วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คิดบวก


                คนเราเกิดมาไม่มีใครรู้ได้ว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกกี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี ในส่วนประโยชน์ตน การทำชีวิตให้อยู่อย่างมีความสุขได้ จึงนับว่าคุ้มค่าที่สุด วิธีหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขก็คือ ให้หัดคิดทางบวกไว้เสมอการคิดทางบวกนี้ก็คือ การคิดในแง่ดีนั่นเอง เช่น คิดให้คนอื่นอยู่ดีมีสุข เผื่อแผ่ความรักความเมตตาไปสู่สรรพสัตว์เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ เมื่อมีสถานการณ์ที่คับขันหรือที่จะนำไปสู่ความเครียด ก็ไม่หงุดหงิด หรือโวยวายกับสิ่งที่ไม่น่าชื่นชมนั้น แต่รู้จักคิดในอีกแง่หนึ่งที่ทำให้เกิดความสบายใจทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเกี่ยวข้องด้วย เช่น เมื่อขับรถมาถึงสี่แยกแล้วติดไปแดงเป็นคันแรกพอดี แทนที่จะนึกโมโหว่าเกือบจะไปได้อยู่แล้วแต่ต้องมาเสียเวลาอยู่อีก ก็ให้นึกว่า นี่ยังโชคดีนะที่ได้รอคิดเป็นคันแรกเลย เดี๋ยวพอไฟเขียวเราก็จะได้ออกรถไปก่อนเป็นคันแรก เป็นคนโชคดีที่สุดในบรรดาผู้ติดไฟแดงอยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าต้องติดอยู่ปลายแถวก็ให้คิดว่า คนที่มาถึงก่อนเราก็ยังไปไม่ได้ อีกไม่นานก็จะเป็นสัญญาณไฟเขียวเราก็จะไปได้ แต่คันที่รออยู่ต้นแถวต้องรอนานกว่าเรา เปลืองน้ำมันมากกว่าเรา
                จากตัวอย่างการคิดข้างต้น แม้ฟังดูเผินๆ จะดูเหมือนพูดเล่นๆ ไม่มีสาระ แต่ความจริงแฝงนัยสำคัญไว้ นั่นคือ สรรพสิ่งย่อมมีหลายด้านหลายมุม และการเข้าไปสัมผัสยึดถือในแง่มุมที่ต่างกันนั้น ก็ย่อมเกิดผลลัพธ์ที่ต่างกันได้ด้วย เมื่อเป็นดังนั้น เหตุไรคนเราจึงไปสัมผัสยึดถือในมุมที่จะสร้างทุกข์ให้ตนเอง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องความคิดของตนเองล้วนๆ ไม่มีใครบังคับสั่งการได้ นี้เป็นการบ้านที่ผู้ต้องการความสุขในชีวิตควรนำไปคิด
                ในทางสังคม คนที่ได้ฝึกตนเองให้ “คิดทางบวก” จนเป็นนิสัยนั้น จะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขันไม่หงุดหงิดง่าย เป็นที่ชื่นชมของคนที่ได้คบค้าสมาคมด้วย ทำให้รู้สึกสบายใจเมื่อได้เข้าใกล้ แต่ถ้าเป็นคน “คิดทางลบ” อยู่ร่ำไป ก็จะกลายเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย ไม่มีใครอยากจะคบหาสมาคมด้วย นานวันเข้าก็อาจจะถูกทอดทิ้งให้อยู่เดียวดาย ไร้เพื่อนฝูง ต้องหงอยเหงาอยู่แต่เพียงลำพัง
                มีคำพูดว่า “คิดอย่างที่ต้องการคิด เป็นเสรีภาพอย่างเดียวของมนุษย์” หากมนุษย์ใช้เสรีภาพทางความคิดนี้ไปในทางที่ดี ประกอบด้วยปัญญา จนเป็นคุณแก่ตัวเองได้ ความสุขในชีวิตก็เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยาก

............................................

