วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2561

น้ำขึ้น-น้ำลง


น้ำขึ้น-น้ำลง
                   น้ำขึ้น-น้ำลง เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เกิดจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ที่กระทำต่อส่วนต่างๆ ของโลก ที่เป็นทะเลหรือมหาสมุทร เนื่องจากดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์จึงมีอิทธิพลต่อ น้ำขึ้น-น้ำลง มากกว่าดวงอาทิตย์ ในบางช่วงเมื่อดวงจันทร์โคจรรอบโลกมาอยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ แรงดึงดูดจะเสริมกัน ทำให้น้ำขึ้น-น้ำลงมีระดับสูงหรือมาก และในบางช่วงเมื่อดวงจันทร์โคจรรอบโลกมาอยู่ในแนวฉากกับดวงอาทิตย์แรงดึงดูดจะแยกกัน ทำให้น้ำขึ้น-น้ำลงมีระดับต่ำมาก
                น้ำขึ้น-น้ำลง แม้จะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่อาจเปรียบได้กับชีวิตของคนเราได้เช่นกัน กล่าวคือ ในบางช่วงของชีวิต ได้พบแต่ความสุขสบาย มีโชคลาภ มีเงินทองมากมาย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป มีคนยกย่องสรรเสริญ แต่ในบางช่วงก็พบแต่ความทุกข์ ความสับสนวุ่นวาย ความเดือดร้อนไม่สิ้นสุด เงินทองไม่พอใช้จ่าย ซ้ำยังมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ชื่อเสียงก็มัวหมอง อีกทั้งคนทั้งหลายก็คอยตำหนินินทา
                ในทางพระพุทธศาสนาได้สอนว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเหล่านั้น เป็นความจริงของโลก หรือเป็นของคู่กับโลกที่ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วต้องประสบ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องการหรือไม่ก็ตาม ไม่มีใครหนีพ้นไปได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ให้พิจารณารู้เท่าทันความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน มีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ควรมีสติสัมปชัญญะให้มั่นคง ไม่หลงระเริงหรือมัวเมา เมื่อมีโชคลาภหรือมีชื่อเสียง และไม่เสียใจ ไม่แสดงอาการหดหู่หรือทุกข์ระทม เมื่อต้องพบกับเคราะห์กรรม ให้คิดเสียว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ต่างอะไรกับน้ำที่มีขึ้นมีลง หากพิจารณาได้เช่นนี้ก็จะทำให้พบกับความสบายใจ ไม่เดือดร้อนใจ ทุกข์ใจ แม้สิ่งที่เกิดขึ้นแก่ตนหรือที่ตนพบเจอนั้น จะไม่น่าปรารถนาเลยก็ตาม
............................................

รอยร้าวทั้งห้า


 รอยร้าวทั้งห้า
                อาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย แม้จะก่อสร้างอย่างมั่นคงดีเลิศเพียงใด หากพื้นซึ่งเป็นที่รองรับไม่แข็งแรงดีพอก็จะทรุดตัว แตกร้าว และพังทลายลงได้ ฉันใด ชีวิตของคนก็เช่นกัน คือถ้าพื้นไม่ดีเสียอย่างเดียว ก็จะล่มสลายได้ในที่สุด และวิธีดูความมั่นคงของพื้นท่านให้สังเกตที่รอยร้าว เช่นถ้าเห็นตึกหลังใดมีรอยร้าวปรากฏก็สันนิษฐานได้ว่า ฐานหรือพื้นของตึกหลังนั้นไม่ดี ในส่วนของคนในทางพุทธศาสนาให้ดูรอยร้าวได้ที่พฤติกรรม ๕ อย่างที่เปรียบได้ดั่งศีล ๕ ดังต่อไปนี้
                ๑.โหดร้าย ฆ่าหรือเบียดเบียนผู้อื่นในทางชีวิตและร่างกาย
                ๒.มือไว ลักขโมยหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
                ๓.ใจเร็ว ประพฤติผิดประเวณี ขาดการยับยั้งชั่งใจ
                ๔.ขี้ปด ละทิ้งความสัตย์ความจริง ใช้ความเท็จเอาตัวรอดหรือแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการพูดเท็จ
                ๕.ไม่มีสติ เสพสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติด จนเกิดบกพร่องทางสติปัญญา จนขาดการยับยั้ง
                ผู้ใดมีพฤติกรรมห้าอย่างนี้ปรากฏออกมา แสดงว่าพื้นชีวิตของผู้นั้นมีความเสียหาย ถ้าเป็นอาคารก็เริ่มมีรอยร้าวปรากฏ หากรอยร้าวนั้นใหญ่ขึ้น เพิ่มจำนวนมากขึ้น อาคารนั้นก็จะพังถล่มลงในที่สุด แต่ตึกร้าวก็ยังไม่น่ากลัวเท่าคนร้าว เพราะคนร้าวสร้างความเสียหายได้ลึกและกว้างไกลกว่ามาก ปัญหาอาชญากรรม และความเดือดร้อนวุ่นวายในทุกวันนี้ก็พอเป็นเครื่องยืนยันได้ ศีล ๕ จึงเป็นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่สำคัญในทุกๆ ที่  ชีวิตตั้งอยู่บนฐานคือ ศีล ๕ จะมั่นคง ไม่แตกร้าวพังทลายอย่างแน่นอน
............................................

ฟังแล้วไม่โกรธ


 ฟังแล้วไม่โกรธ
                คำพูดสร้างความสุขและทุกข์ให้คนได้ง่ายที่สุด ในสุตตันตปิฎก คัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จึงสอนวิธีฟังคำพูดของผู้อื่นเพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ไว้ว่า ถ้อยคำที่ผู้อื่นจะพูดกับเรานั้นมีห้าลักษณะคือ
                ๑.พูดได้ถูกกาลเวลาบ้าง ไม่ถูกกาลเวลาบ้าง
                ๒.พูดเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง
                ๓.พูดคำอ่อนหวานบ้าง คำหยาบคายบ้าง
                ๔.พูดเรื่องมีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง
                ๕.พูดด้วยเมตตาบ้าง พูดด้วยโทสะบ้าง
                เมื่อเขากล่าวถ้อยคำเหล่านี้อยู่ พึงตั้งใจให้มั่นว่า จิตของเราจะไม่แปรปรวน จะไม่เปล่งวาจาหยาบคาย โต้ตอบ เราจะเกื้อกูลแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เขาเท่าที่ทำได้ จะมีเมตตาต่อเขา ไม่โกรธตอบ เราจะปรารถนาให้เขามีความสุข ไม่มีเวร ไม่พยาบาทต่อเขาเลย
                เพราะเราบังคับคนทั้งโลกให้พูดตามที่เราต้องไม่ได้ จึงต้องบังคับตัวเองให้เข้มแข็งแทนด้วยการปฏิบัติตามคำสอนข้างต้น จิตใจที่เข้มแข็งและมีเมตตาจะทำให้บรรเทาความโกรธเสียได้ ทำให้ชีวิตเป็นสุขขึ้นดังคำประพันธ์ที่ว่า
                                                ฆ่าความโกรธได้ก็หายทุกข์               เกษมสุขเสพสันต์และหรรษา
                                ไร้ธุลีกลุ้มรุมสุมอุรา                                           ดั่งจันทราเมฆหมดไม่บดบัง
                                ไม่ฆ่าโกรธให้ตายไม่คลายทุกข์                        จะหมายสุขเสพสันต์นั้นอย่างหวัง
                                เหมือนเมฆหมอกราคีมีพลัง                             เข้าบดบังเปื้อนปะศศิธร
............................................

