วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

วิธีอยู่กับโลก


                มีสิ่งแวดล้อมอยู่ชนิดหนึ่งที่วนเวียนอยู่กับโลกนี้ และส่งผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง ยากที่ใครจะหลีกเลี่ยงได้ สิ่งแวดล้อมชนิดนี้เรียกว่า “โลกธรรม” แปลว่า สิ่งที่มีอยู่ประจำโลกซึ่งมีอยู่ด้วยกัน แปดอย่าง ได้แก่ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ สำหรับมนุษย์เรานั้น เมื่อกระทบกับโลกธรรมแล้วก็มักจะตั้งรับด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างนี้
                ๑. ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือเมื่อได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ และได้สุข ก็ปล่อยใจให้เพลิดเพลิน กับสิ่งที่ได้รับ และเมื่อประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และได้รับทุกข์ ก็ปล่อยให้จิตใจห่อเหี่ยวเศร้าสร้อย ไม่ได้คิดที่จะทำจิตให้เข้มแข็งแต่อย่างใด การตั้งรับแบบนี้ จะต้องตกอยู่ในวงเวียนแห่งความดีใจและเสียใจตลอดเวลา และถ้าผู้ประสบกับโลกธรรมนั้นเป็นหัวหน้าคนด้วยแล้ว ก็ย่อมจะพลอยทำให้คนอื่นวุ่นวายไปด้วย
                ๒. ปล่อยไปตามธรรมชาติแต่ตีกรอบเฉพาะที่จิตใจตนเอง การตั้งรับโลกธรรมวิธีนี้ย่อมให้โลกธรรมครอบงำใจได้คือยังดีใจเสียใจอยู่ เพียงแต่ไม่แสดงความรู้สึกออกมา คงรักษาอากัปกิริยาไว้ด้วยท่าทีหนักแน่นสงบนิ่ง ผู้ตั้งรับโลกธรรมด้วยวิธีนี้อาจจะวุ่นวายไปกับโลกบ้าง แต่ไม่มากนัก ซึ่งก็น่าชมเชยกว่าบุคคลในข้อแรก
                ๓. ปรับจิตใจให้ยอมรับความจริง การตั้งรับโลกธรรมโดยวิธีนี้สอดคล้องกับหลักธรรมที่ว่า โลกธรรมนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเอง ไม่จีรังยั่งยืน ไม่ใช่ของที่ควรยึดมั่นถือมั่น เมื่อปรับจิตใจได้เช่นนี้โลกธรรมก็ไม่สามารถครอบงำได้อีกต่อไป เขาจึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในทุกสถานการณ์ และพลอยทำให้คนอื่นได้ปกติสุขนั้นไปด้วย บุคคลในประเภทนี้ย่อมมีคุณค่าน่าชมเชยมากกว่าบุคคลในสองประเภทข้างต้น
                คนที่ปรับจิตใจให้ยอมรับความจริงได้เช่นนี้ จะพบแต่ความปลอดโปร่ง ความเป็นอิสระทางจิตใจ อันเป็นมงคลของชีวิตประการหนึ่ง ดังมีคำพระท่านว่า
                “จิตของผู้ใด กระทบโลกธรรมแล้ว ไม่เศร้าโศก ไม่เศร้าหมอง มีความปลอดโปร่ง นั่นแหละคือ อุดมมงคล”

....................................

