วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

๓ อย่างของดีชั่ว และ ความฉลาด

ดีชั่ว ๓ อย่าง
                ถ้ามนุษย์ทำดีต่อกัน ชีวิตจะมีสุข และโลกก็น่าอยู่ ถ้าทำชั่วต่อกัน ชีวิตก็เป็นทุกข์ โลกก็จะลุกเป็นไฟ ความจริงข้อนี้ไม่มีใครที่ไม่รู้ จึงมีผู้รู้พยายามสนับสนุนให้คนเว้นชั่วและทำดีต่อกัน โดยแยกการปฏิบัติให้เห็นชัดเจนเป็น ๓ ระดับ คือ
                ๑.อย่าทำชั่วตอบสนองความชั่ว คือ อย่าเอาความชั่วเข้าต่อสู้กับความชั่ว เช่น ผูกใจเจ็บไว้ แล้วคิดแก้แค้นผู้ที่ทำชั่วต่อตน การกระทำเช่นนี้เป็นการผูกเวรอย่างไม่รู้จบสิ้น จะเกิดทุกข์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เข้าทำนอง “สาดน้ำรดกัน” ต่างคนก็ต่างเปียก หรือเหมือนกับการล้างของที่สกปรกด้วยน้ำสกปรก ก็จะไม่ทางที่จะสะอาด
                ๒.อย่าทำชั่วตอบสนองความดี คืออย่าคิดร้ายต่อผู้ที่ทำดีต่อเรา เช่น เนรคุณต่อผู้มีบุญคุณ เปรียบเหมือนเมื่อได้อาศัยร่มเงาของต้นไม้ใด ก็ไม่ควรไปหักกิ่งของต้นไม้นั้น หากเราอยู่ใต้ร่มของต้นไม้เพื่อพักอาศัย เมื่อเราหักกิ่งของต้นไม้ออกไป ร่มที่เราอาศัยก็จะหายไปด้วยจนไม่มีร่มเงาให้เราอาศัย
                ๓.อย่าทำชั่วแม้แต่ผู้ไม่ได้ทำอะไรต่อตนเลย คือ งดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นนั่นเอง
                ตรงกันข้าม มนุษย์เราทุกคนต้องทำดี ๓ ประการ ได้แก่
                ๑.ทำดีตอบสนองความชั่ว คือ ใช้ความดีชนะความชั่ว เช่น เอาเมตตาชนะความโกรธ เอาความมีน้ำใจชนะความเห็นแก่ตัว เป็นการลบล้างความชั่วให้หมดไป เปรียบเหมือนล้างของสกปรกด้วยน้ำสะอาด
                ๒.ทำดีตอบสนองความดี คือ ทำดีต่อผู้อื่นที่ทำดีกับตน คือ รู้จักบุญคุณของผู้มีอุปการะแล้วตอบแทน
                ๓.ทำดีแม้ต่อผู้มิได้ทำอะไรให้ตนเลย คือ ทำด้วยจิตใจที่รู้สึกนึกในความดี เช่น การเสียสละ การช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นที่อยู่ในภาวะที่ด้อยกว่า เป็นต้น
                ผู้ไม่ละชั่ว เหมือนคนที่ปล่อยให้ร่างกายสกปรก ผู้ที่แม้ละชั่วแล้วแต่ไม่ได้ทำดี ก็เหมือนคนที่ร่างกายสะอาดแต่ยังไม่ได้นุ่งห่มเสื้อผ้า จะเรียกว่าดีแท้ยังไม่ได้เสียทีเดียว ฉะนั้นต้องละชั่วแล้วหันมาทำดีไปพร้อมกันด้วยจึงจะเป็นคนดีจริง

............................................

