมีหลักธรรมที่สำคัญเหล่านี้คือ ฉลาด แก้วกล้า ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีคุณธรรมนำชีวิต และประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม (ฉลาด แกล้วกล้า ศึกษาแตกฉาน การทรงธรรมและนำปฏิบัติ)
                คุณลักษณะดังกล่าว ยืนยันได้ถึงสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน นั่นคือความรู้ต้องคู่กับคุณธรรมเสมอ เพราะเป็นสิ่งจำเป็น มีความฉลาดแต่ขาดความเฉลียว มีความเก่งแต่ขาดความกล้า ศึกษาเล่าเรียนมาแต่ไม่ทรงธรรมนำปฏิบัติ เมื่อขาดสิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำให้หมู่คณะเจริญก้าวหน้าได้ คนที่มีความรู้แตกฉานแต่ขาดคุณธรรม อาจนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด ก่อโทษก่อความเสียหายได้ร้ายแรงยิ่งกว่าคนไม่รู้อะไรเสียอีก ส่วนประกอบทุกส่วนจึงควรมีสมดุลกัน
                ดังนั้น บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรมดังกล่าวมา คือมีความรู้ด้วย มีคุณธรรมด้วย ย่อมจะนำพาหมู่คณะให้เจริญงอกงาม สมดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้
                “ความฉลาด แกล้วกล้า เป็นสามารถ              ต้ององอาจเรียนรู้ อยู่เสมอ
                ทั้งทรงธรรม คุณค่า อย่าเผอเรอ                       คงไม่เก้อ สง่างาม นำสังคม”

....................................

กระจกหกด้าน


                กระจกเงา เป็นแก้วชนิดหนึ่ง ทำเป็นแผ่น มีปรอทเคลือบด้านหลัง ให้ส่องดูหน้าตากิริยาท่าทาง ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย ตามหน่วยงานมักมีกระจกเงามาติดไว้บริเวณบันได พร้อมกับเขียนข้อความติดไว้ในทำนองให้สำรวจตัวเองในแต่ละวันว่าดีหรือยัง เช่น “ท่านแต่งกายเรียบร้อยแล้วหรือยัง” เพื่อเป็นการเตือนสติให้กันและกันอย่างดี ผู้ส่องกระจกจะได้สำรวจดูสิ่งที่ตัวเองบกพร่องและแก้ไขต่อไป ข้อจำกัดของกระจกเงาอยู่ที่เราสามารถส่งดูตัวเองได้อย่างสะดวกเพียงด้านเดียวเท่านั้น
                ยังมีกระจกอีกชนิดหนึ่ง สามารถใช้ส่องดูตัวเราได้ทุกด้าน ทุกเวลา และส่องให้เห็นถึงพฤติกรรมของเราที่แสดงออกมาได้อย่างชัดเจนและเหมือนจริงมากที่สุด ในทางพระพุทธศาสนาเรียกกระจกเงานี้ว่า ทิศ๖ คือ
                ๑.กระจกด้านที่ ๑ ส่องดูด้านบนในฐานะเป็นศาสนิกชน สะท้อนภาพให้เห็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันระหว่าง นักบวชกับคฤหัสถ์
                กระจกด้านที่ ๒ ส่องดูด้านหน้า สะท้อนภาพให้เห็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันระหว่างบิดามารดาบุตร
                กระจกด้านที่ ๓ ส่องดูด้านขวาสะท้อนภาพให้เห็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันระหว่างครูอาจารย์กับศิษย์
                กระจกด้านที่ ๔ ส่องดูดด้านหลัง สะท้อนภาพให้เห็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันระหว่างสามีกับภรรยา
                กระจกด้านที่ ๕ ส่องดูด้านซ้าย สะท้อนภาพให้เห็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันระหว่างมิตรสหาย
                กระจกด้านที่ ๖ ส่องดูด้านล่าง สะท้อนภาพให้เห็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา
                ส่องกระจกดูรูปร่างหน้าตาภายนอกก็นับว่าดีอยู่แล้วที่ได้เห็นบุคลิกอันแท้จริงของเรา ยิ่งถ้าได้ส่องกระจกทั้งหกด้านบ่อยๆ ด้วยแล้ว ก็จะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพราะจะช่วยสะท้อนภาพของเราให้เห็นพฤติกรรมเด่นชัดว่า “เราทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้วหรือยัง”

....................................

หลักการครองงาน

หลักการครองงาน
                คำว่า “หลักการครองงาน” หมายถึง วิธีการที่จะทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่การงานได้สำเร็จเรียบร้อยดี มีประสิทธิภาพ ไม่ขาดตกบกพร่อง ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงหลักการครองงานไว้ โดยเรียกรวมว่า อิทธิบาทสี่ คือ
                ๑.ฉันทะ คือ ความพอใจงานนั้น เช่น เป็นนักเรียน ก็พอใจรักในการศึกษาเล่าเรียน เป็นข้าราชการก็พอใจรักในหน้าที่การงานของทางราชการ บุคคลผู้มีฉันทะ พอใจ รักงาน ย่อมมีแรงบันดาลใจให้ต้องการทำงานนั้นอยู่เสมอ
                ๒.วิริยะ คือ เพียรประกอบการงานนั้น คือมีความขยันหมั่นเพียร บากบั่น อดทน หนักเอาเบาสู้ ไม่กลัวงานหนัก บุคคลผู้มีวิริยะ เพียรสู้งาน เมื่อเขาทำงานอะไร งานนั้นๆ ย่อมสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
                ๓. จิตตะ คือ เอาใจฝักใฝ่ในงานนั้น มีจิตใจจดจ่อมุ่งมั่นในงาน ไม่ทอดธุระหรือละทิ้งงานไปเสียง่ายๆ
                ๔.วิมังสา คือ หมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งนั้น คอยวิจัยสำรวจตรวจตราดูงานนั้นๆ ว่ามีข้อดี และข้อเสียอย่างไร เมื่อพบข้อดี ก็ให้รักษามาตรฐานของหน้าที่การงานนั้นๆ ไว้ให้คงที่ ส่วนข้อเสีย ก็ให้หาทางปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนาให้งานนั้นๆ เจริญก้าวหน้าดียิ่งๆ ขึ้น บุคคลผู้มีวิมังสา คอยสำรวจตรวจตราดูงานอยู่ เสมอ ผลงานของเขาย่อมออกมาดี มีประสิทธิภาพไม่ขาดตกบกพร่อง
                ผู้หวังความสำเร็จ เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานทุกชนิด จึงควรปฏิบัติตนตามหลักการครองงานทั้งสี่ประการ คือ
                                ฉันทะ พอใจรักใคร่ในหน้าที่           วิริยะ มีความขยันมุ่งมั่นหนา
                                จิตตะ เอาใจใส่ในงานทุกเวลา          วิมังสา ตรวจตราหาข้อด้วยและข้อดี

....................................