วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

คำกล่าวบูชา

 คำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย
                 คำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย มีหลากหลายรูปแบบ แต่ละสำนักจะใช้เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง แต่มีจุดหมายเดียวกันคือ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลัก
                มีผู้สงสัยว่า คำกล่าวบูชาพระรัตนตรัยที่อนุศาสนาจารย์นำกล่าวในกรณีที่ไม่มีพระพุทธรูปประดิษฐานและตั้งโต๊ะหมู่บูชา รู้สึกจะขัดต่อความเป็นจริง โดยเฉพาะตอนคำแปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมบูชา.... ด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายเหล่านี้ ทั้งๆ ที่เครื่องสักการะ คือ ดอกไม้ ธูป เทียน ก็ไม่มีสักอย่าง
                ได้รับคำตอบจากท่านอนุศาสนาจารย์บางท่านว่า เวลาที่เรากล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย โดยไม่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ เราก็ใช้ใจน้อมรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ในทำนองเดียวกัน เมื่อเครื่องสักการะคือ ดอกไม้ ธูป เทียน ไม่มี เราก็ใช้ กาย วาจา และใจ เป็นเครื่องสักการะแทน ดังนี้
                ๑.สักการบูชาทางกาย เราใช้นิ้วทั้ง ๑๐ ประนมมือแทนธูปเทียน และดอกไม้ ดังคำนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่โบราณท่านกล่าวว่า อุกาสะ ข้าขอยกกรวันทา ประนมนิ้วหัตถ์ขึ้นเหนือเศียร ต่างรัตนะประทีปธูปเทียนแก้ว ๗ ประการ
                ๒.สักการบูชาทางวาจา ก็คือ การเปล่งวาจา กล่าวคำบูชาด้วยเสียงอันนุ่มนวล ไพเราะเสนาะโสต ฟังแล้ว เกิดปีติโสมนัส
๓.สัการบูชาทางใจ ก็คือ ขณะที่กำลังกล่าวคำบูชา ใจของเราก็น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ด้วยความเรารพ ใช้ปัญญาพิจารณาไปตามคำบูชาว่า พระรัตนตรัยมีคุณอย่างไร เราจะน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติได้อย่างไร
                และได้สรุปไว้ว่า เครื่องสำหรับสักการบูชามี ๒ อย่าง คือ อามิสบุชา ได้แก่ การบูชาด้วยสิ่งของต่างๆ และ ปฏิบัติบูชา ได้แก่ สักการบูชาด้วยการปฏิบัติ คือเว้นการทำชั่ว ประพฤติดี และทำจิตใจให้ผ่องใส

............................................

ลิงแย่งผลไม้


                มีลิงตัวเล็กๆ สองตัวพบผลไม้ใหญ่หนึ่งผล ลิงทั้งสองจึงกระโดดเข้าตะครุบพร้อมๆ กัน แล้วก็ยื้อแย่งกันไปมา ต่างฝ่ายก็พูดว่า “ผลไม้นั้นของฉัน ฉันเห็นก่อน” ถกเถียงกันอยู่พักใหญ่ก็ไม่สามรถตกลงกันได้ ถึงแม้ลิงตัวหนึ่งจะเกิดความคิดว่า “เราควรแบ่งผลไม้กันคนละครึ่งดีกว่า” แต่ก็เกิดปัญหาอีกว่าจะมอบให้ใครเป็นคนแบ่ง เพราะถ้าให้ลิงตัวหนึ่งแบ่ง อีกตัวจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ได้ส่วนแบ่งที่น้อยกว่า แล้วลิงทั้งสองก็เถียงกันอีกว่า “ฉันแบ่งเอง ฉันแบ่งเอง” ในที่สุดก็ตกลงไปหาลิงตัวใหญ่ให้แบ่งผลไม้ให้
                ฝ่ายลิงตัวใหญ่กล่าวว่า “เราจะแบ่งให้เจ้าได้เท่าๆ กันอย่างยุติธรรม” ว่าแล้วก็แบ่งผลไม้ออกเป็นสองชิ้น ชิ้นใหญ่ไว้มือขวา ชิ้นเล็กไว้มือซ้าย แล้วก็มองดูผลไม้ทั้งสองชิ้น เมื่อเห็นชิ้นในมือขวาใหญ่กว่าก็กัดกินชิ้นนั้น เพื่อให้เท่ากับชิ้นในมือซ้าย พอกินเสร็จก็มองดูผลไม้ทั้งสองชิ้นอีกครั้ง และเห็นว่าชิ้นในมือซ้ายกลับใหญ่กว่าก็กัดกินชิ้นนั้น ทำเช่นนี้จนผลไม้หมดเกลี้ยงทั้งสองชิ้น ปล่อยให้ลิงตัวเล็กทั้งสองตัวนั่งมองหน้ากัน แล้วก็ทำตาปริบๆ ด้วยความเสียดาย
                ถ้าลิงทั้งสองอาศัยความสามัคคีปรองดองกัน สามารถรอมชอมกันได้ ไม่ห่วงแต่ว่าจะได้มากหรือน้อย มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ให้เกียรติกัน ยอมให้แก่กันและกันเป็นผู้แบ่งปัน หรือถ้ามีความสันโดษ คือพอใจหรือยินดีในส่วนที่ตนได้ พอใจในส่วนที่ตนมี ไม่สนใจในส่วนที่ผู้อื่นได้ ผู้อื่นมี ลิงทั้งสองตัวก็ย่อมได้ลิ้มรสผลไม้นั้นอย่างแน่นอน แต่เป็นเพราะขาดซึ่งความสามัคคี มีแต่ระแวงกัน ใช้ความโลภและเห็นแก่ตนเป็นที่ตั้ง จึงทำให้สูญเสียผลไม้ไป    
                เรื่องนี้มีหลายแง่คิด ที่มองได้แง่คิดหนึ่งคือ เมื่อผลประโยชน์เกิดขึ้น ความเป็นมิตร ความไว้วางใจซึ่งกันและกันก็มักจะหมดไป ความโลภคือความอยากได้จะเข้ามาแทน และเพราะความโลภนี่เองที่มักจะทำให้เกิดการเสียประโยชน์ที่ควรจะได้ เข้าตำราที่ว่า “โลภมากลาภหาย” นั่นเอง               
............................................