จันทร์เพ็ญ

จันทร์เพ็ญ
                งานกำกับดูแล ปกครองคน เป็นงานที่ท้าทายความรู้ความสามารถของผู้นำเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ผสมผสานกันอย่างเหมาะเจาะ จึงจะบังเกิดผลสำเร็จ เนื่องจากคนอยู่ด้วยกันทำงานร่วมกันจำนวนมาก ย่อมมีทัศนคติ อุปนิสัย และความประพฤติที่แตกต่างกัน บางคนอยู่ในระเบียบวินัย ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ เป็นที่ไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา บางคนก็ทำผิดบ้าง บางคนก็สร้างแต่ปัญหาให้หนักใจบ้าง แต่ถึงกระนั้น ผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาก็ต้องดูแลช่วยเหลือ ปกครองทุกคนที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่ของตนอยู่นั่นเอง จะเลือกติดต่อสมาคมเฉพาะผู้ที่ตนชอบ ตัดคนที่ตนเกลียดก็ไม่ได้ เพราะผู้นำต้องเป็นใหญ่ให้เต็มตามหน้าที่และใหญ่สำหรับทุกคน ถ้าจะเปรียบเทียบก็เป็นเหมือนพระจันทร์บนท้องฟ้า ธรรมดาว่าพระจันทร์ หากคิดจะส่องแสงให้ชื่นใจเฉพาะคนที่รัก สัตว์ที่ชอบ และเก็บแสงนวลให้พ้นจากสายตาของหมู่พวกที่ตนไม่ชอบเสียแล้ว พระจันทร์ดวงนั้นก็จะไม่มีโอกาสได้เป็นจันทร์เพ็ญที่สวยงามได้เลย แต่คงมีสภาพเป็นพระจันทร์ที่ถูกบดบังด้วยเมฆหมอกมลทินไร้สง่าราศี ผู้นำจึงไม่ควรตัดความสัมพันธ์กับคนในปกครองบางคนเพราะเหตุคือความไม่ชอบใจ เพียงแต่ต้องแยกแยะความสัมพันธ์และหน้าที่ให้เหมาะกับบุคคลและเหตุการณ์ อย่างน้อยที่สุดต่อบุคคล ๓ ประเภท คือ
                คนดี หมายถึง คนที่ตั้งอยู่ในสุจริต ไม่ทำผิดหรือก่อเรื่องให้หนักใจ คนประเภทนี้ต้องยกย่องส่งเสริมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป
                คนเจ็บ หมายถึง คนที่ทำผิดบ้างถูกบ้าง หรือผิดๆ ถูกๆ ดีชั่วปะปนกันไป ประเภทนี้ต้องคอยเอาใจใส่ประคับประครอง ชักนำให้ไปสู่ความถูกต้องดีงาม ไม่ปล่อยปละละเลย
                คนตาย หมายถึง คนที่ทำผิดจังๆ ไม่มีทางที่จะว่าเป็นอย่างอื่นได้ ก็ต้องจัดการไปตามระเบียบ ไม่ปล่อยไว้จนกระทบกระเทือนถึงคนดี หรือทำให้คนเจ็บทำตาม เพราะจะเป็นผลเสียแก่ส่วนรวมได้
                หากทำได้อย่างนี้ จะชื่อว่าไม่เพียงทำหน้าที่ต่อคนทุกคนอย่างทั่วหน้าเท่านั้น แต่ยังทำได้อย่างดีมีคุณภาพเหมือนจันทร์เพ็ญยามไร้เมฆหมอก ย่อมส่องได้ทั่วถึง ส่องได้กระจ่าง สร้างความเย็นตาเย็นใจต่อผู้พบเห็นยิ่งนัก

............................................

พินาศเพราะกิเลส

พินาศเพราะกิเลส
                มีเรื่องเล่าว่า ชายสองคนเป็นสหายกัน พากันไปบวงสรวงเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏว่าเทพเจ้าพอใจอนุญาตให้เขาทั้งสองขอสิ่งที่ปรารถนาได้โดยเสรี โดยบอกว่าใครขอก่อนขอเท่าใดก็จะได้เท่านั้น ส่วนคนที่ขอภายหลังจะได้สิ่งนั้นเหมือนกัน แต่ได้มากเป็นสองเท่า สหายทั้งสองต่างดูเชิงกันอยู่พักใหญ่ เพราะเกี่ยงกันว่า คนขอก่อนจะได้เพียงส่วนเดียว ส่วนคนขอทีหลังจะได้มากถึงสองส่วน ในที่สุดคนแรกก็ตัดสินใจขอพรจากเทพเจ้าก่อน แต่แทนที่จะขอทรัพย์สินเงินทอง กลับขอให้ดวงตาของตนบอดไปข้างหนึ่ง ด้วยหวังว่าเพื่อนที่ขอที่หลังจะได้ตาบอดทั้งสองข้าง ผลก็คือตาของตัวองบอดไปข้างหนึ่งจริงๆ ส่วนคนที่สองเข้าใจว่า คนแรกจะขอทรัพย์สินเงินทองเป็นแน่ และเทพเจ้าก็คงจะประทานความร่ำรวยให้ ในเมื่อตนขอภายหลังก็จะต้องร่ำรวยกว่าคนแรกถึงสองเท่าอย่างแน่นอน คิดดังนั้น เขาจึงได้ขอพรเช่นเดียวกับที่คนแรกขอไว้ ในที่สุดดวงตาของเขาก็บอดสนิททั้งสองข้าง
                เรื่องนี้ เมื่อมองในแง่หลักธรรมพบว่า คนแรกมีจิตริษยาคนอื่น ไม่เว้นแม้กระทั่งเพื่อนรักกัน จิตประเภทนี้จะคอยคิดในทางตัดรอนหรือทำลายผลประโยชน์ของคนอื่น เห็นใครได้ดีกว่าแล้วทนไม่ได้ ส่วนคนที่สองมีลักษณะละโมบจัด เห็นแก่ได้เป็นหลัก ไม่มีความคิดเรื่องการเสียสละอยู่ในใจ เมื่อคนทั้งสองมาคบกันผลสุดท้ายก็พินาศทั้งสองฝ่าย
                พระพุทธศาสนาสอนว่า จิตที่มีลักษณะริษยาและโลภจัดนั้น เป็นเหมือนสนิมที่คอยกันกินจิตใจให้เสื่อมทราม ดุจสนิมที่กัดกินเหล็กให้ผุกร่อน คนมีปัญญาจึงหมั่นกำจัดสนิมดังกล่าวออกจากจิตใจตนเอง และวิธีที่ทำได้ง่ายๆ ก็คือ หัดชื่นชมยินดีในความสำเร็จของผู้อื่นและเสียสละประโยชน์ส่วนตนดูบ้าง หากทำได้ นอกจากจะป้องกันมิให้ความพินาศเกิดขึ้นได้แล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมให้จิตใจเยือกเย็นอิ่มเอิบ มีความสุขอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนด้วย

............................................