วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

โกรธ

ดับเพลิงโกรธ
                เมื่อเราได้ยินคำว่า “ดับเพลิง” ก็จะคิดถึงเรื่องไฟไหม้ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ จะมีรถดับเพลิง วิ่งด้วยความเร็วสูง ส่งเสียงขอทางดังลั่น เพื่อเร่งรีบไปให้ถึงจุดที่เกิดเพลิงไหม้ จะได้ดับเพลิงที่กำลังลุกไหม้ให้ดับลง เพื่อลดความเสียหาย และป้องกันการลุกลาม
                ยังมีเพลิงอีกชนิดหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจสร้างความเสียหายรุนแรงและกว้างขวางกว่าเพลิงไหม้เสียอีก นั่นคือเพลิงโกรธ เพราะ
                ๑.จะเผาผลาญคนโกรธเองให้ขุ่นเคือง เร่าร้อน รู้สึกเครียด หาความสุขไม่ได้ และส่งผลถึงบุคลิกภาพภายนอก ทำให้ผิวพรรณเศร้าหมอง หมดสง่าราศี ไม่มีความสวยงาม กิริยาวาจาหยาบคาย เป็นต้น
                ๒.หากระงับไม่ได้ เพลิงโกรธนี้ก็จะลามไปเผาคนอื่นให้พินาศเดือดร้อน หรืออาจติดไปสู่คนอื่นให้โกรธตามไปด้วย
                ได้มีพระอาจารย์ท่านหนึ่งพูดถึงวิธีสอนให้ดับเพลิงโกรธไว้ ๒ วิธี คือ กันและแก้
                ๑.วิธีกัน คือต้องหัดมองทุกอย่างในแง่ดี มีเมตตา ฝึกฝนตนเองให้มีใจคอหนักแน่น เพื่อจะไม่ให้เกิดความโกรธขึ้นง่ายๆ
                ๒.วิธีแก้ คือต้องใครครวญด้วยปัญญา และสติ พยายามใช้ความคิดอย่างมีเหตุผล มีสติพิจารณาถึงโทษของความโกรธนั้นๆ ลดความสำคัญของผู้ที่ทำให้เราโกรธให้น้อยลง ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมลดความสำคัญและความใหญ่โตของตัวเองลงด้วย
                อันที่จริง ความสุขของคน ก็หาได้ไม่ยาก แค่ดับความโกรธในใจลงได้ ก็เป็นสุขได้อย่างน่าอัศจรรย์ ไม่เชื่อก็ทดลองทำดู

............................................

รู้วิชา

รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา
                ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกวางอาศัยอยู่ในป่า มีบริวารมากมาย วันหนึ่งกวางผู้เป็นน้องสาวพาลูกมาหาแล้วขอให้ช่วยสอนมายากวางหรือศิลปะในการดำเนินชีวิต
                พระโพธิสัตว์รับปากน้องสาว แล้วกำชับกวางผู้เป็นหลาน ให้มีความตั้งใจและขยันหมั่นเพียรในการเรียน กวางผู้เป็นหลานปฏิบัติตามที่ลุงบอกทุกประการ เมื่อมีเวลาว่างแม้กวางตัวอื่นๆ จะวิ่งเล่นซุกซนไปตามเรื่อง แต่ตัวเองจะทบทวนบทเรียนและเอาใจใส่ต่อการเรียนอยู่ตลอดเวลา
                วันหนึ่ง กวางหนุ่มเที่ยวไปในป่าและติดกับดับของนายพราน กวางตัวอื่นๆ ได้ยินเสียงก็ตกใจพากันวิ่งหนีเข้าป่าและไปบอกให้แม่ของกวางหนุ่มทราบ นางกวางตกใจมากจึงรีบไปหาพี่ชายผู้เป็นครูสอนและอ้อนวอนให้ไปช่วยกวางหนุ่มผู้เป็นหลาน
                พระโพธิสัตว์ปลอบน้องสาวไม่ให้ตกใจและเสียขวัญ พร้อมทั้งยืนยันว่ากวางหนุ่มผู้เป็นศิษย์เป็นผู้ตั้งใจ ศึกษาเล่าเรียน มีวิชาความรู้อยู่กับตัว จะต้องเอาตัวรอดได้อย่างแน่นอน
                เรื่องก็เป็นจริงอย่างที่พระโพธิสัตว์ว่า กวางหนุ่มได้ใช้อุบายแสร้งทำเหมือนตาย โดยนอนเหยียดเท้าทั้ง 4 ตะกุยดินและบริเวณรอบๆ ให้กระจุยกระจาย ปล่อยอุจจาระและปัสสาวะให้ไหลออกมาเลอะเทอะ หัวฟุบ ลิ้นห้อย กลั้นลมหายใจให้ตัวพอง ตาเหลือก ขณะเดียวกันก็มีพวกแร้งกาบินมาแอบคอยทีอยู่ใกล้ๆ
                เมื่อนายพรานมาถึงก็ลองใช้นิ้วดีดท้องกวางดู คิดว่ากวางติดกับดังตั้งแต่เช้าจนขึ้นอืดเกือบจะเน่าแล้วจึงแก้เชือกออก แล้วเดินไปเก็บใบไม้มาปูเพื่อเตรียมชำแหละ กวางหนุ่มสบโอกาสจึงรีบลุกขึ้นวิ่งหนีอย่างรวดเร็ว และเอาชีวิตรอดมาได้
                ชากดเรื่องนี้ให้ข้อคิดว่า ผู้ที่ขยันศึกษาเล่าเรียนด้วยความตั้งใจจนมีความรู้เชี่ยวชาญ จะสามารถใช้วิชาและประสบการณ์เอาตัวรอดในยามคับขันได้

............................................

