วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วันคืนล่วงไป

วันคืนล่วงไป
                เวลามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสรรพสิ่ง เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เวลามีความสำคัญที่พอจะกล่าวได้โดยสรุป คือ
                ๑.เวลามีค่า เพราะเป็นต้นทุนของทุกอย่าง จะทำมาหากิน จะเล่าเรียนศึกษา หรือแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ จำเป็นต้องมีเวลาเสียก่อน จึงจะทำได้ ถ้าเวลาหมดไปแล้วโอกาสก็สิ้นไปด้วย
                ๒.เวลายุติธรรม หนึ่งนาทีของเศรษฐีร้อยล้าน ก็เท่ากันกับหนึ่งนาทีของคนถีบสามล้อ ไม่มีใครร้องขอหรือใช้อำนาจบังคับให้เวลาเปลี่ยนไปจากที่มันเป็นได้
                ๓.เวลาศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนคนจนให้เป็นคนรวย เปลี่ยนคนรวยให้เป็นคนจน และเปลี่ยนชีวิตของคนให้เป็นไปต่างๆ อีกมาก ชนิดที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของใครก็ตาม ถ้ามีอยู่ ก็ไม่สามารถจะแสดงปาฏิหาริย์ได้ขนาดนั้น
                พระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า กาลเวลาย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ลำดับแห่งวัยย่อมล่วงเลยไป ผู้เล็งเห็นภัยในมรณะ พึงทำบุญอันสุขมาให้ และยังได้สอนย้ำไว้อีกว่า อย่าหวนละห้อยถึงอดีตและอย่าพะวงถึงอนาคตจนเกินควร เพราะอดีตได้ผ่านพ้นไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง อะไรที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็ทำความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ให้ชัดเจน ไม่หวั่นไหว ไม่วุ่นวาย สิ่งที่จะต้องทำก็ให้ทำในวันนี้แหละ เพราะไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้เราจะมีชีวิตอยู่หรือไม่
                ขณะนี้ชีวิตของทุกคนยังมีเวลาอยู่ นั่นก็เท่ากับว่าเรามีสิ่งที่มีค่า มีสิ่งที่ยุติธรรมและมีสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่กับตัว จึงควรใช้ให้คุ้มค่าที่สุด โดยเร็วที่สุด เพราะถ้าผ่านเลยไปแล้ว แม้เป็นเศรษฐีร้อยล้านก็ไม่สามารถเอาเงินร้อยล้านนั้นไปซื้อเมื่อวานนี้ให้กลับมาเป็นสมบัติของตัวเองได้อีก จึงควรพิจารณาเนืองๆ ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
............................................

อย่าดูแค่ความสำเร็จ

อย่าดูแค่ความสำเร็จ
                การแข่งขันกีฬาระดับโลกในแต่ละครั้งที่ผ่าน นักกีฬาในแต่ละประเภทกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ในระดับต่างๆ เป็นที่น่าพอใจ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ เป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องสรรเสริญจากบุคคลอื่น แต่ความสำเร็จนั้น มิใช่เกิดขึ้นได้โดยง่าย ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการ เช่น ความสามารถของนักกีฬา เทคนิคของครูผู้ฝึกสอน กำลังใจจากผู้สนับสนุนฝ่ายต่างๆ เป็นต้น ที่สำคัญที่สุด นักกีฬาเองจะต้องมีความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างเต็มที่และยาวนาน
                ในการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปก็เช่นกัน การลงมือทำอย่างจริงจังเด็ดเดียว นับเป็นการก้าวเดินที่สำคัญเพราะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำพาชีวิตให้ดำเนินไปในทิศทางที่ต้องการ และเมื่อเริ่มก้าวเดิน ต้องมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแน่วแน่และต่อเนื่อง แม้จะเหนื่อยยากและมีปัญหาอุปสรรคเพียงใดก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจเสียกลางคัน โดยยึดคำสอนที่ว่า “วา ยะ เม เถ วะ ปุริโส  เกิดเป็นคนควรพยายามเรื่อยไป” ดุจพระมหาชนกที่พยายามว่ายน้ำแม้จะไม่เห็นฝั่ง เพราะคิดว่าจะประพฤติธรรมคือความเพียร แม้ไม่สำเร็จ บัณฑิตก็ติเตียนไม่ได้
                ถ้าจะเอาผู้อื่นเป็นตัวอย่าง การสนใจต่อความสำเร็จของเขาเป็นความสนใจแค่ปลายเหตุ แต่การสอนใจเบื้องหลังความสำเร็จของเขาเป็นความสนใจที่เข้าถึงเนื้อแท้ เพราะจะเห็นความสำคัญของการลงมือทำ การฝึกฝน เหนื่อยยากและอดทนอย่างยาวนานว่าเป็นหนทางเดียวที่ผู้ประสบความสำเร็จคนแล้วคนเล่าใช้เดินซ้ำๆ กันอยู่ และหนทางนี้ไม่เคยมีลิขสิทธิ์ ไม่มีใครเป็นเจ้าของผูกขาด
                และแน่นอนว่า ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่สามารถเดินบนหนทางนั้นและไปสู่เส้นชัยได้