การชนะที่เลิศ

การชนะที่เลิศ
                ในเกมกีฬาทุกชนิด ที่สุดของเกมคือการแพ้หรือชนะ ผลออกมาเสมอนั้นมีบ้างแต่น้อย เมื่อพูดถึงการแพ้หรือชนะนั้น เป็นสิ่งไม่แน่นอน ผู้เคยแพ้อาจชนะ ผู้ชนะอาจแพ้ได้ในภายหลัง เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งมีพลังหรือฝึกซ้อมมาดีกว่ากับทั้งโอกาสอำนวยให้ จึงมีหลักเตือนใจว่า ผู้เป็นนักกีฬาต้องมีน้ำใจเป็นนักกีฬา คือ “รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักอภัย” ไม่เสียใจเมื่อแพ้ ไม่ลิงโลดดีใจจนลืมตัวเมื่อชนะ ไม่ให้ถือว่าการแพ้ชนะเป็นเรื่องยั่งยืน
                การแพ้ที่ควรกลัวและไม่ควรยอมแพ้ ไม่ใช่เรื่องของกีฬา แต่เป็นเรื่องของการทำความดีหรือสร้างความดีเป็นเรื่องที่ยอมแพ้ไม่ได้ ต้องพยายามเอาชนะให้ถึงที่สุด ใครยอมแพ้ต่อการทำความดี ชื่อว่าแพ้อย่างราบคาบหมดหนทางสู้ ไม่สมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
                อีกอย่างหนึ่ง การแพ้ศัตรูผู้คิดทำลายเรา ก็เป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้อีกเช่นกัน ต้องพยายามหาทางเอาชนะให้ได้แต่การเอาชนะศัตรูนั้น ทางพระท่านห้ามมิให้เอาชนะด้วยกำลังหรืออำนาจ เพราะกำลังหรืออำนาจมีเวลาเสื่อมสิ้นไปได้ ไม่คงทนถาวร ศัตรูอาจกลับมาชนะได้ภายหลังเหมือนเกมกีฬา การเอาชนะศัตรูต้องชนะให้เด็ดขาด ไม่เปิดโอกาสให้กลับแพ้ได้ คือต้องชนะศัตรูด้วยความดี ด้วยการพูดดี ทำดี และคิดดีต่อเขา แม้จะฝืนความรู้สึกบ้าง ก็ต้องเอาชนะความรู้สึกนั้นให้ได้ พยายามสร้างความดี ให้ศัตรูเกิดความรู้สึกว่า เราเป็นมิตรกับเขา ไม่ใช่ศัตรูเขาแล้วเขาจะกลับมาเป็นมิตรกับเราออย่างดีที่สุด เป็นการชนะที่ไม่มีวันกลับมาแพ้อีก คือชนะเลิศจริงๆ
                ท่านเคยชนะศัตรูอย่างนี้บ้างหรือยัง ถ้ามีศัตรูอยู่ลองเริ่มต้นดำเนินการตามวิธีเอาความดีชนะความชั่ว ทำศัตรูให้กลับมาเป็นมิตร หากเอาชนะได้ ท่านจะมีความสุขสบายที่สุดในชีวิต เพราะศัตรูที่กลับมาเป็นมิตรนั้น คือผู้ที่ยอมมอบชีวิตให้กับท่านอย่างแท้จริง

............................................

ไฟอาฆาต


                ในอดีตกาล ชายคนหนึ่งมีภรรยาแต่เป็นหมัน จึงหาภรรยามาอีกคนหนึ่งตามคำยินยอมของภรรยาคนแรก เมื่อภรรยาคนที่สองกำลังตั้งครรภ์ ภรรยาคนแรกเกิดความคิดริษยาจึงพยายามหาโอกาสปรุงยาขับเลือดใส่ในอาหารให้ภรรยาคนที่สองกินจนแท้งลูกไปหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายภรรยาคนที่สองพร้อมด้วยลูกในท้องได้ถึงแก่ความตาย ก่อนตายเธอได้ผูกอาฆาตว่า “ถ้าชาติหน้ามีจริง ขอให้เราสามารถกินนางเมียหลวงพร้อมลูกของมัน ปรากฏว่าคู่เวรคู่กรรมนี้เกิดมากี่ชาติก็ตามล้างผลาญกันอยู่ทุกชาติ เช่น ฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นไก่ อีกฝ่ายหนึ่งก็เกิดเป็นแมวไปกินไก่ ฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นเนื้อ อีกฝ่ายหนึ่งก็เกิดเป็นเสือไปฆ่าเนื้อ เป็นต้น แม้เกิดมาเป็นคนก็ยังจองเวรกันไม่เลิก จนเมื่อพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดจึงดับไฟอาฆาตกลับเป็นไมตรีต่อกันได้
                จากเรื่องดังกล่าวมีแง่คิดที่ว่า สิ่งที่ชาวโลกเรียกว่า ไฟ นั้น แบ่งออกเป็นสองชนิด คือ
                ๑.ไฟภายนอก ได้แก่ ไฟที่สามารถมองเห็น ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้หรือไฟที่เกิดจากกระแสงไฟฟ้า ไฟเหล่านี้มีคุณอนันต์สำหรับคนที่รู้จักนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ใช้หุงหาอาหาร ใช้ส่องสว่าง เป็นต้น แต่ก็มีโทษอย่างมหันต์เช่นกันหากไม่คุมให้ดี
                ๒.ไฟภายใน ได้แก่ ไฟที่ไม่สามารถมองเห็นตัวตน แต่มีอานุภาพทำให้ผู้ที่ถูกไฟประเภทนี้เผา จะมีอาการเหี่ยวแห้ง กลัดกลุ้ม รุ่มร้อน ปรากฏขึ้นในใจ ไฟภายในเหล่านี้ได้แก่ ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ซึ่งจะผสมผสานกลั่นตัวออกมาเป็นไฟอีกหลายดวง เช่น ไฟริษยา และไฟอาฆาต เป็นต้น
                ธรรมชาติของไฟ ไม่ว่าจะเป็นไฟชนิดไหนก็ตาม จะมีลักษณะร้อน เผาไหม้ ทำลายล้าง ถ้าเป็นไฟภายนอกก็จะเผาไหม้จนกว่าเชื้อไฟจะหมดไป หรือถูกบังคับให้ดับไป ถ้าจะกล่าวถึงการทำลายล้างแม้จะรุนแรงขนาดไหนก็ยังสามารถจำกัดเขตได้ และไม่ได้ไหม้กันพร่ำเพรื่อไป แต่ถ้าเป็นไฟภายในจะมีอานุภาพที่น่ากลัวกว่าหลายเท่า เพราะเกิดง่ายดับยาก ไหม้โดยไม่มีเขตจำกัด ไหม้ได้ทุกเวลา เกิดแล้วตายแล้วเกิดใหม่ก็ยังสามารถตามไปเผาไหม้ได้ทุกชาติ ดังนั้น ผู้หวังความสวัสดีแก่ตน จึงควรรีบดับไฟภายใน ด้วยน้ำคือขันติและเมตตา โดยถือคติว่า “เมตตาต่อทุกคน อดทนให้ถึงที่สุด แต่ถ้ายังไม่หยุดก็ให้ลดน้อยลง”

