ธรรมผู้ครองเรือน

พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย
การบรรยายในวันนี้ อาตมาก็ยังคงกล่าวเรื่อง ธรรมชีวิต ต่อไปตามเดิมแต่มีหัวข้อย่อยเฉพาะวันนี้ว่า ธรรมวีวีกับความเป็นฆราวาส นี้ก็เป็นความมุ่งหมายอย่างยิ่ง ที่จะให้ฆราวาสทั้งหลายมีความเข้าใจในเรื่องนี้คือเรื่องธรรมชีวีว่าฆราวาสจะสามารถเป็นธรรมชีวีได้อย่างไร เหมาะสมกับฆราวาสเพียงไหน จะถือเอาประโยชน์จากระบบธรรมชีวีนี้ได้สักเพียงไรด้วย ขอให้ทำความเข้าใจให้ถึงที่สุด
ฆราวาส : ผู้มีปัญหาเนื่องอยู่กับบ้านเรือน
อาตมาก็ขอโอกาสกล่าวทบทวนบางสิ่งบางอย่างตามสมควร เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ในชั้นแรกนี้ จะพูดกันถึงคำว่า “ฆราวาส” ฆราวาส คืออะไรกันเสียก่อน โดยตัวพยัญชนะ คำว่า “ฆราวาส” แปลว่า ผู้ครองเรือน ข้อนี้ดูจะเป็นที่เข้าใจแล้วโดยมาก และยังมีคำที่แทนชื่อกันได้หรือไวพจน์ ก็คือ คำว่า คฤหัสถ์ ซึ่งแปลว่า ผู้อยู่เรือน คืออยู่ด้วยเรือน ตัวหนังสือหรือคำพูดจะต่างกันไม่เป็นไร แต่ความหมายเดียวกัน คือผู้ที่มีปัญหาเนื่องอยู่กับเรือนกับบ้าน ถ้าจะดูตามประพฤติที่เป็นมาแต่หนหลัง ก็พอจะมองเห็นได้ว่า เป็นผู้ครองเรือนอย่างหลับหูหลับตามาตลอดเวลานานมาก จนถึงกับถือหรือรู้สึกว่ามันจะต้องเป็นเช่นนี้เองตลอดกาลนิรันดร ไม่เคยคิดว่าฆราวาสนั้น จะออกไปเสียจากการครองเรือน
ขอให้นึกดูว่ามันเป็นที่น่าห่วง น่าเป็นห่วงสักเท่าไร? คำว่า “ครองเรือน” มันมีความหมายกันไปถึงว่า อยู่ในบ่วงหรืออยู่ในวงล้อมอยู่ในกรอบ อยู่ในที่กักขัง คือเรือนนั่นเอง

มนุษย์กับความผูกพันกับเรือน
คำว่า เรือน หรือ เคหะ นี้ก็แปลก คือว่าครั้งแรกมนุษย์ยังเป็นคนป่าหรือยิ่งกว่าคนป่า ก็ไม่ได้นุ่งผ้า ต่อมาเขารู้สึกอะไรบางอย่าง จึงเกิดนุ่งผ้า ต่อเมื่อเขาประกอบกิจกรรมทางเพศในที่อันเปิดเผยในที่แจ้ง เพราะไม่มีเรือน ก็เกิดมีบางคนรู้สึกว่าเป็นที่น่าอับอาย มนุษย์จึงเริ่มทำเรือนที่เรียกว่า เคหะ ก็มีความหมายว่า เครื่องบัง นั่นเอง เครื่องบังไม่ให้ผู้อื่นเห็นการกระทำที่น่าละอาย คำว่าเรือนมีความหมายในจุดตั้งต้นเป็นอย่านี้แล้วก็เป็นอย่างนี้เรื่อยมา อย่างไม่มีท่าว่าจะสิ้นสุดลงอย่างไร
ครองเรือนก็หมายถึงสมัครจะอยู่อย่างนั้น เพราะนึกอย่างอื่นไม่ออกเพราะความคิดนึกที่จะออกจากเรือนนั้นไม่มี ก็เลยไม่ต้องคิด มันก็ทำตามๆ กันมาจนเป็นสิ่งสามัญธรรมดา หรือเรียกว่าตายตัวอย่างหนึ่ง จนกระทั่งว่าเจริญมากขึ้นๆ จนเจริญเป็นหมู่คนที่เจริญสักเท่าไร ความหายขอคำว่าเรือน หรือครองเรือนก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง คงแสวงหาสิ่งที่ความรู้สึกคิดนึกต้องการ หรือที่กิเลสต้องการ แล้วก็ยังซุกซ่อนอยู่ในเรือ เพื่อประกอบกรรมอันไม่อยากให้ผู้อื่นเห็น
นี่แสดงว่า มนุษย์นี้ไม่ได้ก้าวหน้าไปถึงไหน ยังติดแจอยู่กับเรือนขยับขยายปรับปรุงทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นที่น่าพอใจอยิ่งขึ้นแล้ว ก็สะสมไว้ในบ้านเรือน สุมทับลงไปในบ้านเรือน ให้บ้านเรือนเป็นที่ยึดหน่วงจิตใจของคนที่เป็นเจ้าของนั้นทุกวิถีทาง จนเป็นที่หวงแหนโดยสัญชาติญาณ แต่ยิ่งกว่าสัตว์ทั่วๆ ไป เพราะว่าในบ้านเรือนของคนนั้น มันมีอะไรที่สะสมไว้มาก ความเป็นฆราวาส มีความหมายอย่านี้

ประเภทของฆราวาส
ที่นี้ก็มี ปัญหาว่าจะไปถึงไหนกัน เมื่อตั้งปัญหาถามขึ้นมาว่า ในปัจจุบันนี้พอจะแบ่งประเภทของฆราวาสได้เป็นสองพวก คือพวกที่จมปลักอยู่ในบ้านเรือน พวกหนึ่ง พวกที่จะเดินทางออกไปเสียจากปัญหาของบ้านเรือน ไม่ให้อิทธิพลของบ้านเรือนครอบงำได้ก็พวกหนึ่ง หมายความว่าเดี๋ยวนี้มีมนุษย์บางพวกเริ่มนึกถึงสิ่งที่ยิ่งไปกว่าธรรมดา โดยรู้ว่าอยู่กันอย่างนี้ซ้ำซากอย่างนี้เป็นธรรมดาเหลือประมาณ ควรจะมีอะไรที่ดีกว่านี้ ก็ได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนที่สูงขึ้นไป สำหรับจะประพฤติจะปฏิบัติให้ก้าวหน้าไม่มีอาการที่เรียกว่าจมปลัก
ทีนี้ก็จะได้พิจารณากันทีละอย่างว่ามีลักษณะ อย่างไรโดยละเอียดพอสมควร
ฆราวาสประเภทจมปลัก
ที่ว่า จมปลัก ดูกันให้ละเอียดทั้งทางวัตถุ ทางกาย และทางจิตใจ จมปลัก รักใคร่หวงแหนทรัพย์สมบัติ ทางวัตถุ ก็เป็นการจมปลักอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน แล้วก็ หลงใหลในร่างกาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อย นี่ก็เป็นการจมปลัก แล้วก็มีจิตใจผูกพันอยู่ แต่ในสิ่งเหล่านี้ ในภาพอย่างนี้ รู้สึกว่าเป็นสิ่งสูงสุดของตน ก็เรียกว่าจมปลัก
โดยหลักใหญ่ ๆ มันก็เป็นความคิดนึกรู้สึกที่ติดแน่นอยู่ในเสน่ห์หรือรสอร่อยของสิ่งที่เรียกว่าการครองเรือน ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำทุกอย่าง เพื่อประโยชน์แก่การครองเรือนให้ยิ่งขึ้นไป