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

อภัยทาน


 อภัยทาน
                “อภัยทาน” ตามรูปศัพท์แปลว่า ให้ความไม่มีภัย หมายถึงการให้ทานด้วยการยกโทษให้อภัยทานนี้มีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้อกับชีวิตจริงของทุกคน เนื่องจากเมื่อมีการอยู่ร่วมกัน ปฏิบัติงานร่วมกัน ย่อมมีโอกาสขัดใจและขุ่นเคืองกันบ้างเป็นธรรมดา หากให้อภัยไม่ได้ก็จะทำให้จิตใจเร่าร้อน ขุ่นมัวไม่เป็นสุข อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและแตกสามัคคีกันในที่สุด
                การจะให้อภัยผู้อื่นได้ เบื้องต้น จะต้องคิดว่าทุกคนย่อมผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น แม้การกระทำของเขาจะเป็นการจงใจหรือไม่ก็ตาม แต่ความจงใจนั้นก็คือความผิดพลาดในลักษณะหนึ่งที่เรียกว่าหลงผิด ถึงตัวเราเองก็จะต้องเคยทำผิดและได้รับอภัยจากผู้อื่นมาแล้วเช่นกัน คิดได้เช่นนี้ก็จะให้อภัยกันได้ง่ายขึ้น
                มีพุทธภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ผู้ใดคอยผูกความโกรธไว้ว่า คนนี้ด่าเรา คนนี้ทำร้ายเรา คนนี้เอาชนะเรา คนนี้ลักขโมยทรัพย์สินของเรา เวรของผู้นั้นย่อมไม่สงบลงได้” และเมื่อเวรไม่สงบ ย่อมจะทำลายล้างกันนำไปสู่การจองเวรกันเป็นทอดๆ ไม่มีสิ้นสุด ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ฝ่ายใดเลย
                ที่สำคัญ เวรของผู้ใดไม่ระงับ เจ้าของเวรนั้นจะถูกเผาผลาญก่อน เขาจะรุ่มร้อน คั่งแค้น เป็นทุกข์ด้วยเวรที่ตนเองผูกไว้นั่นแหละ ทุกคนจึงควรรู้จักให้อภัย เพราะคำว่าอภัยทานนี้ แม้โดยชื่อจะแปลว่าการให้แต่ทันทีที่ให้ ก็จะกลับเป็นการได้ขึ้นมาทันที แรกสุดก็จะได้จิตใจที่เป็นสุขกลับคืนมาอย่างแน่นอน
............................................

เพื่อนแท้



                ในชีวิตของเรานี้ ยกเว้นบิดามารดา ครอบครัว และญาติพี่น้องเสียแล้ว เพื่อนเป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรามากที่สุด การจะคบใครเป็นเพื่อน โดยทั่วไปก็ขึ้นอยู่กับความพอใจ ถูกใจ คนที่เสียคนเพราะเพื่อนก็มี ที่ได้ดีเพราะเพื่อนก็มาก การคบเพื่อนจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้ดี
                พระพุทธศาสนา แสดงเพื่อแท้ไว้ สี่ประการคือ
                ๑.เพื่อนมีอุปการะ คือเพื่อนที่ช่วยปกป้องเพื่อน ปกป้องทรัพย์ของเพื่อน เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งอาศัยได้และเมื่อมีความจำเป็นก็ช่วยเหลือเงินทองมากกว่าที่ออกปาก
                ๒.เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ คือเพื่อนที่เปิดเผยความลับกับเพื่อได้ เก็บความลับของเพื่อนไว้ได้ ไม่ทิ้งกันเมื่อเกิดอันตราย และถึงที่สุดก็สามารถตายแทนได้
                ๓.เพื่อนแนะประโยชน์ คือเพื่อนที่คอยห้ามเมื่อทำชั่ว สนับสนุนเมื่อทำดี ผลักดันให้แสวงหาความรู้ที่ก้าวหน้าขึ้นไป และแนะนำทางแห่งความสุขให้
                ๔.เพื่อนมีน้ำใจ คือเมื่อเราเดือดร้อนเพื่อนก็เดือดร้อนด้วย เมื่อมีสุขก็ดีใจด้วย เมื่อเขาตำหนิเพื่อนก็ช่วยชี้แจงแก้ไข เมื่อเขาสรรเสริญเพื่อนก็สนับสนุน
                ทุกคนย่อมมีความมุ่งหวังเฉพาะหน้าเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือจะทำอย่างไรชีวิตของตัวเองจึงจะมีความสุข และแก้ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้ ความมุ่งหวังนี้ทำให้คนส่วนหนึ่งสนใจแต่เรื่องของตัวเองถึงจะสนใจผู้อื่นอยู่บ้างก็สนใจในฐานะเป็นคู่แข่งที่ต้องช่วงชิงความได้เปรียบ แต่เพื่อนแท้จะไม่คิดอย่างนั้น เขาจะมีความจริงใจต่อเพื่อน เสียสละ ให้เพื่อนได้ ความเป็นเพื่อนแท้จึงเป็นสิ่งประเสริฐ นอกจากมีคุณค่าควรแก่การแสวงหาแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ควรมอบให้กับผู้อื่นอีกด้วย
............................................

การทำความเคารพ



                การทำความเคารพ เป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจริญแก่หมู่คณะ ในทางทหารถึงกับกำหนดให้เป็นวินัยที่ต้องปฏิบัติ แต่การทำความเคารพเหตุผลว่าเป็นข้อกำหนด แม้จะเกิดผลดี แต่ก็ยังไม่ดีที่สุด ความเคารพที่ดีที่สุดต้องเป็นความเคารพที่ออกจากจิตใจ ได้แก่จิตใจที่มองเห็นความดีของผู้อื่นในด้านชาติวุฒิ คุณวุฒิ วัยวุฒิ และจิตใจเช่นนั้นก็กระตุ้นให้แสดงออกในรูปของการทำความเคารพ ในทางพุทธศาสนาได้กล่าวถึงความเคารพชนิดนี้ ว่าจะเป็นเครื่องมือกำจัดกิเลส ๔ ประการ คือ
                ๑. มักขะ ลบหลู่ความดีของผู้อื่น ทั้งๆ ที่ผู้อื่นมีความดี ก็มองไม่เห็นว่าจะดีอย่างไร เห็นไปว่าเป็นการยกย่องกันไปเอง เป็นเรื่องของค่านิยม หาสาระอะไรไม่ได้
                ๒. ปลาสะ ตีเสมอผู้อื่น คือแม้จะยอมรับว่าผู้อื่นมีดีจริง แต่ก็ยกตัวขึ้นเทียบว่ามีดีเท่ากับ ไม่เห็นมีอะไรแตกต่าง ทั้งที่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
                ๓. ถัมภะ หัวดื้อ ไม่ฟังเหตุผลของใคร จนก่อความยุ่งยากวุ่นวายอยู่เนืองๆ
                ๔. อติมานะ ดูหมิ่นผู้อื่น เห็นว่าผู้อื่นเลวกว่าตนไปเสียหมด
                ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นกิเลสที่มีผลต่อบุคลิกภาพโดยตรง ทำให้เป็นที่รังเกียจระอาของผู้อื่น ทั้งตนเองก็ต้องคลาดจากความดีที่ควรจะได้ เพราะเป็นการตัดหนทางแห่งการพัฒนาศักยภาพและความคิดอ่านที่สูงขึ้นไปถึงจะมีความรู้ความสามารถเป็นทุนเดิมอยู่บ้าง แต่ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต
                เพียงยกมือขึ้นทำความเคารพครั้งหนึ่ง แล้วเอามือลง ง่ายและสั้นจนแทบเรียกไม่ได้ว่าเป็นการลงทุนแต่ผลที่ได้นั้นมหาศาล เพราะเป็นที่มาของความนิยมศรัทธาจากผู้อื่นว่าเป็นผู้มีวินัย มีวัฒนธรรม รู้จักที่ต่ำที่สูง น่าคบหา ยิ่งเป็นการทำความเคารพที่ออกจากใจด้วยแล้ว ก็เท่ากับเป็นการยกระดับชีวิตจิตใจของตนเองให้สูงขึ้นในทุกขณะที่ทำนั่นเอง
............................................

วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เกณฑ์ตัดสินความดี



                ปัจจุบัน โลกแห่งข้อมูลข่าวสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมวัฒนธรรม และความประพฤติของคนอย่างมาก จนบางครั้ง เรื่องที่เคยถือกันว่าผิด น่ารังเกียจละอายก็กลายเป็นเรื่องปกติไป และเมื่อเป็นเรื่องปกติธรรมดาก็ทำให้ยอมรับกันมากขึ้นจนกลายเป็นสิ่งถูกต้องไปก็มี ยิ่งผนวกเข้ากับกระแสแห่งธุรกิจและการตลาดชนิดที่ขาดศีลธรรม ซึ่งอุดมไปด้วยวิธีการและชั้นเชิงที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ตนด้วยแล้ว ผู้ที่อ่อนด้อยก็อาจตกเป็นเหยื่อได้ง่าย อย่างน้อยก็ถูกครอบงำทางปัญญาจนไม่แน่ใจว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรสำควรอะไรไม่สมควร ในกาลามสูตร มีเกณฑ์ตัดสินว่าเรื่องใดดีหรือชั่ว ด้วยการให้ตั้งคำถามต่อเรื่องนั้นๆ ขึ้นว่า
                ๑.อกุสลา เป็นอกุศลหรือไม่ คือบั่นทอนความดี ปิดกั้นสติปัญญาหรือไม่ ทำอย่างนั้นเชื่ออย่างนั้นแล้ว เป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจให้สูงขึ้น หรือกดตัวเองให้ต่ำลง
                ๒.สาวัชชา มีโทษหรือไม่ ทั้งโทษทางสุขภาพร่างกาย โทษทางกฎหมาย และโทษทางสังคม
                ๓.วิญญุครหิตา บัณฑิตติเตียนหรือไม่ เพราะสิ่งใดที่ผู้มีความรู้และมีความประพฤติดีตำหนิติเตียนสิ่งนั้นย่อมเป็นเรื่องดีไปไม่ได้แน่
                ๔.ทุกขายะ สังวัตตันติ เมื่อประพฤติบ่อยๆ จะก่อความทุกข์หรือไม่ เพราะความชั่วบางอย่างต่อเมื่อติดพันหมกมุ่นมากเข้าจึงเกิดโทษมหันต์ การจะตัดสินว่าอะไรดีหรือชั่วจึงต้องเล็งผลในอนาคตด้วย
                สิ่งที่มาพร้อมกับความเจริญของโลกย่อมมีทั้งชั่ว ทั้งดี และทั้งชั่วที่แฝงมาในรูปของดี แต่ไม่ว่าจะแฝงมาลึกซึ้งแนบเนียนแค่ไหน เกณฑ์ตัดสินทั้งสี่ข้อนี้ จะเป็นเครื่องวินิจฉัยเหมาะที่จะเป็นคู่มือสำหรับใช้ในชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี หากฉุกคิดและพิจารณาตาม
............................................

สำรวจด้วยปฏิทิน


 สำรวจด้วยปฏิทิน
                การสำรวจพฤติกรรมเพื่อปรับปรุงแก้ไขตนเอง เป็นเรื่องที่ยอมรับกันว่ามีความจำเป็น และการสำรวจตนเองนั้น นอกจากต้องมีความซื่อสัตย์จริงใจเป็นสำคัญแล้ว ยังต้องอาศัยข้อมูลเชิงสถิติเพื่อให้ทราบผลที่ชัดเจนอีกด้วย เครื่องมือที่จะใช้อ้างอิงและเตือนความจำที่หาได้ง่ายและราคาถูกที่สุดก็คือปฏิทินที่ทุกคนมีอยู่แล้วนั่นเอง
                วิธีปฏิบัติก็คือ วันไหนที่ทำความดี ได้สร้างประโยชน์หรือจิตใจเป็นกุศล ก็ใช้ปากกาสีแดงทำเครื่องหมายไว้ หากวันไหนทำผิดทำพลาด ประพฤติเสียหายหรือจิตใจขุ่นมัว ก็ใช้ปากกาสีดำทำเครื่องหมายไว้ เมื่อครบหนึ่งเดือน หรือหนึ่งปี ก็เอาข้อมูลมาประมวลให้เป็นผลลัพธ์ที่ได้ โดยอาจจัดเป็นระดับ หรือวัดความก้าวหน้าของชีวิตได้ดังนี้
                                หากชั่วไม่มี ดีปรากฏ ถือว่าชีวิตยกระดับ จัดว่าก้าวหน้า
                                หากชั่วไม่มี ดีไม่ปรากฏ ถือว่าชีวิตคงระดับ จัดว่าหยุดนิ่ง
                                หากชั่วมากมี ดีไม่ปรากฏ ถือว่าชีวิตตกระดับ จัดว่าถอยหลัง
                ผลที่ได้รับจากการประเมินดังกล่าว เป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา ทำให้เกิดความสนใจและมีผลต่อความรู้สึกมากกว่าใช้จินตนาการ และกระตุ้นให้เกิดความคิดทุกครั้งที่เหลือบไปเห็น เข้าหลักของการเตือนตนเองที่นักปราชญ์ทั้งหลายล้วนกล่าวสรรเสริญทั้งสิ้น

............................................

งานสาร้างสุข



                การทำงานเป็นเรื่องที่คู่กับชีวิตมนุษย์ และแม้งานจะมีมากมายหลายประเภท แต่ก็มีลักษณะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ถ้าเป็นงานสุจริต จะมีความสุขแฝงอยู่ในงานนั้นเสมอ ความสุขดังกล่าวให้ผลเป็นสองขณะคือ
                ๑.ขณะทำสำเร็จ คือเพียงลงมือทำ หรือทำเสร็จ ความสุขก็เกิดได้ทันที เช่น อาจมีบางครั้งที่เรามีความสุขใจ ภูมิใจ เมื่อได้ลุกขึ้นยืน สละที่นั่งบนรถโดยสารให้กับผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงงานที่มีความสำคัญมากกว่านี้ ใช้ความพยายามมากกว่านี้ และเกิดประโยชน์มากกว่านี้
                ๒.ขณะได้ผลตอบแทน งานส่วนใหญ่จะมีสิ่งตอบแทนเป็นรางวัล ในรูปของค่าจ้าง เงินเดือน หรือผลประโยชน์อื่นๆ อย่างน้อยก็ได้รับการชมเชยหรือความนิยมนับถือ เมื่อผลตอบแทนเช่นนี้เกิดขึ้น ก็ทำให้เจ้าของงานเป็นสุข
                สรุปว่า การทำงานก็คือการลงมือสร้างความสุขให้กับตนเองนั่นเอง แต่ถ้าหวังความสุขเฉพาะขณะที่สอง คือ มุ่งผลตอบแทนอย่างเดียว ก็จะต้องรอจนกว่าจะได้รับผลนั้น เช่นรอจนถึงวันเงินเดือนออกซึ่งมีอยู่เพียงวันเดียว หรือรอจนกว่าจะมีผู้พบเห็นแล้วยกย่องชมเชย ก็ยิ่งเลื่อนลอยหนักเข้าไปอีก ข้อสำคัญถ้าผลตอบแทนไม่เป็นตามที่มุ่งหวัง งานก็จะเป็นแหล่งรวมของความทุกข์ แต่ถ้าทำงานเพื่อมุ่งหวังความสุขขณะที่หนึ่ง คือเมื่อได้ทำงานสำเร็จ ได้สร้างคุณประโยชน์ให้เกิด ก็ภูมิใจในความเป็นคนมีค่าของตนเอง ปลื้มใจเมื่องานนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ก็จะมีความสุขใจไปพร้อมกับการทำงานนั้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า งานนั้นทำให้เกิดความสุข
                คนหนึ่ง มีอาชีพกวาดถนน ขนขยะ ซึ่งเป็นงานไร้ชื่อเสียง ค่าตอบแทนต่ำ แต่ก็ยังมีอุตสาหะทำงานเลี้ยงชีพอย่างเป็นสุข อีกคนหนึ่งมีการงานที่มั่นคง มีเกียรติ และค่าตอบแทนสูงกว่า แต่ไม่อาจหาความสุขจากการทำงานได้ สาเหตุสำคัญ ก็เพราะมุ่งเสวยผลของความสุขที่แตกต่างกันนั่นเอง
............................................

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2561

ความหนักแน่น


 ความหนักแน่น
                ถ้าจะถามว่า อะไรที่ทำให้มนุษย์ในโลกนี้เกิดความหวั่นไหว คำตอบคงไม่พ้นเรื่องใหญ่ๆ ๘ เรื่อง คือได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ได้รับการสรรเสริญ ถูกนินทา มีความสุข และประสบกับความทุกข์ที่รวมเรียกว่าโลกธรรม แปลว่าเรื่องประจำโลก ที่ผู้มีชีวิตอยู่ในโลกต้องประสบ เหมือนเมื่อไปทะเลก็ต้องพบเห็นคลื่น เข้าป่าก็ต้องเจอต้นไม้
                โลกธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ เมื่อประสบกับฝ่ายที่น่าปรารถนา มีได้ลาภ ได้ยศ เป็นต้น จะเกิดความหวั่นไหวในลักษณะหลงระเริง มัวเมาและยึดติด กระทั่งกลายเป็นความประมาท เมื่อประสบกับฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนา ก็มักทำให้น้อยเนื้อต่ำใจ หมดกำลังที่จะต่อสู้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องประคองจิตใจไว้ในระดับที่ได้มาก็พอใจ เสียไปก็เข้มแข็ง โดยอุบายวิธีดังนี้
                ๑.มองอย่างทั่วถึง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีหลายด้าน หลายมุม มองได้ครบทุกด้านเมื่อไหร่ ความหวั่นไหวก็น้อยลงเมื่อนั้น เพราะจะรู้ทันว่า ทันทีที่ได้สิ่งใด ก็หมายถึงได้รับการสูญเสียสิ่งนั้นมาพร้อมกันด้วย ถ้าไม่ได้อะไร โอกาสที่จะเสียอะไรก็ไม่มี ที่มีการเสียเพราะมีการได้เกิดขึ้นนั่นเอง
                ๒.ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพราะความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง จึงต้องยอมรับปรับการกระทำและวิธีคิดให้สอดคล้องกับหลักความเป็นจริงแทน ยิ่งนำชีวิตใกล้ความจริงเข้าไปเท่าไหร่ ความทุกข์ก็น้อยลงเท่านั้น
                หากปฏิบัติได้เช่นนี้ก็จะไม่เสียความหนักแน่น แม้ต้องประสบกับโลกธรรมอย่างรุนแรง ความทุกข์ก็ไม่รุนแรงตาม ดังคำสอนของท่านพุทธทาส ภิกขุ ที่ว่า
ยามจะได้ได้ให้เป็นไม่เป็นทุกข์   ยามจะเป็นเป็นให้ถูกตามวิถี
ยามจะตายตายให้เป็นเห็นสุดดี   ถ้าอย่างนี้ไม่มีทุกข์ทุกวันเอย
............................................