ความฉลาด ๓ อย่าง
                ในโลกนี้มีคนที่ฉลาดหลักแหลมและเชี่ยวชาญในด้านวิชาการมากมายหลายสาขา แต่มีวิชาการในพุทธศาสนา ๓ สาขา ที่หาผู้ฉลาดและเชี่ยวชาญได้ยากคือ
                ๑.อายโกศล ได้แก่ คนที่ฉลาดในความเจริญ หมายถึง ผู้ที่รอบรู้แนวทางที่จะทำให้ตัวเองเจริญก้าวหน้าและรู้สาเหตุของความเจริญ ซึ่งจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในชีวิต และพัฒนาชีวิตให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป
                ๒.อปายโกศล ได้แก่ คนที่ฉลาดในความเสื่อม หมายถึง ผู้ที่รอบรู้ แนวทางที่จะทำให้ตัวเองเสื่อมและรู้สาเหตุของความเสื่อม เพื่อจะได้หาทางป้องกันตัวเอง และคนรอบข้างไม่ให้เสื่อมจากคุณธรรม และความดีทั้งปวง
                ๓.อุปายโกศล ได้แก่ คนที่ฉลาดในอุบายต่างๆ หมายถึง ผู้ที่รอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์ที่กำลังเผชิญหน้าได้อย่างดี และรู้วิธีที่จะจัดการเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง และคนรอบข้างให้สำเร็จลุล่วงไปได้โดยไม่มีอุปสรรคข้อขัดข้อง
                ความฉลาดใน ๓ สาขานี้ ทุกคนสามารถเรียนรู้ให้เชี่ยวชาญได้ และทำให้เกิดมีขึ้นได้โดยอาศัยหลัก
                                สุ มาจาก สุตะ คือ การฟัง ได้แก่การแสวงหาความรู้ในเหตุการณ์และวิชาการต่างๆ อยู่เสมอ
                                จิ มาจาก จินตะ คือเมื่อฟังแล้วก็ใครครวญพิจารณาเหตุผลด้วยปัญญา
                                ปุ มาจาก ปุจฉา คือ ถาม นั่นคือต้องสนใจค้นคว้าหาคำตอบให้ได้ ไม่ปล่อยทิ้งไปเฉยๆ
                                ลิ มาจาก ลิขิต คือ จดบันทึกเป็นหลักฐานเพื่อใช้อ้างอิงหรือเตือนความจำ
                ความสำเร็จ ความล้มเหลว สมหวัง ผิดหวัง  เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ที่กว้างขวาง ดังนั้น คนที่เชี่ยวชาญด้านวิชาการอย่างเดียว แต่ไม่ฉลาดในความเจริญ ความเสื่อม และอุบายต่างๆ จึงมีโอกาสล้มเหลวในชีวิตค่อนข้างสูง
............................................

พลังแห่งสัจจะ กำลังใจ

พลังแห่งสัจจะที่บริสุทธิ์
                ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกคุ่ม อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ต่อมาไม่นานไฟป่าได้ไหม้ป่าแถบนั้น สัตว์ป่านานาชนิดต่างหนีเอาตัวรอด ขณะที่ไฟป่ากำลังลามเข้ามาใกล้รังนกคุ่มอยู่นั่นเอง พ่อแม่นกก็บินหนีเอาตัวรอด ปล่อยให้ลูกนกผจญชะตากรรมแต่เพียงลำพัง
                นกคุ่มน้อยตื่นตระหนกและมองไม่เห็นทางรอด ครั้นแล้วก็ระลึกถึงคุณของพ่อแม่ว่า “พ่อแม่รักเรามากได้สร้างรังให้เราอยู่โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย และได้ป้อนอาหารเราโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เมื่อไฟป่าลุกลามมาถึง พ่อแม่ได้อยู่กับเราจนนาทีสุดท้าย ส่วนนกอื่นๆ ได้บินหนีไปก่อนหน้านั้นแล้ว ช่างเป็นความรักอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ที่มีต่อลูกจริงๆ ขอให้พ่อแม่จงปลอดภัยและมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป”
                พร้อมกันนั้นก็ฉุกคิดได้ถึง “คุณแห่งศีลและคุณแห่งสัจจะตลอดจนคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมมีอยู่ในโลกนี้” ลำดับนั้นนกคุ่มน้อยจึงได้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตและระลึกถึงสัจจะที่มีอยู่ในตนแล้วอธิษฐานจิตว่า “เรามีปีกแต่บินไม่ได้ เรามีเท้าแต่เดินไม่ได้ พ่อแม่ของเราก็ออกไปหาอาหารดูก่อนไฟป่า ท่านจงถอยกลับไปเสียเถอะ” พอสิ้นแรงอธิษฐาน ไฟป่าที่กำลังลามเข้ามาใกล้รังก็ดับไปราวกับปาฏิหาริย์
                ชาดกเรื่องนี้ทำให้ทราบว่า พลังแห่งสัจวาจาที่เกิดจากจิตใจและความประพฤติที่บริสุทธิ์ สามารถจะเปลี่ยนสิ่งที่เป็นภัยกลายเป็นมิตรหรือเป็นสิ่งที่ไม่เป็นภัยได้ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องท้าทายต่อความเชื่อในปัจจุบันแต่วิสัยผู้รู้ นอกจากจะไม่ด่วนเชื่อในสิ่งที่ตนยังพิสูจน์ไม่ได้แล้ว ก็ย่อมไม่ด่วนปฏิเสธในสิ่งที่ตนยังพิสูจน์ไม่ได้เช่นกัน แต่จะอย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงที่อยู่เหนือการยอมรับหรือปฏิเสธอยู่อย่างหนึ่งก็คือ การพัฒนาจิตใจและความประพฤติของตนให้บริสุทธิ์ ย่อมจะให้คุณประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตโดยไม่ต้องสงสัย

............................................