ที่เป็นชั้น ต่ำที่สุดลงไปอีก ก็จมปลักอยู่ในอบายมุข คือสิ่งที่เป็นปากทางแห่งอบาย โดยเฉพาะก็คือมึนเมาในรสของสิ่งที่เรียกว่าอบายมุข นั้น
อบายมุข 6 ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว พิจารณาดูเอาเองก็ได้ว่า การดื่มน้ำเมา การเที่ยวกลางคืน การดูการเล่น การเล่นการพนัน การคบคนชั่ว การเกียจคร้านทำการงาน แต่ละอย่างๆ เหล่านี้ เป็นปากทางแห่งความเดือดร้อนหรือความทุกข์ แต่ก็มีคนพวกหนึ่งหลงใหลอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งแสดงว่าจิตใจนั้นต่ำมาก ไม่รู้สึกอะไรให้ดีไปกว่านี้ เราจึงได้เห็นคนที่ดื่มน้ำเมาอย่างที่เรียกว่าหัวราน้ำหรืออะไรก็ตามเอะ เสมือนหนึ่งว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรดีกว่าน้ำเมา
บางคนก็เที่ยวกลางคืนเป็นนิสัยสันดาน ก็ดูการเล่น ซึ่งกระตุ้นความรู้สึกทางประสาท ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ยินว่าการแสดงเพลงดนตรีเมื่อ 2-3 วันมานี้ คืนเดียวเก็บได้สองแสน ส่วนเงินเดินการกุศลเมื่อเช้านี้ได้ยินว่าได้ไม่ถึงสองหมื่น นี่แหละมันพอจะทำให้มองเห็นได้ว่า มันมีน้ำหนักเครื่องดึงดูดต่างกันอย่างไร และประชาชนส่วนมากนั้นอยู่ในลักษณะอย่างไร คือ มึนเมาหรือจมปลักในเรื่องของอบายมุข สักเท่าไร
การพนันมีลักษณะเหมือนกับผีสิง ถ้าสิงใจผู้ใดแล้ว ก็ย่อมเล่นจนยิ่งกว่าหมดเนื้อหมดตัว แล้วก็มันเป็นเรื่องที่ติดหรือจมสำหรับฆราวาสระดับต่ำสุดอย่างนี้
การคบเพื่อนชั่ว เพื่อประกอบกิจกรรมตามแบบของคนชั่ว มันก็มีรสอร่อยแก่ความรู้สึก จึงเป็นสิ่งที่กระทำกันอย่างเหนียวแน่น คนเดียวสนุกน้อย หลายๆ คนก็สนุกมากกว่า ฉะนั้นการสุมกันทำไปตามแบบของบุคคลที่หลงใหลอย่างนั้น ยังคงมีอยู่ได้
ข้อสุดท้ายที่เรียกว่า เกียจคร้านทำการงาน นี่ก็เป็นสิ่งที่มีรสอร่อย เมื่อได้เกียจคร้านนั้นมันรู้สึก อร่อยไปตามแบบของคนที่ยังเป็นพาล พาละ พาลนี้แปลว่า อ่อน แปลว่าอ่อน อ่อนด้วยสติปัญญา อ่อนด้วยวิชาความรู้ เขาจึงหลงใหลในรสอร่อยของความเกียจค้าน ลองสังเกตดูเถิดความเกียจคร้านนั้น มันมีรสดึงดูดอย่างรุนแรงชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกันจึงยังคงมีคนเกียจคร้านเหมือนกับติดยาเสพติด แม้ว่าบางคนจะขยันทำงานกำงานด้วยความจำเป็นบังคับ เห็นอยู่ว่าไม่มีอะไรจะกินจะใช้จึงทำงาน ไม่ได้ทำงานด้วยความรู้สึกอันถูกต้อง ไม่ได้ทำงานด้วยความรู้สึกว่างานนั้นแหละคือธรรมะ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม
ใครกี่คน เดี๋ยวนี้อยากจะถามดูว่า ใครกี่คนที่ทำงานด้วยความรู้สึกว่าการทำงานนั้นคือการปฏิบัติธรรม แล้วมีใครกี่คน ทำงานด้วยความจำเป็นบังคับ นับตั้งแต่งานต่ำที่สุด กรรมกรต่ำสุดขึ้นไปถึงงานเบา งานข้าราชการ อะไรก็ตามที่เป็นงานเบานั้น แม้จะเบาอย่างไร ก็ยังทำไปด้วยความจำเป็นบังคับ ไม่ได้ทำด้วยความรู้สึกว่างานนั้นคือธรรมะ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม
นี่เรียกว่า อบายมุขทั้งหกข้อ แต่ละข้อ ๆ นั้น มีรสอร่อย คนจึงจมปลักอยู่ในอบายมุข นี้เป็นฆราวาสพวกที่จมปลัก มีความยากจน มีความเสื่อมสุขภาพอนามัย แล้วก็ยัง เบียดเบียนกันอีก เพราะความหลงใหลในสิ่งที่เป็นอบายมุข

การปฏิบัติต่อทิศทั้ง 6 ของฆราวาสที่จมปลัก
ที่ละเอียดไปกว่านั้นอีกหน่อย เป็นผู้ที่ไม่รับผิดชอบในหน้าที่โดยตรงซึ่งเรียกว่าทิศทั้งหก เป็นผู้ปล่อยให้มีโทษเกิดขึ้น แล้วประดังกันเข้ามาจากทิศทั้งหก เพราะปฏิบัติผิดต่อทิศนั้น ๆ แม้จะฟังกันมาแล้ว ยังอยากจะพูดให้ระลึกได้ยิ่งๆ ขึ้นไป
ทิศทั้งหกนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า เป็นทิศที่กุลบุตรจะต้องปิดกั้น ไม่ให้เกิดทุกข์โทษขึ้นมาจากทิศนั้นๆ หรือเพราะทิศนั้นๆ ทิศเบื้อหน้า ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง เป็นหกทิศ
ทิศเบื้องหน้าคือ บิดามารดา หรือที่สงเคราะห์เข้าในบิดามารดา
ทิศเบื้องหลังคือ บุตรภรรยา
ทิศเบื้องซ้ายคือ มิตรสหาย
ทิศเบื้องขวาคือ ครูบาอาจารย์
ทิศเบื้องบนคือ สมณะ หรือสิ่งที่เป็นที่ตั้งเคารพนับถือ พระเจ้า พระสงฆ์
ทิศเบื้องล่างคือ ผู้ที่อยู่ในฐานะต่ำกว่า เป็นคนใช้ เป็นกรรมกร หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทั้งหลาย
ท่านตรัสไว้เป็นหกทิศ อย่างนี้ แต่ละทิศละทิศต้องปิดกั้นให้ดี คำว่า ปิดกั้น ในที่นี้หมายถึง อย่าให้มีอะไร บกพร่อง จนมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นความทุกข์ เป็นความลำบาก เป็นความเสื่อมเสีย ชนิดที่เร้นลับ

ข้อควรระวังสำหรับฆราวาสผู้จะเป็นธรรมชีวี