ปฏิสันถาร


 ปฏิสันถาร
                คำว่า “ปฏิสันถาร” หมายถึง การต้อนรับตามมารยาทและธรรมเนียมที่มีอยู่ แต่ในทางพระพุทธศาสนาได้ให้ความสำคัญกับคำว่า “ปฏิสันถาร” มากกว่านั้น ถึงกับยกขึ้นเป็นหลักธรรมข้อหนึ่งที่เรียกว่า “ปฏิสันถารคารวตา” หมายถึง ปฏิสันถารนี้เป็นเรื่องที่ต้องเคารพ ทำอย่างระมัดระวังไม่ให้บกพร่องเสียหาย และเป็นเรื่องที่ต้องออกจากใจ ไม่ใช่เป็นเพียงปฏิบัติตามธรรมเนียม พร้อมกันนั้น ก็แนะวิธีการไว้ ๒ วิธีด้วยกัน คือ
     ๑.อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยอามิสสิ่งของ เช่น เครื่องดื่ม ข้าวปลาอาหาร ที่พัก ที่อาศัย ฯลฯ
     ๒.ธัมมปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยธรรม ได้แก่ ความดีงามที่จะพึงปฏิบัติต่อผู้มาเยือน เริ่มตั้งแต่เต็มใจต้อนรับ ปราศรัยโดยสุภาพไพเราะ เอาใจใส่ช่วยเหลือธุระของเขา ฯลฯ
                ในหน่วยงานราชการเป็นหน่วยงานที่ต้องติดต่อสัมพันธ์ ทั้งกับบุคคลทั่วไปหรือประชาชนในลักษณะให้บริการ ทั้งกับหน่วยราชการด้วยกันเอง ในลักษณะการติดต่อประสานงาน ปฏิสันถาร จึงเป็นหัวข้อที่ข้าราชการควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะธัมมปฏิสันถารคือ ความดีงามที่พึงปฏิบัติต่อผู้มาเยือน เพราะแสดงถึงระดับของการพัฒนาองค์กร ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และคุณธรรมที่มีในหัวใจของบุคลากรในหน่วยงาน นอกจากนั้นยังเป็นบ่อเกิดแห่งมิตรภาพ ความประทับใจ นำมาซึ่งความรักใคร่กลมเกลียว พร้อมจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอนาคต เป็นการลงทุนน้อยแต่ได้ประโยชน์มากมาย และคุ้มค่า
                เมื่อมีผู้อื่นเข้ามาพบ ไม่ว่าจะต้อนรับดีหรือไม่ดีก็ใช้เวลาเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่ประทับอยู่ในใจของผู้มาเยือนทั้งด้านบวกและลบจะคงอยู่ยาวนาน หลายเดือนหลายปี บางครั้งคงอยู่ชั่วชีวิตการปฏิสันถารจึงเป็นเหมือนการพิพากษาตัวเองต่อหน้าผู้อื่นนั่นเอง
............................................

มนุษย์กับวัตถุ


 มนุษย์กับวัตถุ
                มนุษย์กับวัตถุย่อมคู่กันเสมอ แต่ปัจจุบัน การพัฒนาในด้านวัตถุที่จะสนองความต้องการของมนุษย์ได้ก้าวหน้าไปทั้งในด้านคุณภาพและรูปแบบอย่างไม่มีขีดจำกัด หากมนุษย์ไม่พัฒนาตัวเองไปด้วย ก็จะตกสู่กระแสบริโภคนิยมเห็นว่าชีวิตนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การได้มาและเสพเสวยวัตถุตามที่ปรารถนา คือเอาวัตถุเป็นอุดมการณ์สูงสุด ดังเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ว่า มนุษย์สามารถปล้นผู้อื่น ฆ่าผู้อื่น เพียงเหตุผลว่าต้องการนำเงินไปใช้เพื่อการเที่ยวเตร่ ซื้อสิ่งของ อันเป็นความสุขทางวัตถุเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้ คุณค่าของมนุษย์ก็จะต่ำลงเรื่อยๆ จากการเป็นผู้กำหนดวัตถุ กลายเป็นผู้ถูกวัตถุกำหนด มนุษย์จึงจำเป็นจะต้องรักษาคุณภาพและความเข้มแข็งของตนไว้ให้ได้ ด้วยการพัฒนาตามหลักพุทธศาสนาในห้าจุด คือ
                ๑.ศรัทธา เชื่อมั่นในความดีและความถูกต้องว่าเป็นคุณค่าแท้ของมนุษย์ ไม่อายเมื่อขาดแคลนวัตถุ ไม่ท้อเมื่อต้องทำความดี และไม่หวั่นไหวเมื่อมีสิ่งล่อใจ
                ๒.ศีล ควบคุมความประพฤติของตัวเองได้ ถึงบางครั้งจิตใจจะดิ้นรนไขว้เขว ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของความคิด ไม่ยอมละเมิดกรอบที่ตั้งไว้ ด้วยการกระทำผิด
                ๓.สุตะ ใฝ่ใจต่อการศึกษา เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม จนกำหนดจุดยืนของตัวเองได้ถูกต้อง
                ๔.จาคะ ฝึกเรื่องการเผื่อแผ่เสียสละ จนทำให้พบความจริงที่ว่า ความสุขและความภาคภูมิใจของมนุษย์บางครั้งก็เกิดจากการให้ ไม่ใช่ต้องได้มาอย่างเดียว
                ๕.ปัญญา เห็นความจริง รู้ว่าสรรพสิ่งเป็นไปตามสภาวธรรม มีเหตุและปัจจัยประกอบกันครบก็เกิดเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เมื่อมนุษย์เอาความรู้สึกและค่านิยมเข้าไปปรุงแต่ง จึงยึดติด ถือมั่น และนี่เป็นต้นเหตุแห่งการดิ้นรนกระวนกระวายทั้งปวง
                ทั้งห้าข้อนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการฝึกให้มนุษย์แข็งแกร่ง แม้ต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุแต่ก็จะไม่ทำให้สูญเสียคุณค่าของความเป็นมนุษย์ไปได้อย่างแน่นอน
............................................

