วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

จงอยากแต่อย่าโลภ

จงอยากแต่อย่าโลภ
                ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์ มักจะเห็นหรือได้ยินข่าวที่น่าสลดสังเวชและสวนทางกับศีลธรรมมากขึ้น เช่น ทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย ก็ลงมือกันถึงแก่ชีวิต หรือมีการลักเล็กขโมยน้อย ปล้นจี้ เพียงเพื่อจะเอาเงินทองไปเสพสุขในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
                ถ้าจะถามว่า เพราะเหตุใดคนจึงทำความผิดความชั่วมากขึ้น ก็อาจตอบได้ว่า เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความจำเป็นบังคับ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เป็นต้น เมื่อจนหนักเข้าหาทางออกไม่ได้ ไม่อยากโกงก็ต้องโกง ไม่อยากขโมยก็ต้องขโมย ไม่อยากปล้นก็ต้องปล้น ในความเป็นจริงแล้ว ความจนเป็นเพียงข้ออ้างในการกระทำนั้นๆ เท่านั้นเอง ทางเลือกในการแก้ปัญหา สามารถทำในทางที่ถูกที่ต้องได้เสมอโดยไม่จำเป็นต้องทำไม่ดี แต่ความโลภในใจคนต่างหากที่เป็นมูลเหตุให้คนทำไม่ดี ความโลภหรือก็คือความอยากนั่นเอง ความอยากอาจไม่ใช่ความโลภไปเสียทุกอย่าง ความอยากที่ผิดทำนองคลองธรรมเท่านั้นจึงจะเป็นความโลภ ส่วนความอยากที่ถูกต้อง ถูกทำนองคลองธรรมไม่จัดว่าเป็นความโลภ เช่น ข้าราชการคนหนึ่งอยากได้เงินเดือนเพิ่มก็หาทางประจบประแจงเจ้านาย ทำงานเอาหน้า หรือถึงขั้นติดสินบน พฤติกรรมอย่างนี้เรียกว่าคนโลภ ส่วนข้าราชการอีกคนหนึ่งอยากได้เงินเดือนเพิ่ม แต่ขยันทำงาน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน หนักเอาเบาสู้ไม่ทำดีเอาหน้า พฤติกรรมอย่างนี้คือคนไม่โลภ
                อยากร่ำรวย อยากก้าวหน้าในชีวิต อยากมีหน้าที่การงานที่ดี อยากมีเกียรติยศชื่อเสียงในสังคม จงอยากไปเถิด ตราบใดที่ความอยากนั้นยังถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเราโดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและบุคคลรอบข้างหรือสังคม
                จงอยากเถิดแต่อย่าโลภ  ความโลภเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการทำความดีทั้งปวง

............................................