ผู้ปฏิบัติไม่บกพร่อง ในทิศทั้งหก ก็ชื่อว่า ผู้รู้จักทิศทั้งหก ผู้ไม่รู้จักทิศทั้งหก ไม่ได้สำนึกในหน้าที่ต่อทิศทั้งหกก็จมอยู่ในผลอันเลวร้ายของการปฏิบัติผิด แล้วบางทีก็คิดว่าไม่มีหน้าที่อะไรมากมายถึงอย่างนั้น
ฆราวาสที่จมปลักอยู่ในอวิชชา ของฆราวาสนั้น ไม่มีฆราวาสธรรมอย่างที่ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ ว่า สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ 4 อย่างนี้ เป็นฆราวาสธรรม ฆราวาสจะต้องมีธรรม 4 ประการนี้เป็นเครื่องดำรงความเป็นฆราวาส ไม่ให้เกิดโทษทุกข์ใดๆ และเกิดความเจริญ และตรัสว่าเป็นธรรมสำหรับฆราวาสอย่างยิ่ง ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าสำหรับความเป็นฆราวาส
ขอให้เอามาทำไว้ในใจสักหน่อยหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงท้าประกาศทำนองท้าว่า ไม่เชื่อก็ไปถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นดูเถิดว่า สำหรับฆราวาสนั้นมีธรรมะไหนยิ่งไปกว่า สัจจะ ทมะ ขันติ และ จาคะ
ฆราวาสส่วนมากยังไม่รู้ว่า เป็นฆราวาสธรรมที่ต้องมีสัจจะ คือ จริงใจในสิ่งที่จะต้องทำหรือต้องมี โดยเฉพาะ ทมะ คือ การบังคับตัวเองให้ทำให้ได้ ขันติ คือ อดกลั้นอดทน เมื่อมันเหน็ดเหนื่อย ยุ่งยากลำบากเจ็บปวดขึ้นมา และจาคะ คอยระบายความกดดันของความบีบคั้นของกิเลสเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ฆราวาสที่มี ฆราวาสธรรมนี้ก็จะได้รับผล ของความเป็นฆราวาสในความเป็นฆราวาสโดยสมบูรณ์ และยิ่งไปกว่านั้น จะเป็นฆราวาสที่เลื่อนชั้นตัวเองอยู่เสมอ หมายความว่า ถ้าอยากจะจมปลักอยู่ในความเป็นฆราวาส ก็มีหนทางที่จะทำให้ดีที่สุดได้ คือ มีฆราวาสธรรม แต่ถ้าอยากจะถอนตัวออกมาเสียจากความเป็นฆราวาส ก็ยังใช้ฆราวาสธรรม อีกนั้นแหละ มันช่างสมกันกับที่ตรัสว่า เป็นธรรมสำหรับฆราวาส

ธรรมะ 4 ประการ สำหรับฆราวาส
กล่าวสั้นๆ อีกทีว่าสำหรับจะเป็นฆราวาส ที่ดักดานอยู่ที่นี่ ก็ใช้ธรรมะ 4 ประการนี้ ให้มีความเจริญอย่างฆราวาสนั่นแหละ ถ้าอยากจะพ้นเสียจากความเป็นฆราวาสก็ยังคงใช้ธรรมะ 4 ประการนี้ อีกเหมือนกัน
มีสัจจะ ในการที่จะถอนตัวขึ้นมาเสียจากความเป็นฆราวาส มีทมะ บังคับตนให้ทำอย่างนั้น มีขันติ อดกลั้น อดทน แม้จะเหนื่อยยาก ลำบาก เจ็บปวดสักเท่าไร แล้วก็มีการกระทำชนิดที่ระบายความรู้สึกอันเลวร้ายออกจากจิตใจอยู่เป็นประจำ คือวัตรปฏิบัติทุกอย่างทุกประการ ที่มันจะทำให้พ้นจากอำนาจของกิเลสนี้คือฆราวาสธรรม สำหรับความเป็นฆราวาสที่ดีที่สุด และสำหรับที่จะถอน ตนออกมาเสียจากความเป็นฆราวาส กลายเป็นอริยบุคคลที่สูงๆ ขึ้นไป
ฆราวาสที่จมปลัก ก็คือฆราวาสที่ไม่เคยคิดนึก ไม่เคยรู้สึก ไม่เคยรู้จักว่าความเป็นฆราวาสนั้นมีอยู่ เขาไม่เคยคิดนึกว่าเป็นฆราวาส หรือบรรพชิตหรือเป็นอะไรก็หามาให้ จนกลายเป็นหน้าที่ธรรมดาสามัญ ที่จะต้องหล่อเลี้ยงกิเลสของฆราวาสอยู่เป็นปกติ ฆราวาสชนิดนี้ไม่มีวี่แววของการดิ้นรนกระเสือกกระสน เพื่อให้พ้นไปจากความเป็นฆราวาส
ฟังดูมันก็แปลก ที่ว่าจะดิ้นรนกระเสือกกระสนให้พ้นไปเสียจากความเป็นฆราวาส บางคนจะไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องทางจิตใจมากกว่าเรื่องทางวัตถุ หรือร่างกายภายนอก ร่างกายภายนอกยังกินยังอยู่ ยังนุ่งยังห่ม ยังอะไรอยู่อย่างฆราวาส แต่ภายในคือจิตใจนั้นมันสูง สูงเหนือสิ่งนั้น รู้จักความสงบสุขแห่งจิต ชนิดที่มนุษย์เราจะมีได้ในทางฝ่ายจิตโดยการกระทำทางจิต
ขอให้สังเกตดูว่า มันเป็นคนเหมือนกัน รูปร่างอย่างเดียวกันอยู่บ้านเรือนอย่างเดียวกัน แต่ว่าจิตใจอาจจะแตกต่างกัน สูงต่ำกว่ากัน อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้
ทีนี้ ฆราวาสที่จมปลักบางคน ไม่เคยรู้เรื่องนี้ ไม่ได้มีการกระทำชนิดที่จะช่วยให้เลื่อนชั้นในทางจิตใจให้สูงขึ้นไป แม้จะมีผู้ใดมาอธิบายชักจูงเกลี้ยกล่อมให้ปฏิบัติธรรมะที่สูงขึ้นไปกว่าระดับนั้น ก็สั่นหัว เขารู้สึกว่าไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมะนั้น ได้ ธรรมะทั้งหลายอยู่นอกเหนือวิสัย ของการปฏิบัติ หมายถึงของเขาเอง ของตัวของเขาเอง เขารู้สึกว่าธรรมะทั้งหลายอยู่นอกวิสัยของการปฏิบัติ เพราะที่แท้มันอยู่นอกวงของความต้องการของเขา เพราะว่าเขาไม่ต้องการ จิตใจมีอวิชชาเครื่องห่อหุ้มมากเกินไป จนไม่ต้องการอะไรให้ดีไปกว่านี้ เรียกว่าจมปลักอยู่แต่ในระดับนี้ไม่ต้องการอะไรที่ให้ดี ให้ประเสริฐ ให้สะอาด ให้สูงอะไรยิ่งไปกว่านี้ ทั้งหมดนี้รวมกันแล้วก็เรียกว่าเป็นฆราวาสที่จมปลัก เป็นพวกประเภทที่หนึ่ง

ฆราวาสประเภทไม่จมปลัก