............................................

ความเห็นไม่ตรงกัน

ความเห็นไม่ตรงกัน
                ธรรมชาติของมนุษย์ เมื่ออยู่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกัน ย่อมมีการถกเถียงโต้แย้งกันเป็นธรรมดา ประโยชน์ของการถกเถียงโต้แย้งก็คือ ทำให้มีโอกาสฉุกคิดและทบทวนให้รอบคอบยิ่งขึ้น ที่สำคัญไม่กระทำเพื่อเอาชนะคะคานกัน เพราะจะทำให้เสียเวลาและเสียมิตรภาพไปเปล่าๆ ดังนั้น เมื่อมีการโต้แย้งกันครั้งใด จึงควรยึดหลักสำคัญสามประการ คือ
                ๑.เป็นผู้พูดที่ดี คือแสดงความเห็นด้วยถ้อยคำสุภาพ ตรงประเด็น ถูกเรื่องถูกราว ให้ผู้ฟังกำหนดสาระและความมุ่งหมายของเรื่องที่พูดได้โดยง่าย
                ๒.เป็นผู้ฟังที่ดี คือเปิดใจกว้าง ยินดีรับฟังความเห็นที่แม้จะขัดแย้งกับความคิดของตนและอดทนต่อการล่วงเกินด้วยคำพูดของผู้อื่น
                ๓.เป็นนักศึกษาที่ดี คือการโต้แย้งนั้น ทั้งผู้พูดและผู้ฟังจะต้องมุ่งเน้นค้นหาความจริง อยากได้ความจริงของปัญหานั้นๆ ความอยากชนิดนี้มีมากเท่าใด ก็จะตัดความอยากเด่นอยากดัง อยากเอาชนะคะคานหรือความอยากชนิดอื่นๆ ที่จะมีปิดบังการแสวงหาความจริงออกไป
                เมื่อมีการโต้แย้งหรือความเห็นไม่ตรงกัน มองผิวเผินเหมือนเป็นความแตกแยก แต่มองในแง่ดีกลับเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นเอกภาพ เพราะเป็นเหตุให้แสวงหาความจริง และความจริงนั้นจะทำให้คนรวมเป็นหนึ่งได้ เหมือนคนร้อยคนไม่เคยรู้จักว่ารสเค็มเป็นอย่างไรมาก่อน ถ้าถามถึงรสเค็ม ก็คงจะได้คำตอนที่แตกต่างและสันสนอย่างยิ่ง แต่เมื่อใดให้อมเกลือคนละเม็ดแล้วบอกว่านี่คือรสเค็ม เขาจะรู้จักได้ทันที ภายหลังเมื่อได้ฟังเพียงคิดถึงรสเค็ม ความคิดของคนร้อยคนจะมุ่งไปสู่จุดเดียวกัน เข้าใจตรงกันหมดว่ารสเค็มเป็นอย่างไร ไม่ผิดเป้า ไม่แตกแยก เพราะทุกคนเข้าถึงความจริงในเรื่องนี้มาแล้ว และความจริงนั้นทำให้ความเข้าใจของเขารวมกันเป็นหนึ่งเดียว
                ความจริงเป็นสิ่งที่ตรงกันหมด แต่ความเห็นเป็นเรื่องที่แตกต่างกันได้ เมื่อมีการถกเถียงขัดแย้งกันขึ้นควรทำวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการเริ่มต้นแสวงหาความจริงเพื่อนำไปสู่เอภาพทางความคิดบนพื้นฐานของการเป็นผู้พูดที่ดี เป็นผู้ฟังที่ดี และเป็นผู้ศึกษาสนใจใคร่รู้ที่ดี หากทำได้ ความเห็นที่แตกต่างก็จะเป็นคุณประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว และจะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้เลย

............................................