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ภาพลวงตา


ภาพลวงตา
                คนที่ไม่อยากเข้าวัด รับศีล หรือฟังเทศน์ ย่อมมีเหตุผลต่างๆ กัน เหตุผลประการหนึ่งก็คือคิดว่าเป็นเรื่องโบราณ ไม่ทันสมัย ไม่เหมาะแก่ตัวเอง แต่ก็น่าเชื่อได้ว่า ความคิดชนิดนี้ก็น่าจะมีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิดกันในปัจจุบันนี้ คนโบราณเมื่อร้อยปี พันปีก่อนก็คงต้องมีส่วนหนึ่งที่คิดเช่นนี้เช่นกัน ที่น่าสงสัย คือเหตุใดความคิดนี้จึงไม่เป็นความคิดที่ตกยุค ล้าสมัยไปด้วยนะ
                ในความเป็นจริงหลักของศีลธรรมมีแต่ทำให้คนทันสมัย เช่น “ความสำรวม” ซึ่งเป็นหัวข้อที่ฟังชื่อแล้วน่าจะคร่ำครึสุดๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นว่า ในสังคมที่มีความเจริญ เขาจะต้องสำรวมระวังคำพูด การกระทำ และกิริยามารยาทต่างๆ อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ ยิ่งการสำรวมใจด้วยแล้วยิ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะต้องรู้จักสำรวม ควบคุมใจ ไม่ปล่อยไปตามอารมณ์ หรือสัญชาตญาณของตนเอง เพราะนั่นเป็นลักษณะดั้งเดิมของมนุษย์ที่ยังไม่มีการศึกษา พัฒนา จึงมีแต่ความซื่อสัตย์ต่ออารมณ์และความต้องการของตนเองแต่ฝ่ายเดียว การขาดสำรวมระวังตน จึงถือว่าเป็นคนทันสมัยไม่ได้แน่ ไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมไหนก็ตาม
                สำหรับบางคนพอลืมตาขึ้น มองออกไปข้างหน้า ก็เห็นสิ่งหนึ่งทั้งที่สิ่งนั้นไม่มีจริง หรือมีจริงแต่เห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราเรียกสิ่งที่เห็นนั้นว่าภาพลวงตา ซึ่งอาจทำให้วาดมโนภาพไปได้ร้อยแปด วิธีแก้ก็คือ เข้าไปดูใกล้ๆ ดูให้เห็นจริง เหมือนผู้ที่คิดว่าศีลธรรมเป็นเรื่องล้าสมัย ถ้าจะให้ยกตัวอย่างว่าข้อใดที่ล้าสมัยและข้อนั้นสอนว่าอย่างไร ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบได้ แต่ทั้งที่ตอบไม่ได้นั่นแหละความรู้สึกลึกๆ ก็ยืนยันกับตัวเองด้วยความมั่นใจอยู่อย่างนั้น วิธีแก้มีอย่างเดียว คือศึกษาคำสอนนั้นๆ ให้รู้จริงเสีย แล้วอาจจะพบความจริงว่า ความคิดที่ว่าศีลธรรมนั้นล้าสมัย แท้จริงแล้วเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น
............................................

วันแห่งความมืด

 วันแห่งความมืด
                 วันและคืนที่มาถึงและผ่านไป แม้โดยข้อเท็จจริงจะเป็นเพียงกาลเวลาที่เป็นไปตามธรรมชาติแต่มนุษย์ก็อดที่จะเอาความเข้าใจของตนเองเข้าไปปรุงแต่งไม่ได้ ดังนั้น จึงเกิดมีวันดี วันร้าย วันมงคล และวันไม่เป็นมงคล ต่างๆ ขึ้นมากมาย ความเชื่อเช่นนี้ไม่ใช่มีอยู่เฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มีอยู่กันทั่วโลก
                พระพุทธองค์ เมื่อจะทรงพยายามชักนำความเชื่อดังกล่าวให้เข้ามาสู่ทางแห่งเหตุผลมากที่สุด เกิดประโยชน์แก่มนุษย์มากที่สุด จึงทรงเปรียบเทียบวันและคืนว่าจะดีหรือไม่ดีย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะความประพฤติของคน ดังปรากฏในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า “ใครก็ตามที่มีลักษณะ ๖ ประการนี้ วันและคืนของผู้นั้นย่อมมีแต่ความมืด เสื่อมจากความดีทั้งหลาย หาความจริงมิได้” ลักษณะ ๖ ประการนั้น คือ
                ๑.เป็นคนมีความต้องการมากจนเป็นทุกข์เดือดร้อน เพราะไม่รู้จักพอในเรื่องปัจจัยสี่
                ๒.เป็นคนไม่ศรัทธาในศาสนา คือขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ไม่รู้จักทางที่จะพัฒนาตัวเองให้ประณีตขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น
                ๓.เป็นคนทุศีล ประพฤติตรงข้ามกับหลักศีลธรรมอยู่เป็นอาจิณ
                ๔.เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ขยัน มักเพ้อฝัน แต่ขาดการลงมือทำ
                ๕.เป็นคนมีสติฟั่นเฟือน ไม่ฝึกฝนอบรมจิตให้หนักแน่นมั่นคง
                ๖.เป็นคนเขลา ไม่พยายามพัฒนาปัญญาให้มองเห็นเหตุผลและความจริง
                หลักคำสอนนี้นอกจากจะชักนำความเชื่อเรื่องความดีร้ายของวันคืนให้เข้ามาสู่ทางแห่งเหตุผลมากที่สุด เกิดประโยชน์มากที่สุดแล้ว ยังเป็นความจริงมากที่สุดอีกด้วย และความจริงที่ประกอบด้วยเหตุผลเช่นนี้นี่แหละ ที่จะเป็นเครื่องมือให้มนุษย์ใช้แก้ปัญหาด้วยปัญญาได้อย่างยั่งยืนถาวรดีที่สุด
............................................

ประโยชน์ของสมาธิ


                เคยมีข่าวหญิงสาวคนหนึ่งปีนเสาไฟฟ้าเพื่อที่จะฆ่าตัวตาย กว่าตำรวจและญาติๆ จะช่วยพูดคุยเกลี้ยกล่อมและช่วยลงมาได้ต้องใช้เวลาอยู่เป็นชั่วโมง ท้ายข่าวยังบอกด้วยว่า ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน หญิงผู้นี้ได้เข้าวัดไปนั่งสมาธิเพื่อทำใจให้สงบ แต่กลับยิ่งเครียดหนักจนก่อเหตุดังกล่าว ทำให้มีผู้ตั้งข้อสงสัยในทำนองว่า การทำสมาธิทำให้เกิดผลดีจริงหรือ ในเรื่องนี้มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของสมาธิ ไว้ดังนี้
                ๑.ประโยชน์ขั้นแรก ชาวพุทธส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเมื่อเกิดปัญหาถ้าจะใช้พุทธในการแก้ไข คือต้องปฏิบัติธรรมด้วยการ บำเพ็ญสมาธิ แต่ความจริงก็คือ สมาธิที่จะช่วยป้องกันปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องเป็นสมาธิที่ผ่านการบำเพ็ญอบรมมาเป็นระยะเวลาหนึ่งเป็นอย่างดีก่อนจนเกิดผลเป็นความมั่งคงของจิต เป็นสมาธิพร้อมใช้ จิตที่เป็นสมาธิอยู่เสมอนี้ย่อมมีพลังที่จะควบคุมตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์และเหตุการณ์ที่ประสบ จึงเป็นเหมือนเครื่องช่วยป้องกันปัญหาได้เป็นด่านแรก นี้เป็นประโยชน์ในเบื้องต้นของสมาธิ
                ๒.ประโยชน์สูงสุด ได้แก่การใช้สมาธิเป็นทางไปสู่ปัญญา ขั้นนี้เป็นวัตถุประสงค์แท้จริงของสมาธิในพระพุทธศาสนา เพราะโดยปกติแม้จะคิดอ่านการงานอะไรก็จำเป็นต้องมีสมาธิเป็นตัวสร้างโอกาสให้จิตใจได้ทำงานอยู่แล้วยิ่งเรื่องของชีวิตซึ่งเป็นเรื่องที่มีกิเลสเข้ามาเกี่ยวข้องครอบงำอยู่ทุกขณะ การจะแก้ปัญหาจึงต้องอาศัยจิตใจที่มั่นคงเพิ่มขึ้นเพื่อประครองจิตให้คิดอ่านอยู่ในแนวของเหตุและผลให้มากที่สุด ไม่คิดไปตามอารมณ์ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจกิเลส สมาธิยิ่งกล้าแกร่งสมบูรณ์เท่าใดโอกาสที่จะเห็นหนทางที่ถูกต้องที่สุด ดีงามที่สุดก็มีมากขึ้นเท่านั้น ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้เห็นตามที่เป็นจริงได้”
                สรรพสิ่งในโลกย่อมมีความจริงกำกับอยู่ทั้งสิ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “ทุกสิ่งย่อมเกิดจากเหตุ ถ้าเข้าไปค้นพบเหตุหรือความจริงของเรื่องนั้นได้ ก็แก้ปัญหาทุกอย่างได้ เครื่องมือสำคัญก็คือสมาธินี้เอง” เพียงแต่ต้องฝึกฝนและใช้ให้ถูกต้องเท่านั้น
............................................

วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ลูกกตัญญู


 ลูกกตัญญู
                ผู้ที่เป็นลูก ย่อมมีหน้าที่ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ การตอบแทนพระคุณนั้นก็ไม่ใช่เรื่อยากในความรู้สึกของคนทั่วไป เพราะสามารถพบเห็นเข้าใจกันได้โดยสามัญ ในทางพระพุทธศาสนาได้วางหลักการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ไว้ดังที่ปรากฏในสิงคาลกสูตร ซึ่งเปรียบเสมือนคู่มือของลูกกตัญญู ดังนี้
                ๑.ท่านเลี้ยงมาแล้วเลี้ยงท่านตอบ คือเลี้ยงดูท่านเหมือนที่ท่านเลี้ยงดูเรามา โดยเฉพาะในยามที่ท่านไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ อย่าให้เข้าทำนองว่าลูกกี่คนพ่อแม่เลี้ยงได้หมด แม้จะยากลำบากเพียงใดก็ไม่ย่อท้อ แต่พ่อหรือแม่เพียงคนเดียว ลูกกลับเลี้ยงท่านไม่ได้ ปล่อยให้ท่านอดๆ อยากๆ ไร้ที่พึ่ง น่าเศร้าใจยิ่งนัก
                ๒.ช่วยทำกิจของท่าน คือเมื่อกิจอย่างใดอย่างหนึ่งของท่านเกิดขึ้น ก็ขวนขวายช่วยเหลือไม่ดูดาย ถือเสมือนว่าเป็นกิจของตนหรือสำคัญยิ่งกว่ากิจของตน ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องจุกจิก เสียเวลา น่ารำคาญ
                ๓.ดำรงวงศ์ตระกูล คืองดเว้นจากการกระทำซึ่งจะเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติของวงศ์ตระกูล ปฏิบัติในสิ่งที่จะเชิดชูตาให้ท่านเกิดความภาคภูมิใจ เป็นสุข และปลื้มปีติ
                ๔.ประพฤติตนให้เหมาะสมที่จะรับทรัพย์มรดก คือปฏิบัติตัวให้ท่านไว้วางใจ เบาใจว่าจะสามารถรักษาทรัพย์สมบัติที่ท่านหามาด้วยความเหนื่อยยากได้ ไม่ประพฤติล้างผลาญ
                ๕.เมื่อท่านล่วงลับทำบุญอุทิศให้ คือเมื่อท่านสิ้นไปแล้ว ก็ตอบแทนพระคุณท่านด้วยผลแห่งบุญกุศล หากท่านประสบทุกข์จะได้พ้นทุกข์ หากประสบสุขก็จะได้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป
                มนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้ว จะไม่ยอมเป็นลูกของใครเลยนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ และความเป็นลูกที่ติดตัวเราทุกคนอยู่นี้ก็เป็นของศักดิ์สิทธิ์ คือถ้าปฏิบัติถูกจะเกิดสิริมงคลอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะพลังความรักที่บริสุทธิ์ของพ่อแม่ยิ่งใหญ่และมีอานุภาพเพียงใด พลังแห่งความกตัญญูก็ทรงอานุภาพปานกัน ความเป็นลูกกตัญญูจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวที่ไม่ต้องไปแสวงหาจากที่อื่นเลย
............................................

ชีวิตประหยัด


ชีวิตประหยัด
                ปัจจุบัน รัฐบาลและหน่วยงานทุกระดับ กำลังรณรงค์ให้ทุกคนประหยัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประหยัดน้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงานที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ต้องสูญเสียเงินตราอย่างมหาศาล และขณะนี้น้ำมันก็มีราคาสูงขึ้นทุกวัน หนึ่งในมาตรการการแก้ปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันก็คือ การประหยัด
                ความจริง การประหยัดเป็นเรื่องสำคัญและมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตทุกขณะอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะในยามข้าวยากหมากแพงเท่านั้น เพราะความหมายของการประหยัดก็คือ การมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ เช่น น้ำแต่ละลิตร ไฟแต่ละดวง มีคุณค่าที่จะเอามาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด หากสูญไปเปล่าๆ ก็น่าเสียดาย ไม่ใช่เรื่องของการเสียดายน้ำ แต่หมายถึงการเสียดายค่าหรือประโยชน์ที่ได้จากน้ำที่สูญเสียไปโดยไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย คนที่มีความคิดในทางประหยัดไม่ใช่คนตระหนี่หรือเห็นแก่ตัว เพราะเขาไม่ได้มุ่งใช้ให้น้อย แต่มุ่งให้ใช้ให้คุ้มค่ากับสิ่งนั้นๆ เพียงแต่เมื่อใช้ได้คุ้มค่ากับที่เสียไปก็เป็นผลให้สิ่งที่ถูกใช้สอยนั้นหมดลงเพียงเล็กน้อยตามไปด้วย แต่ถ้าเมื่อใดมีความจำเป็นต้องใช้ในจำนวนมาก ก็ยินดีที่จะใช้โดยไม่ลังเลเพราะเห็นแล้วว่ามันคุ้มค่า
                ถ้าทุกคนฝึกนิสัยให้เป็นคนประหยัดจนเคยชิน ก็จะช่วยให้ครอบครัว สังคม และเทศชาติมีความเจริญรุ่งเรื่องได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นประเทศหนึ่งในอดีตที่ต้องตกทุกข์ได้ยากจากการแพ้สงคราม แต่คนในประเทศเขามีนิสัยรักการประหยัดเป็นทุนเดิม ทำให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศได้อย่างมีศักยภาพและคุ้มค่า ไม่มีสูญเปล่า เป็นทางนำไปสู่ความเข้มแข็ง ขยัน อดทน จนกลับมาเป็นประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระดับแนวหน้าของโลกได้ในปัจจุบัน
หากเราทุกคนเริ่มคิดที่จะประหยัดเสียแต่วันนี้ เชื่อได้ว่าเราจะได้มากกว่าที่คิดอย่างแน่นอน
............................................

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2561

จุดอ่อนของชีวิต


 จุดอ่อนของชีวิต
                ในบรรดาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา มีคำสอนเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นหัวข้อที่ต้องหลีกเว้นหรือระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะเป็นจุดอ่อนให้เกิดความผิดพลาด เสียหายแก่ชีวิตอย่างสำคัญ ได้แก่
                ๑.ศีลวิบัติ ความเสียหายด้านพฤติกรรมที่สำคัญๆ เช่น การล่วงละเมิดศีลห้า การทำผิดกฎหมายบ้านเมือง การประพฤติทุจริตในเรื่องต่างๆ
                ๒.อาจารวิบัติ เสียหายบกพร่องในด้านกิริยามารยาท ไม่เคารพต่อประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม หรือปฏิบัติผิดต่อกาลเทศศะ แม้จะไม่รุนแรงถึงขึ้นถูกลงโทษในทางกฎหมาย แต่ก็อาจได้รับโทษทางสังคมได้
                ๓.ทิฏฐิวิบัติ มีความบกพร่องเสียหายด้านความคิดเห็น เชื่อผิด คิดผิด เช่นเห็นว่าผลของบาปบุญไม่มี ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป หรืออย่างที่ใกล้ที่สุด ก็เห็นผิดว่าจุดอ่อนเหล่านี้นี่และคือจุดแข็ง เช่น ไม่ต้องรักษาศีลจะได้เป็นคนทันสมัย ไม่คร่ำครึ ละเมิดกฎหมายประเพณีก็คือมีเสรีภาพและประชาธิปไตย ฯลฯ
                ๔.อาชีววิบัติ คือเสียหายด้านอาชีพการงาน หมายถึงการหาเลี้ยงชีพโดยทุจริตผิดกฎหมาย หรือถูกกฎหมายแต่ผิดศีลธรรม เช่น มุ่งเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น หรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ฯลฯ
                การจะมีชีวิตที่ผาสุกก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ฉาบฉวยด่วนได้ จำเป็นต้องมีพื้นฐานที่ดี และการจะพัฒนาพื้นฐานของชีวิตก็เป็นเรื่องกว้าง เพราะครอบคลุมถึงเรื่องที่คิด กิจที่ ทำ คำที่พูดไปทั้งหมดแต่ถ้าเว้นจากวิบัติทั้งสี่ นี้ได้ก่อนแล้ว ที่เหลือก็แคบและง่ายเข้า เพราะจุดอ่อนที่สำคัญได้ถูกขจัดออกไปแล้วนั่นเอง
............................................