พิชิตทุกข์

วิธีคิดพิชิตทุกข์
                 วิธีคิด คือ การทำงานของจิตอย่างหนึ่ง ทั้งนี้สุดแต่ใครจะกำหนดกรอบความคิดของตนไปทางใด กล่าวคือ เมื่อบุคคลประสบกับเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเขาใช้วิธีคิดที่มีโทสะเป็นพื้นฐาน เหตุการณ์นั้นๆ ก็จะลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมาได้ นำโทษทุกข์มาสู่ตนและคนรอบข้าง แต่ถ้าใช้วิธีคิดอันมีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐานเหตุการณ์นั้นๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย สงบเย็น เกิดประโยชน์สุขขึ้นมาแทนที่ ในกรณีนี้มีเรื่องสอนทางพุทธศาสนา เป็นอุทาหรณ์
                กาลครั้งหนึ่ง ลุงบุญอุ้มลูกชายวันสี่ขวบ ขึ้นรถยนต์โดยสารปรับอากาศเพื่อเดินทางไปทำธุระ ณ ที่แห่งหนึ่ง เมื่อขึ้นไปแล้วได้สังเกตเห็นเบาะว่างอยู่ที่หนึ่งจึงพาลูกไปนั่ง ขณะนั่งลงได้เบียดถูกชายคนหนึ่ง ซึ่งนั่งอยู่เบาะติดกัน ลุงบุญรีบกล่าวคำขอโทษ พอสิ้นเสียงคำขอโทษ ชายคนนั้นต่อยที่ต้นแขนของลุงบุญพร้อมพูดว่า “นี่น่ะขอโทษ” ลุงบุญทั้งเจ็บและโกรธ พยายามเปลี่ยนความโกรธให้เป็นเมตตากรุณาคิดว่า “ชายคนนี้คงจะโกรธใครมา หรือมีเรื่องไม่สบายใจอยู่ก่อน พอถูกเราเบียดจึงระบายความโกรธใส่เรา เขาได้ต่อยเราแล้วคงจะสบายใจขึ้น” พอลุงบุญนึกมาถึงตรงนี้ ความโกรธและความเจ็บค่อยๆ จางหายไป เกิดความสบายใจขึ้นแทนที่ ลุงบุญโดยสารรถคันนั้นไปจนถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น
                ลุงบุญใช้วิธีคิดอันมีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน ทำให้สามารถเอาชนะความโกรธและเกิดความสบายใจขึ้นมาแทนที่ สมจริงดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “โกธัง ฆัตวา สุขัง เสติ แปลว่า ฆ่าความโกรธได้ย่อมอยู่เป็นสุข”

............................................

มิจฉาทิฐิ


                 คำว่า ทิฐิ หมายถึง ความเห็น ความเชื่อถือ และทัศนะในการมองโลกและชีวิต มิอิทธิพลครอบงำและมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิต และสังคมมนุษย์เป็นอย่างมาก สามารถนำชีวิต สังคม หรือมนุษยชาติทั้งหมด ไปสู่ความเจริญงอกงามรุ่งเรือง หลุดพ้น หรือนำไปสู่ความเสื่อม ความพินาศหายนะมากกมายเท่าไรก็ได้ เพราะเมื่อเชื่อ เมื่อเห็น หรือนิยมอย่างไร ก็คิด พูด สั่งสอน ชักชวนกัน และทำการต่างๆ ไปตามที่เชื่อ ที่เห็น ที่นิยมอย่างนั้น
                ในทางพระพุทธศาสนาจึงจัด ทิฐิ เป็นมโนกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่สำคัญ เพราะเป็นตัวบันดาล และอยู่เบื้องหลัง กายกรรม และวจีกรรมอีกชั้นหนึ่ง และแบ่งทิฐิออกเป็น ๒ ประเภท คือ มิจฉาทิฐิ หมายถึง ความเห็นที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน ในเบื้องต้นได้แก่ ความเห็นที่ผิดไปจากคลองธรรมว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ๑ การเซ่นสรวงไม่มีผล ๑ การบูชาไม่มีผล ๑ ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี ๑ โลกนี้ไม่มี ๑ โลกหน้าไม่มี ๑ มารดาไม่มีบุญคุณ ๑ บิดาไม่มีบุญคุณ ๑ สัตว์ทั้งหลายที่เป็นโอปาติกะไม่มี ๑ สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตามไม่มี ๑ ในเบื้องปลาย ได้แก่ ความเห็นที่ไม่ถูกต้องตรงตามสภาวะความเป็นจริง หรือตามเหตุปัจจัย ทิฐิอีกประเภทหนึ่งคือ สัมมาทิฐิ หมายถึงความเห็นที่ถูกต้อง ได้แก่ความเห็นที่ตรงกันข้ามจากที่กล่าวมานี้
                มิจฉาทิฐิ ถือว่าเป็นต้นตอที่สำคัญของความผิดความชั่วทั้งมวล ดังมีพระพุทธดำรัสรับรองไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นอกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วก็พอกพูนมากขึ้นเหมือนอย่างมิจฉาทิฐินี้เลย”
                ดังนั้น จึงควรปรับความเห็นของตนให้เป็นสัมมาทิฐิ อันเป็นเสมือนไฟส่องให้เห็นทางและมั่นใจในทางอันถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้เริ่มย่างก้าวขึ้นสู่ทางเดินอันประเสริฐที่เรียกว่า อริยมรรค แล้วสิ่งดีงามต่างๆ จะเกิดขึ้นในชีวิตของท่านอย่างแน่นอน

............................................