ทำไมจึงฝัน

 ทำไมจึงฝัน
                “ฝัน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า การเห็นเป็นเรื่องราวเมื่อหลับ โดยปริยายหมายถึงการนึกเห็นในขณะที่ตื่นอยู่ ซึ่งไม่อาจจะเป็นจริงได้ อย่างเช่นคำว่า ฝันลมๆ แล้งๆ ฝันกลางวัน
                ในคัมภีร์สารัตถสังคหะ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า คนที่ฝันร้าย คือฝันเห็นสิ่งต่างๆ ที่น่ากลัว เป็นเพราะเหตุที่ไม่มีสติสัมปชัญญะในเวลานอนหลับ ส่วนผู้ที่มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งหลับแล้วก็จะฝันเห็นแต่สิ่งที่ดีเสมอ ไม่ฝันถึงสิ่งชั่วร้ายหรือสิ่งที่น่าหวาดกลัวเลย ความฝันดีย่อมเกิดจากจิตสงบ ถ้าอยากฝันดีก็ควรตั้งใจดี มีเมตตาแก่ทุกๆ คน โดยมูลเหตุแห่งฝันมีด้วยกัน ๔ ประการ คือ
                ๑.บุพนิมิต เกิดจากมีเหตุบอกให้รู้ล่วงหน้า ว่าจะมีเหตุดีหรือร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่ตนเองหรือคนใกล้ชิด
                ๒.จิตอาวรณ์ เกิดจากดวงจิตที่พะวงถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือพัวพันอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก่อนจะหลับ จึงเก็บเอาเรื่องนั้นไปฝัน
                ๓.เทพสังหรณ์ เกิดจากอิทธิฤทธิ์ของเทวดา เพราะเทวดาต้องการให้โทษหรือให้คุณ (หมายถึงความเชื่อในสิ่งที่ปกปักษ์รักษาตนเอง แล้วเก็บไปฝัน)
                ๔.ธาตุกำเริบ เกิดจากธาตุกำเริบ คือการที่ร่างกายไม่ปกติ ครั้นหลับลงจึงฝันเห็นเรื่องราวต่างๆ s
                ความฝันเป็นเรื่องที่มนุษย์รู้จักและให้ความสนใจมาตั้งแต่โบราณกาล แต่ไม่ว่าจะฝันดีหรือฝันร้าย มนุษย์ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในโลกของความฝันได้ มนุษย์จะต้องตื่นขึ้นมาพบกับความจริงในชีวิตจริงเสมอเมื่อตื่นขึ้นมาสิ่งหนึ่งที่ต้องยึดไว้มั่นก็คือการใช้ปัญญา ใช้เหตุผล และความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะช่วยทำให้ปัจจุบันและอนาคตพบแต่สิ่งดีงามโดยไม่ต้องมัวพะวงกับความฝันเลย               

............................................