แรงปรารถนา


 แรงปรารถนา
                ความปรารถนาของคนย่อมไม่มีสิ้นสุด เพราะเมื่อได้สมปรารถนาในสิ่งใดแล้ว ไม่ช้าก็จะเกิดความปรารถนาในสิ่งใหม่ขึ้นอีก เป็นเช่นนี้จนกระทั่งถึงจุดจบของชีวิต
                คนคนหนึ่ง รับเงินเดือนๆ ละหนึ่งหมื่นบาท เขาคิดว่าถ้าได้เงินเดือนสองหมื่นบาทเมื่อใดเขาจะมีความสุขมากที่สุด แต่เมื่อได้รับเงินเดือนสองบาทจริงๆ เขาก็มีความสุขจริงๆ เหมือนกัน แต่ไม่นานก็อยากได้ถึงสามหมื่น พอได้สามหมื่นก็อยากได้สี่หมื่นต่อไป ข้อสังเกตสำคัญอยู่ที่เมื่อเขาไม่ได้สี่หมื่นบาท ถ้าความปรารถนารุนแรงเท่าใด ความผิดหวังก็รุนแรงเท่านั้น ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น ถ้าวันหนึ่งเขาต้องกลับไปรับเดือนๆ ละสองหมื่นบาทเหมือนเดิม เขาจะเป็นทุกข์ กลัดกลุ้ม น้อยใจ จนชีวิตแทบหาความสุขไม่ได้ที่น่าแปลกใจก็คือ เขาก็เป็นคนคนเดียวกับที่เคยมีความสุขที่สุดตอนที่ได้เงินเดือนสองหมื่นบาทนั่นเอง ความสุขมากที่สุดขอเขาบัดนี้หายไปไหน หายไปได้อย่างไร
                คำตอบก็คือความสุขของเขายังอยู่ เพียงแต่เขาถูกแรงปรารถนาหลอกล่อให้เตลิดไปจนลืมตัว ลืมสติ
ฃลืมกระทั่งว่าจะต้องจัดการ บริหาร และสร้างวิธีคิดอย่างไรจึงจะถูกต้อง เพราะความปรารถนาไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่ได้สมปรารถนานั้น ก็คือเชื้อหรือชนวนที่ก่อให้เกิดความปรารถนาต่อๆ ไปอีก ถ้าปล่อยไปเช่นนี้ ทุกคนก็จะตายลงในท่ามกลางความไม่สมหวัง เว้นเสียแต่จะรู้จักมีความสุขกับสิ่งที่ตนมีอยู่แล้ว ถัดจากนั้น เมื่อปรารถนาอะไร ก็ทำไปตามเหตุผลที่ควรจะต้องทำ
                รู้จักวิธีคิดและฝึกความคิดให้ได้อย่างนี้ แม้จะยังมีความปรารถนา แต่ก็ไม่ตกเป็นทาสของแรงปรารถนา
............................................

เครื่องประดับประจำตัว


 เครื่องประดับประจำตัว
                การแต่งตัวด้วยเครื่องประดับเป็นค่านิยมสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพราะทำให้คนเราดูงดงามทันสมัย และเชิดหน้าชูตาได้อย่างดี จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเราไปแล้ว แต่เนื่องจากเครื่องประดับดังกล่าวยังเป็นเพียงเครื่องประดับภายนอกที่นำมาประกอบกับตัวเรา ผู้ที่สวยเพราะแต่งดีเพราะแต่ง จึงอยู่ในฐานะพลอยสวย พลอยดีไปด้วยเท่านั้น เพราะค่าและความงดงามยังเป็นของเครื่องประดับส่วนตัวเองเป็นอย่างไรก็ยังคงเป็นอย่างนั้นอยู่ ถอดเครื่องประดับออกเมื่อใด ก็คือถอดความงามออกจากตัวเมื่อนั้น ถ้าจะให้สวยแท้ งามแท้ ต้องประดับตัวเองให้มีค่าด้วยเครื่องประดับภายใน ดังเช่น
                ประดับมือและนิ้วด้วยการให้ เพราะการให้ทำให้คนงดงาม เป็นที่รัก เป็นที่นิยมของผู้อื่น ผู้ให้เองก็เป็นสุขใจ สบายใจ ไม่เร่าร้อนเหมือนความคิดที่จะกอบโกยหวงแหน
                ประดับปากและคอด้วยคำสัตย์ เพราะการพูดจริงจะทำให้น่าเคารพ น่าไว้วางใจ เป็นที่นิยมเชื่อถือ ของคนทั่วไป
                ประดับหูด้วยการฟังอย่างเคารพ เพราะการฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างใช้วิจารณญาณ เป็นทางให้เกิดสาระข้อคิดที่ดีแก่ชีวิต ทำให้ได้ประโยชน์ห้าประการอันได้แก่ ได้ฟังเรื่องใหม่ ไว้วิจัยเรื่องเก่า บรรเทากังขา เกิดสัมมาทิฐิ และมีจิตผ่องใส
                คนที่งามแท้ มีเสน่ห์จริง จะต้องมีความดีที่ผู้อื่นประทับใจ ความเป็นคนดีมีคุณภาพนี้ เป็นเครื่องประดับตัวตลอดไป เพราะเป็นเจ้าของความงามตัวจริง ส่วนจะเลือกความดีชนิดไหนมาเป็นเครื่องประดับประจำตัว ก็ได้ลองดูตัวอย่างเครื่องประดับที่ยกมานั้นดูเถิด
............................................

วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ลักษณะผู้มีวินัย



                ในสังคมคนหมู่มาก มีความจำเป็นต้องกำหนดกติกาให้ส่วนรวมปฏิบัติ เพื่อความสงบสุขและความก้าวหน้าของหมู่คณะ หรือเพื่อเป้าหมายขององค์กร กฎเกณฑ์หรือกติกาที่จะมีประสิทธิภาพและทำให้บรรลุผลการเป้าหมายที่สำคัญ นั่นก็คือ “วินัย” ผู้ที่ปฏิบัติตามก็จะเรียกว่า “ผู้มีวินัย” ซึ่งผู้มีวินัยนั้นมีลักษณะที่พอสังเกตได้โดยประมาณ คือ
                ๑.มีสัมมาคารวะ ผู้มีวินัยจะให้ความสำคัญกับการแสดงความเคารพ ซึ่งแสดงออกด้วยการทำความเคารพบ้าง ด้วยการระมัดระวังไม่ล่วงเกินผู้อื่นด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง หรือหากต้องมีการล่วงเกินเพียงน้อยนิดแค่การเดินผ่านในที่ที่อยู่สูงกว่าก็มีการขอโทษ ปฏิบัติต่อสิ่งเคารพและสถานที่สำคัญด้วยความระมัดระวัง ฯลฯ
                ๒.มีความถ่อมตน ไม่ว่าจะเป็นผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ ก็ตระหนักอยู่เสมอว่าตนเองอยู่ในฐานะที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้ยิ่งขึ้นไป ความรู้ความสามารถและยศศักดิ์ที่มีอยู่เป็นความได้เปรียบที่จะใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่ความรู้ความสามารถและความดีที่สูงขึ้นไป ไปอีกเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับอวดอ้างหรือใช้เป็นอภิสิทธิ์ 
                ๓.เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ธรรมดาการถูกว่าถูกสอนเป็นสิ่งที่ท้าท้ายความรู้สึก บางคนฟังเรื่องจริงก็ไม่มีความสุข พูดเรื่องถูกก็รับไม่ได้ แต่สำหรับผู้มีวินัยจะรับฟังโดยเคารพ พิจารณาถูกผิดด้วยปัญญา ยอมรับความจริงอย่างกล้าหาญ และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข ใช้วินัยนั้นเองปกครองตัวเองก่อนที่จะปกครองคนอื่น
                ๔.รักดี ผู้มีวินัยจะมองเห็นความดีเป็นสิ่งมีเกียรติ แม้ว่าการทำความดีนั้นจะเป็นเหตุให้ต้องเข้มงวดกับตนเองบ้าง ก็พร้อมจะทำด้วยความเต็มใจ ซื่อสัตย์ต่อความดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง
                ๕.กล้าหาญ โดยเฉพาะกล้าที่จะปฏิเสธความชั่ว ไม่ยอมให้สิ่งล่อใจมามีอำนาจเหนือตน ทั้งๆ มีโอกาสแต่ก็สามารถกล้าตัดสินใจจะไม่ทำ
                การจะมีชีวิตที่เป็นสุขและปลอดภัย หรือการจะเชิดชูหมู่คณะให้สง่างาม บางครั้งก็ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย เพียงสร้างวินัยให้เกิดในตัวเองให้ได้ ความดีอื่นๆ ก็จะตามมาอีกมากมาย
............................................