ทีนี้ประเภทที่สองคือ ไม่จมปลัก แต่ว่าเดินทางเป็นฆราวาสที่เดินทางแล้วก็ เป็นเรื่องจิตใจ อีกนั่นแหละ แม้ว่าร่างกายการเป็นอยู่ภายนอกจะเหมือนๆ คนทั่วๆ ไป หรือเหมือนพวกจมปลัก แต่จิตใจในภายในนั้นไม่เป็นอย่างนั้น เป็นการเดินทางคือให้มีจิตใจสูงขึ้นไปตามลำดับ เพราะเขารู้สึกว่าชีวิตนี้มันพัฒนาได้ หรือมันมีวิวัฒนาการชนิดที่สูงขึ้นไปได้ แล้วมันก็มีธรรมชาติอย่างนั้น ด้วยการเกิดมาเป็นมนุษย์ มีชีวิตจิตใจนี้ ธรรมชาติต้องการจะให้สูงขึ้นไป คือเปลี่ยนแปลงในทางสูงขึ้นไปตามลำดับ
พวกที่มองเห็นอย่างนี้ ก็รู้สึกว่า เราควรจะไป ควรจะเดินทาง เพราะชีวิตนี้เกิดมา เพื่อให้มีการเดินทาง ไปให้ถึงจุดที่สูงที่สุดที่มนุษย์ควรจะไปถึงได้ จิตใจของฆราวาสพวกนี้ไม่ติดอยู่ที่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเขลา ความหลง และเขาก็คอยสอดส่งอยู่แต่ว่าจะก้าวหน้าอย่างเดียวต้องการจะไปสู่จุดหมายปลายทางที่มนุษย์ควรจะไปถึงได้ซึ่งโดยมาก ก็เรียกกันว่านิพพาน นิพพานเป็นจุดสุดท้าย เป็นฆราวาสกล้ามุ่งหมายพระนิพพานเป็นวัตถุประสงค์ เป็นจุดสุดท้าย
ถ้าเขามีแนวความคิดอย่างนี้แล้ว เขาก็ไม่อาจจะจมปลัก อยู่ในสิ่งที่ตั้งแห่งความหลง เช่น อบายมุขเป็นต้น เขาเป็นสัตบุรุษ เป็นอริยสาวกหรือเดินตามทางของสัตบุรุษ เห็นความชั่ว หรือความต่ำทุกอย่างเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง ดังนี้ จึงไม่ประกอบกรรมที่เป็นอบายมุข แล้วก็ตั้งหน้าประกอบกรรมอันเป็นหน้าที่ในทิศทั้งหก อย่าง ครบถ้วนถูกต้อง
หน้าที่ ทิศเบื้องหน้าบิดามารดา ก็ประพฤติ กระทำต่อบิดา มารดา อย่างถูกต้องดีที่สุดถึงที่สุด
หน้าที่ทางทิศเบื้องหลังบุตรภรรยา ก็ประพฤติต่อบุตรภรรยา อย่างถูกต้องที่สุด
หน้าที่ในทิศเบื้องซ้าย คือมิตรสหาย เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น เขาก็ประพฤติต่ออย่างถูกต้องที่สุด
ทิศเบื้องขวา คือครูอาจารย์ ผู้ที่มีสติปัญญาเหนือกว่า เขาก็ประพฤติอย่างถูกต้องที่สุด
ทิศเบื้องสูง พระเจ้า พระสงฆ์ หรือปูชนียบุคคลใดๆ ที่ถือกันว่าเป็นผู้อยู่ในเบื้องสูง ก็ประพฤติต่อสิ่งนั้นอย่างถูกต้องที่สุด
อันดับสุดท้าย ทิศเบื้องต่ำ ทิศเบื้องล่าง ลูกจ้าง กรรมกร หรือถ้าเป็นสมัยโบราณ ก็เล็งถึงข้าทาสช่วงใช้บริวาร ก็ประพฤติต่อบุคคลเหล่านั้น อย่างถูกต้องที่สุด แม้ที่สุดแต่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ช่วยตัวเองไม่ได้ก็ดูดายไม่ได้พยายามประพฤติประโยชน์ต่อผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ช่วยให้หลุดพ้นออกไปได้ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ นี้ เป็นต้น นี่เป็นฆราวาสผู้ปิดกั้นไม่ให้เกิดโทษขึ้นมาได้จากทิศทั้งหกนั้น เป็นฆราวาสที่ไม่จมปลัก มีธรรมะของสัตบุรุษ ซึ่งก็มีมาก

ธรรมสำหรับฆราวาสที่เป็นสัตบุรุษ
ธรรมะสำหรับสัตบุรุษ คือ ผู้สงบรำงับ ผู้ไม่ถูกกิเลสกระตุ้น หรือกิเลสกระตุ้นไม่ได้เรียกว่าสุตบุรุษ สตต แปลว่า สงบรำงับ สัตบุรุษแปลว่าคนที่มีความสงบรำงับ ธรรมะใดเป็นไปเพื่อความสงบรำงับ เขาก็มีครบถ้วน
ที่เป็นหลักแพร่หลายที่สั่งสอนมาก ก็คือ สัปปุริสธรรม 7 ประการ เป็นผู้มีความรู้อย่างถูกต้องในสิ่งที่เป็นเหตุ ก็รู้อย่างถูกต้องในสิ่งที่เป็นผล ก็รู้อย่างถูกต้อง ตัวเองก็รู้จักอย่างถูกต้อง มาตรการที่พอเหมาะพอดี ก็รู้จักอย่างถูกต้อง เวลาก็รู้จักเวลาอย่างถูกต้อง ว่าเวลาอะไรควรทำอย่างไร จะประหยัดเวลาได้อย่างไร บริษัท คือคณะบุคคลหรือสังคมซึ่งเดี๋ยวนี้ก็จะเรียกกันว่า สังคม ก็รู้จักสังคมอย่างถูกต้องว่าควรประพฤติติดต่อกันอย่างไร แล้วก็ ปัจเจกชน คนคนหนึ่งแยกออกไปเป็นคนคนหนึ่ง ก็รู้จักอย่างถูกต้อง ที่จะประพฤติติดต่อบุคคลนั้น ให้เกิดผลดีที่สุดด้วยกันทั้งสองฝ่ายฆราวาสเป็นสัตบุรุษได้อย่างงดงามที่สุด ด้วยอาการอย่างนี้
มีคำสำหรับ ท่องจำง่าย ๆ ว่า รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบริษัท รู้จักบุคคล เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล อยากให้ฆราวาส ที่มุ่งหมายต่อความเป็นสัตบุรุษ กำหนดจดจำไว้อย่างแม่นยำ เพราะว่าเมื่อมีความรู้ถูกต้องในสิ่งเหล่านี้แล้ว ไม่มีทางที่จะทำอะไรผิดไม่มีทางที่จะประกอบกิจกรรมล้มเหลว มีแต่จะสร้างสรรค์ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น เมื่อตั้งตนอยู่ในธรรมะ เหล่านี้คือใน ฆราวาสธรรมทั้ง 4 ในสัปปุริสธรรมทั้ง 7 นี้มันก็เป็นฆราวาสที่เดินเคลื่อนไหวไม่จมปลัก เพราะว่าจิตใจมันสูงขึ้น สูงขึ้นจนกว่าจะถึงที่สุดของความสูง แล้วก็จบกันที่นั่น

หลักปฏิบัติสำหรับฆราวาส
ที่เป็นหลักเกณฑ์สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้ถึงเรื่องของสุญญตา ความรู้เรื่องสุญญตา เรื่องไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตนอะไร มีแต่สังขารปรุงแต่งกันไปตามกฎแห่งเหตุปัจจัยที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา
พระพุทธเจ้าตรัสสอนแก่ฆราวาสพวกหนึ่งที่ไปทูลถาม แต่ฆราวาสพวกนั้นบอกว่านี้สูงเกินไป ขอลดให้ต่ำกว่านั้น พระพุทธเจ้าก็ ตรัสเรื่องโสตาปัตติยังคะสังยัตต์ 4 ประการ ว่าฆราวาสเป็นผู้มีศรัทธา ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ แล้วก็มีศีลเป็นที่ชอบใจของพระอริยเจ้าองค์ 4 ประการนี้ เรียกว่าโสตาปัตติยังคะคือ องค์สำหรับการให้บรรลุโสดา หรือกระแสแห่งพระนิพพาน
ฆราวาสมีหลักทั่วไปอย่างนี้ ตามที่ตรัสสอนไว้เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมจนเห็นความดับทุกข์ และรู้หรือเห็นว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้แล้วสอนเรื่องนี้ ก็มีศรัทธาในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลงและรู้ว่าเรื่องนี้ระบบนี้ ระบบความดับทุกข์อย่างนี้ ก็เรียกว่าพระธรรม ก็เลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เรื่องนี้ไม่เหลือวิสัย มีบุคคลปฏิบัติได้เป็นอันมาก และดับทุกข์ได้ เรียกว่าพระสงฆ์ก็มี ความเลื่อมใสในการที่จะทำตามอย่างพระสงฆ์ ก็มี ความเลื่อมใสในพระสงฆ์ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นศีลของเจ้าที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำนั้นบริสุทธิ์ ไม่ด่างไม่พร้อย ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่แหว่ง ไม่เว้า แล้วแต่จะเรียก มีศีลเป็นที่ชอบใจของพระอริยเจ้า ฆราวาสที่จะเป็นธรรมชีวี หรือธรรมชีวีอย่างฆราวาส อย่าได้มองข้าม อย่าได้ประมาท มีความเขลา มีความหลง ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ คงเกี่ยวกันอยู่แต่กับเหยื่อของกิเลสนั้น มันเป็นฆราวาสจมปลัก
เมื่อรู้ว่ามนุษย์นี้ ธรรมชาติสร้างมา ให้ไปได้ไกล ให้ไปได้สูงจน ถึงกับอยู่เหนือปัญหาทั้งปวง ด้วยการประพฤติอย่างถูกต้องหลักเกณฑ์ สำหรับฆราวาส เขาก็ปฏิบัติตามนั้น ก็เป็นฆราวาสที่เดิน ที่เคลื่อนไหว ไม่เป็น ฆราวาสที่จมปลัก แล้วก็พยายามสุดความสามารถ เพื่อเลื่อนชั้นความเป็นฆราวาสนั้นให้สูงขึ้นไป ให้สูงขึ้นไปเท่าที่จะมีได้ในเพศฆราวาส มีคุณธรรมเหล่านี้มากเท่าที่จะมีได้ ในเพศฆราวาสที่ครองเรือนที่อยู่เรือน แต่มิได้หมายถึงฆราวาสที่จมปลัก แต่เป็นฆราวาสที่เคลื่อนไหว หรือเดิน เดินทาง เดินทางอยู่ตลอดเวลา

ฆราวาสบรรลุธรรมได้ถึงขั้นพระอนาคามี
ธรรมะเท่าที่จะบรรลุได้ในเพศฆราวาสนั้น ดูเหมือนได้ยินได้ฟังจนพูดเป็นกันอยู่ทุกคนว่าเป็นไปได้ถึงขั้นพระอนาคามี ขั้นพระโสดาบัน นั้น ไม่ต้อง สงสัย สกิทาคามีไม่ต้องสงสัย เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ส่วนขั้นอนาคามีนั้นก็เรียกว่าสูงสุดเท่าที่เพศฆราวาสจะเข้าถึงได้คือไม่เกาะเกี่ยวกับกามเลย โดยประการทั้งปวง พระโสดาบัน นั้นยังคงเกาะเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่ากาม หรือเรื่องเพศตรงกันข้าม ในทางที่ถูกที่ควร เช่นว่ามีการประพฤติกระทำทางเพศที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของศีลธรรม และไม่ได้ลุ่มหลงในสิ่งที่เรียกว่ากามารมณ์ จะมีคู่ครอง จะมีการสืบพันธุ์ก็ไม่ได้ทำไปด้วยความลุ่มหลงในทางกามารมณ์
ข้อนี้อยากจะให้เข้าใจแน่ชัดเสียว่า การเกี่ยวข้องกิจกรรมระหว่างเพศ นั้น มันไม่ได้มีอย่างเดียว มันมีอย่างลุ่มหลงเป็นบ้าเป็นหลัง เรียกว่าเป็นปุถุชนอันธพาลมากเกินไป แต่จะยังมีการประกอบกิจกรรมระหว่างเพศ เพียงเพื่อการสืบพันธุ์ตามวิสัยของสัตว์ ที่เกิดมาแล้ว มีเรื่องที่จะต้องสืบพันธุ์ หรือแม้ว่าจะเป็นผู้จะต้องเสวยรส อันเกิดจากเพศตรงกันข้ามก็กระทำไปเท่าที่ธรรมชาติอำนวยให้ทำ ให้ทนทรมานอยู่ เพราะการบีบคั้นของความรู้สึกทางเพศด้วย แล้วก็ไม่ต้องตกลงไปเป็นเหยื่อของความรู้สึกทางเพศด้วย จึงมีเรื่องราวที่ปรากฏชัดอยู่ว่า พระโสดาบันครองเรือนมีลูกมีหลานมากมาย ด้วยเหมือนกัน
พระอริยเจ้าที่ครองเรือน ที่เรียกสมมติว่า เป็นเพศฆราวาสก็ยังมีการเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่ากามคุณ แต่มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหลเหมือนอย่างปุถุชนที่จมปลัก นี้เราเรียกฆราวาสที่เคลื่อนไหว ฆราวาสที่เดินทาง มันจำเป็นที่จะต้องผ่านมาทางนั้นเพราะใครๆ ก็เกิดมาอย่างนี้ทั้งนั้น เกิดมาเป็นทารกไม่รู้อะไร มันก็ต้องผ่านมาโดยทางสิ่งที่ธรรมชาติมีให้ เช่น ความรู้สึกทางเพศนี้ก็มีมาด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้ารู้สึกอย่างถูกต้อง ก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ ไม่ให้เกิดโทษ คือไม่เป็นที่ตั้งแห่งความหลง แต่ให้เป็นไปตามปกติ สำหรับมนุษย์จะไม่สูญพันธุ์ เพราะว่าระบบการที่จะต้องมีพันธุ์ และสืบพันธุ์นั้น ธรรมชาติใส่มาให้อย่างแน่นอน อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์ก็มีการสืบพันธุ์ได้โดยไม่ต้องมีความหลงใหล ถ้าเข้าใจผิดมันก็ไปหลงใหลในกามารมณ์ ซึ่งธรรมชาติเอาไว้จ้างคนโง่ให้ทำการสืบพันธุ์ ผู้มีสติปัญญาหรือฆราวาสที่เดินทางไม่ต้องหลงใหลถึงขนาดไปรับจ้างธรรมชาติเพื่อการสืบพันธุ์ แต่ว่ากระทำไปด้วยสติปัญญาที่ถูกต้องตามที่เป็นจริงในกฎของธรรมชาติ ทุกอย่างทำไปด้วยสติสัมปชัญญะ หรือจะใช้คำว่า โพธิก็ได้