กำลังใจ
                คำว่า “กำลังใจ” มีความหมายสำคัญยิ่ง ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เปรียบเทียบกับบุคคลใดในขณะนั้น สำหรับคนทั่วๆ ไป กำลังใจทำให้เชื่อมั่นกระตือรือร้น พร้อมเผชิญกับเหตุการณ์ในทุกๆ อย่าง  สำหรับทหาร กำลังใจเป็นอำนาจการรบที่ยิ่งกว่าอาวุธ สำหรับคนเจ็บป่วย กำลังใจเป็นยาวิเศษ สำหรับคนท้อแท้สิ้นหวัง กำลังใจเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้สดชื่นเข้มแข็ง สำหรับนักกีฬา กำลังใจเป็นยากระตุ้นที่น่าอัศจรรย์  ฯลฯ
                กำลังใจสามารถสร้างขึ้นในใจได้ ๒ ทางคือ
                ๑.โดยอาศัยปัจจัยภายนอก เช่น เมื่อสูญเสีย สิ้นหวัง ได้กำลังใจจากการเห็นใจ ปลอบโยน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ได้กำลังใจจากการเยี่ยมเยียนห่วงใย เมื่อแข่งขัน ได้กำลังใจจากเสียงเชียร์ เมื่อทำคุณงานความดี ได้กำลังใจจากคำชมเชย ซึ่งนับเป็นกำลังใจที่ต้องอิงอาศัยบุคคลอื่น หรือสิ่งอื่นช่วยสร้างเสริมให้มีขึ้น
                ๒.โดยอาศัยปัจจัยภายใน คือ ตนเองต้องเป็นผู้สร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นเอง ด้วยการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ๒ แนวทางได้แก่
                แนวทางแรก ยึดหลักธรรมสำหรับประคองกำลังใจมิให้ตกต่ำ กล่าวคือ “หลักตถตา-ความเป็นเช่นนั้นเอง” และหลักโลกธรรม ๘ ได้แก่ ได้ลาภ-เสื่อมลาภ ได้ยศ-เสื่อมยศ สรรเสริญ-นินทา สุข-ทุกข์ ซึ่งจะทำให้เข้าใจโลกตามความเป็นจริงว่า มีได้ต้องมีเสียควบคู่กันเสมอ ไม่หลงใหลลืมตัวหรือท้อแท้สิ้นหวัง เพราะถูกโลกธรรมฝ่ายดีและฝ่ายเสียย่ำยี ทั้งนี้ก็เพราะรู้เท่าทันตามหลักตถตาว่า โลกธรรมย่อมเป็นเช่นนั้นเอง
                แนวทางที่สอง ยึดหลักธรรมสำหรับส่งเสริมกำลังใจให้เข้มแข็ง คือ พลธรรม ๕ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ความเชื่อมั่น วิริยะ ความเพียรพยายามมุ่มมั่นไม่ท้อแท้ สติ มีความรู้ตัว รอบคอบ ไม่ประมาทในการเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ สมาธิ มีจิตใจมั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน และ ปัญญา ความรู้ความเข้าใจในเหตุผล ปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
                อุปสรรคย่อมเกิดขึ้นได้เสมอทั้งในทางปฏิบัติงานและการดำรงชีวิต “กำลังใจ” จึงเป็นต้นเหตุพื้นฐานที่ทุกๆ คนต้องมีติดตัวไว้เสมอ
............................................