............................................

ความเครียด


                ความเครียดล้วนมีสาเหตุมาจากปัญหาต่างๆ ที่กำลังรุมเร้าอยู่รอบด้าน บางคนเครียดมากจนนอนไม่หลับ ถึงกับต้องพึ่งยานอนหลับ หรือยากล่อมประสาทก็มี บางคนเครียดมากต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาก็มี ฯลฯ
                ความเครียดเป็นอาการผิดปกติ เกิดขึ้นเป็นบางครั้งขณะเมื่อเกิดอาการผิดปกติเกิดขึ้น ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาให้ถูกวิธี ก็อาจทำให้เกิดอาการโรคประสาทหรือโรคจิตได้ มีการแบ่งความเครียดเป็นประเภทไว้สามอย่าง คือ
                ๑.เครียดทางร่างกาย เช่น ขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเครียดหรือประสบเหตุ เช่น ภัยพิบัติต่างๆ หรือการใช้พลังงานในร่างกายมากเกินไป วิธีแก้ไขก็คือ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นดูแลสุขภาพและอยู่ในที่ที่เหมาะสม
                ๒.เครียดทางสมอง สมองมีหน้าที่จำกับคิด ถ้าคิดมากเกินไปหรือชอบคิดฟุ้งซ่านจนบังคับไม่ได้เป็นเหตุให้สมองเครียดได้เช่นกัน วิธีแก้ไขก็คือทำจิตใจเป็นสมาธิ อย่าปล่อยให้ฟุ้งซ่านไปในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
                ๓.เครียดทางใจ ตามธรรมชาติแล้ว จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ต่อเมื่อถูกกิเลสและความทุกข์ต่างๆ เข้าครอบงำก็ทำให้ขุ่นมัวเศร้าหมอง วิธีการแก้ไขความเครียดทางจิตใจก็คือ ต้องมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ต่างๆ ที่มากลุ้มรุมจิต และหมั่นพิจารณาให้เห็นความจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนตกอยู่ในความไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีเกิดมีดับไม่คงที่ และไม่มีอะไรเลยที่ควรจะยึดมั่นให้เป็นอย่างที่ต้องการได้ ฝึกพินิจพิจารณาความจริงเช่นนี้อยู่เสมอๆ ความเครียดทางใจก็จะค่อยๆ หายไป
                คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักความเครียดทั้ง สามอย่างได้อย่างดี แต่มีส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้จักการพิฆาตความเครียดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง จึงขอเสนอวิธีพิฆาตความเครียดดังกล่าวมาๆ               ให้ลองพิจารณาดู และโปรดอย่าลืมว่าถ้าเราไม่ฉลาดในการพิฆาตความเครียดแล้ว จะถูกความเครียดพิฆาตเอาอย่างแน่นอน

............................................