เรื่องในทางจิตใจนี้ มีอยู่เป็นสองฝ่ายเท่านั้น คือ ฝ่ายกิเลสฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายโพธิ ฝ่ายหนึ่ง ความรู้สึกคิดนึกในจิตใจของมนุษย์เราเป็นได้สองอย่าง ฝ่ายกิเลสก็โง่ไปด้วยอวิชชา ซึ่งเป็นแม่ของกิเลส ความคิดนึกรู้สึกเป็นกิเลสทำไปตามแบบกิเลส ทีนี้อีกฝ่ายหนึ่ง มันตรงกันข้าม มันเป็นเรื่องของวิชชา มีวิชชาตามสมควร มีโพธิปัญญา โพธิ ความรู้สึกในทางจิตใจ ที่เป็นไปในลักษณะของโพธินี้ มันเป็นเหตุให้ทำอะไรอย่างถูกต้อง ไม่ต้องหลงใหลแต่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็นไปตามวิวัฒนาการที่น่าปรารถนา
ขอให้ทุกคน ระวังความรู้สึกในทางใจของตนเอง ว่าให้มันมีลักษณะเป็นฝ่ายของโพธิ อย่าให้มีลักษณะเป็นไปในฝ่ายของกิเลส กิเลสกับโพธินี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยประการทั้งปวง กิเลสนั้นแปลว่า สกปรก คำว่า กิเลสโพธิ แปลว่า ความรู้ ความรู้สึกตัว หรือความรู้ ถ้าโพธิมันรู้ มันก็เกลียดของสกปรก ขยะแขยงในสิ่งที่สกปรก ก็ทำให้อย่างไม่สกปรก คือมีความสะอาดทั้งทางกาย วาจา ใจ ฆราวาสสามารถดำเนินชีวิต ประกอบกิจให้ดำเนินไปโดยวิถีทางแห่งโพธิ ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลสเลย
ทีนี้บางคนมีความคิดของตนเอง หรือได้ยินได้ฟังมาจากคนอื่นก็ได้ว่าสิ่งนี้เหลือวิสัย ทำไม่ได้ การที่จะเป็นฆราวาสด้วย แล้วมีการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง คือพระนิพพานด้วยนั้น เขาถือว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ และถือว่าทั้งสองอย่างนั้นเป็นข้าศึกแก่กันและกัน พอเอาเข้ามาหากันมันก็ทำลายล้างกันหมด ไม่มีอะไรเหลือ นี้เป็นการเข้าใจผิด เป็นฆราวาสทำหน้าที่ของฆราวาสอยู่ด้วย และให้การกระทำนั้นเป็นการเดินทางไปตามกระแสแห่งธรรมเพื่อบรรลุนิพพานอยู่ในตัวด้วย
เมื่อฆราวาสปฏิบัติ เพื่อความเป็นฆราวาสอย่างถูกต้องนั้น มันมีการเคลื่อนไหวไปในทางของพระนิพพานด้วย โดยไม่รู้สึกตัว แต่ถ้าคนมันโง่ คนไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นได้ ก็ไม่เคยนึก แล้วก็ระดมทุ่มเทไปทางฝ่ายของกิเลสอย่างสุดเหวี่ยง เพราะว่ามันมีอัสสาทะ อัสสาทะนี้แปลว่าเสน่ห์อันยั่วยวนกามารมณ์ทั้งหลาย มีเสน่ห์อันยั่วยวนที่จะจับใจของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นกามารมณ์ที่มาจากฝ่ายเพศตรงกันข้ามแล้วก็ยิ่งมีอำนาจสูงสุด แต่ผู้ที่เป็นสัตบุรุษเป็นผู้ที่ไม่ตกเป็นทาสของกามารมณ์อย่างหลับหูหลับตานั้นเขาทำได้ เพราะว่าเกิดมานี้มันต้องเป็นฆราวาส ทีนี้ก็มีการประพฤติกระทำในขณะที่อยู่ในเพศฆราวาสนั้น ให้ถูกต้อง สำหรับจะเป็นอยู่อย่างที่ไม่มีความทุกข์ด้วย สำหรับจะก้าวหน้าให้สูงขึ้นไปๆ จนพ้นจากความที่ต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งน่าเบื่อหน่ายด้วยนี่เป็นสิ่งที่ทำได้พร้อมกันไปในตัว เพื่อประโยชน์พื้นฐานธรรมดาสามัญก็ทำได้ แล้วก็เพื่อประโยชน์อันยิ่งขึ้นไปๆ อยู่ในตัวก็ทำได้
เมื่ออาตมาไปพูดเรื่องนี้ครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ก็มีผู้ค้านว่า ทำไม่ได้เหมือนกับว่าทาเนยให้แก่แผ่นขนมปังทั้งสองหน้า นี่เขามองอย่างนั้น ว่าขนมปังแผ่นหนึ่งจะทาเนยทั้งสองหน้านั้น เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครยอมรับเพราะ มองแต่ผิวเผิน เดี๋ยวนี้อยากจะให้รู้ว่า มันเหมือนกับแซนด์วิชที่มีเนื้อเยื่ออยู่ตรงกลาง แล้วมีขนมปังประกบทั้งสองข้าง มันเป็นไปได้ ยิ่งถ้าขนมปังทั้งสองข้างนั้นไม่เหมือนกัน ก็ยิ่งจะอร่อยกว่าธรรมดา มันก็ควรจะเป็นไปได้
หวังว่า ฆราวาสทั้งหลายจะได้พิจารณาดูว่าให้มีระบบธรรมชีวีอยู่ในความเป็นฆราวาสของตนๆ ดำเนินชีวิตอย่างฆราวาส แต่ขอให้เป็นระบบธรรมชีวี คือ มีความประพฤติกระทำที่เป็นธรรมะอยู่กับเนื้อกับตัว เป็นชีวิตจิตใจนั่นแหละ มีธรรมะเป็นชีวิต มีความถูกต้องอยู่ตลอดกาล
