วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

นึกไม่ถึง

นึกไม่ถึง
                ผู้ที่ติดตามข่าวสารหรืออ่านหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ นอกจากจะทำให้เป็นคนทันโลกทันเหตุการณ์แล้ว ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาไปพร้อมกัน ก็จะได้แง่คิดทางธรรมะไปด้วย เพราะข่าววันเดียวกัน จะมีทั้งข่าวของผู้ที่ประสบความสุข สมหวัง ปีติโสมนัส และข่าวของผู้ประสบความทุกข์ เศร้าโศก หรือความสูญเสียจากเหตุการณ์ต่างๆ
                การอ่านข่าวแล้วนำมาเป็นข้อคิดเตือนใจ เป็นสิ่งสำคัญและได้ประโยชน์ยิ่ง แต่หลายคนไม่ชอบหรือไม่ฝึกคิดในเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความสูญเสีย เพราะเห็นว่าความสูญเสียเป็นเรื่องน่ากลัว ไม่เป็นที่รื่นเริงบันเทิงใจ เช่น คิดถึงความเจ็บป่วยก็จะเป็นการแช่งตัวเอง คิดถึงความตายก็จะไม่เป็นมงคลแก่ตัว เป็นต้น จึงทำให้ขาดการเตรียมตัวเตรียมใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เป็นทุกข์ จึงมักทำใจไม่ค่อยได้ และทำให้เกิดคำพูดที่มักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ คือ นึกไม่ถึงเลยว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ แต่หากได้นำเหตุการณ์เรื่องราวที่รับทราบมาพิจารณาด้วยปัญญาก็จะเป็นคติเตือนใจให้ไม่ประมาทและรู้เท่าทัน สามารถปฏิบัติและวางท่าทีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดได้
                เหตุการณ์ดีร้ายที่เกิดกับคนทั้งหลายดังที่เป็นข่าว ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดซ้ำๆ เดิมๆ ไม่แปลกประหลาด ไม่อัศจรรย์ เพราะเป็นเรื่องที่คิดได้ นึกได้อยู่โดยปกติ แต่ถ้าจะให้ได้ประโยชน์ นอกจากนึกได้จะต้องนึกให้ถึงด้วย คือนึกให้ถึงตัวเอง เปรียบเทียบกับตัวเอง ให้เกิดคติเตือนใจและตั้งอยู่ในความไม่ประมาทหากทำได้ เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ก็จะมั่นคงเยือกเย็น ไม่ลิงโลดลืมตัวหรือทุกข์ระทมหม่นไหม้เพราะเหตุแห่งการ “นึกไม่ถึง” นั่นเอง

............................................

เพียงผู้โดยสาร

เพียงผู้โดยสาร
                ผู้ที่เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง จำต้องจองตั๋วโดยสาร เมื่อได้รับแล้วมักเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของที่นั่งตามหมายเลขในตั๋ว หากมีใครมานั่งแทนที่ เราจะอ้างกรรมสิทธิ์ว่าที่นั่งตรงนั้นเป็นของเรา ขณะที่ใช้บริการอยู่ เมื่อยังไม่ถึงที่หมาย ก็เข้าใจว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอยู่ตราบนั้น แต่พอถึงที่หมายปลายทางก็จะลงจากพาหนะที่โดยสารนั้นไปโดยไม่มีความอาลัย ประหนึ่งรู้ว่ากรรมสิทธิ์ของเรามีเพียงเท่านี้เอง ปล่อยให้ที่นั่งเป็นของคนอื่นต่อไป
                หากเปรียบชีวิตเป็นการเดินทาง ทรัพย์สินเงินทอง ตลอดทั้งตำแหน่งหน้าที่ ก็เปรียบเหมือนอุปกรณ์สำหรับโดยสาร ในฐานะที่เป็นเครื่องช่วยให้ดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ได้ง่ายขึ้น แต่ข้อเท็จจริงมักเกิดปัญหาขึ้น ๒ อย่างคือ
                ๑.ละเลย คือ ไม่ใช้อุปกรณ์โดยสารนั้นให้เกิดประโยชน์ เช่น มีทรัพย์ก็ไม่ใช้ทรัพย์นั้นให้เกิดสาระแก่ชีวิต มียศมีอำนาจก็ปล่อยให้โอกาสที่จะสร้างคุณประโยชน์หลุดลอยไป เป็นต้น
                ๒.ยึดติด ได้แก่ ลุ่มหลงหมกมุ่นจนเกินพอดี เมื่อจะได้ บางครั้งก็ไม่คำนึงถึงถูกผิดและความเหมาะสม เมื่อจะเสียก็กลัดกลุ้มฟูมฟายจนมีแต่ทุกข์ เต็มไปด้วยความหวงแหนยึดมั่นประการหนึ่งว่าแม้ตายก็จะเอาติดตัวไปด้วยได้
                เมื่อจะเดินทางไปที่ใดก็ตาม รถยนต์ที่โดยสารไป เป็นเพียงอุปกรณ์ช่วยในการไป ไม่ใช่เป้าหมายที่จะไป ในข้อเท็จจริง เมื่อต้องลงจากรถโดยสาร จึงไม่มีใครอาลัยอาวรณ์ หวงแหนยึดมั่นกับรถคันนั้นอีก ทรัพย์สมบัติและลาภยศก็เช่นกัน คือ เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย จึงต้องวางท่าทีในลักษณะที่ว่า ใช้ให้เกิดประโยชน์เมื่อได้และไม่ทุกข์ใจเมื่อเสีย
                ทำได้อย่างนี้ การเดินทางของเราจึงจะไม่เป็นทุกข์โดยที่ไม่ควรจะเป็น และจะถึงจุดหมายปลายทางด้วยความสะดวกปลอดโปร่งใจ

............................................