เมตตาธรรม สัมมาคารวะ

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
                ในปัจจุบัน สังคมเรามีความเจริญทางวัตถุมากมาย และมนุษย์ก็พยายามนำความเจริญด้านวัตถุเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือสร้างสันติสุข โดยหวังว่าสักวันหนึ่งมนุษย์จะเกิดสันติสุขและสันติภาพ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า สังคมระดับต่าง ๆ ก็ยังขาดสันติสุข เพราะในใจของมนุษย์มีความเห็นแก่ตัว ขาดการเห็นอกเห็นใจกัน มีการประหัตประหารกัน เบียดเบียนกันอยู่เสมอ ซึ่งนับวันจะรุนแรงและหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ถึงแม้องค์กรต่าง ๆ ทั้งระดับชาติและระดับโลกจะได้สรรหามาตรการและวิธีการต่าง ๆ มาแก้ไขก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
                ในทางพระพุทธศาสนามองว่า ความสุขและสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ จะต้องพัฒนาจิตใจให้มีคุณธรรม โดยเฉพาะเมตตาธรรม คือ ความรักใคร่ ความเอื้ออาทรระหว่างกัน โดยใช้เมตตาธรรมขจัดความชั่วร้ายภายใน ๔ อย่าง ให้หมดไป คือ
                ๑. โทสะ ได้แก่ ความไม่พอใจในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ตั้งความหวังไว้แล้วไม่ได้สมหวัง จึงเกิดความไม่พอใจ
                ๒. มานะ ได้แก่ ความถือตัว โดยเฉพาะสำคัญตนผิดว่า ตนเองสูงกว่าคนอื่น มีอำนาจกว่าคนอื่น
                ๓. ริษยา ได้แก่ ความไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดี เห็นคนอื่นได้ดีแล้วมีทุกข์ หรือเห็นคนอื่นตกทุกข์แล้วดีใจ
                ๔. มัจฉริยะ ได้แก่ ความตระหนี่ มีอารมณ์หวงแหน ไม่อยากเสีย มีใจคอคับแคบ เห็นแก่ตัว
                มีคำพระกล่าวยืนยันไว้ว่า โลโกปัตถัมภิกา เมตตา เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก ฉะนั้น ควรสร้างเมตตาธรรมให้มีไว้โดยเร็ว เพื่อความสงบร่มเย็นและน่าอยู่ในโลกที่จะบังเกิดขึ้น

............................................

สัมมาคารวะ
                สังคมไทยและวัฒนธรรมไทยแต่โบราณ มักอบรมสั่งสอนให้บุตรหลานรู้จักเคารพผู้อาวุโสกว่าตน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางกายหรือทางใจไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลังก็ตาม และทั้งสองอย่างนี้จะต้องสอดคล้องกันเสมอ การแสดงออกที่ว่านี้เรียกว่า “ความมีสัมมาคารวะ” ความมีสัมมาคารวะนั้นเป็นเสน่ห์ที่สร้างความนิยมและประทับใจแก่ผู้ปฏิบัติและผู้พบเห็น สร้างความรู้สึกผูกพันระหว่างผู้ได้รับการแสดงความเคารพและผู้แสดงความเคารพ อนึ่ง การแสดงความอ่อนน้อมต่อกันและกัน เป็นการให้เกียรติและสามารถยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้อื่นไว้ได้ รวมทั้งวัฒนธรรมอันดีงามของไทยอีกด้วย
                ปัจจุบันความมีสัมมาคารวะในสังคมไทยกำลังลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ เป็นเรื่องน่ากังวลว่า เมื่อใดก็ตามที่ลูกไม่เคารพเชื่อฟังพ่อแม่ ศิษย์ไม่เคารพครูอาจารย์ มิตรไม่นับถือมิตร ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่เคารพผู้บังคับบัญชา เมื่อนั้นสังคมไทยจะไร้อารยธรรม คนจะไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่เคารพกัน เต็มไปด้วยความหมางเมินและ ไร้ระเบียบวินัยต่อกัน การแสดงออกก็ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกสำนึกที่ดีอย่างแท้จริง ทำไปอย่างเสียไม่ได้ ทำเพียงเพื่อมารยาทหรือสักแต่ว่าทำเท่านั้น
                ดังนั้นหากไม่ต้องการให้ “สัมมาคารวะ” เลือนหายไปจากสังคม ต้องรีบปลูกฝังกันตั้งแต่วันนี้ เริ่มที่ผู้ใหญ่ ปฏิบัติต่อกันเป็นแบบอย่างที่ดีเสียก่อน หากเด็กได้เห็นตัวอย่างที่ดีก็จะสร้างความเคยชินและทำอย่างนั้นบ้าง
                ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างความมีสัมมาคารวะให้เป็นบรรทัดฐานของการปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเอื้ออาทรและความเข้าใจกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไทย
............................................