เมื่อได้ศึกษาว่าอะไรเป็นความถูกต้องแล้ว ก็ประพฤติกระทำชนิดที่ตัวเองรู้ว่าถูกต้องอยู่ตลอดเวลา เช่น อบายมุขไม่มี ก็ถูกต้องเพราะอบายมุขไม่มี ทิศทั้งหก ประพฤติปฏิบัติดีแล้ว ก็รู้สึกว่าถูกต้องมีความถูกต้องในเรื่องทิศทั้งหกนี้ เป็นพื้นฐานก่อนเถิด แล้วก็มี ความถูกต้องที่ละเอียดเข้ามา เป็นรูปศีล สมาธิ ปัญญา โดยตรง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส แต่มีสติสัมปชัญญะควบคุมให้อยู่ในวิถีทางของธรรมะ คือความถูกต้อง สำหรับจะวิวัฒนาการไปในทางที่ถูกต้องจนกว่าจะถึงที่สุด
อยากจะขอพูดย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าให้มีหลักเกณฑ์ที่รู้สึกว่าถูกต้องอยู่ในใจ มองเห็นการกระทำแล้วรู้สึกว่าถูกต้องแล้วก็พอใจอยู่อย่างนี้ตลลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ได้ศึกษาว่าความถูกต้องเป็นอย่างไรแล้ว พอที่จะวินิจฉัยได้ว่าถูกต้องแล้ว เมื่อปฏิบัติดู ก็ยิ่งรู้ว่าถูกต้อง คือมันไม่เกิดความทุกข์ คือมันระงับความทุกข์ แล้วมันเกิดความเยือกเย็น ซึ่งเป็นความหมายของพระนิพพาน อยู่ในการประพฤตินั้น ก็บอกตัวเองได้ว่าถูกต้อง ฉันมีแต่ความถูกต้อง รู้สึกอย่างนี้ว่า ฉันมีอยู่แต่ความถูกต้อง

ใช้ชีวิตด้วยธรรมะคือความถูกต้อง
ตื่นนอนขึ้นมาก็รู้สึกว่าทุกอย่างทำมาแล้วถูกต้อง แล้วก็จะไปทำความถูกต้องต่อไปอีกตลอดวันนี้ รู้สึกพอใจว่าได้ทำมาแล้วอย่างถูกต้องรอดชีวิตมาได้จนถึงวันนี้ เวลานี้ ตื่นนอนขึ้นมาแล้วก็จะไปล้างหน้า ก็รู้สึกว่าถูกต้อง แม้แต่การล้างหน้านั่นมันก็ถูกต้องแล้ว แล้วก็มีความรู้สึกในความถูกต้องที่จะประพฤติกระทำอยู่ตลอดเวลา และพอใจจนมาถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ มีสติสัมปชัญญะมองเห็นความถูกต้อง ควบคุมความถูกต้องให้รู้สึกอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ความชั่วร้ายทางจิตใจใดๆ เกิดขึ้น พอถูกต้องออกมาสำหรับจะไปอาบน้ำ ก็รู้สึกเป็นความถูกต้องอยู่ตลอดเวลาที่อาบน้ำ ถ้าตักด้วยขันทุกๆ ขัน ตลอดเวลาที่อาบน้ำมีความรู้สึกว่าถูกต้อง มีความเป็นอยู่ที่ถูกต้อง เรากำลังกระทำความถูกต้อง แล้วเราจะกระทำความถูกต้องต่อไป
ที่นี้ไปกินอาหาร มีสติสัมปชัญญะกินอาหารอย่างถูกต้อง หรือรู้สึกว่าเพราะความถูกต้อง เพราะการกระทำมาอย่างถูกต้องจึงมีอาหารกิน ก็กินอาหารด้วยความรู้สึกว่าถูกต้อง จะไปแต่งเนื้อแต่งตัวสำหรับจะทำการงานก็ให้รู้สึกว่ามันถูกต้องอยู่ทุกๆ อิริยาบถ แล้วก็ไปทำงาน ลงบันไดเรือนไปขึ้นรถ หรือเดินไปก็สุดแท้ รู้สึกว่ามันถูกต้องอยู่ทุกๆ อิริยาบถทุกก้าวย่าง ถ้าพูดกันอย่างละเอียดก็ว่า ทุกครั้งที่หายใจออกเข้าๆ รู้สึกตัวเองว่าถูกต้อง อยู่ในความถูกต้อง มีความถูกต้อง ตลอดเวลาที่ทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ก็รู้สึกว่าการงานนั่นแหละคือธรรมะ ธรรมะคือการงานหรือหน้าที่ เพราะธรรมะกับการงานเป็นสิ่งเดียวกัน คือเป็นสิ่งที่ช่วยให้รอด หน้าที่การงานนั้นมันช่วยให้รอด ธรรมะก็มีหน้าที่ช่วยให้รอด และโดยเนื้อแท้เป็นสิ่งเดียวกัน
คำว่า ธรรมะแปลว่าหน้าที่ เป็นภาษาโบราณ ในอินเดียเรียกว่าธรรมะ ธรรมะนั้น หมายถึงหน้าที่ ถ้าพูดในภาษาไทยปัจจุบันก็คือหน้าที่ ฉะนั้นคือสิ่งเดียวกัน เมื่อทำหน้าที่การงาน ก็คือการปฏิบัติธรรม มีสติสัมปชัญญะ ทำอย่างดีที่สุด มีความพออกพอใจในการกระทำ มีความเลื่อมใสในการกระทำของตัวเอง เคารพนับถือว่าตนเองเป็นผู้มีความถูกต้อง มันก็เลยไม่มีความผิดพลาดสามารถจะบอกตัวเองได้ว่า ถูกต้องๆ พอใจๆ อยู่ทุกอิริยาบถจนกว่าจะเสร็จงาน ก็พอใจว่ามันเสร็จงานที่ที่ทำงาน จะกลับบ้านก็มาด้วยความรู้สึกว่าถูกต้องๆ มาอาบน้ำ มารับประทานอาหาร มาอะไรในลักษณะที่รู้สึกว่าถูกต้องๆ อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งว่าถึงเวลาจะนอน ก็สรุปยอดงบ ยอดบัญชีว่าเต็มไปด้วยความถูกต้อง พอใจ เคารพตัวเองได้ ยกมือไหว้ตัวได้ เป็นการจบเวลาวันหนึ่งๆ ลงไปด้วยธรรมะ คือความถูกต้อง

ควบคุมความรู้สึกที่ถูกต้องด้วยจิต
นี่คือ ธรรมชีวี สำหรรับฆราวาส ฆราวาสสามารถเป็นธรรมชีวิตได้ถึงขนาดนี้ ถึงขนาดนี้ ไม่มีอะไรบกพร่องมันมีได้เต็มขนาดอย่างนี้ นี่คือความเป็นฆราวาส เต็มไปด้วยความถูกต้องสำหรับความเป็นฆราวาส และความเป็นฆราวาสนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย สำหรับที่จะขยับเขยื้อน ไปตามกระแสทางแห่งพระนิพพานด้วย เรียกว่าเป็นฆราวาสเต็มที่ ที่นั้นด้วยแล้วเป็นการเคลื่อนไปตามกระแสทางแห่งพระนิพพานในตัวด้วย เหมือนกับหมุนรอบตัวแต่ก็เคลื่อนไปได้ด้วย นี่เป็นระบบสูงสุดที่จะเป็นมนุษย์ ชนิดที่เรียกว่า ธรรมชีวิตในความเป็นฆราวาส