งูพิษหรือจะเท่าคนพาล

งูพิษหรือจะเท่าคนพาล
                งูมีหลายชนิด ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ ใครพบเห็นเข้ามักสะดุ้งหวาดกลัวทุกครั้ง และแม้เป็นชนิดที่มีพิษร้ายแรง แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่างูจะเกะกะระรานไล่ขบกัดทำร้ายคน นอกจากรู้ว่าภัยจะมาถึงจึงป้องกันตัวเองเท่านั้น ต่างกับคน ที่เรียกว่าคนพาล ซึ่งมีลักษณะ ๕ ประการคือ
                ๑.ชักนำไปในทางที่ผิด
                ๒.ทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่
                ๓.เห็นผิดเป็นถูก
                ๔.พูดดีๆ ก็โกรธ
                ๕.ไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัย
                เป็นบุคคลที่น่ากลัวกว่า ในอรรถกถามงคลสูตร ได้วิเคราะห์พฤติกรราของคนพาลไว้ว่า เมื่อจะพูดก็มักพูดเท็จ พูดส่อเสียดยุยง พูดหยาบ และพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ เมื่อจะทำอะไรก็มักจะไปเบียดเบียนผู้อื่นทางชีวิตร่างกายบ้างทางทรัพย์สินบ้าง ประพฤติผิดทางเพศบ้าง แม้เมื่อจะคิดก็ยังคิดด้วยความโลภเห็นแก่ตัวบ้าง คิดขุ่นเคืองพยาบาทบ้าง หรือคิดแบบดึงดันไม่ยอมรับเหตุผลบ้าง ทำให้เห็นว่าคนพาลนี้มีพิษรอบตัวทีเดียว
                การไม่เข้าใกล้หรือไม่อยู่ร่วมกับงูพิษนั้นง่าย แต่คนพาลนั้นแม้ไม่ต้องการอยู่ใกล้หรือสมาคมด้วยบางทีก็ทำได้ยาก จำเป็นต้องมีเกราะป้องกันตัวเอง คือใช้ความระมัดระวังสังเกตทั้งลักษณะและพฤติกรรมไว้ให้ดีและไม่เผลอตัวไปเห็นดีเห็นงามด้วย เปรียบเหมือนมีงูพิษเข้ามาหลบซ่อนอยู่ในบ้าน เจ้าของบ้านต้องระมัดระวังในทุกอิริยาบถ จึงจะปลอดภัย ดังกลอนที่ว่า
                                อยู่คนเดียวต้องระวังยั้งความคิด       อยู่ร่วมมิตรต้องระวังยั้งคำขาน
                                อยู่รวมราชต้องคอยตั้งระวังการณ์   อยู่ร่วมพาลต้องระวังทุกอย่างเอย

............................................

สาระจากงานศพ

สาระจากงานศพ
                ทุกคนคงเคยไปงานศพกันมาแล้ว และถ้าไม่ใช่ศพของญาติผู้ใหญ่หรือคนสำคัญในครอบครัว ความรู้สึกที่ไปก็คงไม่มีอะไรพิเศษนัก คือสามารถพูดได้รวมๆ ว่า ไปเพื่อปฏิบัติภารกิจทางสังคมอย่างหนึ่ง ถ้าประโยชน์ของการไปงานศพได้รับเพียงการไปออกงานสังคม ก็นับว่าเสียดาย เพราะเป็นการสูญเสียโอกาสของการศึกษาที่สำคัญ
                หลักความจริงมีอยู่ว่า ทุกคนต้องตาย แต่ในระหว่างที่ยังไม่ตายนี้ บางทีก็ลืมตัว ใช้ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับกิเลส หลงโกรธแค้นอาฆาตคนอื่นจนชีวิตไม่มีความสุขบ้าง โลภโมโทสัน เอาเปรียบคนอื่นไม่เลือกถูกผิดบ้าง หรืออย่างธรรมดาที่สุดก็ปล่อยตัวปล่อยใจไปวันๆ ให้ชีวิตสูญเปล่าบ้าง แต่ถ้านึกถึงความตายและมองเห็นสัจธรรมของชีวิตได้ ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาล เพราะจะทำให้รู้จักตัวเองดีขึ้น ในที่สุดจะขวนขวายปรับปรุงตนเองในทุกทาง ไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ได้ เหมือนคนที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ไฟดับลงโดยเร็วที่สุด
                ดังนั้น การไปงานศพจึงไม่ควรไปเพียงเพราะเป็นญาติกัน เป็นเพื่อนกันหรือเป็นผู้เคารพนับถือกันเท่านั้น แต่ควรไปเพื่อศึกษาของจริงให้รู้ว่านี่แหละชีวิต นี่แหละคนเรา สุดท้ายก็ต้องจบลงที่นี่ เวลาของคนตายหมดลงแล้ว เวลาของตัวเราเหลืออีกเท่าใด และจะทำอย่างไรกับชีวิตในเวลาที่เหลืออยู่ จึงจะดีที่สุดสำหรับตัวเอง เพียงแค่ระลึกได้อย่างนี้ การไปงานศพทุกครั้งก็จะมีคุณค่ามหาศาล

............................................