คนของโลก


 คนของโลก
                ชายชราผู้หนึ่งนั่งขุดหลุมอยู่อย่างขะมักเขม้นท่ามกลางแดดร้อนจัดในเวลาบ่าย ขณะนั้นเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินมาพบเข้าจึงถามว่า กำลังทำอะไร ชายชราตอบว่า กำลังขุดหลุมเพื่อปลูกมะม่วง คำตอบนั้นยิ่งทำให้เด็กหนุ่มแปลกใจยิ่งขึ้น จึงถามอีกว่า นี่ลุงอายุเท่าไรแล้ว พอทราบว่าชายชราผู้นั้นอายุแปดสิบปีแล้ว จึงพูดขึ้นว่า มะม่วงต้นนี้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าห้าปี จึงจะออกผล ลุงอาจจะตายเสียก่อนที่จะได้กินก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็ไม่คุ้มกับที่ต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างนี้นะลุง
                ชายชราอธิบายว่า มะม่วงที่ปลูกนี้ ถึงลุงจะตายไปเสียก่อน แต่ประโยชน์ก็จะตกแก่คนอื่นต่อไป เหมือนตัวหลานชายนี่แหละ ตอนที่เกิดมาก็ไม่ได้เกิดในบ้านที่ตัวเองสร้างไว้ เกิดมาแล้วก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านที่คนอื่นสร้างไว้เหมือนกัน การทำสิ่งใดๆ จึงไม่ควรมองแค่ประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ แต่ควรคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นด้วย
                การกระทำที่มุ่งประโยชน์เพื่อตนเองแม้จะเป็นเรื่องที่ถูก แต่ก็ยังแคบ ถ้านักวิทยาศาสตร์คิดว่าเราจะคิดค้นพลังงานและอุปกรณ์ไฟฟ้าไปทำไมทนอยู่มืดๆ ไปอีกไม่กี่ปีเราก็ตายแล้ว คนอื่นเขาก็ยังอยู่กันได้ โลกเราก็คงยังไม่มีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างทุกวันนี้ แม้กรณีตัวอย่างอื่นๆ ที่เห็นได้ทั่วไปก็ชี้ชัดว่า การที่เรามีชีวิตอยู่ได้อย่างสุขสบายทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะได้เสวยผลที่ผู้อื่นคิดค้น และสร้างสรรค์ไว้นั่นเอง
                คนที่คิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นหรือส่วนรวม เป็นคนที่โลกต้องการทุกยุคทุกสมัย เพราะช่วยพัฒนาโลกให้มีคุณค่า สวยงาม และน่ารื่นรมย์แม้จะปลูกมะม่วงต้นเดียวซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่วิธีคิดและความมุ่งหวังของเขายิ่งใหญ่และทรงคุณค่า สมกับที่เกิดมาเป็น “คนของโลก” อย่างแท้จริง
............................................

คนดี


คนดี
                การเลือกคนดีเป็นปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่ง เพราะความคิดจิตใจของคนเป็นเรื่องยากจะหยั่งถึงได้ ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ได้แสดงลักษณะสำคัญของคนดีที่พอมองเห็น ไว้ห้าประการ คือ
                ๑. นานะยัง นะยะตี ไม่ชักนำในสิ่งที่ไม่ดี เช่น ชักนำให้เสพของมึนเมา เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้านการทำงาน ฯ
                ๒. อธุรายัง นะ ยุญชะติ ไม่ทำเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ คือรู้จักเคารพในฐานะและหน้าที่ของผู้อื่นไม่ก้าวก่ายแทรกแซง หรือสร้างความวุ่นวาย แต่มุ่งทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
                ๓. สุนะโย เสยยะโส โหติ เป็นผู้นำในทางที่ดี เช่น นำให้เว้นจากอบายมุข มีเมตตากรุณา ซื่อสัตย์สุจริต ขยันอดทน แม้การทำดีบางครั้งจะต้องพบอุปสรรคก็ไม่ย่อท้อ สามารถยืนหยัดบนความถูกต้องได้อย่างมั่นคง
                ๔. สัมมา วุตโต นะกุปปะติ ไม่โกรธเมื่อถูกชี้แนะ เพราะมุ่งต่อความดีเป็นสำคัญ เมื่อมีใครแนะนำทักท้วงในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็จะยินดี รู้สึกเหมือนผู้นั้นมาบอกขุมทรัพย์ให้
                ๕. วินะยัง ปะชานาติ ชอบระเบียบวินัย เคารพกฎหมายและกติกาของสังคม แม้มีโอกาสก็ไม่ใช้อภิสิทธิ์ เพราะเห็นกฎหมายว่าเป็นทั้งเครื่องคุ้มครองและเป็นเครื่องจัดสรรความเท่าเทียมกันของมนุษย์การทำลายกฎหมายก็คือการทำร้ายเพื่อมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเพื่อนมนุษย์อ่อนแอหรือเกิดปัญหาก็ยากที่จะมีความสุขอยู่ได้ตามลำพัง
                ถ้าเลือกคนให้มากวาดถนน รดน้ำต้นไม้ก็เป็นเรื่องง่ายเพราะถึงจะได้คนไม่ดีแต่ความเสียหายก็คงไม่มาก แต่ถ้าเลือกมาเป็นเพื่อน เป็นคู่ชีวิต หรือมาทำงานใหญ่ให้ประเทศชาติ ควรจะพิจารณาให้มาก เพราะถ้าเลือกผิดก็จะผิดหวัง กลัดกลุ้ม และหงุดหงิดไปนาน เข้าทำนองว่า “ปลูกเรือนผิดคิดจนเรือนทลาย” นั่นแล
............................................

ความพอดี



                ความพอดี หมายถึง ความลงตัว ความพอเหมาะพอสม ความเป็นเหตุเป็นผลในตัวเอง
                การที่ดวงอาทิตย์ส่องในเวลากลางวัน พระจันทร์สุกสว่างในเวลากลางคืน ดาวนับล้านๆ ดวงล่องลอยอยู่ในท้องฟ้า โลกหมุนรอบตัวเอง พร้อมกับการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สมดุล นี้คือความพอดีทางธรรมชาติ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทุกชีวิตบนโลก การที่สัตว์ขั้วโลกเหนือมีขนหนาไว้กันหนาว สีขาวกลมกลืนกับหิมะ ในขณะที่สัตว์เขตร้อนมีขนน้อย สีสันฉูดฉาดกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ก็ถือเป็นความพอดีซึ่งเป็นประโยชน์และเกื้อกูลป้องกันภัยในชีวิตตามธรรมชาติเช่นกัน
                สำหรับชีวิตมนุษย์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักความพอดีที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตไว้ ๒ ระดับ คือ
                ๑.ความพอดีระดับสูง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือข้อปฏิบัติที่ทำให้บรรลุถึงปัญญาขั้นสูงสุด จนเข้าใจสรรพสิ่งได้ถูกต้องตามที่มันเป็นและปฏิบัติได้ถูกต้อง สอดคล้องกับความจริงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่กะเกณฑ์หรือเข้าใจไปตามที่ตนอยากให้เป็น แล้วปฏิบัติไปตามที่อำนาจความอยากชักพา ข้อปฏิบัตินี้คือ มรรคมีองค์ ๘ หรือย่อให้สั้นเป็น ศีล สมาธิ และปัญญา
                ๒.ความพอดีระดับสามัญ เรียกว่า มัตตัญญุตา- ความรู้จักประมาณ คือความพอเหมาะพอดีในการดำเนินชีวิตในเรื่องสำคัญๆ  ตัวอย่างเช่น
ในการกิน ให้กินแต่พอดี ไม่น้อยไปจนเป็นโรคขาดอาหาร ไม่มากไปจนเป็นโรคอ้วน กินตามความต้องการของธรรมชาติ ไม่กินตามความต้องการของกิเลส
                ในการแสวงหา ให้รู้จักยินดีในสิ่งที่ได้มา แสวงหาให้เหมาะสมแก่กำลัง และระมัดระวังเรื่องดี-ชั่ว
                ในการทำหน้าที่ ต้องทำให้ถูกคือไม่ให้ผิดหน้าที่ ทำให้ครบคือไม่ให้บกพร่องเสียหาย
                หากยังเข้าถึงความพอดีในระดับสูงไม่ได้ จำเป็นอย่ายิ่งที่จะต้องยึดความพอดีในระดับสามัญไว้ หาไม่แล้วชีวิตจะไม่เหลือความพอดีสักอย่างจนทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา ดุจธรรมชาติและทรัพยากรในโลกที่ถูกทำลายจนขาดความสมดุลและเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ ที่มาจากการขาดความสมดุลอันเกิดจากการกระทำที่ขาดสมดุลของมนุษย์นั่นเอง
............................................