บางคนอาจสงสัยว่า เราจะควบคุมความรู้สึกว่าถูกต้องนี้ได้อย่างไร เมื่อเราต้องทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งไปด้วย นี่เขาไม่รู้จักธรรมะ หรือธรรมชาติความรู้สึกว่าถูกต้องนั้น มันเป็นความรู้สึกที่มีกำลัง คือ เป็นตัวธรรมะที่มีกำลัง รู้สึกว่าถูกต้อง พอใจตัวเอง มีความรู้สึกพอใจตัวเองอยู่ด้วย แล้วก็ทำงานได้ด้วย เปรียบเทียบเหมือนอย่างฝ่ายกิเลส เราโกรธใครอยู่ มันก็ยังโกรธอยู่ ก็ทำงานไปพลางได้ หรือว่าถ้าเราหลงรักอะไรอยู่อย่างเต็มที่ ความหลงรักก็ยังอยู่ในใจด้วย แล้วก็ทำงานไปได้ด้วย นี่ขอให้สังเกตดูเรื่องจริงที่เป็นไปได้จริง อารมณ์ที่รุนแรงก็รู้สึกอยู่ด้วย อารมณ์น้อยๆ ที่สำหรับจะทำการงานในเวลานั้นก็มีได้ด้วย เช่นว่า เราคิดถึงใครคนใดคนหนึ่งอยู่ แล้วก็ทำอะไรไปพลาง มันก็ทำได้ทั้งสองอย่าง ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวอัดอั้นอยู่ในใจ นั้นมันก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง แล้วก็ทำไปๆ ทำอะไรไป ทำไปด้วยความโกรธ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว อะไรก็ทำได้ แม้ว่าจิตดวงเดียว แต่สามารถทำหน้าที่ได้ขนาดนี้ กระทั่งเป็นความเคยชิน
ทีนี้ความรู้สึกว่าถูกต้อง ถูกต้อง ซึ่งเป็นความหมายของธรรมะนั้น มันเป็นอารมณ์แรง จึงสามารถให้เกิดความรู้สึกที่น้อยกว่า ที่ว่าจะทำงานอย่างไรนี้ มันก็ทำยังทำไปได้หรือจะถือว่ามันทำไม่ได้ มันจะรู้สึกได้แต่เพียงว่าทำงานอย่างถูกต้องก็ได้ เหมือนกัน มันก็ไม่มีความผิดพลาดอะไรที่จะแทรกแซงเข้ามาเอาการงาน ที่กำลังทำอยู่เฉพาะหน้านั้นแหละเป็นตัวธรรมะ เป็นตัวความถูกต้อง

ดำเนินชีวิตในระบบธรรมชีวี
สรุปความว่าทั้งหมดนี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่า ที่จะแนะนำให้มีวิธีการเป็นอยู่ มีชีวิตอยู่ ครองชีวิตอยู่ ในลักษณะที่ทำงานได้ดี และมีความสุขพร้อมกันไปในตัว ความรู้สึกที่ว่า ถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจนั้นเป็นความสุข แล้วงานที่ทำนั้นเป็นธรรมะ หน้าที่ที่ทำนั้นเป็นธรรมะ ก็ทำงานหรือทำหน้าที่นั้นได้ด้วย ทำงาน ก้าวหน้าไปได้ด้วย มีความรู้สึกเป็นสุข และพอใจในงานนั้น พร้อมกันไปในตัวด้วย เรียกว่ามีความสุข รู้สึกเป็นสุขในขณะที่ทำงานนั้นเอง เป็นความสุขชนิดที่ไม่เผาลนแม้แต่ประการใด เป็นความสุขที่แท้จริง คือ เป็นความสงบเย็น เป็นชีวิตเย็น แล้วก็ทำงานสนุก เรียกว่าดีที่สุดแล้วสำหรับฆราวาส ที่จะประพฤติปฏิบัติในระบบธรรมชีวี
ธรรมชีวีมีได้ทุกเพศ ทุกวัย
ไม่ต้องจำกัดว่าเป็นบรรพชิตหรือเป็นฆราวาส ก็ได้ลืมเสียว่าไม่เป็นฆราวาส ไม่เป็นบรรพชิต แต่จะควบคุมสังขารร่างกายนี้ ให้ประพฤติกระทำอย่างนี้ ให้คิดนึกอย่างนี้ ให้รู้สึกอย่างนี้ อย่างนี้ก็ได้ที่จริง เรื่องธรรมะนั้นไม่มีบรรพชิต ไม่มีฆราวาส ไม่มีเพศหญิง เพศชาย ไม่มีอะไรอย่างที่สมมติเรียกกัน กิเลสเองมันก็ไม่มีบรรพชิตหรือฆราวาส ถ้ากิเลสเกิดแก่บรรพชิต มันก็กิเลสอย่างเดียวกับที่เกิดแก่ฆราวาส โพธิก็ไม่ต้องมีบรรพชิตหรือฆราวาส ธรรมะก็ไม่ต้องมีบรรพชิตหรือฆราวาส
แต่เดี๋ยวนี้ภาษาสมมติที่คนเขาพูดกันอยู่ ยึดถือกันอยู่ มีบรรพชิต มีฆราวาส มีดี มีชั่ว มิได้มีเสีย มีขาดทุน มีกำไร มีผู้หญิง มีผู้ชาย มีอะไรตามที่สมมตินั้น ก็ไปตามสมมติสำหรับให้พูดกันรู้เรื่องเท่านั้น แต่โดยเนื้อแท้แล้วมันก็มีแต่ว่าสังขาร คือสิ่งปรุงแต่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งอย่างไร มีการกระทำอย่างไร มีการพูดจาอย่างไร มีความรู้สึกคิดนึกอย่างไร ก็ควบคุมให้มันถูกต้อง แล้วเรื่องมันก็จะจบ

ธรรมชีวีหนทางก้าวสู่นิพพาน
สรุปความว่า ฆราวาสสามารถเป็นธรรมชีวี ประพฤติเป็นธรรมชีวีได้อย่างเต็มที่ไม่มีข้อขัดข้องแต่ประการใด อย่าให้ความเป็นฆราวาสเป็นเครื่องกักขัง หรือเป็นที่จมปลักของฆราวาส ซึ่งเป็นฆราวาสของกิเลสมากเกินไป ถ้าเป็นฆราวาสของโพธิ แล้วก็ไม่มีอะไรกักขังได้หรือทำให้จมปลักได้
หวังว่าเราจะรู้จักการดำเนินชีวิต ให้สำเร็จประโยชน์ด้วยปัญญา เรียกว่า เป็นบัณฑิต เป็นสัตบุรุษ เป็นอริยสาวก เรียกว่า อริยบุคคลให้ยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา เรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา มีแต่ความก้าวหน้าไปตามหนทางแห่งพระนิพพาน เราเกิดมาคราวนี้มีแต่จะเคลื่อนไปตามกระแสแห่งพระนิพพาน จนกว่าจะถึงที่สุดเข้าวันใดวันหนึ่ง
ขอให้สนใจระบบธรรมชีวีว่าเป็นสิ่งที่มีได้สำหรับฆราวาส ความเป็นฆราวาสก็จะเป็นพื้นฐานสำหรับการก้าวหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางซึ่งฆราวาสควรจะไปให้ถึง แม้กำลังอยู่ในเพศฆราวาสก็ก้าวหน้าไป คือประพฤติกระทำอยู่แต่สิ่งที่รู้สึกด้วยตัวเองว่าถูกต้องๆ แล้วก็พอใจ แต่ละวันๆ สรุปแล้วก็พอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้ครั้งหนึ่ง ก็ไม่เสียทีที่เป็นพุทธบริษัท