สร้างนิสัยให้เป็นคนขยัน


                สิ่งที่จะให้โทษแก่มนุษย์มากที่สุดสิ่งหนึ่งก็คือ ความเกียจคร้านของมนุษย์ บางคนปล่อยวันเวลาให้สูญเปล่าไปตั้งครึ่งชีวิต โดยไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ในวัยเด็กไม่ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ในวัยทำงานก็ขาดความเอาใจใส่ต่อหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย ผลสุดท้ายก็ประสบความล้มเหลวในหน้าที่การงาน ก่อให้ปัญหาต่างๆ ในสังคม เช่น การที่คนขาดศีลธรรม เล่นการพนัน ค้าขายสิ่งผิดกฎหมาย ฉ้อฉล ฯลฯ
                ความเจริญของสังคมและประเทศชาติจะมีขึ้นได้ ก็ด้วยอาศัยความขยันของแต่ละคนที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่การงานของตนด้วยความเอาใจใส่ และมีความรับผิดชอบ ส่วนคนเกียจคร้าน เป็นได้แค่ผู้ถ่วงความเจริญ จึงไม่มีสังคมใดปรารถนา ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้ความเกียจคร้านเกิดขึ้นจึงควรสร้างนิสัยความเป็นคนขยันด้วยวิธีการ ดังนี้
                ๑.หัดเป็นคนตื่นแต่เช้า และอาบน้ำทันทีเมื่อตื่นขึ้น เป็นการปลุกเส้นประสาทให้ตื่นตัว พร้อมสำหรับการทำงาน และเริ่มต้นกับชีวิตของวันใหม่
                ๒.อย่าคิดแสวงหาความสุขสบายในการนอนอยู่เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไร ให้พยายามหาธุระอะไรทำเสมอ ไม่หยุดนิ่ง
                ๓.อย่าคิดเลือกทำแต่ของง่ายๆ ตามปกติกิจการอันใดที่ทำได้ง่าย กิจการอันนั้นมักไม่ช่วยให้เกิดความเข้มแข็งบากบั่น พยายาม และความมุ่งมานะ
                ๔.ต้องเป็นคนตรงต่อเวลา ถึงเวลาที่กำหนดไว้ว่าจะทำอะไรแล้ว ต้องทำตามเวลานั้นให้ได้จริง
                ๕.ต้องคิดก้าวหน้าเสมอ ก่อนจะหลับในแต่ละคืนควรกำหนดไว้ให้แน่นอน พรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง
                ๖.ต้องคิดพึ่งตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำการสิ่งใดหรือหวังผลใดๆ จะต้องไม่หมายพึ่งผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา
                ความเกียจคร้านเป็นหนทางแห่งความเสื่อมอย่างหนึ่ง ทำให้สูญเสียโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนเอง และไกลไปถึงเป็นตัวถ่วงความเจริญของบ้านเมือง ผู้ที่หวังความเจริญก้าวหน้าควรฝึกความขยันให้ได้ตามที่กล่าว จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้อย่างแน่นอน

............................................

ข้อคิดดีๆ

         ความ "ไม่รู้" ที่ทำให้เสื่อม...
 รู้ "รอบตัว"มากมาย แต่ไม่ "รู้ดีรู้ชั่ว "ก็เสื่อม
 รู้ "เว้นงู เว้นเสือ เว้นมีด เว้นปืน" แต่ไม่รู้ "เว้นอบายมุข" ก็เสื่อม
 รู้ "ภาษาต่างประเทศ" แต่ไม่รู้ "คุณค่าภาษา ไทย" ก็เสื่อม
 รู้ "ตอบคำถาม "แต่ไม่รู้ "ตอบคุณ แผ่นดิน" ก็เสื่อม
 รู้ "ที่กินที่เที่ยว" แต่ไม่รู้ "ที่ต่ำที่สูง" ก็เสื่อม
 รู้ "วัน เดือน ปีเกิด" แต่ไม่รู้ "กาลเทศะ" ก็เสื่อม
 รู้ "พยากรณ์อากาศ" แต่ไม่รู้ว่า "ชีวิตมี ขึ้นมีลง" ก็เสื่อม
 รู้" จักรวาลวิทยา นภากาศ" แต่ไม่รู้จัก "ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ" ก็เสื่อม
 รู้จัก "คนมากมาย หลายวงการ" แต่ไม่ "รู้จักตนเอง" ก็เสื่อม
 รู้จัก "บริหารคน บริหารงาน" แต่ไม่รู้จัก "วิธีบริหารใจ" ก็เสื่อม
 รู้จักวิธี "หาเงินมากมาย" แต่ไม่รู้วิธี "บริหารเงิน" ก็เสื่อม
 รู้จัก "สร้างตึกสูง นับร้อยชั้น" แต่ไม่รู้วิธี "ฝึกใจให้สูง" ก็เสื่อม
 รู้จัก "โกรธ" แต่ไม่รู้จัก "ให้อภัย" ก็เสื่อม
 รู้จัก "กติกามารยาท" แต่ไม่รู้จัก "กฏแห่ง กรรม" ก็เสื่อม
 รู้จัก "สวมนาฬิกา แพงๆ" แต่ไม่รู้จัก "คุณค่าของเวลา" ก็เสื่อม
 รู้จัก "การเข้าสังคม" แต่ไม่รู้จักการ "เข้าหาสังฆะ" ก็เสื่อม
 รู้ "เรียนเอา ปริญญาสูงๆ" แต่ไม่รู้จัก "ยกพฤติกรรมให้สูง" ก็เสื่อม
 รู้ที่จะ "มีลูก" แต่ไม่รู้จัก "เลี้ยงลูก" ก็เสื่อม
 รู้ที่จะ "รัก" แต่ไม่รู้จัก "รับผิดชอบ" ก็เสื่อม
 รู้ที่จะ "ดู" แต่ไม่รู้ที่จัก "เห็น" ก็เสื่อม
 รู้ที่จะ "นับถือ" แต่ไม่รู้ที่จะ "นับถืออย่างไร" ก็เสื่อม
 รู้ที่จะ "พูด" แต่ไม่รู้จัก "ศิลปะการพูด" ก็เสื่อม
 รู้ที่จะ "สวมหัวโขน" แต่ไม่รู้ที่ "จะถอดหัวโขน" ก็เสื่อม
 รู้ว่า "วันหนึ่งจะต้องตาย" แต่ไม่รู้วิธี "เตรียมตัวตาย" ก็เสื่อม
 รู้คุณ "ของเงินทอง" แต่ไม่รู้ "คุณพ่อคุณแม่" ก็เสื่อม

ที่มา : facebook.com/Thaigardenstore/posts/632392640238132

ยาอายุวัฒนะ


                ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชน ใส่ใจกับการดูแลสุขภาพตนเองให้มากขึ้น ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในสถานที่ชุมชนต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่สดใส และมีอายุยืนยาว ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย เพื่อเน้นในทางป้องกันไว้ดีกว่าแก้ไข
                ในทางศาสนาได้มีคำสอนที่ว่า ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตที่สดใสอายุที่ยืนยาว ให้ปฏิบัติ ดังนี้
                ๑.สัปปายการี ต้องรู้จักทำความสบายให้กับตัวเอง ด้วยการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พักผ่อนและออกกำลังกายให้เพียงพอ ขณะเดียวกันก็ต้องงดเว้นสิ่งเสพติดให้โทษต่อร่างกายทุกชนิด
                ๒.สัปปาเย มัตตัญญู ต้องรู้จักประมาณในการบริโภคอาหารที่ทำให้ตัวเองสบายนั้น ไม่มากและไม่น้อยเกินไป การไม่รู้จักประมาณในการบริโภค แม้แต่อาหารที่ดี ย่อมเป็นเหตุทำให้ร่างกายไม่สบายได้
                ๓.ปริณตโภชี บริโภคแต่อาหารที่ย่อยง่าย ควรงดเว้นเนื้อสัตว์บางชนิดที่ย่อยยาก ซึ่งปัจจุบันเนื้อสัตว์จำพวกนี้นอกจากจะเป็นเนื้อหยาบย่อยยากแล้ว ยังมีสารปนเปื้อนอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อบริโภคเข้าไปย่อมทำให้เกิดโรคร้ายแรง ต่างๆ
                ๔.กาลจารี ต้องรู้จักเวลาในการทำกิจต่างๆ เช่น ต้องรู้ว่าเวลานี้ควรทำอะไร ต้องทำให้ถูกเวลา ต้องทำให้เป็นเวลา และต้องทำให้เหมาะแก่เวลาด้วย
                ๕.พรหมจารี ต้องประพฤติให้เหมือนพรหม คือไม่ใช้ชีวิตที่หมกมุ่นมัวเมาในกามารมณ์มากนัก ต้องรู้จักงดเว้นเสียบ้าง จะทำให้สุขภาพกายและสุขภาพใจดีอย่างสม่ำเสมอ
                หลักธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ หากปฏิบัติได้สม่ำเสมอจะช่วยเสริมสร้างชีวินให้มีสุขภาพดี มีพลนามัยแข็งแรง มีชีวิตที่สดใส และมีอายุยืนยาวในที่สุด

............................................